เมืองย่าโมไม่เอาเหมือง! จะเป็นอย่างไรถ้า “เหมืองหินอ่อน” กลับมา

เมืองย่าโมไม่เอาเหมือง! จะเป็นอย่างไรถ้า “เหมืองหินอ่อน” กลับมา

เมื่อ “เหมืองหินอ่อน” ที่ปิดตายไปหลายสิบปีกำลังจะถูกปลุกให้คืนชีพอีกครั้ง ท่ามกลางบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป และคำถามถึงความจำเป็นของการมีเหมืองแร่ที่อาจต้องแลกมาด้วยผลกระทบรุนแรง กลายเป็นเรื่องที่คนโคราชยังกังขา และต่างบอกว่า “ไม่เอาเหมือง”

เป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ชาวปากช่องต้องลุกฮือขึ้นอีกครั้ง เพราะจู่ๆ ก็มีข่าวว่า เหมืองแร่หินอ่อน ที่ถูกทิ้งร้างไปหลายสิบปี จะมีผู้ได้รับประทานบัตรกลับมาสัมปทานอีกครั้ง

ถ้าหากเป็นอดีตที่การทำ เหมืองหินอ่อน ยังไม่ถูกมองเรื่องผลกระทบต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหาสุขภาพ, เศรษฐกิจการท่องเที่ยว รวมถึงสถานะการเป็น มรดกโลก ของ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไม่นานนับจากนี้เหมืองอาจกำลังเริ่มขุดเจาะ ระเบิดหินอ่อนกันอีกครั้งแล้ว แต่ในเมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนไป การจะทำเหมืองซึ่งอาจส่งผลเสียกว่าที่หลายคนคิดจึงต้องมาคุยกันใหม่ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้

สำหรับ “เหมืองแร่หินอ่อน” เจ้าปัญหานี้ อยู่ในพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ หมายความว่าอยู่ห่างจากเขต "อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่" เพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น อีกทั้งยังรายล้อมด้วยชุมชน, รีสอร์ท และแหล่งท่องเที่ยวอีกมากมาย

หากมีผลกระทบจริง “เหมืองหินอ่อน” จะกลายเป็นจำเลย สร้างปัญหาให้ผู้คน สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ ที่อาจจะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่?

เมืองย่าโมไม่เอาเหมือง! จะเป็นอย่างไรถ้า “เหมืองหินอ่อน” กลับมา

จะเกิดอะไร ถ้ามีเหมือง?

ย้อนไปเกือบ 40 ปีก่อน การสัมปทาน “เหมืองแร่หินอ่อน” ในพื้นที่อำเภอปากช่องมาพร้อมความเปลี่ยนแปลง มุมบวกในยุคนั้นเกิดการจ้างงานทั้งคนในและนอกพื้นที่ แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาจากปากชาวบ้านซึ่งทันยุคนั้นกลับมีแง่มุมที่ต้องกลับมาทบทวน

ณัฐพัชร์ ทำสวน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 บ้านท่าช้างใต้ ตำบลหมูสี เล่าให้ฟังว่า สมัยที่มีเหมือง พื้นที่โดยรอบถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจากการขุดเจาะและระเบิดหิน นอกจากเหมืองก็มีเพียงบ้านเรือนของชาวบ้านที่ตั้งอยู่ คล้ายว่าจะเป็นโอกาสให้ชาวบ้านได้มีรายได้ แต่แลกมาด้วยปัญหาสุขภาพซึ่งคนที่เสียชีวิตไปแล้วก็มี คนที่อยู่อย่างสุขภาพไม่ดีก็มาก

“เมื่อตั้งแต่ประมาณปี 2530 มีการออกสัมปทาน หมู่บ้านผมมี 9 สัมปทาน ซึ่งทุกสัมปทานก็หมดอายุไปแล้วจนทุกวันนี้ไม่มีเหลือแล้ว ตอนที่มีเหมืองมีทั้งฝุ่น ทั้งเสียง จากการขุดเจาะ ถึงเขาบอกว่าใช้สลิงทราย มันใช้ได้ครับ แต่ก่อนจะใช้ก็ต้องเจาะ 15-20 หัว ทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืน เสียงก็ดัง ฝุ่นก็ลอย ผมมองว่าเขาใหญ่เป็นมรดกโลก แล้วภูเขาพวกนี้เป็นเขากันชน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขาใหญ่ เศรษฐกิจก็กำลังดี ชาวบ้านในหมู่บ้านก็สุขภาพดีขึ้นหลังจากเหมืองหยุดมาสิบกว่าปี ทั้งสุขภาพจิต สุขภาพกาย ดีหมดเลย พวกเขาไม่ต้องไปรับฝุ่น ไปรับเสียง เดี๋ยวนี้มีรีสอร์ทให้ไปทำงาน มีรายได้”

เมืองย่าโมไม่เอาเหมือง! จะเป็นอย่างไรถ้า “เหมืองหินอ่อน” กลับมา

ปัญหาสุขภาพของชาวตำบลหมูสียังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีโรคยอดฮิตคือ โรคปอดหิน ซึ่งเกิดจากการสะสมฝุ่นหินที่ขุดเจาะกันในยุคนั้น เมื่อรับเข้าไปผ่านการหายใจ จึงส่งผลเสียมาถึงตอนนี้

“คนพวกนี้จะเหนื่อยง่าย หายใจเร็ว บางทีช็อคไปโรงพยาบาล บางคนเสียชีวิตเลย ด้วยอาการคล้ายๆ หัวใจวาย แต่หมอบอกว่าเขาเป็นโรคปอดหิน เหมือนคนสูบบุหรี่จัด แต่เป็นฝุ่นหินเลย มันเกาะอยู่ที่ปอด การหายใจจึงฟอกไม่ได้เต็มปอด โดยส่วนมากอาการจะกำเริบตอนอายุเข้า 40 ปี ทุกวันนี้ลูกบ้านผมหลายคนเลิกงานพวกนี้มาเป็นสิบปี แต่อาการไม่ได้หายไป ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ สุขภาพเขาไม่ดีไปเลยตลอดชีวิต

ฝุ่นพวกนี้ให้ใส่แมสก์สองชั้นฝุ่นพวกนี้ก็เข้าได้หมด คนที่ทำงานนี้พอเลิกงาน ถอดแมสก์ออกมา ถ้ามองไปในรูจมูกเขาจะมีฝุ่นเกาะเต็มไปหมดครับ ทางผู้ประกอบการเขาชี้แจงว่าไม่มีฝุ่น จะมีการสเปรย์น้ำ ซึ่งจริงๆ มันไม่สามารถสเปรย์ได้ เวลาเจาะหิน ถ้าสเปรย์ฝุ่นหินก็จะไปอุดอยู่ที่รู มันเหมือนเครื่องเจาะน้ำบาดาล เป็นหัวเพชร ซึ่งเจาะโดยใช้ลมเป่าให้ฝุ่นกระจายขึ้นมา เพื่อให้หัวเพชรปักลงไปให้ลึก”

ในแง่ของตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผู้ใหญ่ณัฐพัชร์เปิดเผยว่าในหนังสือที่ผู้ขอสัมปทานระบุถึงค่าภาคหลวง 25 ปี ที่แบ่งให้เทศบาลตำบลหมูสี 20 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินประมาณ 160 กว่าล้านบาท เหมือนจะเป็นตัวเลขที่เยอะเอาการ ทว่าตัวเลขภาษีรายได้จากโรงแรม รีสอร์ท และผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งแม้ในช่วงที่คนมาเที่ยวพื้นที่ตำบลหมูสีไม่มากก็ยังมีประมาณปีละล้านกว่าคน หมายความว่ามีเงินหมุนเวียนในพื้นที่เพียงปีเดียวมากกว่าค่าภาคหลวง 25 ปีที่เทศบาลตำบลจะได้จากเหมืองเสียอีก

นอกจากรายได้ หากใครเคยไปตำบลหมูสี จะรู้ดีว่าเป็นที่ตั้งของโรงแรมและรีสอร์ทชื่อดังหลายแห่ง มูลค่าของที่ดินที่นี่ก็เพิ่มขึ้นจากอดีตหลายเท่าตัว ทั้งด้วยปัจจัยด้านความเจริญและความน่าอยู่ของพื้นที่ซึ่งมีทั้งธรรมชาติและความสะดวกสบาย

แต่ถ้าหาก “เหมืองหินอ่อน” มาพร้อมกับฝุ่นและเสียงดัง บ้านและที่ดินที่เคยมีราคาย่อมต้องตกฮวบอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะคนที่ต้องการอยู่อาศัยหรือมาทำกิจการจะหายไปจากพื้นที่ จนอาจกลายเป็นถอยหลังไปเมื่อ 30 ปีก่อน

จากเดิม เนื้อที่ทำเหมืองแห่งนี้อยู่ประมาณ 20 กว่าไร่ แต่การขอสัมปทานครั้งใหม่นี้จะกินเนื้อที่ถึง 200 กว่าไร่ ครอบคลุมไปอีกฝั่งของภูเขาจนเชื่อมกับถนนหลักของชุมชน ผู้ใหญ่ณัฐพัชร์อธิบายว่าอดีตกับปัจจุบันมีบริบทแตกต่างกัน หากเกิด “เหมืองแร่หินอ่อน” จะกระทบกับรีสอร์ท โรงแรม ซึ่งอยู่แทบจะติดกับพื้นที่ของสัมปทานดังกล่าว

เมืองย่าโมไม่เอาเหมือง! จะเป็นอย่างไรถ้า “เหมืองหินอ่อน” กลับมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาเรื่องการท่องเที่ยวคือฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ปากช่องและนครราชสีมา เพราะฉะนั้นหากมีเหมืองจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแน่นอน ทั้งรีสอร์ทโรงแรมรวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

“ถ้ามีเหมือง สิ่งที่หายแน่ๆ คือการท่องเที่ยว พอการท่องเที่ยวหาย รายได้หาย ชาวบ้านไม่มีงานทำ ก็อาจต้องหางานอย่างอื่นทำ ซึ่งถ้ามาเทียบกับปัจจุบันที่ทำงานโรงแรมรีสอร์ท ทั้งสุขภาพจิต สุขภาพกาย รายได้ก็ดี หรือแม้กระทั่งสวนผลไม้ที่ตอนนี้มีแทบทุกชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ถ้าต้องมารับฝุ่นที่กระจายทุกวันๆ พืชพวกนี้อาจออกผลผลิตได้ไม่เต็มที่ หรือไม่ออกเลย

เรื่องถนนหนทางไม่ต้องพูดถึง ตลอด 30 กว่าปีที่มีเหมือง มันพัง มันเละ บ้านชาวบ้านหลังคาแดง คนเดินกันหัวแดง รถสิบล้อวิ่งกันเป็นร้อยเที่ยว บริบทมันเปลี่ยนไปแล้วครับจาก 30 กว่าปีที่แล้ว ที่เราคัดค้านเพราะพวกเราอยู่ในพื้นที่จริง สัมผัสกับเหมืองมา มันหมดเวลาแล้วที่จะทำแบบนี้แล้ว ทำอย่างอื่นดีกว่าไหม”

นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นประเด็นหลักที่น่ากังวล เนื่องจากอยู่ใกล้ "อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่" และป่าโดยรอบก็ยังอุดมสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่นการมีอยู่ของ นกเงือก ที่ชาวตำบลหมูสียังพบเห็นกันจนชินตา หรือจะเป็นเลียงผา เม่น สัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่ยังหากินอยู่บริเวณนี้ และมีถ้ำน้ำ ซึ่งประมาณ 3-4 ปี น้ำจะออกมามาก ไหลต่อเนื่องอยู่ 4-5 เดือน

“พื้นที่ตรงนี้เป็นเหมือนเขากันชน ระยะจริงๆ จากตรงนี้ไปเขตเขาใหญ่ซึ่งเป็นมรดกโลก อยู่ที่ 5 กิโลเมตร แม้แต่การสร้างตึกสูงรอบบริเวณผืนป่ามรดกโลกเขายังไม่ให้สร้างเลย แล้วเนี่ยอยู่ระยะขนาดนี้ซึ่งเป็นภูเขา ถ้ามีการทำแบบนี้ผมเกรงว่าในอนาคตยูเนสโกอาจจะยกเลิกก็ได้

อย่าลืมนะครับว่าแหล่งอากาศบริสุทธิ์อันดับ 7 ของโลกอยู่ที่เขาใหญ่ ตำบลหมูสีของเราติดอยู่ในอันดับโลกเลย ถ้าเรามีฝุ่นจากหินลอยไปในระยะ 4-5 กิโลเมตร คิดดูนะว่าแค่วัดคุณภาพอากาศก็ไม่ผ่านแล้ว ขนาดชาวบ้านจุดเผาตอซัง ยังมีหนังสือมาที่ผม ผมยังไปเตือนชาวบ้านให้อย่าเผาเลย แล้วหลายหน่วยงานจะปล่อยให้มีการทำกิจการประเภทนี้ในพื้นที่นี้ ไอ้ที่พยายามลดมลภาวะกันอยู่นี้จะมีประโยชน์อะไร”

เมืองย่าโมไม่เอาเหมือง! จะเป็นอย่างไรถ้า “เหมืองหินอ่อน” กลับมา

มี-ไม่มี คนพื้นที่เป็นผู้กำหนด

การอยู่กันระหว่างชาวบ้านกับธรรมชาติ เป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าชาวบ้านมีสิทธิมากพอหรือไม่ที่จะออกมาคัดค้านการกลับมาของ “เหมืองหินอ่อน” เพราะนับตั้งแต่หมดสัมปทาน เหมืองถูกทิ้งร้าง แต่คนที่เข้าไปดูแลป่าไม้และทรัพยากรคือชาวบ้านที่นั่น

ผู้ใหญ่ณัฐพัชร์บอกว่าพวกเขาดูแลป่าเสมือนเป็นบ้านของพวกเขา ตั้งแต่การจัดการไฟป่าทั้งรูปแบบการรณรงค์, การทำแนวกันไฟ เพื่อให้พืชพรรณได้เติบโตอย่างปลอดภัย หรือแม้กระทั่งสัตว์ป่า เช่น เสือปลา หมี เลียงผา กวาง นกเงือก ฯลฯ คือหัวใจสำคัญของการอนุรักษ์โดยชุมชน

“เราดูแลอย่างไร มันคือความร่วมมือร่วมใจ ปกป้อง อย่างน้อยเราไม่ให้เกิดไฟป่าที่จะทำลายธรรมชาติ เราอนุรักษ์สัตว์เพื่อให้ความสมบูรณ์ของสัตว์ยังคงอยู่  มีนกหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งเราช่วยกัน เราไม่เคยรบกวน เราให้เขาอยู่อาศัยในป่าตรงนั้น ที่นี่อุดมสมบูรณ์มากครับ”

สมจิตร จงจอหอ อดีตนักมวยสากลสมัครเล่นเหรียญทองโอลิมปิก เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาคัดค้านการกลับมาทำเหมืองหินอ่อนครั้งนี้ในฐานะคนโคราช เขามองว่าผลกระทบจาก “เหมืองแร่หินอ่อน” จะทำให้ชีวิตของชาวบ้านอยู่ไม่เป็นสุข เพราะวันนี้กับเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป และการที่โคราชบ้านของเขาจะต้องเปลี่ยนไปในทางแย่ลง เขาไม่ยอม

“ผมจะเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ น้อยๆ ให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาหากมีการให้สัมปทานเหมืองหินอ่อนนี้อีกครั้ง ซึ่งวันที่เรายื่นจดหมาย ผู้ใหญ่ในกระทรวงก็บอกพวกเราว่าเรื่องนี้ถ้าชาวบ้านเอาก็คือเอา ถ้าชาวบ้านไม่เอาก็คือไม่เอา เพราะฉะนั้นต้องไปทำประชาคมกันว่าจะเอาอย่างไร

อย่าลืมนะครับว่าเมืองปากช่องเป็นเมืองนำร่องของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ถ้าหากมีเหมืองหินอ่อนทุกอย่างจะสูญเสียไป โอเค เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วชาวบ้านได้งานได้เงิน แต่ตอนนั้นชาวบ้านยังไม่เยอะ กับการท่องเที่ยวก็ยังไม่เจริญ แต่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ โรงแรม ธุรกิจใหญ่ๆ มีเกิดขึ้นมากมาย มันจึงส่งผลกระทบรอบด้าน ผมมองว่ามันหมดยุคแล้ว ไม่จำเป็นในการที่จะทำเหมืองหินอ่อน ถ้าทำในเขตที่ไม่ติดอุทยานและชาวบ้านมีมติว่าเอา ผมก็โอเคนะ แต่นี่ผมเล็งเห็นถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านมากกว่า”

ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกคนนี้บอกด้วยว่าถ้ามองกันถึงผลกระทบ และการที่ชาวบ้านออกมาแสดงพลังเพื่อปกป้องบ้านของพวกเขา ป่าของพวกเขา นับว่าค่อนข้างอุ่นใจว่าเหมืองหินอ่อนนี้จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งผลลัพธ์จะออกมาผ่านการทำประชามติ โหวตกันให้เห็นๆ เลยว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา”

เมืองย่าโมไม่เอาเหมือง! จะเป็นอย่างไรถ้า “เหมืองหินอ่อน” กลับมา สมจิตร จงจอหอ

แต่ถ้าถามว่าเหมืองเก่าแห่งนี้เป็นตัวร้ายในสายตาของเขาหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะบทบาทของเหมืองเก่าที่ผ่านมาหลังจากปิดตัว สมจิตรบอกว่าต่อยอดเป็นเรื่องการท่องเที่ยวได้สบาย เพราะบริเวณนี้เป็นหน้าผาหินอ่อน มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สวยงามมากพอที่จะดึงดูดให้คนนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัส

“พอพูดถึงเหมือง ผมนึกถึงตอนที่ขับรถจากสระบุรีไปลพบุรี จะเห็นเหมืองหินอ่อน มีการระเบิดหิน ถามว่าถ้าบ้านผมอยู่อย่างนั้น อยู่ไม่ได้แน่ เพราะมลพิษ รถบรรทุกขับกันตลอด อย่างนั้นชุมชนอาจจะไม่มี แต่ถ้าเราต้องอยู่ใกล้มันไม่ไหวนะ

ถ้าเหมืองเกิดขึ้นที่ตำบลหมูสี วันดีคืนดีฝุ่นคงลอยมาถึงปากช่องนะ 10 กว่ากิโลเมตรมันถึงนะ การทำเหมืองมันต้องดูบริบทของแต่ละพื้นที่ ปากช่องไม่เหมาะหรอก ปากช่องไม่เหมาะกับการทำอุตสาหกรรม แต่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม แหล่งท่องเที่ยว สองอย่างควบคู่กันไป”

ในมุมของนักวิชาการด้านธรณีวิทยา ดร.อดิชาติ  สุรินทร์คำ อดีตผู้อำนวยการ CCOP (Coordinating Committee for Geoscience Programmes in East and Southeast Asia) มองว่าการมีเหมืองแร่หินอ่อนในประเทศไทยยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ กรณีของตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง มีชุมชนขยายตัวและผู้ประกอบการต่างๆ เพิ่มขึ้นตลอดหลายสิบปีมานี้ จึงต้องให้น้ำหนักกับความคิดเห็นของประชาชนมากเป็นพิเศษ

เขาบอกว่ายังไม่ต้องรอให้เกิดผลกระทบ เพราะถ้าชุมชนคัดค้านไม่เอาเหมือง ก็แปลว่าไม่ควรมีเหมืองที่นั่น ถ้าหากเดินหน้าท่ามกลางเสียงคัดค้าน ย่อมมีความเสี่ยงที่ผลกระทบจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน และถึงจุดนั้นจะแก้ไขลำบาก

โดยที่ถ้าปล่อยให้ดำเนินการไปจนเกิดผลกระทบแล้ว การจะตามแก้ก็ทำได้แต่จะยุ่งยาก ทั้งรวบรวมหลักฐานทางกายภาพที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดผลกระทบจริง เพื่อนำไปร้องเรียนให้ปิดเหมืองต่อไปนั่นเอง

และถ้าในกรณีที่ผลประชามติพลิกโผ ประชาชนเอาเหมืองขึ้นมา สมจิตร จงจอหอ ก็บอกว่าแม้จะแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น ชาวบ้านก็ต้องรับชะตากรรมกันให้ได้ “แล้วแต่เวรแต่กรรม” เพราะที่ผ่านมาทุกคนพยายามให้ความรู้แล้วว่าอนาคตจะเกิดผลเสียอย่างไร ใครได้ใครเสีย แล้วสิ่งที่ต้องรับกรรมไปด้วยก็คือธรรมชาติและสัตว์ป่า

“เวลาเกิดมลพิษ คนยังเอามืออุดจมูกยังใส่แมสก์ได้ ไม่สบายยังไปหาหมอได้ แต่สัตว์ป่าเขาไปหาหมอเองไม่ได้ คนยังได้รับผลกระทบ แล้วสัตว์ป่าที่อยู่ในป่าในเขา จะได้รับผลกระทบหนักกว่าเราอีกด้วยมั้ง ถ้าเราล้มแล้ว สัตว์ป่า ธรรมชาติ ล้มแน่นอนครับ”