ไอร์แลนด์ ทุ่ม 730 ล้าน สร้าง “เครื่องผลิตไฟฟ้าจากทะเลที่ใหญ่สุดในโลก”

ไอร์แลนด์ ทุ่ม 730 ล้าน สร้าง “เครื่องผลิตไฟฟ้าจากทะเลที่ใหญ่สุดในโลก”

บริษัท โอเชี่ยน เอเนอจี้ สตาร์ตอัปจากไอร์แลนด์ ทุ่มงบ 730 ล้าน พัฒนา “เครื่องผลิตไฟฟ้าจากคลื่นทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ชูพลังงานสะอาด คาดจะทดสอบในสกอตแลนด์และยุโรปปี 2569

กระแสพลังงานสะอาดจากคลื่นทะเลนั้นมาแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ละบริษัทต่างก็เลือกวิธีการแปลงพลังงานกลจากคลื่นเป็นพลังงานไฟฟ้าต่างกันออกไป เช่น การใช้คลื่นทะเลสร้างความดันอากาศเพื่อหมุนกังหันจากออสเตรเลีย หรือการปล่อยแผ่นลอยกลางผิวน้ำเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าจากการยกตัวของคลื่นในไซปรัส หรือทุ่นที่อาศัยแรงกดที่แปรผันตามคลื่นจากสหรัฐฯ 

แต่ล่าสุด บริษัทสตาร์ตอัปจากไอร์แลนด์ ได้เปลี่ยนวิธีการสร้างไฟฟ้าจากคลื่นทะเลเป็นอีกรูปแบบ โดยได้สร้าง "เครื่องผลิตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก" และเตรียมนำไปลงทะเลที่สกอตแลนด์เพื่อทดสอบแล้ว

ไอร์แลนด์ ทุ่ม 730 ล้าน สร้าง “เครื่องผลิตไฟฟ้าจากทะเลที่ใหญ่สุดในโลก”

เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าดังกล่าวมีชื่อว่า “OE35” จากบริษัท โอเชี่ยน เอเนอจี้ (OceanEnergy) บริษัทสัญชาติไอริชที่มีฐานการผลิตและทดสอบในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นบริษัทที่ทำเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมในทะเล และพลังงานสะอาดมาก่อนหน้านี้อีกด้วย 

โดยตัวเครื่องมีขนาดยาว 38.1 เมตร กว้าง 9 เมตร และสูงถึง 18 เมตร มีน้ำหนักรวมของโครงสร้างทั้งหมดเป็น 826 ตัน จึงกลายเป็นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากคลื่นทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หลักการทำงานของ OE35 คือ การนำตัวเครื่องไปวางคล้ายทุ่นลอยในทะเล และเมื่อคลื่นผ่านมา ก็จะผ่านทางช่องดักคลื่น (Chamber) จำนวน 3 ท่อ ที่วางตามแนวเดียวกันกับทิศทางคลื่น คลื่นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศและสร้างกระแสลมปั่นกังหันใบพัดในตัวและเกิดเป็นกระแสไฟฟ้า ซึ่งทางบริษัทกล่าวว่าหลักการนี้สามารถสร้างพลังงานได้อย่างน้อย 500 กิโลวัตต์ (kW) แต่มีกำลังผลิตสูงสุดที่ 1.25 เมกะวัตต์ (MW) 

หลักการของเครื่องผลิตไฟฟ้า OE35 นั้นถูกนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องของบริษัท เวฟสเวลเอเนอร์จี (Wave Swell Energy) จากออสเตรเลีย เพราะมีหลักการคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเครื่อง OE35 จะมีขนาดที่ใหญ่กว่า และรับกระแสลมจากคลื่นได้ถึง 2 ทิศทาง

แต่ประสิทธิภาพอาจจะไม่ได้หนีห่างหรือเหนือกว่าเครื่องของออสเตรเลียเท่าไรนัก เพราะหลักการของเครื่องในออสเตรเลียนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยทิศทางคลื่นเพื่อสร้างลมแบบ OE35 แต่รีดประสิทธิภาพจากการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศโดยตรง 

บริษัทได้ระดมเงินทุนจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและรับเงินต่อยอดจากหน่วยงานสนับสนุนวิจัยด้านพลังงานของรัฐบาลอังกฤษ (UKRI: UK Reserch and Innovation) อีกกว่า 19.3 ล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ 730 ล้านบาท สำหรับการทดสอบในสกอตแลนด์และประเทศต่าง ๆ ในยุโรปในอีก 4 ปี ข้างหน้านี้

ที่มา: TNN , newatlas