เมื่อขบวนรถไฟสายโอกาสเทียบชานชลา ชีวิตริมรางของ "เด็กนอกระบบ" จะเปลี่ยนไป

เมื่อขบวนรถไฟสายโอกาสเทียบชานชลา ชีวิตริมรางของ "เด็กนอกระบบ" จะเปลี่ยนไป

เส้นทางรถไฟเปรียบเสมือนชีวิตของผู้คนที่มีจุดเริ่มต้นและปลายทางสั้นยาว ใกล้ไกล แตกต่างกัน แต่สำหรับชีวิตจริงของ "เด็กนอกระบบ" เส้นทางรถไฟและชานชลาอาจเป็นทั้งชีวิต ความหวัง ที่พักพิง และสถานที่ทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง

เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่ไม่มีรถไฟมาจอดที่สถานีรถไฟนครปฐม เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อใดก็ตามที่เสียงหวูดรถไฟดังขึ้น พร้อมกับเสียงระฆังของนายสถานี ดวงตาของผู้คนจำนวนหนึ่งที่อยู่บริเวณนั้นจะเริ่มฉายแววแห่งความหวัง พร้อมกับหัวใจที่เหมือนจะพองโตขึ้น

ทุกสายตาจับจ้องไปที่บันไดทางขึ้นขบวนรถไฟ ในมือแบกอาหารคาวหวาน พร้อมวิ่งประชิดหน้าต่างรถไฟ ลำคอเปร่งเสียงชวนเชิญให้ผู้คนมาอุดหนุน ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่นาที ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างเร่งรีบ ให้ทันเวลาขบวนรถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานี

“น้ำมั้ยครับ น้ำเปล่า น้ำแดง น้ำเขียว โอเลี้ยง กาแฟ” เสียงเด็กชายวัย 18 ปี ดังขึ้นพร้อมถุงใส่น้ำหลากหลายรสชาติ

บนรถไฟขบวนเดียวกัน หญิงสาววัย 16 ปี กำลังกุลีกุจอ ช่วยแม่ค้ายกของขึ้นขบวนรถไฟ เมื่อเสร็จก็มีเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกหยิบยื่นจากพ่อค้าแม่ค้าใส่มือสาวน้อยเป็นค่าตอบแทน

จันทร์ฉาย ฉายอรุณ หรือ ครูแจ้ ครูสอนเด็กด้อยโอกาส สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครนครปฐม เล่าว่า ในอดีตเธอเคยมีโอกาสเจอ น้องบิ๊ก-ธวัชชัย หอมข่างเจริญ ขายน้ำดื่มสมัยที่ครูฝึกสอน

“ตอนนั้นน้องน่าจะอยู่ชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 3 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในนครปฐม เราก็สังเกตว่าเด็กคนนี้แต่งตัวมอมแมม มาเรียนบ้างไม่มาบ้าง หากวันไหนมาก็จะมาสาย แต่เมื่อเราฝึกสอนเสร็จก็ไม่ได้เจอน้องอีก กระทั่งครูแจ้มาเป็นครูสอนที่ กศน.เทศบาลนครนครปฐม มีโอกาสได้เจอน้องอีกครั้ง ผลคือ น้องยังมาเรียนแบบมาๆ หายๆ เหมือนเดิม เมื่อตามไปดูถึงบ้านจึงรู้ว่าน้องช่วยพ่อขายน้ำอยู่ที่สถานีรถไฟ บางทีมีคนจ้างยกของเขาก็จะหายไปกับพ่อสองสามวัน ทำให้เขาต้องออกจากระบบศึกษา และมาเรียน กศน.แทน”

เมื่อขบวนรถไฟสายโอกาสเทียบชานชลา ชีวิตริมรางของ "เด็กนอกระบบ" จะเปลี่ยนไป

ครูแจ้ มองเห็นว่า หากปล่อยไปอนาคตของน้องอาจจะต้องเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จึงเริ่มพูดคุยอย่างจริงจังกับน้องบิ๊กในการสร้างอาชีพเป็นของตัวเองหลังเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงชวนให้บิ๊กมาฝึกอาชีพที่ กศน.หลายอย่าง สุดท้ายบิ๊กสนใจอาชีพขายน้ำ ครูแจ้จึงประสานหาครูมาช่วยสอนวิธีชงน้ำต่างๆ ให้อร่อยและมีแพคเกจน่าสนใจไปจากเดิม กระทั่งบิ๊กได้ขายน้ำบรรจุขวดเองบนสถานีรถไฟ แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด อาชีพขายน้ำของบิ๊กก็หายไปพร้อมเสียงหวูดรถไฟ แต่ครูแจ้ยังไม่ยอมปล่อยมือ

“ครูคิดว่าถ้าเขาไม่ขายน้ำแล้วเขาจะเอาอะไรกิน เขาก็ต้องไปมาลงใต้ไปกับรถไฟเหมือนเดิม”

“ทำก๋วยเตี๋ยวรถไฟดีไหม” ครูแจ้ถาม

“แต่ผมไม่มีตังค์นะครู”  บิ๊กตอบ

โชคดีที่ช่วงนั้นเทศบาลนครนครปฐมได้เข้าร่วม โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคกลาง ที่สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. บิ๊กได้รับทุนสนับสนุนตั้งต้นในการซื้ออุปกรณ์เครื่องครัวในการทำก๋วยเตี๋ยวรถไฟ

ก๋วยเตี๋ยวรถไฟอร่อยๆ มาแล้วครับ...

บิ๊ก เล่าว่า ทุนที่ได้รับจาก "กสศ." เขานำมาซื้ออุปกรณ์ทำก๋วยเตี๋ยว ทั้งถังแก๊ส หม้อ ที่ลวก และอุปกรณ์ทุกอย่าง

“ที่บ้านเราไม่มีอะไรเลย หม้อก็มีอยู่ใบเดียวและดำบู้บี้มากๆ เมื่อก่อนขายน้ำอย่างเดียวพอโควิด–19 มา ทุกอย่างจบเลย ขายไม่ได้เลย พอเปลี่ยนมาขายก๋วยเตี๋ยวก็มีรายได้ดีขึ้นเยอะ แต่ช่วงโควิด–19 ระบาดระลอกสามรายได้ก็ลดลงไปเหมือนกัน เพราะเขาไม่ให้ขึ้นไปขายบนรถไฟ แต่ยังดีที่ครูแจ้ช่วยหาออเดอร์จากเพื่อนครูและเทศบาลสั่งไปจัดเลี้ยงเวลามีงาน”

ส่วนหญิงสาวที่ขนของช่วยพ่อค้าแม่ค้าบนรถไฟคือ น้องฝ้าย - ณัฐวรรณ รุจยากรกุล ปัจจุบันอายุ 18 ปี กำลังจะจบ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่กศน. น้องฝ้ายได้รับโอกาสในการฝึกอาชีพหลายๆ อย่างจาก กศน.ทั้งตัดผมชาย ตัดผมหญิง เย็บผ้า และทำอาหาร กระทั่งเธอสามารถเปิดร้านขายข้าวหมกไก่เล็กๆ หน้าห้องเช่า แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ฝ้ายต้องย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง จึงไม่ได้กลับไปขายข้าวหมกไก่อีก ปัจจุบันเธอเป็นลูกจ้างรายวันที่โรงหมูแห่งหนึ่ง เธอหวังว่าเมื่อจบ ม.3 จะใช้วุฒิสมัครงานเพื่อให้มีรายได้ประจำเลี้ยงตัวเอง เพื่อเรียนให้จบ ม.6 และเรียนต่อมหาวิทยาลัยต่อไป

“ตอนนี้โรงหมูไม่ค่อยมีงานค่ะ ถ้ามีเขาจะเรียกไปทำสัปดาห์ละวันสองวัน รายได้ไม่ค่อยพอต้องช่วยแม่จ่ายค่าน้ำค่าไฟ โชคดีที่เจอครูแจ้ที่คอยดูแลตลอดเวลาไม่รู้สึกว่าเขาเป็นครูเลย แต่รู้สึกว่าเขาเหมือนเป็นแม่ของหนูอีกคน ตอนที่หนูติดโควิด-19 ครูก็ประสานขอข้าวสารอาหารแห้ง และเงินมาให้ใช้ตอนที่ไม่มีรายได้ หนูคิดว่าที่หนูมีทุกวันนี้ก็เพราะครูค่ะ”

เมื่อขบวนรถไฟสายโอกาสเทียบชานชลา ชีวิตริมรางของ "เด็กนอกระบบ" จะเปลี่ยนไป

โอกาสของเด็กนอกระบบ...จากครูนอกระบบ

ปัจจุบันจังหวัดนครปฐมมี เด็กนอกระบบ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลนครนครปฐมราว 80 คน มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ ปัจจุบันแม้ว่า "โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคกลาง" จะจบลงแล้ว แต่ความช่วยเหลือของภาคีเครือข่ายที่รวมตัวกันยังคงอยู่เพื่อสร้าง โอกาสทางการศึกษา ให้แก่ เด็กและเยาวชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสบริเวณริมทางรถไฟต่อไป

อัจฉรียา อึ้งทอง หรือ ครูน้อง หนึ่งในครูเด็กนอกระบบสังกัดเทศบาลนครนครปฐม กล่าวว่า ทุกสัปดาห์ครูแจ้และครูน้องจะต้องทำตารางลงพื้นที่สอน "เด็กนอกระบบ" ระหว่างลงพื้นที่ก็จะสำรวจเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในชุมชนไปด้วย โดยจะขับรถมอเตอร์ไซค์ไปตามงานวัด ร้านอาหารในเมืองเพราะเด็กส่วนใหญ่จะออกมาขายของตอนกลางคืน อีกวิธีหนึ่งในการค้นหาเด็กด้อยโอกาสคือ มีภาคีเครือข่ายให้เบาะแส เช่น ตำรวจจราจร ผู้ปกครอง ครูในโรงเรียน ผู้นำชุมชน อสม. กองสวัสดิการของเทศบาลฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น

ครูแจ้ บอกว่า การค้นหาเด็กเป็นเรื่องที่ท้าทายครูของ "เด็กนอกระบบ" มาก เนื่องจากเวลาเราพบเจอเด็กแล้วจะต้องใช้เวลานานในการทำความเข้าใจและชักชวนเด็กเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือ

“เราต้องไปพูดไปคุยสร้างความอบอุ่นให้เขาก่อนว่า เรามาแบบมิตร ไม่ใช่ศัตรู เราต้องแสดงตัว ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าเราจะช่วยเหลือเขาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเด็กบางคนอยู่ไม่เป็นที่เป็นทางวันนี้เจอป้ายรถเมย์ วันต่อไปเราอาจจะไม่เจอเขาแล้ว เพราะเขาเปลี่ยนที่นอน บางครั้งก็ต้องซื้อข้าวให้กิน บางคนต้องใช้เวลาคุยนานมากกว่าจะเข้าใจ เรียกว่าต้องใช้ ‘ใจ’ ทำงานจริงๆ ”

ปัจจุบันครูแจ้และครูน้องยังขี่มอเตอร์ไซต์ค้นหาเด็กที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้เพื่อไม่กลายเป็นคนด้อยโอกาสต่อไปในอนาคต