จาก "วันแมวสากล" สู่การจัดให้แมวบ้านเป็น "สัตว์ต่างถิ่นรุกราน" ในโปแลนด์

จาก "วันแมวสากล" สู่การจัดให้แมวบ้านเป็น "สัตว์ต่างถิ่นรุกราน" ในโปแลนด์

8 สิงหาคม "วันแมวสากล" นอกจากการเฉลิมฉลองให้กับ "แมว" ที่เป็นสัตว์เลี้ยงที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์แล้ว ชวนทาสแมวส่องข้อมูลน่าสนใจ เมื่อนักวิทย์โปแลนด์จัดให้ "แมวบ้าน" เป็น "สัตว์ต่างถิ่นรุกราน" ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

เนื่องใน "วันแมวสากล" ที่ตรงกับวันที่ 8 สิงหาคมของทุกปี ชวนทาสแมวตระหนักถึงเอเลียนสปีชีส์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ประเทศโปแลนด์จัดให้ "แมวบ้าน" เป็น "สัตว์ต่างถิ่นรุกราน" มีพฤติกรรมทำลายระบบนิเวศพื้นเมือง

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งโปแลนด์ จัดหมวดหมู่และให้คำจำกัดความ “แมวบ้าน” (felis catus) ให้เป็น “สายพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” หรือเอเลียนสปีชีส์ เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่มีต้นกำเนิดในตะวันออกกลาง ไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นของโปแลนด์ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมที่ส่งผลเชิงลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพพื้นเมืองของโปแลนด์

ไม่ใช่แค่แมวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ต้นนอตวีดญี่ปุ่น, แรคคูน, ผีเสื้อกลางคืนเคลียร์วิง และ เป็ดแมนดาริน ก็ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่เป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพในโปแลนด์อีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์โปแลนด์อธิบายว่าสายพันธุ์ต่างๆ ข้างต้น ก่อให้เกิด “ความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ต่อสัตว์ป่าในท้องถิ่น” โดยอ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง “Cats kill millions of vertebrates in Polish farmland annually” ที่แสดงให้เห็นว่า แมวบ้านในโปแลนด์ฆ่าสัตว์อื่นในระบบนิเวศและกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 48.1 และ 583.4 ล้านตัวตามลำดับ รวมถึงจับนกเล่น(ไม่กิน) 8.9 ล้านตัวต่อปี และจับนกกิน 135.7 ล้านตัวต่อปี 

Wojciech Solarz นักชีววิทยาจาก Polish Academy of Sciences กล่าวว่า เมื่อผลการจัดอันดับนี้เผยแพร่ออกไป ทำให้ทาสแมวทั้งหลายต่างแสดงความไม่พอใจในการจัดหมวดหมู่ครั้งนี้ โดยกังวลว่ามันจะกระตุ้นให้เกิดการทารุณหรือทำร้ายแมวบ้านโดยอ้างเหตุผลนี้

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันฯ โปแลนด์ บอกอีกว่า ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้แมวบ้านเป็นผู้ร้าย หรือทำให้ทาสแมวรู้สึกไม่ดี เพียงแต่ออกมาแนะนำให้เจ้าของแมวดูแลแมวให้อยู่ในบ้านเป็นหลัก และควรจำกัดเวลาในการให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งในช่วงฤดูผสมพันธุ์นก

นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ โปแลนด์ ยืนยันว่าแม้จะจัดหมวดหมู่ให้แมวบ้านเป็นสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น แต่พวกเขาก็ต่อต้านการทารุณแมวและการนำแมวมาปล่อยทิ้งเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม “วันแมวสากล” ที่ตรงกับวันที่ 8 สิงหาคมของทุกปี ก็ยังคงเป็นวันสำคัญของเจ้านาย(แมว) และทาส(คนเลี้ยง) ที่จะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองให้กับเพื่อนสัตว์เลี้ยงที่เก่าแก่และเป็นที่รักที่สุดอีกชนิดหนึ่งของมนุษยชาติ

สำหรับประวัติและที่มาของวันแมวสากล จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 โดย IFAW หรือ กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมกับกลุ่มสิทธิสัตว์อื่นๆ ที่เข้าร่วมสนับสนุนวันสำคัญนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อประกาศให้วันนี้เป็นวันที่จะเฉลิมฉลองและชื่นชม “แมว” หนึ่งในสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก

ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์แมวดำ, จิงเจอร์, เปอร์เซีย, สยาม, พม่า, เบงกอล, ขนสั้น, มันชกินส์, บาหลี, รากามัฟฟิน หรือแม้แต่แมวจรจัดพันธุ์ทาง ก็ล้วนได้รับความรักจากเพื่อนมนุษย์มาอย่างยาวนาน

อีกทั้งยังเป็นการชวนให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญที่ว่า การเลี้ยงแมวมีส่วนช่วยปรับปรุงสุขภาพจิต ช่วยบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี

---------------------------------------

อ้างอิง : sciencedirectCatunki obcesciencealertdaysoftheyear