“Diwali” วัดแขกจัดบูชาพระลักษมี กทม. หนุนจัดงานใหญ่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย

“Diwali” วัดแขกจัดบูชาพระลักษมี กทม. หนุนจัดงานใหญ่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย

กรุงเทพมหานคร เปิดพื้นที่ริมคลองโอ่งอ่าง เชิญเที่ยวงานเทศกาลดิวาลี Diwali 21-23 ต.ค.2565 สักการะพระพิฆเนศ พระแม่ลักษมี ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองอินเดีย แสง สี เสียง สไตล์บอลลีวูด ชิมอาหารอินเดียน-ไทย ช็อปมหกรรมสินค้าสะพานเหล็ก "วัดแขก" จัดงานบูชาใหญ่ 24 ต.ค.

คำว่า ดิวาลี (Diwali หรือ Divali) กร่อนมาจากคำว่า “ทีปวาลี” (Deepavali หรือ Dipavali) ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “แถวของตะเกียง” ซึ่งมาจากการจุดตะเกียงดินเล็กๆ จำนวนมากข้ามคืนยามราตรี เพื่อแสดงถึงความดีที่ชนะความชั่ว เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู เชน และซิกข์

ปีนี้นอกจาก วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ “วัดแขก สีลม” จัดงานสำคัญวันดิวาลีเป็นประจำทุกปีแล้ว กรุงเทพมหานคร ยังร่วมสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณีชุมชนด้วยการจัดงาน “เทศกาลดิวาลี” ประจำปี พ.ศ. 2565 (Deepavali Bangkok Festival 2022) วันที่ 21-23 ต.ค.2565 ณ บริเวณคลองโอ่งอ่างจุดบรรจบของเขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีทั้งชุมชนชาวจีนและชุมชนชาวอินเดียในพื้นที่

ความเป็นมาของเทศกาล ดิวาลี มีความเชื่อมโยงกับวรรณกรรมเทพเจ้า กล่าวถึงเมื่อพระรามมีชัยชนะเหนือทศกัณฐ์ สามารถชิงตัวนางสีดากลับคืนมาได้สำเร็จ เมื่อพระราม นางสีดา พระลักษณ์และเหล่าขุนพลวานร เดินทางถึงกรุงอโยธยา ชาวเมืองพากันดีใจ จัดงานต้อนรับเฉลิมฉลอง โดยจุดเทียนสว่างไสวไปทั้งเมือง เกิดเป็น "เทศกาลดิวาลี" หรือ เทศกาลแห่งแสงสว่าง

เมื่อถึงเทศกาล Diwali (ดิวาลี) ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ในรอบปี เพื่อรอรับพระนางลักษมี พระชายาของพระศิวะ ทรงเป็นเทวีแห่งความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่ง ที่เชื่อกันว่าจะมาเยี่ยมบ้านฮินดูชนในวันนี้ เหตุที่รอรับพระลักษมี ก็เพราะตามวรรณกรรมแล้ว “นางสีดา” ก็คือพระลักษมีจุติลงมาตามบัญชาของพระอิศวร (พระศิวะ) เพื่ออัญเชิญพระนารายณ์อวตารเป็นพระรามนั่นเอง

“Diwali” วัดแขกจัดบูชาพระลักษมี กทม. หนุนจัดงานใหญ่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย ขนมหวาน-ของกินเล่นในวัฒนธรรมอาหารอินเดีย

นอกจากทำความสะอาดบ้านเรือน ธรรมเนียมปฏิบัติของการฉลองเทศกาลดิวาลีอีกอย่างคือ ผู้คนจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ แจกขนมหวานและของกินเล่นในหมู่สมาชิกครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย เพื่อเป็นสิริมงคล และจุดประทัดเพื่อขับไล่ความชั่วร้าย

โดยทั่วไป เทศกาลดิวาลีเฉลิมฉลองกัน 5 วัน โดยจะถึงจุดสูงสุดในวันที่ 3 ของเทศกาล ซึ่งถือว่าเป็นคืนที่มืดมิดที่สุดของเดือน Kartika ตามปฏิทินฮินดู เมื่อเทียบกับปฏิทินเกรโกเรียนจะตรงกับช่วงกลางเดือนตุลาคมและกลางเดือนพฤศจิกายน

“Diwali” วัดแขกจัดบูชาพระลักษมี กทม. หนุนจัดงานใหญ่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย

พระแม่มหาลักษมี วัดแขก สีลม

สำหรับปีนี้ วันดิวาลี ตรงกับ "วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม 2565" เป็นวันที่ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) กำหนดจัดพิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี โดยพิธีบูชารอบเช้า เริ่มเวลา 09.30 น. พิธีบูชารอบเย็นและพิธีจุดประทีปบูชา เริ่มเวลา 17.30 น. เป็นต้นไป

สำหรับท่านที่มีความประสงค์จะร่วมเป็นเจ้าภาพในพิธีบูชาของวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่ตู้เช่าบูชาวัตถุมงคล ที่อยู่บริเวณด้านหน้าเทวาลัยภายในวัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทร.09 7315 9569

“Diwali” วัดแขกจัดบูชาพระลักษมี กทม. หนุนจัดงานใหญ่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย ตัวอย่างการแสดงศิลปวัฒนธรรมอินเดียในงานแถลงข่าว Deepavali Bangkok Festival 2022

ขณะที่ปีนี้ กรุงเทพมหานคร ก็ได้ร่วมกับ สมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย (IAT) เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยเชื้อสายอินเดีย กลุ่มชาวอินเดียในประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัด งานเทศกาลดิวาลี หรือ Deepavali Bangkok Festival 2022 “เทศกาลแห่งแสงสว่าง” ขึ้นเช่นกัน 

โดยกำหนดจัด "งานเทศกาลดิวาลี" ระหว่างวันที่ 21 – 23 ต.ค.2565 ตั้งแต่บริเวณถนนพาหุรัด คลองโอ่งอ่าง สะพานเหล็ก และพื้นที่เชื่อมโยงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ย่านลิตเติ้ลอินเดีย ของกรุงเทพฯ

“Diwali” วัดแขกจัดบูชาพระลักษมี กทม. หนุนจัดงานใหญ่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย สินค้าวัฒนธรรมย่านลิตเติ้ลอินเดีย (ภาพ : เฟซบุ๊ก ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง Ong Ang Walking Street)

“กรุงเทพมหานครมุ่งสร้างความร่วมไม้ร่วมมือกับคนในท้องถิ่น สมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่าย ตลอดจนผู้ที่มีความรักในวัฒนธรรมอินเดีย ร่วมจัดงานเทศกาลดิวาลี โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการปักธงสำคัญงานแรก ที่ทำให้ย่านลิตเติ้ลอินเดีย พาหุรัด คลองโอ่งอ่าง และบริเวณใกล้เคียงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก” นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีแถลงข่าวงานเทศกาลดิวาลี เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2565 ณ โซนเวทีหลัก คลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร

ร่วมแถลงข่าวโดยนาย ชวน ธากูร์ (Chaun Thakur) นายกสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย นายอโศก ชวาลาร์ (Ashok Chawla) นายกสมาคม VHP (The Vishnu Hindu Parishad) นายนิกร ซัจเดว์ ผู้ดูแลผลประโยชน์และทรัพย์สินสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย และหัวหน้าผู้จัดงานเทศกาลดิวาลีเฟสติวัล และนายปรีชา จำปี ประธานบริษัท Destination Siam ผู้จัดงานเทศกาลดิวาลีเฟสติวัล

“Diwali” วัดแขกจัดบูชาพระลักษมี กทม. หนุนจัดงานใหญ่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย ศานนท์ หวังสร้างบุญ และตัวแทนผู้ร่วมจัดงาน Deepavali Bangkok Festival 2022

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ตั้งใจต่อยอดงานประเพณีชุมชม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดงานเทศกาลใน “ย่านลิตเติ้ลอินเดีย” ให้กลับมามีชีวิตชีวา มีสีสัน เป็นเทศกาลหลักประจำปีของเมืองหลวงของไทย

สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิถีชีวิตสังคม วัฒนธรรมที่หลากหลาย หวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ การค้า ภาคประชาชนในย่าน

และเพื่อให้ "ย่านลิตเติ้ลอินเดีย" เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักเดินทาง รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐอินเดีย ที่ครบรอบ 75 ปี ในปี พ.ศ.2565

“Diwali” วัดแขกจัดบูชาพระลักษมี กทม. หนุนจัดงานใหญ่ย่านลิตเติ้ลอินเดีย

งานเทศกาลดิวาลี ในบริเวณย่านลิตเติ้ลอินเดียของกรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมงานจะได้ร่วมสักการะบูชาพระพิฆเนศและพระแม่ลักษมี เสริมดวงชะตา โชคลาภ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต

ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองของคนอินเดีย แสง สี เสียง สไตล์บอลลีวูด ชิมและชอป อาหารและสินค้าแนวอินเดียน-ไทย มหกรรมสินค้าสะพานเหล็กนานาชนิด และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายภายในงาน

: อ้างอิงข้อมูล-ภาพ :