พลิกชีวิต "เด็ก Drop out" เปลี่ยนการใช้อำนาจเป็นการให้โอกาส

พลิกชีวิต "เด็ก Drop out" เปลี่ยนการใช้อำนาจเป็นการให้โอกาส

ปัญหา "เด็ก Drop out" กำลังขยายตัว ผลพวงจากสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม ที่ถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โควิด-19 นำมาสู่แนวทางดึงเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้กลับเข้าร่องเข้ารอย ด้วยการลดทอนการใช้อำนาจแล้วเพิ่มการให้โอกาส

งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า หากเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา (เด็ก Drop out) ชีวิตของพวกเขามักจะไม่ดีขึ้น และในงานวิจัยอีกหลายชิ้นยังบอกด้วยว่า ตลอดช่วงอายุของเด็กเยาวชนเหล่านั้นโดยเฉพาะในช่วงที่พวกเขามีอายุ 15-60 ปี พวกเขาจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 บาท เท่านั้น ยังไม่นับการขาดโอกาสในสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จึงให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนทั้งในนอกระบบ รวมถึงประชากรวัยแรงงาน นั่นจึงทำให้ในทุกๆ โครงการที่ "กสศ." สนับสนุน ล้วนมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาแทรกอยู่ในนั้นเสมอ และหนึ่งในนั้นคือโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนนอกระบบและแรงงานนอกระบบปี 2565 ที่ยกระดับการดำเนินงานมาจากโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานมีความก้าวหน้าและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน คือการที่ครอบครัวของกลุ่มคนด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์มีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ทำให้เด็กและเยาวชนได้กลับไปเรียนหนังสือ หลายรายแม้จะยังไม่พร้อมเรื่องการศึกษาก็หมุนเข็มทิศไปที่เรื่องอาชีพแทน

“เหล่านี้คือพัฒนาการของการใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่เปลี่ยนจากความเสี่ยงเป็นโอกาส เปลี่ยนจากการใช้อำนาจมาเป็นการให้โอกาสอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด” ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการบริหาร กสศ. กล่าว

ภาพที่ปรากฏออกมาชัดเจนที่สุดของการดำเนินงานทั้งทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และ "เด็ก Drop out" คือการอยู่ร่วมกัน และการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าเด็กต้องเรียนรู้แบบหนึ่ง ผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้แบบหนึ่ง

“คนทั้งสองกลุ่มคือครอบครัว เครือญาติ นั่นหมายความว่า การแก้ไขปัญหาไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ต้องเป็นการแก้ปัญหาแบบองค์รวม หมายถึงการเรียนรู้และส่งต่อ อีกประเด็นคือ กระบวนการเรียนรู้ต้องมีการออกแบบใหม่  เพราะการเรียนรู้ในทศวรรษนี้ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนและสถานบันการศึกษาอีกต่อไป และผลการดำเนินงานทั้ง 2 โครงการก็บอกได้อย่างชัดเจนแล้วว่า การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ต้องยึดโยงกับปัญหา ยึดโยงกับความต้องการ ยึดโยงกับชีวิต และต้นทุนทรัพยากรของชุมชน”

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2565 "กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)" จึงได้ออกแบบกระบวนเรียนรู้แบบใหม่เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ผ่านโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนนอกระบบและแรงงานนอกระบบปี 2565

“เราดีใจที่เห็นหลายๆ หน่วยงานเสนอตัวเข้ามาทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาเราเห็นหลายมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนทำให้ความยากลำบากของคนสะดวกสบายยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยได้เข้ามาเป็น ‘จุดเชื่อม’ ที่ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยนำความรู้ ประสบการณ์ และนวัตกรรมเข้ามาช่วยชาวบ้านได้จริง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ศ.ดร.สมพงษ์ค่อนข้างกังวลคือ หลายๆ ข้อเสนอโครงการที่มหาวิทยาลัยบางแห่งส่งเข้ามา อาจจะมีข้อมูล ทฤษฎี และแนวทางการทำงานชัดเจน แต่สิ่งที่ยังขาดคือ ‘เจตจำนง’ และ ‘ความจริงใจ’ ในการทำงานกับผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะกับและเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา

“ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ถ้าเข้ามาทำด้วยเจตนาดีที่จะนำความรู้และนวัตกรรมมาช่วยเหลือและสร้างอาชีพให้กับชุมชนอย่างแท้จริง เพราะหลายๆ มหาวิทยาลัยมีความรู้ ความชำนาญแตกต่างกัน โดยเฉพาะหากร่วมกันเป็นเครือข่าย ลงไปทำงานร่วมกับชุมชน ไปช่วยคนในชุมชนแก้ปัญหา ของเขาจริงๆ ไม่ใช่คิดว่าชุมชนมีปัญเรื่องนั้น เรื่องนี้ แล้วนำความรู้ไปยัดเยียดให้ชาวบ้าน เช่น โครงการที่เสนอมามีแต่กิจกรรมฝึกอบรม แบบนี้คือการเอาความรู้ไปยัดเยียดให้เขาซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชุมได้อย่างแท้จริง

ผมไม่อยากให้มหาวิทยาลัยคิดทำแต่  ‘โครงเงิน’ เท่านั้น แต่อยากให้คิดทำ ‘โครงงาน’ ที่ทำให้คนในชุมชนได้งาน ได้เงิน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น”

ศ.ดร.สมพงษ์ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า วิธีการช่วยเหลือชุมชนอย่างถูกวิธีคือต้องลงไปรู้จักชุมชน ไปทำความใจกับชุมชน ไปรับรู้ปัญหาของพวกเขา แล้วกลับมาวิเคราะห์ศาสตร์และองค์ความรู้เรามีว่าจะช่วยเหลือชุมชนได้อย่งไร

“ในฐานะที่เป็นผมอาจารย์มหาวิทยาลัยมา 40 ปี และผมเติบโตมาด้วยการลงชุมชน และเคยนำอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ลงไปเรียนรู้กับชุมชน พบว่า การลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอจะสามารถเปลี่ยนความคิด เปลี่ยน mind set ได้ เมื่อเปลี่ยนความคิดได้ ก็จะยอมออกจากกรอบหรือระเบียบราชการที่มันกดทับเราอยู่ได้ ทำให้การทำงานของเราจะไม่ติดกรอบมากขึ้น และท้ายที่สุดองค์ความรู้ที่หลายๆ มหาวิทยาลัยมีอยู่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากมายมหาศาล”