"ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" ปัญหาที่ต้องว่ากันไปเป็นพื้นที่

"ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" ปัญหาที่ต้องว่ากันไปเป็นพื้นที่

เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกันและโครงสร้างต้นตอของปัญหาก็ไม่เหมือนกัน การแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” จึงต้องแก้ที่พื้นที่

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องแก้พื้นที่

นี่ไม่ใช่ประโยคที่พูดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นประโยคหรือแนวทางที่เกิดขึ้นจากวิเคราะห์ประเมินจากการปฏิรูปการศึกษาในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ที่เน้นไปในเรื่องของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่ระบบระเบียบราชการไม่เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในพื้นที่เท่าที่ควร

อีกทั้งยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence based) จากการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภายใต้โครงการการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือ Area Based Education: ABE ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ 20 จังหวัดนำร่องในพื้นที่ 4 ภาค ก็เป็นเหตุผลที่จะยืนยันได้ว่าปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องแก้ที่พื้นที่

และเพื่อให้ภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดเข้าใจกรอบแนวคิดการทำงานชัดเจนยิ่งขึ้น โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างความเข้าใจแนวทางการพัฒนาข้อเสนอโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปี 2565 โดยมีภาคีเครือข่ายจาก 5 ภาคส่วน คือ ภาคราชการ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จาก 44 จังหวัดทั่วประเทศ

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าว ตอนหนึ่งในเวทีนำเสนอบทเรียน กรอบแนวคิดและแนวทางการปฏิรูปการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปี 2565 ว่า ตลอดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กสศ. อาจจะช่วยเด็กได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ กสศ. ช่วยแบบลงลึกไม่ได้ ท่ามกลางสภาพปัญหาที่ประเทศไทยเรามีเด็กกลุ่มยากจนด้อยโอกาส 4.2 ล้านคน เป็นเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 5 แสนคน กสศ.ช่วยไม่ได้ทุกคน ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนแต่ละจังหวัดเข้ามาร่วมกันทำเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัด

ณัฐพงศ์ ศิริชนะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และอนุกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวเสริมว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยวิธีปกตินั้นมีความยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาด้วยระบบราชการที่ต้องได้รับการสั่งการจากข้างบน ที่เปรียบเสมือนการตัดเสื้อตัวเดียวใช้ทั้งประเทศ ในขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของแต่ละจังหวัดที่พบเจอนั้นมีความแตกต่าง

“ที่ผมสนใจทำเรื่องนี้ เพราะตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอดชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ยากลำบากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ใกล้เมืองอย่างจังหวัดนครนายก ล้วนประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่อาจจะแตกต่างในมิติที่มาของปัญหาที่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ตอนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นช่วงสามปีสุดท้ายของชีวิตราชการที่แอบคิดว่าจะสบายๆ แต่สุดท้ายเราพบว่าในจังหวัดมีแม่วัยใสและเด็กเดินยา มีปัญหาพ่อแม่แยกทางจำนวนมาก

ออกนอกกรอบ ไม่ยึดติดระบบเดิมๆ

อดีตผู้ว่าฯ ระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อาจนิ่งนอนใจ แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้านการศึกษาค่อนข้างมีความซับซ้อน การใช้ระบบวิธีปกติเพื่อแก้ไขปัญหาที่ไม่ปกติจึงทำได้ยาก  

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีวิธีคิดใหม่ วิธีทำใหม่ และต้องทลายกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ ที่เป็นไซโลในส่วนราชการ แล้วยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง อย่าคิดตัวชี้วัดแบบระบบราชการ และต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน เพราะนายกอบจ. ผู้ว่าราชการท่านมาแล้วก็ไป สุดท้ายคนที่จะต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกันก็ต้องเป็นคนในจังหวัดนั้นๆ”

ด้าน ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.กล่าวถึงกรอบแนวคิดการทำงานว่า บทบาทของ กศส.คือการเข้าไปสนับสนุน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในจังหวัดให้มีความสามารถในการขับเคลื่อนเพื่อทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง ด้วยการเข้าไปช่วยเหลื่อเด็กโดยตรง และรายคน

“ในภาพรวม กสศ.สามารถช่วยเหลือเด็กได้จำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันเราก็ทำงานเชิงระบบ เพื่อแก้ปัญหาตัวระบบ เช่น ระบบการจัดการ สถานศึกษาและพัฒนาครู ทั้งนี้เพื่อไปให้ถึงตัวปัญหาให้มากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม รักษาการผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา ชี้ว่า ในขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภาพใหญ่ มีเด็กว่า 4.2 ล้านคน ในจำนวนนี่ไม่ได้มีเฉพาะเด็กยากจนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า และพิการ ที่ยังรอรับการช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมากสศ.ได้ติดตามเด็กและเยาวชนในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งทำให้เด็กยากจนลง 3 แสนคนในช่วงหนึ่งเทอม

ลดขนาดของการจัดการในระดับประเทศ มาเป็นระดับพื้นที่        

ธันว์ธิดา กล่าวต่อว่า หากดูตัวเลข 4.2 ล้านคน อาจจะตกใจ เพราะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงดังนั้นแนวทางการดำเนินงานคือการลดขนาดการจัดการระดับประเทศมาเป็นระดับพื้นที่ ตัวเลขก็จะอยู่ที่ 5-6 หมื่นคนต่อจังหวัด 

“เราอยากชวนทุกท่านมองเรื่องกลไกระดับจังหวัด กลไกจะประสบความสำเร็จได้จะต้องมีเจ้าภาพ ที่สามารถเป็นได้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น อาจจะเป็นภาคเอกชนและพัฒนาสังคมก็ได้ และต้องมีเวทีการทำงานเพื่อให้เกิดขบวนและชุดข้อมูลความเหลื่อมล้ำระดับจังหวัดที่จะเป็นกระจกทำให้เรามองเห็นตัวเองว่าปัญหามันใหญ่ขนาดไหนซึ่งจะนำไปสู่การค้นหาคำตอบ และเกิดการณรงค์ให้เกิดความร่วมมือให้มากที่สุด เราอยากให้เกิดการช่วยเหลือน้องๆ ในจังหวัดของท่าน และมีรูปแบบการช่วยเหลือสามารถมีได้หลายรูปแบบ เป็นนวัตกรรมที่กสศ.อยากเห็นในปี 2565”

เพื่อให้เห็นภาพการดำเนินงานในลักษณะกลไกระดับจังหวัดที่ชัดขึ้น อิษฏ์ ปักกันต์ธร นักบริหารแผนงานอาวุโส ด้านนวัตกรรมทุนการศึกษาและวิเทศสัมพันธ์สำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.ได้นำเสนอตัวอย่างการดำเนินงานในปี 2562-2564 ที่ผ่านมาว่า ที่ผ่านมามีหน่วยงานผู้รับทุนเพื่อขับเคลื่อนกลไก 5 กลุ่มได้แก่ กลุ่ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาสังคม,กลุ่มภาครัฐ,กลุ่มภาคประชาสังคมและภาครัฐ, กลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มภาควิชาการ โดยแต่ละกลุ่มมีข้อโดดเด่นและเงื่อนไขในการทำงานแตกต่างกันไป

“แต่ละภาคส่วนจุดเด่นแตกต่างกัน ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จุดเด่นอยู่ที่ความคล่องตัวเมื่อทำงานกับภาคประชาสังคม มีอำนาจสั่งการมีการกำหนดโครงสร้างการทำงานตามลำดับขั้น มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ประสานงานกับภาครัฐและเอกชนได้ง่าย ส่วนภาครัฐมีอำนาจสั่งการ สามารถวางรากฐานที่เชิงนโยบายและโครงสร้างการทำงานตามลำดับขั้น มีทรัพยากรเป็นของตนเอง แต่มีความไม่คล่องตัวเนื่องจากระเบียบวิธีทางงบประมาณของภาครัฐ ขณะที่ภาคประชาสังคมจะขาดอำนาจในการสั่งการโดยตรง ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็ทำงานแนวราบได้ดี แต่ขาดการเชื่อมโยงกับภาครัฐในการช่วยเหลือน้องๆ สุดท้ายภาควิชาการทำให้เกิดความร่วมมือที่หลากหลาย”

นอกจากนี้ยังมีกลไกย่อยๆ ที่มีความน่าสนใจอีก 3 ระดับคือ ระดับจังหวัด เป็นการรวมภาคีเครือข่ายมาทำงานร่วมกันพิจารณาช่วยเหลือเด็กๆ ระดับอำเภอทำงานในแง่การสนับสนุนพิจารณากลุ่มเป้าหมาย ระดับชุมชนมี case manager หรือ CM หมายถึงผู้จัดการรายกรณี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มาจากภาคส่วนต่างๆ เช่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้สอดส่องและส่งต่อความช่วยเหลือ

“โดยที่ผ่านมาในการทำงานแต่ละภาคส่วนมีความโดดเด่นต่างกัน เพราะฉะนั้นการทำงานที่ผ่านมาจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้เลยหากไม่ทำงานเชื่อมโยงกัน เหนี่ยวนำคนที่มีหัวใจเดียวกันมาร่วมกันทำงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไปด้วยกัน”