ปฏิวัติวงการแฟชั่น! สตาร์ทอัพสหรัฐ ผลิต “ชุดชั้นในย่อยสลายได้” กลายเป็น “ปุ๋ย” ปลูกต้นไม้

ปฏิวัติวงการแฟชั่น! สตาร์ทอัพสหรัฐ ผลิต “ชุดชั้นในย่อยสลายได้” กลายเป็น “ปุ๋ย” ปลูกต้นไม้

หมดปัญหาขยะและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น เมื่อสตาร์ทอัพสหรัฐคิดค้นนวัตกรรม “ชุดชั้นใน” ที่สามารถ “ย่อยสลาย” ได้แบบ 100% และสามารถนำไปเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกพืชกินได้ 

ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขยะและความยั่งยืน หลายแบรนด์จึงหันมาใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการให้ผู้บริโภคนำเสื้อผ้าเก่ามาแลกเป็นส่วนลดสำหรับการซื้อสินค้า แทนที่การนำเสื้อผ้าเหล่านั้นไปทิ้ง แต่กลยุทธ์นี้คงใช้ไม่ได้กับ “ชุดชั้นใน” เนื่องจากคนส่วนใหญ่นิยมใช้จนเสื่อมสภาพ และเป็นของสงวนที่ไม่นิยมนำไปขายต่อ เหมือนกับเสื้อผ้ามือสองทั่วไป 

ทางออกแทบจะเป็นทางเดียวของเหล่าชุดชั้นในเก่าจึงต้องอัปเปหิไปอยู่ในถังขยะ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไปรวมอยู่ในกองขยะสิ่งทอหลายพันล้านตัน แต่ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นกับ Kent แบรนด์ชุดชั้นในจากสหรัฐ เพราะชุดชั้นในนี้สามารถแปลงร่างกลายเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวได้!

ปฏิวัติวงการแฟชั่น! สตาร์ทอัพสหรัฐ ผลิต “ชุดชั้นในย่อยสลายได้” กลายเป็น “ปุ๋ย” ปลูกต้นไม้

 

  • ชุดชั้นในย่อยสลายได้

กว่า 2 ปีแล้ว Kent วางจำหน่ายชุดชั้นผ่านเว็บไซต์ของแบรนด์ในราคาตัวละ 25 ดอลลาร์ จนถึงวันนี้ Kent วางจำหน่ายไปได้แล้วกว่า 17,500 ตัว อาจจะไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ แม้ว่าดีไซน์ของชุดชั้นในแบรนด์นี้จะดูเรียบง่าย แต่สิ่งที่ทำให้ Kent เหนือกว่า คือ นวัตกรรมที่สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด ด้วยการผลิตชุดชั้นในจากผ้าฝ้ายพีมา (Pema Cotton) แท้ 100% โดยไม่มีวัสดุอื่น สีสังเคราะห์ หรือสารปรับผ้านุ่มเข้ามาเจือปน ซึ่งผ้าฝ้ายพีมามีเส้นใยยาวกว่าและมีอายุการใช้งานที่ยาวกว่าผ้าฝ้ายทั่วไป

ทำให้เมื่อชุดชั้นในของ Kent หมดสภาพการใช้งานแล้ว ผู้ซื้อสามารถนำชุดชั้นในทิ้งลงถังหมักปุ๋ยได้ทันที หรือจะส่งไปรษณีย์กลับคืนไปที่บริษัทพันธมิตรแถวแคลิฟอร์เนียเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ชุดชั้นในที่ย่อยสลายได้ยังไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ได้รับความนิยม และยังมีความท้าทายในการสร้างการยอมรับ เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้มีถัง? ถุงปุ๋ยหมัก ขณะเดียวกับปุ๋ยหมักของเทศบาลหลายแห่งจะรับเฉพาะเศษอาหารเท่านั้น อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังได้แสดงความกังวลถึงปัญหาสุขอนามัยจากการนำชุดชั้นในมาใช้ปลูกพืชสำหรับเป็นอาหารด้วย

สเตซี เกรซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Kent ระบุว่าบริษัทได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานของตนเอง เพื่อทำระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) สำหรับการหมักปุ๋ยโดยเฉพาะ ขณะที่ลูกค้าบางรายของแบรนด์พยายามจะนำชุดชั้นในไปใส่ถังหมักปุ๋ยของเทศบาล แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะคนส่วนใหญ่อาจยังรู้สึกแปลก ๆ ที่เห็นชุดชั้นอยู่ในถังปุ๋ยหมักเคียงคู่กับ เปลือกกล้วยและกากกาแฟ นอกจากนี้ลูกค้าอาจจะยังกระอักกระอ่วนใจ กับการส่งคืนชุดชั้นในที่ใช้แล้วทางไปรษณีย์

ปฏิวัติวงการแฟชั่น! สตาร์ทอัพสหรัฐ ผลิต “ชุดชั้นในย่อยสลายได้” กลายเป็น “ปุ๋ย” ปลูกต้นไม้

 

  •  ดูแลรูปร่าง แต่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จากพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า ส่วนใหญ่นิยมชุดชั้นในที่สามารถยืดหยุ่นได้ บริษัทส่วนใหญ่จึงนิยมใช้ สแปนเด็กซ์ (Spandex) หรือ อีลาสเทน (Elastane) เส้นใยสังเคราะห์ที่มีน้ำหนักเบาและสามารถยืดหดได้ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า สแปนเด็กซ์นั้นไม่สามารถย่อยสลายได้หรือรีไซเคิลได้ เนื่องจากมีจุดหลอมเหลวต่ำเกินไปที่เครื่องรีไซเคิลสิ่งทอจะสามารถแปรรูปได้ในปริมาณมาก

เรเชล คิบเบ ผู้อำนวยการบริหารของ American Circular Textiles Group องค์กรผลักดันให้มีการกำหนดนโยบายในอุตสาหกรรมสิ่งทอกล่าวว่า “แบรนด์ต่าง ๆ เพิ่มคุณสมบัติที่ผู้คนต้องการจากชุดชั้นใน หนึ่งในนั้นคือความยืดหยุ่น แต่ว่ามันไม่สามารถรีไซเคิลได้เลย โดยเฉพาะชุดชั้นในสตรีที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์เกือบทั้งหมด ต่างจากบ็อกเซอร์ของผู้ชายมักมีแถบยางยืดที่ถอดได้ง่ายกว่า”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชุดชั้นในทั่วไป (รวมถึงเสื้อผ้าอื่น ๆ ที่ใช้ใยสังเคราะห์) ไม่สามารถนำไปแยกเป็นเส้นได้ เหมือนกับเสื้อผ้าอื่น ๆ ที่เมื่อแยกเส้นใยแล้วนำไปรีไซเคิลต่อเป็นวัสดุบุนวมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เบาะรถยนต์ กระสอบทราย และที่นอนสัตว์เลี้ยง

สแปนเด็กซ์ไม่ใช่เพียงวัสดุเดียวที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ในชุดชั้นในสตรียังมีโพลีเอสเตอร์และไนลอนเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่าเส้นใยธรรมชาติ อย่างผ้าฝ้าย

“ในขั้นตอนการผลิตเสื้อผ้า วัสดุอย่างโพลีเอสเตอร์และไนลอนจะปล่อยไมโครไฟเบอร์สู่ธรรมชาติได้ผ่านขั้นตอนการซักล้าง และเมื่อมันเริ่มย่อยสลาย จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล เช่น ก๊าซมีเทน สู่ระบบนิเวศของเรา” คิบเบกล่าว

นอกจากนี้ เสื้อชั้นในสตรีประกอบด้วยพลาสติกและโลหะชิ้นเล็ก ๆ โดยบางส่วนทำมาจากโพลียูรีเทนซึ่งไม่สามารถรีไซเคิลได้ ทำให้ต้องแยกชิ้นส่วนออกทีละชิ้น อันเป็นกระบวนการที่ต้องใช้มือแยก และมีราคาสูงเกินกว่าที่แบรนด์ทั่วไปจะจ่ายไหว 

“ชิ้นส่วนตัวล็อกสาย และโครงบรามีขนาดเล็กมาก ทำให้โรงงานต้องหาวัสดุเหล่านี้จำนวนมากเพื่อให้คุ้มค่ากับค่าดำเนินการ” คิบเบกล่าว

ปฏิวัติวงการแฟชั่น! สตาร์ทอัพสหรัฐ ผลิต “ชุดชั้นในย่อยสลายได้” กลายเป็น “ปุ๋ย” ปลูกต้นไม้

 

  • ทางออกการลดขยะชุดชั้นใน

ปัจจุบันแบรนด์ชุดชั้นในหลายรายกำลังมองหาวิธีลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ของตนลง ไม่ว่าจะเป็น The Big Favorite แบรนด์ชุดชั้นในสหรัฐที่ผลิตด้วยผ้าฝ้ายพีมา 100% กำลังทำโครงการรับคืนสินค้า และนำเสื้อผ้าเหล่านั้นไปรีไซเคิลเป็นเส้นด้ายและผลิตเสื้อผ้าใหม่ 

ขณะที่บริษัทชุดชั้นในสตรียักษ์ใหญ่อย่าง Victoria’s Secret & Co. กำลังศึกษาวิธีการนำเศษผ้าสแปนเด็กซ์ที่เหลือในการผลิต กลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ พร้อมกับวิจัยหาวัสดุสังเคราะห์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด และยูคาลิปตัส

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว คนมักจะไม่นำชุดชั้นในไปขายต่อเหมือนเสื้อผ้ามือสอง แต่ก็มีหลายแบรนด์ที่ทำโครงการที่รับบริจาคชุดชั้นในสำหรับผู้ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็น Aerie แบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงของสหรัฐที่ให้ลูกค้านำชุดชั้นในเก่ามาบริจาคได้ที่ร้าน เพื่อนำไปมอบให้กับ Free the Girls โครงการที่สนับสนุนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้าบริการทางเพศ ขณะที่ Victoria's Secret กำลังนำร่องโครงการรับคืนสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เครื่องประดับและชุดชั้นในที่ร้านค้า 14 สาขาในฟลอริดา 

จากความพยายามที่แต่ละแบรนด์กำลังระดมสรรพกำลังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิลชุดชั้นใน ทั้งด้านวัสดุและวิธีการกำจัด ซึ่งพบว่าในปัจจุบันยังไม่ถึงจุดที่คุ้มทุน ดังนั้นการทำชุดชั้นในให้มีอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ชุดชั้นในถูกทิ้งกลายเป็นขยะ

ดังที่ ลอรา บาลมอนด์ หัวหน้าฝ่ายแฟชั่นของ Ellen MacArthur Foundation องค์กรเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า “สิ่งของเหล่านี้ที่คนทั่วไปไม่ต้องการเปลี่ยน พวกเขาจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อมันใช้งานไม่ได้เท่านั้น ดังนั้นแต่ละแบรนด์ควรให้ความสำคัญการทำชุดชั้นในให้มีความคงทนยิ่งขึ้น”

ปฏิวัติวงการแฟชั่น! สตาร์ทอัพสหรัฐ ผลิต “ชุดชั้นในย่อยสลายได้” กลายเป็น “ปุ๋ย” ปลูกต้นไม้

 

ที่มา: BloombergSouth China Morning Post