Soft Power ลิซ่า-บัวขาว และอาหารไทย ดันไทยต้องรุก

Soft Power ลิซ่า-บัวขาว และอาหารไทย ดันไทยต้องรุก

ซอฟท์พาวเวอร์ Soft Power ลิซ่า-บัวขาว และอาหารไทย ดันไทยต้องรุก

ความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับ ซอฟท์พาวเวอร์ ของไทย (Thai Soft Power) กรณีรัฐบาลประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power โดยมีรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธาน

คณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงต่าง ๆ เช่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

น่าสนใจว่า ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนชั้นนำ อาทิ ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) , ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นกรรมการด้วย

คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจ หน้าที่ ในการกําหนดเป้าหมาย และวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศ ส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีไปสู่นานาชาติ เชื่อมโยงภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน Soft Power ไทยให้เกิดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ (รัฐตั้งบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ , 2565)

ก่อนหน้านี้ (ก.ค. 65) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 ถึง ก.พ. 2565 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมด้าน Soft Power แล้ว 659 ราย สร้างมูลค่าการซื้อขายกว่า 941 ล้านบาท คิดเป็น 25.91% ของมูลค่าเป้าหมาย 3,632 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในปี 2565

แผนการขับเคลื่อน Soft Power ของไทย ได้แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารไทย 2.สินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย 3.ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ เกม แอนิเมชัน 4.ธุรกิจ Wellness Medical Services (WMS) เช่น สมุนไพร สปา สุขภาพความงาม 5.แบรนด์ประเทศไทย และ 6.ผู้ประกอบการยุคใหม่ 

กำหนดโครงการสนับสนุนไว้ถึง 32 โครงการ งบประมาณ 149 ล้านบาท เป้าหมายมูลค่าการค้า 3,632 ล้านบาท รูปแบบการขับเคลื่อน จะดำเนินการโดย 1.บ่มเพาะผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มี Mindset ด้าน Soft Power ปลูกฝังแนวคิดให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรภาครัฐในการนำ Soft Power ไปปรับใช้ (ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ , 2565)

พร้อมเร่งพัฒนาสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย การผลักดันการพัฒนาสินค้าและบริการโดยสอดแทรกความเป็นไทยควบคู่กับการยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ ขยายตลาดสินค้าอาหารไทย อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจบริการ WMS โดยจะส่งเสริมการขายในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ประเทศไทย ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ประเทศไทยผ่านการรับรองสินค้าและบริการเป็นเอกลักษณ์และได้มาตรฐาน

ขณะเดียวกัน ความโด่งดังมีชื่อเสียงของคนไทยบนเวทีโลก เหมือน Soft Power ที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยไม่มากก็น้อย กรณีล่าสุด "ลิซ่า" ลลิษา มโนบาล วง BLACKPINK ได้รับรางวัลจากงาน MTV Video Music Awards 2022 (VMAs) ที่เมืองนิวอาร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา สาขา Best K-Pop Video จากเพลง LALISA ซึ่งเป็นผลงานจากอัลบั้มเดี่ยว โดยลิซ่าถือเป็นศิลปิน K-Pop หญิงเดี่ยวคนแรกของประวัติศาสตร์วงการเพลงที่ได้รับรางวัลนี้จากเวที MTV Video Music Award ซึ่งรัฐบาลไทยต้องออกมาขอแสดงความยินดีและชื่นชมความสำเร็จ

รวมไปถึงกรณี การชกมวย "บัวขาว-โคตะ" ระหว่าง บัวขาว บัญชาเมฆ และ โคตะ มิอุระ นักชกหนุ่มหล่อจากญี่ปุ่น โดยทั้งคู่ขึ้นชกกันในศึกราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ (RWS) ที่เวทีมวยราชดำเนิน เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 สร้างความฮือฮาทั้งไทยและแฟนมวยญี่ปุ่นและทั่วโลก

บัวขาว บัญชาเมฆ  แชมป์การต่อสู้  K-1 World MAX 2 สมัย จะขึ้นเวทีการต่อสู้ Bare Knuckle Fighting Championship (BKFC) "บีเคเอฟซี ไทยแลนด์ พรีเซนเต็ด บาย สิงห์ ครั้งที่ 3" หรือ  "บีเคเอฟซี" การต่อสู้ในรูปแบบมือเปล่า โดยจะพบกับ เออร์แกน วาโรล (Erkan Varol) จากตุรกี พร้อมด้วยเหล่านักสู้รวม 24 คน ที่จะมาต่อสู้การแข่งขันรายการนี้ จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 กันยายน 2565 ซึ่งจะเป็นการสร้างปรากฎการณอีกครั้ง

กล่าวคือ Soft Power ของไทย จาก ลิซ่า และ บัวขาว นับเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่สร้างชื่อให้ไทยดังไกลระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ อาหารไทย ซึ่งชาวต่างชาติยังติดใจ อาหารข้างทาง (Street foods) ของไทยยังคงสร้างความประทับใจให้คนทั่วโลก หลังจากที่ CNN Travel ได้เผยแพร่รายชื่อ 50 อันดับอาหารข้างทางที่ดีที่สุดในเอเชีย (50 of the best street foods in Asia) โดยมี 3 เมนูอาหารข้างทางของไทยติดรายชื่อดังกล่าว ได้แก่ ไข่เจียวปู ข้าวซอย และไส้กรอกอีสาน

ความนิยมด้านความหลากหลายของอาหาร ซึ่งเกิดจากความแตกต่าง เรื่องพื้นที่เพาะปลูกทำปศุสัตว์ของท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค ทำให้อาหารไทยมีเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมมาตลอด รัฐบาลตระหนักถึงข้อได้เปรียบ และได้เดินหน้าผลักดัน ส่งเสริมการขยายผล Soft power ของไทยทั้งในด้านอาหาร และด้านอื่น ๆ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ (อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , 2565)

อย่างไรก็ดี หากดูประเทศมหาอำนาจใกล้บ้านเราอย่าง จีน เกี่ยวกับบทบาทซอฟต์พาวเวอร์จีนในปัจจุบัน จีนและไทยมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและความบันเทิงกันต่อเนื่อง จนพูดได้ว่า "อุตสาหกรรมบันเทิงจีน-ไทย" เติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมทางออนไลน์ สื่อภาพยนตร์ ละครทางโทรทัศน์ รวมถึงเกมออนไลน์จากจีน ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนไทย โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว ('ทูตจีน' คุยซอฟต์พาวเวอร์ เส้นทางมหาอำนาจเศรษฐกิจ , 2565)

ขณะที่ สถิติ “ต่างชาติเที่ยวไทย” ช่วง 8 เดือนแรก ม.ค.- ส.ค. 65 มีจำนวนสะสมกว่า 4.6 ล้านคน มาเลเซีย-อินเดีย และลาว ติดท็อป 3 เที่ยวไทยสูงสุด ซึ่ง การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ตั้งแต่เดือน ก.ค.- ธ.ค. ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 7.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1,840% สร้างรายได้ 4.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,113% (สถิติ "ต่างชาติเที่ยวไทย" 8 เดือนแรก , 2565)

แน่นอนว่า บทบาทของรัฐเริ่มขยับด้วยการตั้งบอร์ด soft power ท่ามกลางความไม่มีเสถียรภาพกรณีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด จึงหวังกรรมการจากภาคเอกชน อย่าง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย จะช่วยกระตุ้นภาครัฐในการทำงานให้ก้าวหน้าต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคเอกชน บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ต้องดูตัวอย่าง ลิซ่า-บัวขาว และอาหารไทย ในการสร้างหรือเอื้อหนุนให้คนไทยและอาหารวัฒนธรรมไทยไปโดดเด่นในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดเวทีแสดงประกวด และงบหรือแหล่งทุนให้คนไทยได้สร้างสรรค์ผลงานไปสู่เวทีโลก จึงจะเป็นมูลค่าและกลับมาพลังกำลังซื้อด้านธุรกิจและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน.