"โรงเรียนในภูเขา" ภาพยนตร์ที่สะท้อนแง่งามของ "ศิลปะ" ที่สร้างพัฒนาการด้านในเด็ก

"โรงเรียนในภูเขา" ภาพยนตร์ที่สะท้อนแง่งามของ "ศิลปะ" ที่สร้างพัฒนาการด้านในเด็ก

เพราะศิลปะคือ การเรียนรู้ที่ไม่มีถูก ไม่มีผิด และไม่มีกรอบ ศิลปะยังเปิดโอกาสให้เด็ก ครู ผู้ปกครอง ได้มีประสบการณ์สัมผัสความงามที่สอดคล้องกับธรรมชาติตามแง่มุมของแต่ละคน เพื่ออยู่ในโลกยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรวดเร็ว

แรงบันดาลใจดังกล่าว ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับเครือข่ายศิลปะด้านใน จัดกิจกรรมในชื่อ "ภาพยนตร์ศิลปะ : โรงเรียนในภูเขา กับนิทรรศการศิลปะเด็กที่พาความเปลี่ยนแปลง"

โรงเรียนในภูเขา คือ ภาพยนต์ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยแสดงเรื่องราวระหว่างครูกับเด็กวัยเรียนที่มาเรียนรู้ศิลปะร่วมกันตลอดหนึ่งฤดูกาลแห่งปี ผ่านบรรยากาศอบอุ่น เรียบง่าย และงดงามในรูปแบบสารคดี จากฝีมือการถ่ายทำของช่างภาพผู้มีหัวใจอิสระ จรรสมณท์ ทองระอา

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวถึงที่มาการจัดกิจกรรมว่า สสส. มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาวะตั้งแต่วัยเด็ก โดยให้ความสำคัญทั้งสุขภาวะทางกาย ใจ ปัญญา และสังคม ภาพยนตร์ศิลปะ เกิดจากโครงการศิลปะด้านในเพื่อพัฒนาสุนทรียภาพสำหรับผู้ทำงานด้านเด็กปฐมวัย เป็นโครงการที่นำศิลปะมาเป็นเครื่องมือทำงานร่วมกับกลุ่มคนใกล้ชิด และมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางใจให้กับเด็ก ทั้งครอบครัว โรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

"ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง โรงเรียนในภูเขา คือ หนึ่งในตัวอย่างที่ สสส. ต้องการนำเสนอให้สังคมเห็นถึงรูปแบบการจัดทำหลักสูตรพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อฟื้นฟูพลังให้แก่เด็ก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาวะที่รอบด้านและป้องกันไม่ให้เด็กออกจากระบบการศึกษา"

"โรงเรียนในภูเขา" ภาพยนตร์ที่สะท้อนแง่งามของ "ศิลปะ" ที่สร้างพัฒนาการด้านในเด็ก

"ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนโครงการศิลปะด้านใน เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพสำหรับผู้ทำงานด้านเด็กปฐมวัยมาตั้งแต่ปี 2560 เพราะเห็นพลังของศิลปะว่า สามารถทำหน้าที่ปูพื้นฐานจิตใจให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี เมื่อเด็กมีสุขภาพจิตที่ดี ย่อมส่งผลให้เด็กอยากเรียนหนังสือ ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาโดยง่าย ทั้งยังช่วยป้องกันปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในครอบครัวจากการมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น ระหว่างผู้ดูแลเด็กและตัวเด็กด้วย" ณัฐยา กล่าว

โรงเรียนในภูเขา ยังเป็นการฉายให้เห็นภาพกระบวนการจัดการศึกษาที่สามารถเป็นโมเดลการเรียนรู้ให้ครู ผู้ปกครองที่สนใจนำไปปรับสร้างให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนของตนเองได้ เพราะเนื้อหาของภาพยนตร์ได้ถ่ายทอดให้เห็นว่ากระบวนการทำงานศิลปะเป็นต้นทุนสำคัญต่อการใช้ชีวิต ช่วยแก้ปัญหาในครอบครัวของเด็กได้อย่างไรบ้าง

อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ครูใหญ่โรงเรียนในภูเขา กล่าวว่า ศิลปะไม่ได้มีแค่การวาดรูป หรือการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แต่ศิลปะคือสิ่งที่อยู่ในชีวิตของทุกคน ผ่านการแสดงออกตามบริบทต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โรงเรียนในภูเขา เป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยดึงสิ่งที่อยู่ในใจและจิตวิญญาณของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความสมดุลได้

นอกจากจัดฉายภาพยนตร์แล้ว ในงานยังจัดนิทรรศการและกิจกรรมเพื่อนำเสนอเนื้อหาหลักสูตรที่มาจากการทำงานร่วมกับโรงเรียนต่างๆ โดยมีทีมครูและนักจิตวิทยาร่วมกันเสริมสร้างดูแลเด็กที่กำลังเติบโตเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน การเรียนรู้แบบผ่านธรรมชาติของเด็กที่พูดถึงร่างกาย หัวใจ และจิตวิญญาณแบบ Soul exercise ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร เพลง ดนตรี สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้ง ชมนิทรรศการต่างๆ ที่เกิดจากการทำงานของโครงการฯ สามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : โรงเรียนในภูเขา หรือ ศิลปะด้านใน

"โรงเรียนในภูเขา" ภาพยนตร์ที่สะท้อนแง่งามของ "ศิลปะ" ที่สร้างพัฒนาการด้านในเด็ก