ไม่มีสมอง มีแต่เส้นสาย นักวิทย์ฯ เผย ทำไม "แมงกะพรุน" ถึงอยู่รอดนับล้านปี

ไม่มีสมอง มีแต่เส้นสาย นักวิทย์ฯ เผย ทำไม "แมงกะพรุน" ถึงอยู่รอดนับล้านปี

ร่วมไขข้อสงสัย ทำไม “แมงกะพรุน” สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่ไม่มีทั้ง สมอง กระดูกหรือกระดอง แต่อยู่รอดมาหลายร้อยล้านปี

แมงกะพรุน หรือ Jelly Fish เป็น สัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลัง มีลักษณะใสคล้ายวุ้น ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร มีหลายชนิด เช่น แมงกะพรุนจาน หรือ แมงกะพรุนหนัง ซึ่งกินได้ไม่มีพิษ ส่วนแมงกะพรุนถ้วย แมงกะพรุนไฟ แมงกะพรุนกล่อง และแมงกะพรุนลาย มีพิษ ซึ่งบางครั้งอันตรายถึงชีวิตผู้ที่ไปสัมผัสรวมถึงมนุษย์ 

ทั้งแมงกะพรุน และแมงกะพรุนไฟ จัดอยู่ในไฟลัม Colenterata โดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ ลำตัวโปร่งแสง ประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่และจะมีเข็มพิษ (nematocyst) อ่านว่า นีมาโตซิสต์ อยู่ทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณหนวดที่มองแล้วเหมือนเส้นสายหลายๆ เส้น และรอบๆ ปากซึ่งใช้ในการฆ่าเหยื่อ 

แม้ว่าแมงกะพรุนเหล่านี้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมือนวุ้นลอยไปลอยมาในท้องทะเล แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าพวกมันอยู่รอดมาได้อย่างไรหลายร้อยล้านปี ทั้งๆ ที่ถ้าดูจากลักษณะทางกายภาพของแมงกะพรุนแล้วนั้น พวกมันดูอ่อนแอและไม่น่าจะมีความสามารถในการปกป้องตนเองจากการสูญพันธุ์ได้แถมแมงกะพรุนบางชนิดยังถูกมนุษย์จับมาประกอบอาหารอีกด้วย

ความจริงแล้ว แมงกะพรุน ซึ่งมีชื่อที่แปลตรงตัวว่า “ปลาวุ้น” ตามภาษาอังกฤษว่า jellyfish แต่พวกมันไม่ใช่ปลา และไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันทั้งหมด สิ่งมีชีวิตที่เรียกรวมๆ กันว่าแมงกะพรุน ไม่ได้รวมอยู่ในสายพันธุ์เดียวกันทั้ง เพราะพวกมันอยู่ต่างกิ่งก้านสาขาในสาแหรกตระกูลของสัตว์ รวมถึงใช้ชีวิตในถิ่นอาศัยแตกต่างกัน หลายชนิดชอบพื้นผิวมหาสมุทร บางชนิดชอบน่านน้ำลึก และบางชนิดชอบน้ำจืด แต่จุดร่วมของพวกมันคือวิวัฒน์กลยุทธ์ที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบล่องลอยตามกระแสน้ำ นั่นคือร่างกายที่มีลักษณะคล้ายวุ้น

  • จากวิวัฒนาการที่หลากหลาย สู่การสืบพันธุ์ที่น่าทึ่ง

ที่ผ่านมาแมงกะพรุนมีวิวัฒนาการที่หลากหลาย ทำให้มีขอบเขตความแตกต่างของรูปทรง ขนาด และพฤติกรรมแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการสืบพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าพวกมันมีวิธีการหลากหลายที่สุดในโลก และสามารถผลิตลูกหลานได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยพวกมันอาจสร้างสำเนาของตัวเองได้โดยการแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง หรือวางตัวอ่อนในรูปกลุ่มเซลล์ทรงยาวรีเล็กๆ หรือสลัดโคลนนิ่งรูปทรงเหมือนเกล็ดหิมะขนาดจิ๋วออกมาในกระบวนการที่เรียกว่า สตรอบิเลชัน (strobilation) และที่เรียกได้ว่าแปลกที่สุดคือ แมงกะพรุนบางชนิดยังสืบพันธุ์ได้แม้หลังความตาย

พวกแมงกะพรุนที่สืบพันธุ์ได้แม้กระทั่งชีวิตหลังความตายคือ “แมงกะพรุนอมตะ” สามารถย้อนกลับกระบวนการชราภาพได้ โดยแทนที่จะแก่ตายไป พวกมันกลับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นวัยเยาว์ และเริ่มวงจรชีวิตของแมงกะพรุนซ้ำใหม่อีกรอบ นักวิทยาศาสตร์เรียกกระบวนการใกล้เคียงกับปาฏิหาริย์นี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์แบบข้ามชนิดเนื้อเยื่อ (transdifferentiation) ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากพวกมันจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ยั้งยืนยงในท้องทะเล

  • เมื่อแมงกะพรุนยึดครองทะเล

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ประชากรแมงกะพรุนบางพื้นที่ของโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในทศวรรษ 1980 “หวีวุ้น” ชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางการว่า Mnemiopsis leidyi และเรียกกันทั่วไปว่า “วอลนัตทะเล” ปรากฏตัวขึ้นในทะเลดำ สัตว์พื้นถิ่นจากแถบตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหล่านี้อาจติดมากับน้ำอับเฉาเรือ ก่อนถูกปล่อยลงสู่ทะเลในเวลาต่อมา แต่เมื่อมาอยู่ในทะเลดำพวกมันแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนกระทั่งถึงปี 1989 ความหนาแน่นพุ่งสูงขึ้นถึง 400 ตัวต่อน้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตร ทำให้ปลาไม่สามารถแย่งชิงอาหารกับพวกมันได้ เพราะวอลนัตทะเลกินอาหารมากกว่าน้ำหนักตัวถึงวันละ 10 เท่า และปลาหลายชนิดก็กลายเป็นอาหารของพวกมัน

ส่งผลกิจการประมงในท้องถิ่นถึงกับล่มสลายเนื่องจากไม่มีปลามากพอให้ทำประมง ในพื้นที่ทะเลส่วนอื่นของโลก ฝูงแมงกะพรุนคุกคามคนลงเล่นน้ำ และทำให้อวนอุดตัน เมื่อปี 2006 ชายหาดหลายแห่งในอิตาลีและสเปนถูกสั่งปิด เพราะฝูงแมงกะพรุนเพลาเกียที่ทำอันตรายนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ในปี 2013 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสวีเดนต้องปิดชั่วคราว เพราะแมงกะพรุนถ้วยทำให้ท่อส่งน้ำเข้าอุดตัน

  • แม้ สวย ใส ไร้สมอง แต่อันตรายถึงชีวิต

เป็นที่ทราบกันดีว่าแมงกะพรุนหลายชนิดมีพิษร้ายที่อันตรายถึงชีวิต ยกตัวอย่างในประเทศไทยคงหนีไม่พ้น “แมงกะพรุนกล่อง” ศัตรูตัวร้ายของนักท่องเที่ยว เนื่องจากแมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) หรือเรียกอีกชื่อว่า “ต่อทะเล” (Sea Wasp) เมื่อเทียบกับแมงกะพรุนชนิดอื่นแล้วถือว่ามีพิษร้ายแรงจนทำให้เสียชีวิตได้บ่อยกว่าประเภทอื่น และสามารถพบในท้องทะเลไทยได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

โดยจุดสังเกตของแมงกะพรุนกล่องก็คือ แม้จะมีลักษณะโปร่งใสแต่มีรูปร่างคล้ายลูกบาศก์แต่ละมุมของเหลี่ยมจะมีขายื่นออกมาก่อนจะแตกเป็นหนวดแบบที่เราเห็นว่าเป็นเส้นๆ ซึ่งอาจมีหนวดมากถึง 15 เส้น แต่ละเส้นยาวได้มากสุดเกือบสามเมตร โดยหนวดสามารถยื่นออกไปได้ไกลเพื่อปล่อยกระเปาะพิษออกมาจับปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กกินเป็นอาหาร และหากไปโดนมนุษย์เข้าจะเกิดเป็นรอยแผลนูนแดงหรือรอยไหม้ มีอาการ ปวด คัน บริเวณแผล รวมถึง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ปวดข้อ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ไปจนถึงหมดสติและหัวใจล้มเหลว ดังนั้นผู้ที่สัมผัสกับแมงกะพรุนกล่องจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลทันทีไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียชีวิต

  • แมงกะพรุนแข็งแกร่งแค่ไหน ก็อาจแพ้ภัยให้พลาสติก

แม้ว่าเหล่าแมงกะพรุนทั้งหลายจะมีการสืบพันธุ์เฉพาะ หรือมีพิษที่รุนแรงร้ายกาจ จนทำให้พวกมันดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้กว่าร้อยล้านปี แต่ในอนาคตสัตว์โปร่งแสงเหล่านี้ก็อาจจะต้องยอมแพ้ให้กับภัยคุกคามจากมนุษย์อย่างพลาสติก จากงานวิจัยที่เผยแพร่ลงในวารสาร Scientific Reports ระบุว่า แมงกะพรุนจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Aquatilis Expedition

เมื่อปี 2016 พบว่าจากการสำรวจพบแมงกะพรุน Mauve Stinger จำนวนหนึ่งมีขยะพลาสติกติดอยู่บริเวณหนวดส่วนที่เชื่อมต่อกับร่างกาย จากแมงกะพรุนกลุ่มตัวอย่าง 20 ตัวอย่าง พบว่ามี 4 ตัวที่มีขยะพลาสติกในระบบย่อยอาหาร บ่งชี้ว่าแมงกะพรุนเหล่านี้เข้าใจผิดว่าขยะพลาสติกคืออาหาร ที่น่าตกใจจากรายงานก็คือแมงกะพรุนไม่ได้บังเอิญกินพลาสติกเข้าไปแต่จากการติดตามพบว่าพวกมันหิ้วพลาสติกติดตัวไว้ตลอดเพื่อจะได้กินในวันหลัง

แมงกะพรุนคือสัตว์น้ำที่อยู่คู่ท้องทะเลทั่วโลกมาหลายยุคหลายสมัยยาวนานเกินกว่าชีวิตของมนุษย์บนโลกนี้ พวกมันพยายามปรับตัวโดยเฉพาะการสืบพันธุ์เพื่อให้เผ่าพันธุ์ของพวกมันยังคงดำรงอยู่ต่อไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น รวมถึงสร้างเกราะป้องกันตัวเองด้วยการมีพิษที่อันตรายถึงชีวิต แต่สุดท้ายพวกมันจะยังอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหนหากมนุษย์ยังคงไม่ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเล สุดท้ายแมงกะพรุนอาจต้องหายไปด้วยการกระทำของมนุษย์

อ้างอิง : National Geographic, โรงพยาบาลศิริราช และ สนเทศน่ารู้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง