คัมแบ็ค! มหกรรมกาแฟโลก "ยุโรป-สหรัฐ" จัดใหญ่ ไทยชูไฮไลท์ "ออกแบบอนาคตกาแฟ"

คัมแบ็ค! มหกรรมกาแฟโลก "ยุโรป-สหรัฐ" จัดใหญ่ ไทยชูไฮไลท์ "ออกแบบอนาคตกาแฟ"

ขณะที่ภาคธุรกิจก็เริ่มขยับขับเคลื่อนกิจกรรมทางการตลาดที่เคยว่างเว้นไว้ถึง 2-3 ปีเต็มๆ ฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกาจัดงานเทศกาล "กาแฟโลก" กันอย่างคึกคักในช่วงครึ่งปีแรก ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 ข้อที่ต้องคบคิดหาทางรับมือกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โจทย์ใหญ่ที่ว่าได้แก่ ภาวะราคากาแฟที่ปรับตัวขึ้นสูง, พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และแนวคิดหรือวิธีที่นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำอย่างเกษตรกร, การแปรรูป, โรงคั่ว, ร้านรวง ไปจนถึงปลายทางน้ำอย่างนักดื่มกาแฟทั้งหลาย เป็นแก่นคิดและวิธีการที่กำลังอยู่คู่กับ วงการกาแฟ ทั่วโลก

ในปีนี้ต้องถือว่า อุตสาหกรรมกาแฟพิเศษ (Specialty coffee) กลับมาจัดงานเทศกาลกาแฟแทบจะทุกประเทศ หลังจากเว้นวรรคไปเพราะห่วงกังวลกันว่าจะกลายเป็นคลัสเตอร์แพร่กระจายเชื้อไวรัส อาจจะมีการจัดงานกันบ้างจากผู้ประกอบการบางรายอย่างในประเทศไทยเราเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ถือว่ารูปแบบงานได้รับอนุญาตให้เปิดเท่าที่จำเป็น ส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะผู้ซื้อพบผู้ขายแบบไดเร็ค เช่น เปิดบูธจำหน่ายเมล็ดกาแฟ, เครื่องคั่วกาแฟ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับกาแฟ เป็นต้น

คัมแบ็ค! มหกรรมกาแฟโลก \"ยุโรป-สหรัฐ\" จัดใหญ่ ไทยชูไฮไลท์ \"ออกแบบอนาคตกาแฟ\" เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นแก่นคิดและวิธีการที่กำลังอยู่คู่วงการกาแฟทั่วโลก / ภาพ : Dang Cong on Unsplash

ส่วนการจัดเวิร์คช้อปให้ความรู้แก่คอกาแฟ, การเทสรสชาติ, การประกวดแข่งขัน และเวทีเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่อง “แนวโน้ม” และ ”ประเด็น” ที่อยู่ในความสนใจก็ยกเลิกกันชั่วคราวไปก่อน

แต่สำหรับปีนี้ สมาคมกาแฟพิเศษหลายๆ ประเทศมากันแบบ “เต็มพิกัด” ในการจัดเทศกาลหรืองานเอ็กซ์โปต่างๆ ทุกอย่างกลับมาเหมือนเคย ทว่ามาตรการป้องกันรวมถึงหลักปฏิบัติต่างๆ ที่จำเป็น ก็ยังดำเนินไปตามปกติ ไม่เข้มงวดเหมือนยุคแรกๆ ที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด

คัมแบ็ค! มหกรรมกาแฟโลก \"ยุโรป-สหรัฐ\" จัดใหญ่ ไทยชูไฮไลท์ \"ออกแบบอนาคตกาแฟ\" การชงกาแฟเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ถูกถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ในทุกเทศกาลกาแฟ / ภาพ : StockSnap จาก Pixabay

ผู้เขียนชื่นชอบบรรยากาศของงานเทศกาลกาแฟมากๆ หลงรัก “กลิ่นกาแฟ“ ที่หอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ ทุกปีที่มีการจัดงานกันในบ้านเรา ไม่ว่างเว้นที่จะเดินทางไปชมงาน เป้าหมายคือ อยากเรียนรู้และเปิดประสบการณ์ให้กับตนเองในหลายๆ แง่มุม เช่น ธีมของงาน, ไฮไลท์ที่ผู้จัดต้องการสื่อสาร, องค์ความรู้ที่เสนอแนะ และการแปลกเปลี่ยนและเรียนรู้บนเวทีเสวนาหรือห้องเวิร์คช้อป

แล้วเมล็ดกาแฟตามบูธต่างๆ เป็นกาแฟไทยหรือกาแฟเทศมากน้อยแค่ไหน อยากเห็นนวัตกรรมและสินค้าใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการทุกแขนงนำออกมาโชว์หรือเปิดตัวกันในงาน

ภาพรวมเหล่านี้ สามารถนำมาประเมินได้คร่าวๆ ว่า ตลาดกาแฟบ้านเรายืนอยู่ตรงจุดไหน และมีแนวโน้มว่าจะเดินไปในทิศทางใด

นอกจากนั้นแล้ว ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะไปพบปะ เพื่อนฝูง ที่อยู่ในธุรกิจกาแฟ บางคนทำไร่กาแฟอยู่บนดอยสูง เคยทักทายกันก็แต่ในโซเชียลมีเดีย แทบไม่ได้สนทนากันแบบตัวเป็นๆ แล้วเพื่อนอุตส่าห์เดินทางไกลมาเปิดบูธกาแฟใกล้บ้านทั้งที ถ้าไม่ไปเยี่ยมเยียนกัน คราวหน้าเป็นได้ส่งกาแฟขมๆ มาให้ชิมแน่ๆ 

บอกเลยว่าแทบทุกงานในบ้านเราจะมีคอกาแฟไปร่วมค่อนข้างเยอะแม้ในวันปกติก็ตาม แต่ถ้าเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ผู้คนจะเนืองแน่นเป็นพิเศษ แน่นอนก่อนกลับผู้เขียนก็มักหิ้วพวกเมล็ดกาแฟบรรจุถุงและเครื่องชงกาแฟเล็กๆ สำหรับโฮมยูสนำกลับไปบ้านด้วยเสมอ

เช่นเดียวกับสมาคมกาแฟพิเศษในสหรัฐและยุโรป ในปีนี้ “สมาคมกาแฟพิเศษไทย” (SCATH) และเครือข่าย กลับมาจัดมหกรรมเพื่อคนรักกาแฟอีกครั้ง ในชื่องานว่า "Thailand Coffee Fest 2022 : The Future ออกแบบอนาคตกาแฟไทย" ระหว่าง14 - 17 กรกฎาคม 2565 ณ ฮอลล์ 5-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยธีมของงานปีนี้ ทางผู้จัดงานนำเสนอว่า ขอชวนคนกาแฟและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกแขนงมาร่วมด้วยช่วยกันออกแบบ และสร้างสรรค์อนาคตให้กับวงการกาแฟไทยก้าวเดินต่อไปอย่างยั่งยืน พร้อมขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันกาแฟสัญชาติไทย ให้โด่งดังสู่สายตาชาวโลก

คัมแบ็ค! มหกรรมกาแฟโลก \"ยุโรป-สหรัฐ\" จัดใหญ่ ไทยชูไฮไลท์ \"ออกแบบอนาคตกาแฟ\" Thailand Coffee Fest 2022 ธีมสำคัญของงานโฟกัสไปที่การออกแบบอนาคตกาแฟไทย

ภายในงาน Thailand Coffee Fest ที่ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว นอกจากจะจัดแบ่งพื้นที่โซนพิเศษสำหรับเรียนรู้ศาสตร์/ศิลป์ของกาแฟ, แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแบ่งปันแนวคิดต่างๆ แล้ว ยังมีนิทรรศการของผู้ประกอบการที่คำนึงถึงแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมเวิร์กชอป พร้อมเปิดโอกาสให้ลิ้มลองกาแฟจากการประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทยประจำปี 2564

หนึ่งในไฮไลท์งานที่ผู้เขียนอยากไปช่วยลุ้นมากก็คือ การแข่งขันประชันฝีมือชงเมนูกาแฟสัญชาติไทยอย่างเวที "World Es Yenn Championship" หรือการแข่งขันรายการ "เอสเย็น" ชิงแชมป์โลกนั่นเอง!

สำหรับฝั่งอเมริกาเหนือที่ถือเป็นผู้นำเทรนด์กาแฟโลกนั้น สมาคมกาแฟพิเศษสหรัฐ (SCA) ได้กลับมาจัดงานประจำปี “Specialty Coffee Expo” อีกครั้งเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง หลังจากยกเลิกงานไปถึง 3 ปีเต็มๆ เวทีนี้ได้รับการพูดถึงกันว่าเป็นเทศกาลของคนกาแฟพิเศษที่ใหญ่สุดแล้วในทวีปอเมริกา แล้วก็ถือเป็นอีเวนท์ระดับเรือธงของสมาคมกาแฟพิเศษสหรัฐก็ว่าได้

นี่ก็จัดงานกันมาอย่างยาวนานถึง 30 ปีทีเดียว ปกติจะหมุนเวียนไปจัดงานตามเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐ ปีนี้เมืองที่ได้รับโอกาสทองก็ถือ บอสตัน ในรัฐแมสซาชูเซตส์

อยากรู้ว่าเทรนด์กาแฟพิเศษ "ล่าสุด" ของโลกเป็นแบบไหน มีกระแสอะไรกัน เทรนด์ใหม่มีอะไรบ้าง คลั่งเมนูกาแฟตัวไหนกันนะ เขาบอกว่าต้องแวะไปร่วมงาน Specialty Coffee Expo ที่นี่มีอะไรใหม่ๆ และล่าสุดของอุตสาหกรรมกาแฟให้ต้องร้องว้าวอยู่ๆ เสมอ ด้วยมีแบรนด์กาแฟระดับโลกแทบทุกแขนงหอบหิ้วนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมาโชว์มิได้ขาด

คัมแบ็ค! มหกรรมกาแฟโลก \"ยุโรป-สหรัฐ\" จัดใหญ่ ไทยชูไฮไลท์ \"ออกแบบอนาคตกาแฟ\" บรรยากาศงาน Specialty Coffee Expo ที่บอสตัน เมื่อเมษายนที่ผานมา / ภาพ : www.facebook.com/SpecialtyCoffeeAssociation

นอกจากนั้น ในงานยังแน่นไปด้วยเวทีเสวนาในประเด็นร้อนๆของสถานการณ์กาแฟโลกทั้ง ราคากาแฟที่แพงทั่วโลกในระดับเพอร์เฟ็กต์ สตรอม, ปัญหาการผลิตตกต่ำในบราซิล, พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และรูปแบบการบริการแนวใหม่ที่ต้องอยู่กับไวรัสโควิดไปอีกไม่รู้ว่านานแค่ไหน จัดเป็นงาน “ชุมนุมใหญ่” ของผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟพิเศษทีเดียว

งานปีนี้ยังคงแยกออกเป็น 3 โซน ได้แก่ งานแสดงสินค้า, การแข่งขัน และองค์ความรู้ ประกอบด้วยบูธมากกว่า 400 บูธ ขณะที่ไฮไลท์ของงานโฟกัสไปที่การทำธุรกิจกาแฟให้เติบโตอย่างยั่งยืนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด หลายๆ บริษัทให้ความสนใจและนำเสนอองค์ความรู้ตั้งแต่ภาคทฤษฎียันภาคปฏิบัติจริง เช่น วิธีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในอุตสาหกรรมกาแฟ และการทำไร่กาแฟแนวทางใหม่เพื่อความยั่งยืน ตามคอนเซปท์ที่ว่าเมื่อได้หยิบยืมสิ่งใดจากโลกมาใช้ก็ส่งคืนกลับไปให้ดังเดิม

บูธของบริษัทกาแฟที่มีการพูดถึงกันมากก็คือ แบรนด์ “ลา มาร์ซอคโค” (La Marzocco) จากอิตาลี เพราะตัวบูธทั้งหลังทำจากไม้และผ้าฝ้ายที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายหลักของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับปัญหาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขณะที่โรงงานผลิตในเมืองฟลอเรนซ์เองก็ใช้ระบบโซลาเซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแบบ 100%

ที่จัดว่าเป็นอีกไฮไลท์ก็เห็นจะไม่พ้นเรื่องการเปิดตัวโปรแกรม "The Green Coffee Buyers and Sellers" หรือเวทีสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่, แบ่งปันตัวอย่างกาแฟ และสร้างเครือข่ายธุรกิจให้เติบโต ผู้เข้าร่วมโปรแกรมสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่นของ World of Coffee และนัดหมายจัดการประชุมแบบตัวต่อตัวระหว่างร่วมงานได้อีกด้วย

คัมแบ็ค! มหกรรมกาแฟโลก \"ยุโรป-สหรัฐ\" จัดใหญ่ ไทยชูไฮไลท์ \"ออกแบบอนาคตกาแฟ\" โปสเตอร์เทศกาล World of Coffee ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี 

ถือเป็นการเปิดตัวระบบนี้เป็นครั้งแรกในยุโรป หลังจากประสบความสำเร็จมาแล้วในการเปิดตัวที่งาน Specialty Coffee Expo ในเมืองบอสตันเมื่อเดือนเมษายน

ทางอังกฤษก็มีการจัดงานเหมือนกันชื่อว่า “London Coffee Festival” ที่สื่อเมืองผู้ดีเคลมว่านี่คือ งานปาร์ตี้กาแฟที่ใหญ่ที่สุดบนโลกมนุษย์ งานมีขึ้นช่วงสิ้นเดือนมีนาคมถึงต้นเมษายน ธีมหลักของเทศกาลกาแฟลอนดอนพุ่งเป้าไปที่ ความยั่งยืนในการทำธุรกิจกาแฟ, การทำธุรกิจแบบมีส่วนร่วม, การสร้างตัวเป็นผู้ประกอบการ , อุปกรณ์ชงกาแฟในครัวเรือน และแนวโน้มของอุตสาหกรรม มีบูธกาแฟพิเศษและบูธอาหารราว 250 บูธ

ผู้จัดงานนำเสนอว่า ความยั่งยืนคือปัจจัยสำคัญในทุกขั้นตอนของ “ห่วงโซ่อุปทานธุรกิจกาแฟ” ตั้งแต่แนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่มีจริยธรรม, บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และการทำปุ๋ยหมักจากพืช ไปจนถึงการบริโภคกาแฟในลักษณะที่ปราศจากขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภายในงานจึงมีการ "จัดประกวด" และ "มอบรางวัล" ให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าในธุรกิจกาแฟที่นำไปใช้ซ้ำได้ด้วย

ผลิตภัณฑ์ที่นำมาโชว์ในงานและผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจยิ่ง ก็คือ การนำ “คาสคาร่า” หรือเปลือกเชอรี่กาแฟที่ถูกมองว่าเป็นของเหลือใช้  ไปผสมกับเมล็ดกาแฟคั่วและเนยโกโก้ แล้วนำมาแปรรูปเป็น "กาแฟแท่ง" คล้ายๆ ช็อคโกแลตแท่ง เรียกว่า "Cascao"

กาแฟแท่งหรือ coffee bar นี้ เป็นผลงานจากบริษัท พิกเซลส์ เวิร์ลด์ ไวด์ (Pixels World Wide) ในสวิตเซอร์แลนด์ ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออแกนิคในทุกขั้นตอน เหมาะที่จะเป็นขนมขบเคี้ยวของกลุ่มคนชอบกาแฟทีเดียว

ย้อนกลับไปในช่วงต้นปีราวเดือนมกราคม สมาคากาแฟพิเศษสหรัฐได้ขยายการจัดเทศกาลกาแฟพิเศษเข้าไปยัง “ตะวันออกกลาง” ผ่านทางการจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกที่ดูไบ เนื่องจากเห็นว่าประเทศในภูมิภาคนี้หลายๆ ประเทศ เช่น ยูเออี, ซาอุดิอาระเบีย, บาห์เรน และคูเวต มีอัตราการขยายตัวของร้านกาแฟสไตล์ตะวันตกค่อนข้างสูง ขณะที่ร้านที่ให้บริการกาแฟพิเศษก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

เนื่องจากบริบทและองค์ประกอบต่างๆ ทำให้ธีมหลักของเทศกาลกาแฟแต่ละแห่งแตกต่างกันไปบ้าง อย่างของไทย ปีนี้มุ่งเน้นไปที่ “การออกแบบอนาคตกาแฟไทย”ซึ่งถือเป็นหัวข้อสำคัญที่คนในวงการกาแฟบ้านเราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด จึงอยากติดตามฟังติดตามลุ้นในแต่ละมุมมองด้วยใจจดจ่อ พร้อมจิบเอสเย็นให้ชื่นจิตไปด้วยครับ