ชีวิตบั้นปลายที่เลือกแล้ว ‘จำนงศรี หาญเจนลักษณ์’

ชีวิตบั้นปลายที่เลือกแล้ว ‘จำนงศรี หาญเจนลักษณ์’

เรื่องราวชีวิตที่ตกผลึก ผ่านการเรียนรู้ การใช้ชีวิตมายาวนาน นำมาบอกต่อเพื่อให้ทุกคนได้เห็นสิ่งสำคัญของชีวิต

ในวัย 57 ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่อีกครั้ง, วัย 76 เดินทางไปปฏิบัติธรรมบนเทือกเขาหิมาลัย, วัย 80 ประสบอุบัติเหตุ ขาหักทั้งสองข้าง

และลองเรียนเป่าขลุ่ยในวัยที่คนรุ่นเดียวกันไม่มีแรงจะเป่าเทียนวันเกิดได้แล้ว เรียนปักผ้าจากยูทูป ในวัยที่มือไม้สายตาไม่เป็นใจ และทำออกมาได้ดี

นี่คือ เรื่องราวชีวิตบั้นปลาย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ไลฟ์สดผ่านเพจ YoungHappySE เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565

ล่าสุดเป็นประธานกรรมการบริษัท แพทย์รัตนิน จำกัด (โรงพยาบาลจักษุรัตนิน) กรรมการนโยบายศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล ผู้ก่อตั้งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ประธาน ชมรมสมองใสใจสบาย จัดกิจกรรมชะลอความเสื่อมของสมองให้กับผู้สูงอายุ และการตายดีผ่านการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายระบบฮอสพิสในประเทศไทย

ชีวิตบั้นปลายที่เลือกแล้ว ‘จำนงศรี หาญเจนลักษณ์’ Cr. จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

  • เพิ่งถูกรถชน แต่ยังยิ้มได้

เมื่อวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2565 คุณหญิงจำนงศรี วัย 82 ประสบอุบัติเหตุรถชน ได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก แต่ยังอารมณ์ดี พูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใส

“เมื่อวันเสาร์ สามีพาไปทานข้าว ตอนขับรถกลับ ขณะจอด เหยียบคันเร่งแทนเหยียบเบรค เรายังไม่ทันลง รถก็วิ่งไปชนเสา โชคดีที่รถไม่พุ่งทะลุที่กั้น ตกลงมา

ต้องไปอยู่ในห้องฉุกเฉิน สี่ทุ่มถึงตีสอง เอ็กซเรย์ทุกอย่างหมด สามีอยู่ถึงตีสี่ ตรวจเอ็นไซม์กล้ามเนื้อหัวใจสูงกว่าปกติ เมื่อสองปีที่แล้วเขาก็มี Stroke (โรคหลอดเลือดสมอง) แต่ตอนนี้หายแล้ว”

ชีวิตบั้นปลายที่เลือกแล้ว ‘จำนงศรี หาญเจนลักษณ์’

Cr. จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

  • สองปีที่แล้ว ขาหักสองข้าง

“ต้นปี 2021 ขาซ้ายหัก ต้นปี 2020 ขาขวาหัก ปี 2019 เข้า ICU เพราะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ แล้ววูบล้มลงไป อยู่ ICU เข้า ๆ ออก ๆ 3 อาทิตย์ ทุกปีที่ผ่านมามีเหตุเตือนใจว่า แก่แล้ว จะไปเมื่อไรก็ไม่รู้

ตอนขาหักครั้งที่สอง นอนกับพื้นโทรหาหมอเอง มีประสบการณ์ขาหักครั้งแรกรู้ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหน มีความรู้ตัวตลอดว่านี่ลื่นแล้วนะ แล้วล้มลงไป ตอนแรกชา ไม่รู้สึกอะไร

อยู่คนเดียวก็โทรหาลูกชาย แล้วโทรถึงหมอเลย รู้ว่าอีกสองนาทีจะเริ่มปวด แล้วก็ปวดมาก ปลายปีนี้อายุจะเต็ม 83 ปีแล้ว กระดูกเปราะมาก มันถึงหักง่ายอย่างนี้

ตอนขาหักครั้งแรก นั่งรถพยาบาล 5 ชั่วโมง กว่าจะถึงกรุงเทพฯ เราเข้าใจเรื่องการทำงานของร่างกายว่า ระบบหายใจเข้าเป็น ซิมพาเธติก (sympathic) ทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ มันเกร็ง แล้วหายใจออกมันเป็น พาราซิมพาติก (parasympathetic) ทำให้กล้ามเนื้อทั้งหลายมันผ่อนคลาย

เมื่อปวดถึงจุดหนึ่ง ต้องร้องดังมาก มันช่วยได้เยอะ เรื่องความเจ็บปวด อยากแนะนำว่า ถ้าเจ็บ ให้ร้องออกมาดัง ๆ เลย

ยืนยันโดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน การหายใจออกมา มันคลาย ร้องเพื่อเอาลมออกให้เต็มที่ แต่ต้องบอกคนรอบข้างก่อน เพราะถ้าร้องโดยไม่บอกเขาก่อน เขาอาจจะสติแตกได้ 

ตอนขาหักไปห้องฉุกเฉิน คุณหมอบอกว่า เดี๋ยวเพื่อนผมสองคนจะยึดไหล่คุณป้าไว้ แล้วผมจะดึงให้มันเข้าที่ แล้วใส่เฝือกชั่วคราว (ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะผ่าตัด) มันจะเจ็บมากนะครับ เราก็ร้องดังเลย มนุษย์โชคดีเจ็บแล้วลืม ตอนนั้นเรารู้ว่ามันเจ็บมาก แต่ตอนนี้เราจำความเจ็บนั้นไม่ได้แล้ว"

ชีวิตบั้นปลายที่เลือกแล้ว ‘จำนงศรี หาญเจนลักษณ์’ Cr. จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

  • มนุษย์เราเจ็บแล้วลืม นำมาปรับใช้ได้

“มันเป็นกระบวนการ ไม่ใช่เพราะเราเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดพอที่จะไปจัดการมันอย่างเป็นขั้นตอน แต่มนุษย์เป็นแบบนี้ เจ็บแล้วลืม

ตอนทุกข์ที่สุดเรากระเสือกกระสนไปที่ สวนโมกข์ ตอนนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาส, อุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง ยังอยู่ ได้รับการดูแลอย่างดี

ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่า ถ้าเราเข้าใจเรื่องตัวตน ตัวกู น้อยเมื่อไร ไอ้ความเจ็บใจเสียใจจะน้อยลงเท่านั้น เพราะคนเรามักจะทุกข์ด้วยความรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ ภาษาไทยเรียกว่าเจ็บช้ำ

ที่พูดได้เพราะเราผ่านตอนนั้นมาแล้ว ปฏิบัติสมาธิและสติปัฏฐาน 4 ไปครั้งละสิบวัน เดือนละสองครั้ง อยู่สามเดือน แล้วก็อยู่อีกสามเดือน

ทุกวันเราต้องแผ่เมตตา รู้เลยว่าเป็นการแผ่เมตตาด้วยปากด้วยคำ ไม่ใช่ด้วยใจ พอถึงวันหนึ่ง สติสมาธิคงได้ที่พอดี มันหลุดเลย อยู่ดี ๆ แผ่เมตตาออกไป มันโล่งว่าง สบาย เบามาก รู้ตัวว่า ไม่มีตัวกูที่ถูกกระทำ เมื่อมันไม่มีผู้กระทำ ก็ไม่รู้จะไปเจ็บช้ำกับใคร

ไปกราบท่านพุทธทาสบอกท่านว่า เราต้องให้อภัย ไม่งั้นมันหนักที่เรา ท่านตอบว่า อย่าไปเบียดเบียนเขาสิ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจ เราเบียดเบียนเขาเพราะเรามาฟ้องท่าน

ที่เราแผ่เมตตาไม่ได้แล้วติดอยู่กับความเจ็บช้ำเพราะเราเบียดเบียนเขาด้วยใจของเรา คิดว่าเขาทำร้ายเรา ทำผิดต่างๆ นานา เราเบลมเขา โทษเขา โทษคนอื่น โทษสถานการณ์ โทษอะไรต่างๆ 

ใช่เลย เราเบียดเบียนเขาเราถึงได้ทุกข์เอง แต่พอตัวเรามันหายไป มันไม่มีผู้ถูกกระทำ ก็ไม่มีผู้กระทำ มันหลุดแบบองค์รวมเลยค่ะ โล่งสบาย ตัวเบา ใจสว่าง ยาวนานไปถึงสามวัน

คุณพี่รัญจวนบอกว่าแล้วมันจะกลับมา ประมาณสามวันมันกลับมาจริง ๆ แต่กลับมาเบามาก มีความขุ่นผสมเข้ามา ไม่มากมายเหมือนเมื่อก่อน ตอนนั้นอายุ 51-52 ตอนนี้จะ 83 ก็ 30 ปีมาแล้ว มีวันหนึ่งตื่นมา มองเห็นภาพอดีตของเราเกิดขึ้นมาวูบเดียวม้วนเดียวจบ เหมือนดูหนังที่จบไปแล้ว มันเป็นเรื่องความสูงอายุของตัวเอง ทุกวันนี้จะพูดกับทุกคนว่า อดีตมันไม่จริง มันจริงอยู่แค่ในสมองของคนจำ

ยังมีอีกสองวัดที่ไปอยู่รวดเดียวสามเดือนคือ วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร สมัย ท่านอาจารย์แบน ธนากโร ยังอยู่ เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว การมีประสบการณ์อยู่ป่าอยู่วัด ทำให้อยู่ทุกวันนี้ของเรามันสบาย”

ชีวิตบั้นปลายที่เลือกแล้ว ‘จำนงศรี หาญเจนลักษณ์’

Cr. จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

  • แต่งงาน มีชีวิตคู่อีกครั้ง ตอนอายุ 57

“ตอนเจออาจารย์ชิงชัย เขาเพิ่งเป็นหม้ายมาไม่นาน เราเป็นหม้ายมา 5-6 ปี ปฏิบัติธรรมมาแล้วด้วย สามเดือนที่สวนโมกข์ สามเดือนที่วัดดอยธรรมเจดีย์

เราแก่กว่าอาจารย์ชิงชัยสองปี เขาทำงานกองทุนวิจัยแคนาดา, กรมวิเทศพัฒนา เราเจอกันเพราะเราขอทุนวิเทศพัฒนาไป เพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงที่ตกเขียว พอคุยกันก็ถูกชะตากัน

รู้จักกัน 6 เดือนก็ตัดสินใจแต่งงาน เรียกว่า อยู่กับปัจจุบันมากกว่า เพราะถ้าไม่ได้มาอยู่กับอาจารย์ชิงชัย เราคงทำสารพัดอย่างได้ยากมาก จะขาดความเข้าใจ ความรู้ในหลายๆ เรื่อง”

ชีวิตบั้นปลายที่เลือกแล้ว ‘จำนงศรี หาญเจนลักษณ์’

Cr. จำนงศรี หาญเจนลักษณ์

  • มองความแก่ และเตรียมตัวรับกับความตาย

“เราสนใจความตายมาตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าความตาย มันอยู่กับเรา มันอยู่กับชีวิต ทำเรื่องความตายมาสิบกว่าปี ตั้ง ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้ง เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม

เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้การเจ็บป่วยระยะท้ายและความตาย มีเรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ บางช่วงเทคโนโลยีนี้อาจจะเหมาะ บางช่วงเทคโนโลยีนี้อาจเป็นความทรมาน

เรื่อง ความตาย มันต้องทำ เพราะทุกคนมันตาย แล้วการตายระยะท้ายที่ยืดเยื้ออย่างทรมาน ความตายที่มีห่วง มีความกังวล ความตายที่ยังเจ็บปวดกับอดีต เป็นเรื่องสำคัญ

คนจำนวนมากไม่อยากตายใน ICU หลายคนอยากตายอยู่ที่บ้าน แวดล้อมในสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย ก็ได้ไปช่วยให้ผู้ป่วยระยะท้ายได้อยู่ที่บ้านอย่างสบาย ดูแลด้านการแพทย์ ด้านจิตใจ

เราต้องการเห็นผู้ป่วยตายตามที่ตัวเองต้องการ มีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง การตายที่บ้านมีเรื่องมรณบัตร มันจะยังไง

เราทุกคนที่อายุมาก ไม่ว่าอยากจะตายรพ.หรืออยากจะตายบ้าน เข้าไปศึกษากฎหมายด้วยก็ดี โดยเฉพาะเกี่ยวกับ Advance Care Plan

ล่าสุด ตอนนี้เราสนใจเรื่องการจัดการกับร่างเราหลังการตายที่จะไม่มีผลกับ PM 2.5 ต่อไปข้างหน้าประเทศไทยจะต้องสนใจเรื่องนี้

สิ่งที่อยากฝากคือ เป็นตัวของตัวเอง ณ ปัจจุบันนี้ มีค่าที่สุด

สอง. สติ สมาธิ ถ้าฝึกไว้ให้ดี เขาจะมาโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเจ็บหรือกำลังจะตาย ขาหักทั้งหลาย เขาจะมาช่วยเราในตอนที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ

สาม. เมตตา เมตตากับตัวเอง เมตตากับทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งแวดล้อม และคนที่แวดล้อม อันนี้สำคัญมากที่สุดเลย