เปิดวิธีช่วยเหลือคนถูก "ไฟดูด" ต้องรีบตัดกระแสไฟและแจ้ง 1669 กู้ชีพ!

เปิดวิธีช่วยเหลือคนถูก "ไฟดูด" ต้องรีบตัดกระแสไฟและแจ้ง 1669 กู้ชีพ!

หากพบเห็นผู้ถูก "ไฟดูด" วิธีการเข้าไปให้การช่วยเหลือ จะต้องใช้ความระมัดระวังสูงและต้องทำด้วยความปลอดภัย โดยเฉพาะถ้าผู้ประสบภัยเกิดเหตุบริเวณน้ำท่วมขัง ต้องแจ้ง 1669 ให้เร็วที่สุด

จากเหตุนักเรียนถูก "ไฟดูด" บริเวณเสาไฟบนถนนที่เกิด "น้ำท่วม" ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี แม้ว่าจะมีหนุ่มใจดีเสี่ยงเข้าช่วยเหลือได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ควรทำตาม เพราะหากโชคร้ายโดนกระไฟฟ้าแรงสูงกว่านี้ อาจทำให้ได้รับอันตรายทั้งคนเจ็บและคนช่วย

แล้วการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุโดน “ไฟดูด” ที่ถูกต้องและปลอดภัยนั้น ควรทำอย่างไรบ้าง?

เรื่องนี้มีคำอธิบายจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ระบุไว้ว่า ในช่วงฤดูฝนเช่นนี้มักมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ นั่นคือ อันตรายจาก “ไฟฟ้าดูด” หรือ “ไฟฟ้าช็อก” (electric shock) ไม่ว่าจะเกิดจากละอองฝนอาจกระเด็นไปโดนปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน หรือเกิดจากไฟรั่วตามเสาไฟสาธารณะต่างๆ หากมีคนเผลอไปสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้น ก็จะส่งผลให้เกิดไฟดูดและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

หมายเหตุ : คำว่า “ไฟฟ้าชอร์ต” ไม่ได้สะกดว่า “ช็อต” เพราะคำนี้มาจากภาษาอังกฤษคำว่า “Short Circuit” เราจึงสะกดทับศัพท์ว่า “ชอร์ต” ใช้ในบริบทของ “ไฟฟ้าลัดวงจร” ส่วนคำว่า “ไฟดูด (ไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย)” จะเรียกทับศัพท์ว่า “ไฟฟ้าช็อก” ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษคำว่า “shock” ซึ่งใช้กับสภาวะที่ไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายหรือไฟดูด 

สำหรับอาการของคนที่โดนกระแสไฟฟ้าดูด กระแสไฟจะไหลผ่านหัวใจทำให้หัวใจหยุดทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ที่เป็นทางผ่านของกระแสไฟฟ้า เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะในช่องท้อง และระบบประสาท

หากกระแสไฟฟ้ามีแรงสูงมากๆ ก็จะทำให้เนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านถูกทำลายอย่างรุนแรง และอาจเกิดอาการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้องได้ บางคนอาจมีอาหารชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็ว และหมดสติ  

ทั้งนี้ หากเราพบเห็นผู้ถูกไฟฟ้าดูด วิธีการเข้าไปให้การช่วยเหลือหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะต้องใช้ความระมัดระวังสูงและต้องทำด้วยความปลอดภัย โดยมีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อาสาฉุกเฉินการแพทย์ (FR) ที่เคยให้ข้อแนะนำผ่านบทความวิชาการเอาไว้ดังนี้

เปิดวิธีช่วยเหลือคนถูก \"ไฟดูด\" ต้องรีบตัดกระแสไฟและแจ้ง 1669 กู้ชีพ!

1. ตัดกระแสไฟฟ้าในที่เกิดเหตุ

ต้องรีบหาแหล่งที่เกิดไฟฟ้ารั่วและหาทางตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อนเข้าช่วยเหลือ หากเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูงควรแจ้งการไฟฟ้าโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ตัดกระแสไฟฟ้า

2. แจ้งสายด่วน 1669

ต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ให้เจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยจะได้รับอันตรายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ถูกไฟฟ้าดูด และการช่วยเหลือที่ถูกวิธีจะเพิ่มโอกาสรอดให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย

3. เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากบริเวณไฟรั่ว

หากตัดไฟแล้วให้เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากบริเวณที่ถูกไฟดูดให้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะผู้ป่วยอาจได้รับบาดเจ็บในบริเวณอื่นด้วย และต้องป้องกันตนเองไม่ให้ถูกไฟดูดหรือเป็นผู้ประสบเหตุเองด้วย

4. ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าในการช่วยเหลือเสมอ

กรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินถูกกระแสไฟฟ้าดูดและมีสายไฟผ่านตัวผู้ป่วยอยู่ จะต้องหาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ไม้แห้ง เชือกที่แห้ง สายยาง ถุงมือยางหรือผ้าแห้ง พันมือให้หนาแล้วผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบเหตุให้หลุดออกมาโดยเร็ว หรือเขี่ยตัวผู้ประสบเหตุออกจากจุดที่กระแสไฟรั่ว

5. หากผู้ประสบเหตุอยู่ในน้ำขัง ผู้ช่วยเหลืออย่าลงน้ำ!

กรณีที่ผู้ถูกไฟดูดอยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง ผู้ช่วยเหลือไม่ควรลงไปในน้ำเด็ดขาด จะต้องตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือจะต้องทำด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ และระมัดระวัง จากนั้นห่อหุ้มบริเวณที่ถูกไฟดูดด้วยผ้าแห้ง และจะต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฐมพยาบาลหากพบว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น จะต้องรีบทำรีบทำการฟื้นคืนชีพทันที

ขณะที่ นายแพทย์วิทวัส ศิริประชัย เจ้าของเพจ “Drama Addict” ก็ได้แนะนำวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกไฟดูดในทำนองเดียวกัน นั่นคือ อย่างแรก..ต้องตัดไฟโดยการสับคัทเอาท์หรือเบรคเกอร์ เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเข้าช่วยเหลือ แต่ในเคสของเหตุการณ์ “นักเรียนถูกไฟดูด” ที่จังหวัดอุดรธานี พบว่าตัดไฟเองไม่ได้ เพราะเป็นไฟฟ้ารั่วจากเสาไฟสาธารณะ

ดังนั้น หากเกิดเหตุลักษณะดังกล่าวให้อยู่ห่างจากเสาไฟเหล็กแบบนั้นให้มากที่สุด และโทรแจ้งไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง อย่างไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้แจ้ง 1129 เพื่อตัดกระแสไฟ ขั้นต่อมาให้หาวัสดุที่เป็นฉนวน เช่น ผ้าแห้ง ถุงมือยาง ถุงพลาสติคแห้ง ฯลฯ เอาไปฉุดผู้ประสบเหตุออกมาจากแหล่งไฟให้ไวที่สุด

หลักการสำคัญของการช่วยคนที่ถูกไฟดูดคือ คนช่วยต้องปลอดภัย เพราะถ้าเกิดไม่ปลอดภัย ตัวเปียก ก็จะโดนไฟดูดไปด้วย คนเจ็บ คนตาย จะเพิ่มขึ้นเป็นสองคน สามคน สี่คนไปเรื่อยๆ

หากช่วยผู้ประสบเหตุออกมาได้แล้ว แต่คนเจ็บหมดสติ ให้เริ่มทำ CPR ทันที (ทำบริเวณพื้นที่แห้ง) แล้วรีบโทรหา 1669 แต่ที่สำคัญต้องเอาคนเจ็บออกมาให้ห่างจุดที่ไฟฟ้ารั่วให้มากที่สุด

------------------------------------------------

อ้างอิง : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติDrama Addictคำไทย