"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง

"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง

ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง จ.เชียงราย แรงบันดาลใจจาก "ชุมชน" งานฝีมือท้องถิ่นสร้างอาชีพให้ชุมชนเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา สร้างกำลังใจให้ "ผู้ต้องขัง" ในเรือนจำชาย

ผ้าผืนสี่เหลี่ยมชิ้นเล็กๆ กว้างยาวไม่กี่นิ้ว แต่สวยงามด้วยลวดลายที่เกิดจากการใช้เส้นด้ายปักด้วยมือ เรียกกันตามวิธีการทำว่า “ผ้าปักด้วยมือ” เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านสันกอง ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย มาแต่ไหนแต่ไร

นอกจากเป็นงานฝีมือที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง ยังเข้าไปสร้างรายได้และเยียวยาจิตใจให้กับ “ผู้ต้องขัง แดน 3” ในเรือนจำกลางเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังชายล้วน

ผู้ริเริ่มเข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ “ผ้าปักด้วยมือ” ให้กับผู้ต้องขังชายในเรือนจำกลางเชียงราย คือ นิธี สุธรรมรักษ์ ประธาน “กลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง จังหวัดเชียงราย” ที่ใครๆ เรียกเธอว่า “ป้านิ”

ก่อนเข้าร้บหน้าที่ในตำแหน่ง “ประธานกลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง” ป้านิเป็นเพียงหนึ่งในสาวโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายร้อยคนในเชียงรายที่ “ตกงาน” เพราะพิษเศรษฐกิจโลก กระทบประเทศไทยจนเกิดปัญหา “ฟองสบู่แตก” โรงงานญี่ปุ่นในเชียงรายพากันปิดตัว

\"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง\" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง

ป้านิ นิธี สุธรรมรักษ์

ป้านิ-นิธี เล่าว่า หลังจากตกงานก็นั่งคิด อยากทำอะไรเกี่ยวกับชุมชนตนเองที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก เนื่องเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านก็ตกงานกันหมด จึงพยายามค้นหาว่าในชุมชนมีอาชีพอะไรบ้างที่ตนเองพอจะทำได้ จาก 20 กว่าอาชีพที่นึกออก คำตอบก็วนกลับมาที่ “งานปักผ้า” ที่ป้านิเคยทำมาสมัยเด็กๆ

“สมัยก่อนตอนป้านิเด็กๆ คุณแม่ซึ่งตอนนี้อายุ 89 ปี เคยรับจ้างถักเสื้อปักเสื้อ วิถีชีวิตเราคือเกี่ยวกับเส้นด้ายมาตลอด ก่อนไปโรงเรียนและวันหยุดป้านิจะต้องสาวด้ายให้แม่วันละ 4-5 ตะกร้าก่อนจึงจะได้ไปเล่นกับเพื่อน เพื่อให้แม่ถักเสื้อขาย เสาร์อาทิตย์ก็รับปักเสื้อด้วย

พอตกงาน ป้ามีเวลา ก็ขี่จักรยานไปตามหมู่บ้าน ก็เห็นหมู่บ้านไหนเวลาว่างจากทำไร่ทำนา เขาก็นั่งปักผ้ากัน ก็ถามว่าชิ้นนี้เท่าไร เขาก็บอกสิบกว่าบาท ป้าก็ถามทำไมไม่ทำให้ขายได้ราคาแพงกว่านี้ เขาบอกทำไปเขาก็ซื้อเท่านี้

เขามีด้ายสีอะไรก็ใช้อันนั้น ป้าก็เลยไปปรับเรื่องสีให้เขา ปรับวิธีการปัก ทำอย่างไรให้ปักลายได้เร็ว พอสักระยะชิ้นงานที่เราไปสอน ปักเสร็จเขาเอากลับมาขายให้เรา ป้าก็ถามทำไมไม่เอาไปขายที่ร้านเขา เอามาขายให้เราทำไม เขาบอกป้านิเป็นคนสอนก็ต้องรับซื้อ เราก็เลยรับซื้อไว้ทีละนิดทีละหน่อย เยอะขึ้นจนมีเป็นสิบๆ กล่อง

พอดีน้องชายมีล็อคอยู่ที่ไนท์บาร์ซาเชียงราย ป้าก็เอาผ้าปักใส่ลังไปกับเสื่อหนึ่งผืน ปูลงกับพื้น เทกองขาย นักท่องเที่ยวคนไทยไม่เคยเห็นผ้าปักเยอะแบบนี้ ก็ซื้อกันใหญ่ อาทิตย์แรกป้าขายได้ทุกวัน คนอื่นก็มีขาย แต่เขามี 5-10 ชิ้น แต่ของป้ามีเยอะมาก อยากซื้อสีไหนลายไหนมีหมด อันนั้นคือจุดเริ่มต้นที่ป้ากลับมาตั้งกลุ่มผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง”

\"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง\" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง จังหวัดเชียงราย 

ผลิตภัณฑ์ "ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง" ของกลุ่มป้านิ ได้รับการคัดเลือกจากเวทีประชาคมตำบลให้เป็นสินค้า "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)” ระดับ 5 ดาว ของตำบล และได้รับการคัดสรรให้เป็น สินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ประเภทของใช้และของประดับตกแต่ง ในปี พ.ศ.2542 

รวมทั้งได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าปักด้วยมือ ตามมาตราฐานเลขที่ มผช.๒๔๙/๒๕๕๗ ออกให้ ณ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2547 และเป็นปีแรกที่ป้านิมีโอกาสนำ "ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง" จำหน่ายในงาน OTOP ซึ่งจัดที่เมืองทองธานี กรุงเทพฯ

“ขายที่เมืองทองครั้งแรกตอนปี 2547 ขายจนไม่ได้กินข้าว ไม่เคยเห็นเงินแสนก็ได้เห็น นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ป้านิก้าวไปอีกต่อหนึ่ง สมาชิกเริ่มเยอะขึ้น สอนคนมากขึ้น ขยายจากหมู่บ้านเราไปต่างหมู่บ้าน ต่างอำเภอ ใครอยากเรียนรู้กับเรา มาเรียนได้เลย” ป้านิ กล่าว

\"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง\" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง ต่อยอดเป็นสินค้าที่ระลึก

จากนั้นป้านิก็เริ่มต่อยอดด้วยการนำผ้าปักแต่ละชิ้นมามาเย็บเข้าด้วยกันเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า ซองใส่โทรศัพท์มือถือ ซองใส่แว่นตา กระเป๋าเงิน เนื่องจากนักท่องเที่ยวอยากได้งานผ้าปักที่ซื้อเป็นของฝากได้เลย

ปีพ.ศ.2560 “ป้านิ” นิธี สุธรรมรักษ์ มีโอกาสสร้างแรงบันดาลใจ ความหวัง ความสุขทางใจให้กับ “ผู้ต้องขังแดน 3” เรือนจำกลางเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังชายทั้งหมด ด้วยการเข้าไปเป็นวิทยากรสอนงานปักผ้าเพื่อเป็นอาชีพเสริมให้กับผู้ต้องขัง

“ครั้งแรกที่ป้าเข้าไปสอน ทุกคนไม่เคยจับเข็มจับด้าย ไปสอนตั้งแต่พื้นฐานร้อยด้ายเข้าเข็ม สอนปักผ้า ค่อนข้างยาก ขนาดผู้บัญชาการเรือนจำบอกป้า แต่ละคนสักยันต์เต็มตัว แล้วจะทำให้ป้าได้เหรอ ป้าก็ยังคิดอยู่”

แต่หลังจากเข้าไปสอนปักผ้าได้ 3 เดือน จากวันแรกที่มีผู้ต้องขังชายสนใจเข้าเรียน 80 คน เพิ่มเป็น 200 คน ฝีมือปักผ้าดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงจะปักสวยหรือไม่สวย ป้านิก็รับซื้อไว้ทุกชิ้น เพื่อเป็นกำลังใจ ผ้าปักชิ้นไหนยังไม่ค่อยสวยก็ตกแต่งเพิ่มเองได้

\"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง\" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง ป้านิ เข้าไปสอนปักผ้าให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงราย (photo : เฟซบุ๊ก ผ้าปัก by นิธี)

นอกจากเข้าไปสอนการปักผ้า ป้านิยังสอนวิธีการใช้ชีวิตให้กับลูกศิษย์ในเรือนจำด้วย

“ป้าก็สอนวิธีคิด อยู่ยังไง อย่าคิดมาก บางคนอยู่ตลอดชีวิต บางคนอยู่ห้าสิบปี ถ้าไม่มีสิ่งช่วยกล่อมเกลาจิตใจ เขาจะคิดมาก ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวนี้ติดแล้ว ถ้าผ้าหมด ผู้คุมโทรศัพท์มาเลย ผ้าหมดแล้วนะ”

ถึงวันนี้ “เรือนจำกลางเชียงราย” ตั้งกองงานขึ้นมาใหม่ชื่อ “กองงานผ้าปัก” โดยปรับพื้นที่ใต้ถุนอาคาร “ผู้ต้องขังแดน 3” ทั้งตึกเป็นที่ฝึกอาชีพของกองงานใหม่ มีผู้ต้องขังชายอายุ 20-60 ปี ใช้เวลาฝึกอาชีพอยู่ที่นี่ และเป็นกำลังผลิตสำคัญให้กับ “กลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง” 

\"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง\" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง ลวดลายชุมชนบนผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง จังหวัดเชียงราย

\"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง\" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง ลายดอกไม้บนพระตำหนักดอยตุง

ชาวบ้านสันกองมีทั้งชาวไทยและชาวไทยภูเขา ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์บนผ้าปักจึงมีความหลากหลายของลวดลายวัฒนธรรมชนเผ่าและลายที่มีแรงบันดาลใจจากธรรมชาติในหมู่บ้าน บ้านไหนมีควายก็ปักรูปควาย บ้านไหนทำนาก็ปักรูปต้นข้าวเมล็ดข้าว บ้านไหนมีดอกไม้ใบหญ้างดงามก็ปักสิ่งนั้น 

“เป็นงานปักที่มีแต่ถูก ไม่มีผิด ใครอยากปักรูปอะไรในหมู่บ้านก็ปัก เรียกลายชุมชน อย่างบ้านป้านิอยู่ตีนดอยตุง ป้านิก็ปักรูปดอกไม้เมืองหนาวบนพระตำหนักดอยตุง”

\"ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง\" ชุบชีวิตชุมชน ชโลมใจผู้ต้องขัง กระเป๋าผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง กับดีไซน์ของ บัญชา ชูดวง

นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากคุณ “บัญชา ชูดวง” ผู้เชี่ยวชาญแฟชั่นดีไซน์ เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำ “วัสดุหนัง” เข้ามาผสมกับงานผ้าปัก ตัดเย็บเป็นกระเป๋า ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อย่างสมเหตุสมผล

ปัจจุบัน “ผลิตภัณฑ์ผ้าปัก กลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง” มีวางจำหน่ายตามงานจำหน่ายสินค้า OTOP, งานสินค้าหัตถกรรม, ตลาดนัด SEM, เฟซบุ๊ก ผ้าปัก by นิธี และโซนไอคอนคราฟท์ ไอคอนสยาม

“ผ้าปักด้วยมือ บ้านสันกอง” วิถีชีวิตชุมชน ส่งเสริมอาชีพผู้ต้องขังซึ่งกลับใจ