รู้จัก Human Composting ธุรกิจจัดการ "ศพมนุษย์" ให้เป็นปุ๋ย ตอบโจทย์ยั่งยืน

รู้จัก Human Composting ธุรกิจจัดการ "ศพมนุษย์" ให้เป็นปุ๋ย ตอบโจทย์ยั่งยืน

Human Composting หนึ่งในเทรนด์ธุรกิจรักษ์โลกที่มาแรง ล่าสุด "นิวยอร์ก" เป็นรัฐอันดับ 6 ของสหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้นำ "ศพมนุษย์" มาทำปุ๋ยได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อตอบโจทย์ "ความยั่งยืน" และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ช่วงปี 2561-2562 เป็นต้นมา หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับธุรกิจการจัดการ “ศพมนุษย์” ให้กลายเป็นปุ๋ย ทดแทนการเผาศพหรือฝังศพ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนและตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน โดยกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า Human Composting ที่ใช้หลักการ “ปล่อยให้ร่างผู้เสียชีวิตย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ”

สำหรับกระบวนการคร่าวๆ คือ นำร่างผู้เสียชีวิตบรรจุในภาชนะปิด แล้วกลบร่างด้วยเศษไม้ หญ้า ฟาง ที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ โดยด้านในต้องมีอากาศผ่านได้สะดวก เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียเพื่อย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์

โดยกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ก็จะเสร็จสิ้น ญาติสามารถมารับดินปุ๋ยเหล่านี้กลับบ้านไปใช้ปลูกต้นไม้และทำสวนได้ สำหรับดินปุ๋ยจากกระบวนการดังกล่าวจะมีปริมาณอยู่ที่ 1 ลูกบาศก์เมตร 

รู้จัก Human Composting ธุรกิจจัดการ \"ศพมนุษย์\" ให้เป็นปุ๋ย ตอบโจทย์ยั่งยืน

การจัดการศพด้วยวิธี Human Composting เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างถูกกฎหมายโดยบริษัทรีคอมโพสต์ เมื่อปี 2562 ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ในสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นธุรกิจดังกล่าวก็ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างถูกกฎหมายในอีกหลายๆ พื้นที่ในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น โคโลราโด (2564), โอเรกอน (2564), เวอร์มอนต์ (2565) และแคลิฟอร์เนีย (2565)

ขณะที่การจัดการร่างผู้ตายด้วยวิธีการย่อยสลายดังกล่าว ก็ได้รับการยอมรับและเป็นกระบวนการถูกกฎหมายในประเทศสวีเดนเช่นกัน ส่วนในสหราชอาณาจักร พบว่าทางการอนุญาตให้จัดการศพด้วยการฝังศพตามธรรมชาติโดยไม่มีโลงศพหรือใช้โลงศพที่ย่อยสลายได้

ล่าสุด (2 ม.ค. 2566) มีรายงานข่าวจากสื่อนอกหลายสำนักระบุว่า “นครนิวยอร์ก” เป็นเมืองล่าสุดอันดับที่ 6 ในสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านกฎหมายอนุญาตให้จัดการร่างผู้เสียชีวิตด้วยการย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดการศพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รู้จัก Human Composting ธุรกิจจัดการ \"ศพมนุษย์\" ให้เป็นปุ๋ย ตอบโจทย์ยั่งยืน

โดย เคธี โฮชุล ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ได้ออกกฎหมายรับรองวิธีจัดการศพแบบ Human Composting อย่างเป็นทางการ โดยความเคลื่อนไหวทางกฎหมายครั้งนี้ ทำให้นิวยอร์กเป็นรัฐที่ 6 ในสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริง ทำให้ชาวนิวยอร์กสามารถเข้าถึงวิธีจัดการศพทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจะนำร่างผู้จากไปไปผ่านกระบวนการย่อยสลายที่ไหนก็ได้ แต่ต้องถูกส่งไปยัง “องค์กรสุสาน” ที่ได้รับการรับรองจากทางการว่า เป็นสถานที่ในการจัดทำกระบวนการ Human Composting ที่มีการบรรจุศพและระบายอากาศอย่างเหมาะสม และต้องผ่านการตรวจสอบว่าไม่มีการบรรจุแบตเตอรี, ชุดแบตเตอรี, เซลล์พลังงาน, สารกัมมันตภาพรังสี หรืออุปกรณ์กัมมันตภาพรังสีอื่นใดลงไปกับศพด้วย 

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางกลุ่มรวมถึงบาทหลวงอีกจำนวนมาก ต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดการศพในรูปแบบนี้ เพราะมองว่าการจัดการร่างผู้เสียชีวิตควรทำอย่างสมเกียรติ มีจริยธรรม และมีพิธีการที่เหมาะสมกับศาสนาหรือความเชื่อของผู้ตายและครอบครัวของผู้ตาย ขณะที่ประชาชนกลุ่มรักษ์โลกมองว่า การเผาศพและการฝังศพตามหลักศาสนานั้นสร้างคาร์บอนฟุตปริ๊นต์ให้โลกจำนวนมหาศาล

รู้จัก Human Composting ธุรกิจจัดการ \"ศพมนุษย์\" ให้เป็นปุ๋ย ตอบโจทย์ยั่งยืน

ด้าน แคทรีนา สเปด ผู้ก่อตั้งบริษัท Recompose ในซีแอตเทิล ระบุเพิ่มเติมว่า กระบวนการ Human Composting สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1 ตัน เมื่อเทียบกับการจัดการศพด้วยวิธีเผาหรือฝังแบบดั้งเดิม วิธีนี้ไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นทางเลือกที่ใช้งานได้จริงมากกว่าในเมืองที่มีสุสานอย่างจำกัดอีกด้วย

อีกทั้งค่าธรรมเนียมในการจัดการศพด้วยวิธี Human Composting มีค่าใช้จ่ายประมาณ 7,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 241,920 บาท ; คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ณ 3 ม.ค. 66) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับค่าบริการทำพิธีฝังศพแบบดั้งเดิมในสหรัฐ ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 7,848 ดอลลาร์ หรือหากเป็นพิธีเผาศพจะมีค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 6,971 ดอลลาร์ ตามข้อมูลของ National Funeral Director Association (NFDA) ณ ปี 2021

ธุรกิจการจัดการศพในรูปแบบใหม่ดังกล่าว มีให้เห็นเพียงบางประเทศเท่านั้น น่าสนใจว่าในอนาคตธุรกิจรักษ์โลกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหลังความตายของผู้คนจะเป็นไปในทิศทางใด รวมถึงในไทยเองจะยอมรับแนวคิดการจัดการศพด้วยวิธี Human Composting หรือไม่ คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป

------------------------------------------ 

อ้างอิง : TheGuardianBBC