พี่จีนเอาจริง! "ยูนนาน" ขนกาแฟล็อตแรกเข้ายุโรปรับ "เส้นทางรถไฟสายลาว-จีน"

"เส้นทางรถไฟลาว-จีน" มีความยาวจากเวียงจันทน์ถึงคุนหมิง 1,035 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ย่นเวลาเดินทางจากเดิมที่ใช้รถยนต์กว่า 30 ชั่วโมง มาเหลือไม่ถึง 10 ชั่วโมง หลังจากนั้นอีก 6 เดือนต่อมา กาแฟล็อตแรกจากแหล่งผลิตใน "ยูนนาน" ก็ถูกส่งไปยังยุโรป
สารกาแฟ (green bean) จำนวนมากกว่า 300 ตันในตู้สินค้า เดินทางออกจากเมือง "ผู๋เอ่อร์" ใน ยูนนาน มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อาศัย เส้นทางรถไฟลาว-จีน ไปยังสถานีปลายทางคุนหมิง แล้วเชื่อมต่อด้วยรถไฟสินค้าจีน-ยุโรปสายใหม่เมื่อเดินทางไปถึงนครฉงชิ่ง พาดผ่านหลายประเทศในเอเชียกลาง ตามเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ใช้เวลา 22 วันก็เข้าสู่ "เวโรน่า" ของอิตาลี ประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องวัฒนธรรมการดื่ม กาแฟ ระดับโลก
...นี่เป็นกาแฟล็อตแรกจากไร่กาแฟในเมืองผู๋เอ่อร์ที่ขนส่งไปยังยุโรปผ่านทางขบวนรถไฟลาว-จีน
ในอดีตนั้น การขนส่ง เมล็ดกาแฟ จากผู๋เอ่อร์ไปยังยุโรปล้วนอาศัยการเดินทางโดยรถยนต์และเรือเดินสมุทร ทว่าหลังจากรถไฟลาว-จีนเปิดบริการ ช่วยทำให้การขนส่งเมล็ดกาแฟถึงปลายทางเร็วขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
"เนสท์เล่ ตงกวน" (Nestle Dongguan) เครือข่ายของเนสท์เล่ในเมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จาก "เส้นทางรถไฟลาว-จีน" ที่กลายเป็นช่องทางใหม่ในการส่งสินค้า และเนื่องจากการขนส่งที่สะดวกและเร็วขึ้น จึงทำให้ในปีนี้ บริษัทมีออร์เดอร์ส่งออกเข้ามามากขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตั้งแต่ปีค.ศ. 1988 "เนสท์เล่" ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารสัญชาติสวิส เริ่มต้นเข้ามารับซื้อ "กาแฟ" จากเกษตรกรชาวไร่ใน "มณฑลยูนนาน" เพื่อผลิตเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปหรือเบลนด์เข้ากับกาแฟอื่นๆ พร้อมกันนั้น เนสท์เล่ได้นำกาแฟสายพันธุ์ "คาติมอร์" เข้าไปปลูกเป็นกาแฟเชิงพาณิชย์ ต่อมาได้เลือกเมือง "ผู๋เอ่อร์" เป็นศูนย์พัฒนากาแฟของแบรนด์เนสท์เล่ในแดนมังกร ด้วยเห็นว่าพื้นที่เหมาะสมมากๆ ต่อการเติบโตของต้นกาแฟ
ล่วงเข้าสู่ปีค.ศ. 2016 เนสท์เล่ได้ก่อตั้งศูนย์กาแฟขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมเมืองผู๋เอ่อร์ ในพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร เป้าหมายคือ ฝึกอบรมการปลูกกาแฟให้กับเกษตรกรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพ มีการตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดกาแฟ และคลังสินค้าที่รองรับเมล็ดกาแฟได้กว่า 8,000 ตัน
จากเมืองเล็กๆ ที่ปลูกชามาก่อน ผู๋เอ่อร์ได้รับสมญาว่าเป็น "เมืองหลวงกาแฟ" ของประเทศจีน
จากกาแฟคาติมอร์ ก็มีสายพันธุ์อาราบิก้าเข้ามาปลูกเพิ่มเติม ได้แก่ ทิปปิก้า, คาทูร่า, เบอร์บอน และอื่นๆ
จากจุดเริ่มต้นที่แปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูป ก็ขยับขยายบทบาทเข้าสู่เซกเมนต์ "กาแฟพิเศษ" (speacialty coffee) มีแบรนด์กาแฟชั้นนำรวมไปถึงโรงคั่วกาแฟ เริ่มบุกเข้าไปปักธงตามไร่ขนาดเล็กๆ ควานหากาแฟดีมีคุณภาพ เพื่อนำกาแฟจีนไปเสิร์ฟให้ลูกค้าทั่วโลก ในรูปกาแฟพิเศษแบบซิงเกิล ออริจิ้น หรือกาแฟสายพันธุ์เดียวที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว
แต่ไม่ใช่เนสท์เล่ที่นำกาแฟเข้าสู่แผ่นดินจีนเป็นครั้งแรก เพราะกาแฟยูนนานนั้นมีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่าร้อยปี
เรื่องราวต้องย้อนกลับไปในปีค.ศ.1904 บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้นำต้นกาแฟจำนวนหนึ่งเข้ามาปลูกยังพื้นแผ่นดินยูนนาน เพื่อบริโภคส่วนตัว แล้วจุดที่บาทหลวงฝรั่งเศสนำกาแฟเข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกนั้น ในปัจจุบันคือ "หมู่บ้านจูขู่ลา" (Zhukula) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจินชา บนหุบเขาลึกในอำเภอปินฉวน เขตเมืองโบราณต้าหลี่
เพียงไม่กี่ปีต่อมา การปลูกกาแฟก็ขยายตัวไปยังจุดต่างๆตามไหล่เขาและบนเทือกเขาสูงของยูนนาน เป็นไร่ขนาดเล็กๆ ทำแบบชงดื่มกันเองภายในหมู่บ้าน ปริมาณจึงไม่มาก ขณะเดียวกันปัญหาความวุ่นวายของจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคนั้น ทำให้กาแฟยูนนานแทบไม่มีการพูดถึงกัน เปรียบดั่ง "เสือซุ่มมังกรซ่อน" ที่รอวันเผยโฉม จนถึงยุคทศวรรษ 1990 เมื่อราคากาแฟทั่วโลกเริ่มสูงขึ้น เกษตรกรท้องถิ่นยูนนานกลับมาปลูกกาแฟอีกครั้ง เพื่อจำหน่ายให้กับบริษัทต่างชาติ
จากนั้น เนสท์เล่เข้ามาใช้เมืองผู๋เอ่อร์ เป็นฐานการผลิตกาแฟและส่งเสริมการทำไร่กาแฟเพื่อส่งออก ยังผลให้เมืองนี้กลายเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลยูนนานไปในที่สุด
โดยภาพรวม กาแฟยูนนาน ครองสัดส่วนถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตกาแฟในจีน มีกำลังการผลิตกว่า 100,000 ตันต่อปี จากจำนวนไร่ 300,000 ไร่ ตัวเลขส่งออกเมล็ดกาแฟในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ 18,000 ตัน มีมูลค่า 82.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.3 เท่า และ 3.8 เท่า ตามลำดับ อันที่จริงก่อนหน้าเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19นั้น ยอดส่งออกกาแฟของยูนนานสูงถึง 83,000 ตัน เมื่อปีค.ศ. 2015
สำหรับผู๋เอ่อร์เพียงเมืองเดียวนั้น ข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ระบุว่า เมืองผู๋เอ่อร์มีเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟประมาณ 70 ราย ในจำนวนนี้ได้รับสิทธิส่งออก 12 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟรวม 118,000 ไร่ ผลผลิตต่อปีอยู่ที่ 55,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตกาแฟในจีน
"กาแฟยูนนาน" ส่วนใหญ่ยังคงจัดอยู่ในเกรด "คอมเมอร์เชียล" เน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก มักถูกนำไปเบลนด์เข้ากับกาแฟจากแหล่งปลูกอื่นๆ เพื่อความได้เปรียบจากการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของการผลิตในรูปแบบกาแฟพิเศษอย่างจริงจังนั้น เพิ่งเกิดขึ้นราว 10 ปีมานี้เอง จากการขับเคลื่อนโดยแบรนด์ดังระดับโลกหลายๆ บริษัท เช่น "สตาร์บัคส์" (Starbucks) แห่งเมืองซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้กาแฟยูนนานในปัจจุบัน มีการเพิ่มทั้งปริมาณและเพิ่มคุณภาพ
แม้จะเข้ามาบุกเบิกตลาด "กาแฟจีน" ภายหลังเนทส์เล่ แต่สตาร์บัคส์ก็สนใจ "มณฑลยูนนาน" มานานแล้ว ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่สำคัญของจีน และเคยซื้อขายเมล็ดกาแฟกันมาก่อนบุกตลาดจีน
ราวปีค.ศ. 2012 สตาร์บัคส์เปิดศูนย์สนับสนุนผู้เพาะปลูกกาแฟขึ้นในเมืองผู๋เอ่อร์ เป็นศูนย์รูปแบบนี้แห่งแรกของเอเชียและแห่งที่ 6 ของโลก เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการปลูกกาแฟและยกระดับคุณภาพของเมล็ดกาแฟใน "มณฑลยูนนาน" ถือเป็นปีเริ่มต้นของการพัฒนา "กาแฟยูนนาน" ตามมาตรฐานของสตาร์บัคส์อย่างจริงจัง
ต้นปีค.ศ.2017 สตาร์บัคส์ได้เปิดตัวเมล็ดกาแฟพิเศษจากแหล่งเพาะปลูกเดียวของมณฑลยูนนาน เป็นเมล็ดกาแฟซิงเกิลออริจิ้นรุ่นแรกจากไร่กาแฟจีน จากนั้นก็มีซีรีส์กาแฟยูนนานออกมาอีกหลายตัว โดยเฉพาะ "ไชน่า โคแม็ค เอสเตท" กาแฟยูนนานที่ผ่านกระบวนการคั่วจาก Starbucks Reserve Roastery ในเซี่ยงไฮ้ เปิดจำหน่ายในทุกสาขาของสตาร์บัคส์ประเทศจีน
ไม่นานนัก เมล็ดกาแฟยูนนานก็ถูกบริษัทใหญ่ๆ จับไปนำเสนอเป็นกาแฟพิเศษ ในจำนวนนี้รวมไปถึง "ซูคาฟิน่า" (Sucafina) บริษัทซื้อขายเมล็ดกาแฟจากสวิส และ "ลา โคลอมเบ" (la colombe) โรงคั่วกาแฟอเมริกัน
ในจำนวนพื้นที่ปลูกกาแฟกว่าหนึ่งแสนไร่ของเมืองผู๋เอ่อร์นั้น มีอยู่ถึง 67,000 ไร่ ที่ผ่านการรับรองจากแบรนด์ดังๆ เช่น เนสท์เล่ และสตาร์บัคส์
ปีค.ศ. 2019 หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี รายงานไว้ว่า ราวครึ่งหนึ่งของกาแฟยูนนานที่ส่งออกไปต่างประเทศนั้นเป็นของประเทศใน "สหภาพยุโรป" (อียู) ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้ดื่มกาแฟสูงสุดในโลก เพราะบริโภคกาแฟถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตกาแฟทั่วโลกในฤดูกาล 2020-2021
เหตุที่กาแฟยูนนานส่งออกไปยุโรปมาก ก็อาจเป็นเพราะการเกิดขึ้นของทางรถไฟสายคุนหมิงไปยังร็อตเตอร์ดัม เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เปิดบริการวิ่งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2015 ใช้เวลาขนส่ง 15 วัน
ไม่แต่เพียงผู้ผลิตกาแฟในยูนนานของจีนเท่านั้นที่กำลังสร้างโอกาสกับ "ทางรถไฟสายลาว-จีน" แต่เจ้าของธุรกิจกาแฟหลายรายในอุษาคเนย์ก็สนใจอยากแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น นายสีหนุก สีสมบัด เจ้าของกาแฟแบรนด์ "สีหนุก" (Sinouk Coffee) ที่เคยให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบของตนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ในท่วงทำนองว่า เมื่อมีรถไฟสายลาว-จีน ทำให้การส่งกาแฟไปจีนสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม พร้อมแสดงความมั่นใจในคุณภาพกาแฟลาว
คลิปสัมภาษณ์ระดับบิ๊กของวงการกาแฟลาวนี้ มีการแปลซับไตเติ้ล เป็นทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ
"ทางรถไฟสายลาว-จีน" ที่เชื่อมต่อไปยังขบวนรถไฟสายจีน-ยุโรป ผ่านเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 จะเป็นอีกช่องทางการค้าที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับตลาดกาแฟไทย เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอื่นๆ หรือไม่/อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบด้านของผู้ประกอบการแล้วล่ะครับ