รู้จัก “คราฟท์โซดาไทย” ดื่มด่ำความ local ผ่านความซ่าที่หาที่ไหนไม่ได้

รู้จัก “คราฟท์โซดาไทย”  ดื่มด่ำความ local ผ่านความซ่าที่หาที่ไหนไม่ได้

ตลาดน้ำอัดลมมีการพัฒนารสชาติให้มีความแปลกใหม่ และมีบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ‘คราฟท์โซดาไทย’ ที่มีการหยิบวัตถุดิบท้องถิ่นมาชูรสชาติความเป็นไทยผ่านเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เหล่านี้ 

ยิ่งอากาศร้อนเท่าไร การดื่มน้ำซ่าๆ หวานๆ คือการดับร้อนที่ดีที่สุดสำหรับใครหลายคน โค้ก เป๊ปซี่ คือน้ำอัดลมยอดฮิตของทั้งคนไทยและผู้คนทั่วโลก ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยปี 2564 พบว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมและโซดามีสัดส่วนการขายมากที่สุดถึง 31% ของตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้น้ำอัดลมและโซดามีผู้ประกอบการแวะเวียนเข้ามาทำตลาดน้ำอัดลมจำนวนมาก และมีการพัฒนารสชาติให้มีความแปลกใหม่ และมีบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ‘คราฟท์โซดาไทย’ ที่มีการหยิบวัตถุดิบท้องถิ่นมาชูรสชาติความเป็นไทยผ่านเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เหล่านี้ 


รู้จัก “คราฟท์โซดาไทย”  ดื่มด่ำความ local ผ่านความซ่าที่หาที่ไหนไม่ได้

  • เจาะต้นกำเนิดความซ่าของ “โซดาและน้ำอัดลม”

เครื่องดื่ม “โซดา” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปี ค.ศ. 1767 เกิดจากนักวิทยาศาสตร์อังกฤษได้ค้นพบว่ามีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากถังหมักเบียร์ หลังจากนั้นจึงได้ทำการทดลองน้ำคาร์บอเนตในชื่อ ‘โซดา’ จนมีการพัฒนากลิ่นและรสชาติในกลุ่มนักเภสัชกรเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ และผลิตยา จนทำให้มีสูตร ‘น้ำหวานอัดลม’ ตามมา ในที่สุดก็มีการพัฒนาต่อจนกลายเป็นสินค้าติดตลาด มีการสร้างแบรนด์และผลิตน้ำอัดลมและโซดาในระดับอุตสาหกรรม 

สำหรับแบรนด์น้ำหวานอัดลมที่มีความเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ทุกคนรู้จักคือ  ชเวปส์ (Schweppes) ที่ก่อตั้งโดยชาวสวิตเซอร์แลนด์ มีการจัดจำหน่ายครั้งแรกปี ค.ศ. 1783 และชเวปส์ได้รับเลือกให้เป็นเครื่องดื่มหลักในงาน The 1851 Great Exhibition นิทรรศการงานแสดงสิ่งประดิษฐ์และอุตสาหกรรมจากทั่วโลก และยังเป็นแบรนด์เดียวที่ได้รับอนุญาตให้นำน้ำพุจาก Malvern Spring มาบรรจุขวดขายเรื่อยมา ซึ่งเป็นน้ำดื่มประจำราชวงศ์อังกฤษเรื่อยมา 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ยุคของน้ำอัดลมก็เฟื่องฟูขึ้น มีแบรนด์ จิงเจอร์เอล (Ginger Ale) รูทเบียร์ (Root Beer) และโคล่า (Cola) ตามมา  ในปัจจุบันโคล่าหรือโค้กที่คนไทยเรียกกัน กลายเป็นน้ำอัดลมที่นิยมมากที่สุดตลอดกาล โดยน้ำโคล่าในยุคแรกถูกผลิตเพื่อรักษาอาการติดมอร์ฟีน รวมถึงมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ โคโลญจน์ โลชั่น และออยล์ ซึ่งมีส่วนผสมจากสารสกัดต้นโคคา จนภายหลังพัฒนาสูตรจนเป็นรสชาติในปัจจุบัน และสูตรน้ำหวานดังกล่าวยังคงเก็บเป็นความลับในห้องนิรภัยสูงสุด

รู้จัก “คราฟท์โซดาไทย”  ดื่มด่ำความ local ผ่านความซ่าที่หาที่ไหนไม่ได้
 

  • น้ำมะเน็ด ความซ่าในยุครัตนโกสินทร์

น้ำหวานอัดลมเข้ามาในไทยช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 มีหลักฐานโฆษณาน้ำอัดลมที่ชื่อว่า ‘น้ำมะเน็ด’ จากหนังสือพิมพ์ Bangkok Recorder ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า Lemonade ที่แปลว่าน้ำมะนาว ซึ่งเป็นสินค้านำเข้ามาจากสิงคโปร์ ในเริ่มแรกน้ำอัดลมยังไม่นิยมในหมู่คนไทยเนื่องจากมีราคาสูงมากถึง 5 สตางค์ 

ในยุคต่อมาน้ำหวานอัดลมแพร่หลายมากขึ้นจากนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศและนำวัฒนธรรมการดื่มน้ำอัดลมกลับมายังไทยด้วย จากนั้นก็พบว่ามีแบรนด์น้ำอัดลมอื่นๆ ตามมา เช่น Coca-Cola , RC , Pepsi Mounthain Dew, 7up ซึ่งในปัจจุบันก็มีบางแบรนด์ที่ยุติการขายในไทยแล้ว เช่น กระทิงแดงโคล่า, คิกคาปู้, ฮาวดี้

รู้จัก “คราฟท์โซดาไทย”  ดื่มด่ำความ local ผ่านความซ่าที่หาที่ไหนไม่ได้

  • คราฟท์โซดาไทย เอกลักษณ์แบบไทยๆ

เมื่อน้ำอัดลมได้รับความนิยมตลอดกาล ผู้ประกอบการรายเล็กๆ จึงเกิดองค์ความรู้เพื่อต่อยอดการผลิตน้ำอัดลมให้เข้ากับวัตถุดิบที่ตนเองมีในท้องถิ่น และกลายเป็น ‘คราฟท์โซดาไทย’ หลากหลายยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ทาง TCDC COMMONS Seacon Square ได้จัดนิทรรศการ Creative Thai Craft Soda Taste Bar ที่รวบรวมคราฟท์โซดาในไทย พร้อมข้อมูลน่ารู้มาให้ประชาชนที่สนใจศึกษาและชิมกันหลากหลายรสชาติ 

โดยในปัจจุบันคราฟท์โซดาไทย มีแบรนด์ดังที่ติดตลาดหลักๆ คือ คาสทาวน์ (Castown) ร้านกาแฟในเชียงใหม่ที่ใช้เปลือกกาแฟมาหมักเป็นโซดาและพัฒนารสชาติให้ดีขึ้น จนถูกปากผู้บริโภคทำให้ขายดิบขายดีติดตลาดทั่วไป แต่ถึงอย่างนั้นคราฟท์โซดาไทยก็ยังไม่มีกลุ่ม หรือสมาคมอย่างเป็นทางการ

“คือบางเจ้าที่ทำคราฟท์โซดายังเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือมีเงินทุนไม่เยอะ มันมีข้อจำกัดเชิงกฎหมายอีก” คณะผู้จัดงานกล่าว และยังบอกอีกว่า ในปัจจุบันยังไม่สามารถนิยามได้ว่า คำว่า ‘คราฟท์’ นี้นิยามไปถึงจุดไหน บางเจ้าที่ผลิตเองก็มองว่ามันคือการไม่ผลิตในโรงงานใหญ่ แต่จุดร่วมสำคัญที่กลุ่มคนทำคราฟท์โซดาไทยมองก็คือ การมีเอกลักษณ์ของกลิ่นและรสชาติที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะใช้วัตถุดิบเดียวกัน 

ตัวอย่างแบรนด์คราฟท์โซดาไทย ได้แก่ 

Thai Craft Soda : ผู้หลงใหลในรสชาติของ “รูทเบียร์” กับผลิตภัณฑ์ RitS Root Beer และ จริต Vibes Root Beer 0% Sugar

Neribana High - เนริบาน่าไฮ : โซจูไร้แอลกอฮอล์ คราฟท์โซดาที่มีส่วนผสมของกัญชา มีมาให้ชิมกัน 4 รสชาติ ได้แก่ รส ORIGINAL TASTE OF AUTUMN, SPRING STRAWBERRY, WINTER YUSU, SUMMER PEACH

ฮักแป้ ออแกนิค ฟาร์ม : คราฟท์โซดาที่ต้องการชูวัตถุดิบท้องถิ่นไทยในจังหวัดแพร่ ที่นำ Draft & Craft Soda มากดให้ชิมกันสด ๆ จากตู้ถึง 3  รสชาติ คือ Ma-Khwean Rootbeer, Cocoa Pinky, Maple Mary Do

Headkhe craftsoda : คราฟท์โซดาจากหัวตะเข้ กับรสชาติส้มป่อย, โคล่ายูสุ, ลูกไหน และเสาวรส

Hopster-TH : ฮอบส์โซดาที่นำเสนอรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์จากวัตถุดิบอย่างฮอปส์ที่ปลูกในไทย นำมาผสมกับรสชาติของผลไม้ต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว ทั้ง Melon Terpenes, Watermelon และ Mango Milkshake

Pushers : คราฟท์โซดาที่ดึงเอาเอกลักษณ์รสชาติของ "ชา" มาผสมผสานกับวัตถุดิบต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว ทั้ง Peachy oolong fizz, Passion oolong fizz

ช่วงวันปีใหม่นี้ หลายครอบครัวมักจะจัดปาร์ตี้ เลี้ยงฉลองเทศกาลแห่งความสุข  ใครที่เบื่อน้ำอัดลมแบบเดิมๆ ก็ลองหาน้ำอัดลมรสชาติใหม่อย่างคราฟท์โซดาไทยมาลองกัน  เพราะนอกจากความสดใหม่ของรสชาติที่เราจะได้ลิ้มลองแล้ว ยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยอีกด้วย

รู้จัก “คราฟท์โซดาไทย”  ดื่มด่ำความ local ผ่านความซ่าที่หาที่ไหนไม่ได้