ประเทศไทยกับการเดินทางสู่ SDGs Goal ขับเคลื่อนไปต่ออย่างไร?

ประเทศไทยกับการเดินทางสู่ SDGs Goal ขับเคลื่อนไปต่ออย่างไร?

ทบทวนเป้าหมายการขับเคลื่อน SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน หลังไทยให้คำมั่นบนเวทีโลกจะบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 ถึงตอนนี้เหลือเวลาไม่ถึง 8 ปี ไทยจะเดินหน้าไปต่ออย่างไรเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อต้องการให้โลกดีขึ้นภายในปี 2573 นานาประเทศ ภายใต้การขับเคลื่อนของสหประชาชาติ ได้มีการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : The 17 sustainable development goals (SDGs) to transform our world ขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนกรอบในการพัฒนาที่มีจุดมุ่งหมายคือ การดำเนินการที่ทำให้ทุกคนและทุกชีวิตบนโลกนี้มีความสงบสุขอย่างเท่าเทียม หรือสามารถสรุปได้ว่า เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ "การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" 

แต่ปัจจุบันประเทศไทยเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 8 ปีของการเดินทางตามเป้าหมาย SDGs จึงถึงเวลาที่ต้องทบทวนว่าสถานการณ์และเป้าหมายนั้นเดินหน้าหรือถอยหลังไปมากน้อยเพียงไร ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย" พ.ศ. 2565 Thailand Sustainable Development Forum 2022 เหล่าภาคีทั้ง 22 หน่วยงานจึงมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 นี้

ประเทศไทยกับการเดินทางสู่ SDGs Goal ขับเคลื่อนไปต่ออย่างไร?

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมปาฐกถาพิเศษในเวทีครั้งนี้ ผ่านประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก (Transformation) โดยกล่าวว่า SDGs Goal เป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งการจะทำให้ประเทศไทยบรรลุถึงเป้าของ SDGs ได้ภายในปี 2030 จำเป็นต้องหาวิธีการเพิ่มเติม ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายเครื่องมือ กลไกต่างๆ ซึ่งมีหลายฝ่ายที่ร่วมเสนอโมเดลหลายโมเดล แต่โมเดลที่สำคัญ เป็นเรื่องทรานฟอร์มเมชัน และจำเป็นต้องมี Entry Point ซึ่งนำมาสู่ 6 ประเด็นหลักสำคัญ  ได้แก่

  1. สุขภาวะและทรัพยากรมนุษย์ (Human Well-being and Capabilities)
  2. เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม (Sustalnable and Just Economies)
  3. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Energy Decarbonization with Universal Access)
  4. การพัฒนาพื้นที่เมืองและพื้นที่กึ่งเมือง (Urban and Peri-urban Development)
  5. ระบบอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการเพื่อสุขภาพ (Sustainable food systems and healthy nutrition)
  6. ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของโลก (Global environmental commons) 

กางโรดแมป "รายงานพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย" 

สัตวแพทย์หญิง ดร.อังคณา เลขะกุล สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ปี 2565 เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างหลายภาคส่วน ร่วมกันสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยในการขับเคลื่อนการพัฒนาในครั้งนี้ มีการนำแนวคิดวงจรสุวัฎจักร หมายถึง วงจรแห่งคุณงามความดี เป็นการดึงคนที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และทำงานร่วมกัน มองเห็นปัญหาร่วมกัน และใช้ข้อมูล หรือปัญหาช่องว่างที่มีอยู่อะไรบ้างเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ซึ่งในด้านกระบวนการ เกิดกิจกรรมมากมายมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2564 มุ่งเน้นเวทีที่ส่งเสริมให้เห็นว่าเรื่อง SDGs เป็นเรื่องทุกคน ระดมความคิดเห็น โดยพยายามทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดจากหลายภาคส่วนทั้งสังคม เอกชน ราชการ และวิชาการ 

นอกจากนี้ยังมีการทำประชาพิจารณ์ นำมาสู่ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก ทั้ง 5 ประเด็น ได้แก่ 

  • ประเด็นที่ 1 สุขภาวะและทรัพยากรมนุษย์  
  • ประเด็นที่ 2 เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม 
  • ประเด็นที่ 3 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพลังและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
  • ประเด็นที่ 4 การพัฒนาของพื้นที่เมืองและพื้นที่กึ่งเมือง 
  • ประเด็นที่ 5 ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน

ประเทศไทยกับการเดินทางสู่ SDGs Goal ขับเคลื่อนไปต่ออย่างไร?

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวถึงการนำกรอบ INSIGHT เป็นเฟรมเวิร์คในการขับเคลื่อนว่า จุดเด่นของรายงานฉบับนี้ นอกจากการใช้ทรานสฟอร์เมชันมาเป็นกรอบมอง SDGs แล้วยังมี กรอบ INSIGHT มาจากงานวิจัยที่ SDGs Move และ IHPP ร่วมกันกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเราได้แรงบันดาลใจจากระบบสุขภาพโดยตรง เพราะการจะทำให้การขับเคลื่อน SDGs ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด จะมองแค่เป้าหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองย้อนไปถึงกลไกที่จะมาสนับสนุนการขับเคลื่อน เราจึงลองประมวลได้มา 7 ปัจจัย ได้แก่

  • I คือ ความสอดคล้องกันของกฎกติกาและนโยบาย
  • N คือ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
  • S คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
  • I คือ แหล่งข้อมูล 
  • G คือ ผู้นำในการขับเคลื่อน
  • H คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ
  • T คือ งบประมาณ

"จากภาพรวมของ 5 ประเด็น เรากรอบ INSIGHT นำมาจำแนกตามและมองว่ามีประเด็นอะไรที่สำคัญ ซึ่งในประเด็นสอดคล้องกับกฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องพบปัญหาเรื่องความสอดคล้องระหว่างการบังคับใช้และกฎหมาย ในประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ยังขาดการมีส่วนร่วม ความร่วมมือในการผลักดันขับเคลื่อนพื้นที่ ประเด็นเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม มองว่ายังควรมีการใช้มากกว่านี้ ในด้านแหล่งข้อมูลเรายังต้องการการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสถิติมากขึ้น และเชื่อมโยงมากขึ้น โดยเฉพาะภาคประชากร ประชาสังคม ในด้าน Governance ยังมีปัญหาการจัดการภาครัฐที่ยังเป็นไซโล ขาดการเชื่อมโยงและเป็นแนวราบ ในด้านทรัพยากรมนุษย์ยังขาดการพัฒนาที่เป็นระบบทั้งในภาครัฐและสังคม ในเรื่องทรัพยากรการเงินที่ขาดงบประมาณขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและท้องถิ่น" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล กล่าว

สัตวแพทย์หญิง ดร.อังคณา เสริมว่า ไม่ใช่เพียงช่องว่างของระบบที่ได้ชี้ให้เห็น แต่ยังนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่

  1. ต้องมีการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ควรมีการสร้างข้อมูล และกลไกการใช้และเข้าถึงข้อมูลของภาคประชาชน
  2. การขับเคลื่อนทุกภาคส่วนและทุกระดับสอดประสานกัน คือการคิดว่าเราต้องมาจับมือร่วมกันทำงานโดยไม่มีเส้นกั้นว่าเป็นใคร ภาคส่วนไหน แต่ทำเพื่อโลกของเรา รวมถึงการทำงานในระดับเชิงพื้นที่มีความสำคัญมาก
  3. การขับเคลื่อนผ่านการวิจัย นวัตกรรมและกระบวนการเรียนรู้ในสังคม 

สัตวแพทย์หญิง ดร.อังคณา กล่าวต่อว่า อยากให้ SDGs เป็นกรอบในการวิจัยและสร้างการเรียนรู้ให้แก่คนในสังคมผ่านแพลตฟอร์มที่เข้าถึง สามารถพูดคุยกัน นำข้อเท็จจริงมาคุยกันก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

เจาะลึก อะไรคืออุปสรรคการพัฒนาที่ยั่งยืนไทย

นอกจากนี้ ในการประชุมฯ ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน ผ่านเสวนาสาธารณะ : สถานการณ์และปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน แนวทางการขับเคลื่อนงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากหลายภาคส่วน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองปัญหาจากประสบการณ์จริง 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าคนเป็นทั้งตัวต้นเหตุปัญหาและเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนหรือไม่ แท้จริงแล้วการพัฒนาก็มีเป้าหมายมุ่งไปที่การสร้างความสุขของคนหรือมวลมนุษยชาติ แต่การพัฒนาและสะสม ความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ กลับเป็นอุปสรรค จำกัดหรือปัจจัยที่ทำให้คนเราห่างไกลจากความสุข อาทิ โลกร้อน การบริโภคเกินพอดี สงคราม ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ที่ยั่งยืน ควรเกิดจากความคิดเพื่อทุกคน และคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ คิดถึงความสุขของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม ขณะเดียวกัน ต้องส่งเสริมการพัฒนาจริยธรรมในจิตใจทุกคน เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมแท้จริงที่ทุกคนได้รับการศึกษา การดูแลสุขภาพ ความเป็นอยู่เสมอภาคทุกภาคส่วน ซึ่งผลลัพธ์กำลังเกิดในเด็ก

"การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องสร้างผู้นำการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเริ่มจากการส่งเสริมให้เด็กเยาวชนของเรา ซึ่งจะเป็นพลเมืองโลกไม่เติบโตแบบเปราะบาง แต่ควรได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและดูแลเพื่อนร่วมโลก ช่วยจัดการโลกที่ยั่งยืน" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

ประเทศไทยกับการเดินทางสู่ SDGs Goal ขับเคลื่อนไปต่ออย่างไร?

ขับเคลื่อนพลังงาน สิ่งแวดล้อม ต้องใช้พลังคน

ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม ให้มุมมองว่า กำลังคนสำคัญมากในการทำงานขับเคลื่อนต้องเริ่มที่มีคนเป็นตัวตั้ง แม้แต่ในเรื่องการขับเคลื่อนในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมหรือพลังงานที่ยั่งยืน ถ้าเราอยากขับเคลื่อนต้องเริ่มด้วยการ KNOW 3 เรื่อง คือ KNOW SELF การรู้ว่าจักตัวเอง ด้วยการมีข้อมูล KNOW WHO ต้องมีเครือข่าย และรู้ว่าใครจะให้ความช่วยเหลือแก่เราได้ และ KNOW HOW จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีองค์ความรู้ รู้ว่าจะใช้เครื่องมืออะไร รู้จักนโยบายหรือควรเชื่อมโยงอะไรว่าจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (TBC) จากประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนมากว่ายี่สิบปี พบว่า ปัจจัยความสำเร็จต้องอาศัยคนและกลไกของคน แต่จะเป็นสิ่งที่อาศัยแค่คนอย่างเดียว หรือแค่ความพยายามของคนไม่ได้ ควรมีภาคนโยบายที่ช่วยขับเคลื่อนหรือหนุนเสริมเพื่อให้แนวคิดถูกขยายออกไป ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการรับรู้มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

ปัญหาที่อยู่อาศัย ไม่ใช่แก้แค่กายภาพ

สมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน กล่าวว่า ปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำกันมาก ทั้งในแง่คนในสังคมเมืองกับพื้นที่ห่างไกล คนรวยกับคนจนซึ่งมักขาดโอกาสในทุกเรื่อง ทั้งการศึกษา การประกอบอาชีพรายได้ หรือแม้แต่การจะมีบ้านที่พักอาศัยที่อยู่ที่มั่นคง โดยเงื่อนไขสำคัญในการแก้ปัญหาที่อยู่ต้องทำหลายเรื่อง ไม่ใช่แก้แค่กายภาพอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน ความสามารถในการจัดการ การสร้างระบบเงิน หรือพัฒนาระบบที่ทำให้เกิดกลไกร่วมกันเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาคนจน ซึ่งมีปัญหาหลายมิติไปพร้อมกัน

"เมืองที่มีความร่วมมือกันและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งเมือง เขาสามารถแก้ปัญหาในหลายๆ เรื่อง นอกจากแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งยังเป็นเมืองที่เกิด Active Citizen ด้วย การมีพลเมืองที่ตื่นรู้สามารถจะคิดอะไรใหม่ๆ ได้มากมาย ซึ่งเป้าหมายต้องอยู่ที่ชาวบ้านที่เขามีโอกาสเข้าถึงความรู้และกลไกในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง" สมสุข กล่าว

เศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องเดียวกัน

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต กล่าวว่า ในเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน ไม่ได้เกิดจากเรื่องที่เป็นรูปธรรม แต่ต้องเริ่มจากความคิดที่เป็นนามธรรม ดังนั้น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะถ้าคิดแยกส่วนจะทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นธรรมเป็นเรื่องยาก ลำพังจะให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องยาก

ในรายงานกองทุนการเงินระหว่างชาติ (IMF) เคยระบุว่า ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำน้อยลง จะทำให้การเศรษฐกิจเติบโตยาวนานขึ้น ขณะที่องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ถ้าเราสามารถทำให้คนจนที่สุดที่เป็น 20% ท้ายสุดของประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้น 1% ก็จะทำให้จีดีพีทั้งประเทศเติบโต 0.38% ในทางตรงกันข้าม หากทำให้คนที่รวยที่สุดของประเทศ 1% รวยขึ้น จะทำให้การเติบโตจีดีพีลดลง 0.08% และหากประเทศใดทำให้ค่าความเหลื่อมล้ำลดลง 1% รายได้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 บาท

ความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจที่เติบโตไว เนื่องจากเงินออมไปกองที่คนกลุ่มเดียว แต่มีข้อเสียคือ จะทำให้ตลาดการเงินไม่สมดุล กระจุกตัว ปัญหาที่ตามมาคือ มีโอกาสที่จะให้เกิดความเสี่ยงเช่นการเป็นหนี้เสีย หรือวิกฤติการเงินตามมา สอง การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์จะลดลง ปัจจุบันเด็กที่จนสุดท้ายของประเทศไม่ถึง 40% ที่เรียนจบระดับมัธยม และสามส่งผลให้แรงกดดันทางการเมืองมาก นำไปสู่การพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์ระยะสั้น จึงไม่ยั่งยืน

นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงปัจจัยเอื้อที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ประเด็นแรกคือ ระบบคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เชื่อมโยง ซ้ำซ้อน และยังมีการตกหล่นอีกมาก ประเด็นสองคือ การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มากขึ้น ประเด็นที่สามคือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี จากการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนเฉพาะกลุ่ม ประเด็นที่สี่คือ การสร้างงานเพื่อความยั่งยืนในอนาคตที่รองรับสังคมที่เป็นธรรมยังไม่มี Frame Work หรือกรอบแผนขับเคลื่อน และประเด็นที่ห้าในเรื่องระบบข้อมูลยังมีปัญหา โดยปัจจุบันยังขาดการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ ขาดการวิเคราะห์ และการเกิดวิจัยเชิงทดลองในแง่นโยบาย