มอง "วัฒนธรรม" อินเดีย ในภาพยนตร์ "RRR" ที่เตรียมฉายใน "กรุงเทพกลางแปลง"

มอง "วัฒนธรรม" อินเดีย ในภาพยนตร์ "RRR" ที่เตรียมฉายใน "กรุงเทพกลางแปลง"

หนึ่งในภาพยนตร์ใน "กรุงเทพกลางแปลง" และนอกจากฉากแอ็กชันสุดอลังการตามสไตล์ภาพยนตร์อินเดียแล้ว “RRR” ยังถ่ายทอดความพยายามปลดแอกจากจักรวรรดิ์และวัฒนธรรมผ่านฉากและตัวละคร

“คุณรู้ไหมนี่มีมูลค่าเท่าไหร่ กระสุนนี้ ผลิตในประเทศอังกฤษ ด้วยเหล็กของประเทศอังกฤษ ข้ามทะเลทั้ง 7 มาจนถึงที่นี้ กระสุนนี้มีมูลค่า 1 ปอนด์ คุณจะนำมาใช้กับขยะพวกนี้หรือ ?”

นี่เป็นประโยคที่ผู้ว่าราชการเมืองเดลีที่มาจากจักรวรรดิ์ พูดกับตำรวจชั้นผู้น้อยที่กำลังจะยิงหญิงสาวอินเดียที่กำลังวิ่งตามรถของเขาเพื่อพยายามทวงคืนลูกสาวที่ถูกกลุ่มของของผู้ว่าฯคนดังกล่าวซื้อตัวไปโดยที่เธอไม่ยินยอม 

นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวการต่อสู้สุดร้อนระอุกลางกรุงเดลี ระหว่างนายตำรวจสุดแกร่งที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อก่อการปฏิวัติ กับชาวบ้านจอมพลังที่ไม่มีใครหยุดเขาได้ที่บุกเข้าเมืองเพื่อพาน้องสาวกลับบ้าน ใน “RRR” ภาพยนตร์แอ็กชันอินเดียที่อินเดี๊ยอินเดีย พร้อมแฝงเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวเดียวภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ์และวัฒนธรรมอินเดียในอดีตจนถึงปัจจุบัน

หากหยิบยกเรื่องของ “ภาพยนตร์อินเดีย” เชื่อว่าหลายคนคงจินตนาการถึง คงเป็นฉากร้องเพลงและเต้นรำสุดอลังการ แต่เรื่องราวของ “RRR” หรือ INDIA 1920 RISR ROAR REVOLT กับชื่อภาษาไทยว่า “ก้องเกียรติกบฏ” ภาพยนตร์อินเดียแอ็กชันที่มาพร้อมปมดราม่าในยุคที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของ “จักรวรรดิ์อังกฤษ” หรือ “British Empire” ในปัจจุบัน กลับมีอะไรที่ซ่อนอยู่มากกว่านั้น

เริ่มต้นจาก ผู้ว่าราชการเดลีที่ทางจักรวรรดิ์ส่งมาปกครองเดีย เดินทางไปท่องเที่ยวในป่าซึ่งได้แวะเยี่ยมชมหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยมีเด็กหญิงคนหนึ่งร้องเพลงให้การต้อนรับและเพนท์ “เฮนนา” ให้ที่มือของภรรยาผู้ว่าฯ ทำให้เธอถูกใจสิ่งนี้มากจึงขอให้ผู้ว่าฯ พาเด็กหญิงคนนี้กลับมาด้วย ผู้ว่าฯก็ตกลงและให้คนรับใช้โยนเงินให้แม่ของเด็ก 2 เหรียญ แต่เพราะคนในหมู่บ้านนั้นฟังภาษาอังกฤษไม่ออกจึงคิดว่าเป็นเงินค่าร้องเพลงจึงรับไว้ 

แต่หลังจากนั้นผู้ว่าฯและภรรยาก็พาตัวลูกสาวของเธอขึ้นรถและขับออกไป ทำให้เธอรู้ตัวแล้วว่าเงิน 2 เหรียญ นั้นคือเงินค่าตัวของลูกสาวเธอ เธอรีบวิ่งตามออกไปและเกือบถูกยิงแต่ผู้ว่าฯห้ามไว้เพราะ กระสุนเป็นของมีค่า ไม่คู่ควรกับชีวิตของชาวอินเดีย เธอจึงถูกฟาดด้วยไม้จนสลบไป จึงทำให้ “ภีม” ผู้มีศักดิ์เป็นพี่และเป็นตัวเอกของเรื่องรวมตัวกับคนอื่นๆ เดินทางเข้ากรุงเดลีเพื่อตามตัวน้องสาวกลับบ้าน และสำหรับใครที่กำลังอยากดู ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกให้ฉายใน “กรุงเทพกลางแปลง” วันที่ 14 ก.ค. นี้ ด้วย

  • ความพยายามก่อกบฏของชาวอินเดียในช่วง 1920

สำหรับในกรุงเดลี ซึ่งเป็นที่ทำการของผู้ว่าราชการเมืองเดลีที่ตั้งอยู่ในค่ายทหาร มีนายตำรวจชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อว่า “ราม” หรือ ราจู ตัวเอกอีกคนหนึ่งของเรื่อง นายตำรวจชั้นผู้น้อยที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะก้าวขึ้นไปสู่เจ้าหน้าที่พิเศษ เพื่อที่จะได้มีหน้าที่ขนส่งส่งอาวุธ เขาไม่ใช่นายตำรวจชาวอินเดียธรรมดา แต่เขามาจากหมู่บ้านที่กำลังเตรียมพร้อมก่อกบฏ ทำให้เขาและลุงของเขาที่เข้าเมืองมาก่อนหน้านี้เข้ามาสมัครเพื่อเป็นตำรวจและพยายามที่จะเข้าไปในคลังอาวุธให้ได้แบบถูกต้อง

และโอกาสนั้นก็มาถึงเมื่อทางการทราบข่าวว่า “ภีม” และพวกกำลังเดินทางเข้าเมืองมาเพื่อชิงตัวน้องสาวคืน ทางการจึงเรียกรวมตำรวจระดับแถวหน้าเพื่อประกาศหาผู้กล้าไปต่อกร แน่นอนว่า “ราม” ไม่รอช้าเขารีบก้าวออกมาทันทีพร้อมกับถามว่า “จับเป็นหรือจับตาย” ภรรยาของผู้ว่าฯจึงบอกว่า หากจับตายจะได้เงินค่าหัว แต่ถ้าจับเป็นจะได้เป็นเจ้าหน้าที่พิเศษ 

หลังจากนั้นผ่านไป “ราม” และ “ภีม” ได้เจอกันโดยบังเอิญและร่วมมือกันช่วยเด็กชายที่ตกน้ำทำให้ต่อมาพวกเขาเริ่มมีความสนิทสนมกันมากขึ้นจนกลายเป็นเพื่อนรักกัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของทั้งคู่คือใคร เพราะรามเองก็ไม่เคยเห็นหน้าภีมมาก่อนที่จะได้เจอกัน และภีมเองก็ใช้ชื่อปลอมรวมถึงไม่เคยเห็นรามแต่งเครื่องแบบตำรวจ 

แต่เรื่องราวดีๆ มักมีปัญหาเสมอในที่สุดรามได้รู้ความจริงว่าเพื่อนรักที่ร่วมต่อสู้ฝ่าฟันกันมาในหลายโอกาสกลับเป็นคนร้ายที่เขากำลังตามหา เขาจึงต้องเลือกระหว่างมิตรภาพและอุดมการณ์

และในคืนนั้นเองระหว่างที่ค่ายทหารซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ว่าฯกำลังจัดงานรื่นเริง ภีมและพรรคพวกได้บุกเข้าไปโจมตีค่ายเพื่อพยายามจะหาตัวน้องสาวและพากลับบ้าน ภารกิจของภีมกำลังไปได้ดีแต่จู่ๆ กลับปราฎภาพของรามที่ควบรถม้ามาในชุดเครื่องแบบตำรวจเต็มยศ ทำให้ภีมรู้ว่าแท้จริงแล้วรามคือคำที่กำลังหมายหัวเขาอยู่ ทำให้ภีมเบนเข็มการต่อสู้กับคนในค่ายมาต่อสู้กับรามแทน จนสุดท้ายภีมกลายเป็นผู้แพ้และถูกจับตัวไป 

หลายวันผ่านไปผู้ว่าฯ มีคำสั่งให้นำตัวภีมมาโบยประจานกลางเมืองจนกว่าจะคุกเข่าและร้องขอชีวิตในฐานะผู้พยายามก่อการร้ายและบังคับให้ชาวอินเดียทุกคนในเมืองเข้ามาดูการลงโทษครั้งนี้ด้วย แน่นอนว่าผู้ที่รับหน้าที่ลงโทษครั้งนี้คือราม แม้ว่ารามจะโบยภีมก็จริงแต่เขาก็พยายามที่จะกระตุกโซ่ตรวนที่ข้อเท้าของภีมเพื่อให้ภีมคุกเข่าทางการจะได้สั่งให้หยุดโบย

แต่ภีมกลับพยายามฝืนและช่วงที่เขาถูกโบยจนเลือดอาบเขาได้ร้องเพลงที่มีความหมายสื่อถึงความเป็นชนชาติอินเดียออกมาและสลบไป ทำให้คนอินเดียที่ถูกบังคับให้มารวมกันที่กลางเมืองนั้นเกิดความโกรธแค้นและพยายามบุกเข้าไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำให้ต้องรีบส่งภีมกลับไปที่ห้องขัง 

หลังจากนั้นไม่นานในที่สุดสิ่งที่รามรอคอยก็มาถึงนั่นคือเขาจะได้เป็นคนส่งอาวุธ แต่เขากลับได้รับหน้าที่ให้ประหารภีมเสียก่อน ดังนั้นเขาจึงวางแผนว่าจะทำการประหารที่ริมแม่น้ำเพื่อป้องกันฝูงชน และจะประหารภีมต่อหน้าน้องสาว ทำให้ผู้ว่าฯรู้สึกพึงพอใจกับแผนนี้และสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏบัติตาม แต่หารู้ไม่ว่านั้นคือแผนการที่รามต้องการจะช่วยภีม 

เมื่อเวลาประหารมาถึงรามทำตามแผนทุกอย่างแต่ผู้ว่าฯกลับรู้ตัวเสียก่อนว่ารามจะช่วยภีมทำให้เกิดการไล่ล่ากันเกิดขึ้น และเมื่อรามกับภีมได้มาเจอกันอีกครั้งภีมกลับเข้าใจว่ารามตามมาเพื่อสังหารตนจึงเกิดการต่อสู้ขึ้น แต่ก็ใช้เวลาเพียงไม่นานเพราะผู้ว่าฯเดินทางมาถึงพอดีภีมกับน้องสาวจึงได้หนีเข้าป่าไป ส่วนรามกลับไปสู่กรมตำรวจอีกครั้งในฐานะนักโทษประหาร เวลาล่วงเลยไปทางการยังคงตามหาภีมไม่พบทำให้ทุกค่ำคืนเหล่าตำรวจจะบุกเข้าไปในบ้านของชาวบ้านเพื่อตามหาภีม 

ในที่สุดตำรวจก็เดินทางมาถึงบ้านที่ภีมใช้ลี้ภัยอยู่ แต่ขณะที่ตำรวจกำลังเข้าค้นมีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งไปหาตำรวจแล้วพูดว่า “ได้โปรดพาพวกเราไปโรงพยาบาลที ที่นี่มีคนเป็นไข้ทรพิษ” หลังตำรวจได้ยินก็รีบถีบผู้หญิงคนนั้นออกไปทันทีและสั่งให้ถอนกำลังเพราะที่นี่มีโรคระบาดถือว่าผู้คนในนี้สกปรก

หลังจากนั้นภีมได้เข้าว่าถามว่าเธอบาดเจ็บหรือไม่เพราะเชื่อว่าเธอป่วยอยู่ เธอจึงบอกว่าเธอไม่ได้ป่วยแต่เป็นเพียงอุบายที่จะไล่ตำรวจออกไปเท่านั้น และแท้จริงแล้วเธอมาหาคู่หมั้นของเธอที่อยู่กรุงเดลี และเธอชื่อ “สีดา” ทำให้ภีมรู้ได้ทันทีว่าสีดาคนนี้คือคนที่รามเคยพูดถึงว่าเป็นคนพิเศษ 

สีดาเล่าต่อว่ารามเข้ามาเพื่อจะลักลอบขนอาวุธกลับไปยังบ้านเกิด แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่เขาต้องต่อสู้กับเพื่อนรักของเขาโดยที่เขาไม่ได้ต้องการและพยายามหาทางช่วยไม่ให้เพื่อนถูกประหาร และไม่กี่วันก่อนมีจดหมายส่งมาที่บ้านเพื่อแจ้งว่ารามกำลังจะถูกประหารให้ทางบ้านมาจัดการเรื่องศพด้วย

ทำให้ภีมถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาพร้อมกับพูดว่าตนเองนั้นเข้าไปเดลีเพื่อครอบครัวแต่รามเข้าไปเพื่อประเทศชาติ ดังนั้นเขาจะเป็นคนพารามกลับมาเอง หลังจากนั้นภีมก็ได้ช่วยรามออกมาจากคุก และร่วมกันต่อสู้จนบุกไปได้ถึงที่พักของผู้ว่าฯ 

ขณะที่เผชิญหน้ากันอยู่ ผู้ว่าฯ ทำกระสุนหลุดมือและหล่นมาอยู่ที่ด้านหน้าของราม รามจึงหยิบกระสุดนั้นขึ้นมาพร้อมกับพูดว่า

“คุณรู้ไหมนี่มีมูลค่าเท่าไหร่ กระสุนนี้ ผลิตในประเทศอังกฤษ ด้วยเหล็กของประเทศอังกฤษ ข้ามทะเลทั้ง 7 มาจนถึงที่นี้ กระสุนนี้มีมูลค่า 1 ปอนด์ เพราะฉะนั้นแล้วคืนเขาไปภีม ฝากเอาไว้ที่หัวใจของเขา”

หลังจากนั้นผู้ว่าฯ ก็เสียชีวิตลงด้วยกระสุนจากประเทศของเขาเอง 

เมื่อจบภารกิจทั้งคู่ก็เดินทางกลับบ้านเกิดพร้อมกับอาวุธ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการก่อการปฏิวัติในหลายพื้นที่ในช่วงนั้นแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชัยชนะแต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เพราะในตอนจำภาพยนตร์ได้มีการฉายภาพของบรรดาบุคคลสำคัญในการปฏิวัติอินเดียด้วย เช่น มหาตมะ คานธี, สุภาษ จันทร โพส, ภคัต สิงห์ และ สูรยะ เสน เป็นต้น

เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนว่าแม้จะอยู่ภายใต้อาณานิคมแต่ชาวอินเดียเองก็ไม่ได้ยอมไปเสียทุกอย่าง เห็นได้จากฝูงชนที่โกรธแค้นขณะที่ภีมถูกโบย ซึ่งรามเรียกว่า การเปลี่ยนคนให้เป็นอาวุธ

เนื่องจากการเข้าไปปกครองของจักวรรดิ์นั้น ชาวอินเดียถูกกดขี่ข่มเหงอย่างมาก เมื่ออ้างว่าเป็นไข้ทรพิษก็ถูกตำรวจอังกฤษรังเกียจ หรือการที่ทำอะไรไม่ถูกใจตำรวจย่อมถูกโดนซ้อมได้ทุกเมื่อ หรือแม้แต่การจะถูกฆ่ายังต้องใช้สิ่งอื่นแทนกระสุนของอังกฤษ หลากหลายสาเหตุรวมกันจนทำให้เกิดการปฏิวัติในอินเดียตามมา แต่ภาพยนตร์ไม่ได้นำเสนอแค่ด้านเดียว แต่ยังแฝงมุมของวัฒนธรรมด้วย

  • วัฒนธรรมอินเดียที่มองเห็นได้

ตั้งแต่ต้นเรื่องเราได้เห็นการเพนท์ “เฮนนา” ลงบนมือของผู้หญิง การเพนท์เฮนนานั้นมากจาก “พิธีเมเฮนดี” (Mehndi) เป็นศิลปะการเพนท์ร่างกายของประเทศอินเดียที่มีมาแต่โบราณซึ่งเป็นแค่การวาดวงกลมลงไปเท่านั้น ต่อมาจึงพัฒนาเป็นลวดลายที่วิจิตรสวยงาม โดยการเพนท์เฮนนาจะได้รับความนิยมในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 

นอกจากการเพนท์เพื่อความสวยงามแล้ว "เฮนนา" ยังมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้นก็คือ การเพนท์เฮนนาตามร่างกายของเจ้าสาวชาวอินเดีย โดยเจ้าสาวจะเพนท์ลวดลายต่างๆ ตั้งแต่บริเวณมือไปจนถึงข้อศอกและเท้า เพราะมีความเชื่อว่าหากเจ้าสาวไม่ได้ทำพิธีดังกล่าวจะถือว่าการแต่งงานนั้นไม่สมบูรณ์ แม้เวลาจะผ่านมานานเป็นร้อยปีแต่การเพนท์เฮนนาก็ยังอยู่คู่สาวๆ ชาวอินเดียมาถึงปัจจุบันเพียงแค่พัฒนาจนกลายเป็นแฟชั่นตามสมัยนิยม

อีกเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนจากภาพยนตร์ก็คือชุดพื้นเมืองของชาวอินเดียที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามถิ่นที่อยู่ ที่แม้ว่าจะอยู่ภายในการปกครองของจักรวรรดิแต่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ก็ยังคงสวมเสื้อผ้าที่แสดงออกถึงชนชาติของตนไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ก็ยังมีบ้างบางส่วนที่ใส่ชุดแบบตะวันตกเหมือนกับชาวจักรวรรดิ

ชื่อของตัวเอกทั้งคู่อย่าง “ราม” และ “ภีม” หากฟังเพียงผิวเผินก็เหมือนกับชื่อชาวอินเดียทั่วไปแต่จากลักษณะและบุคคลิกของทั้งคู่นั้นมาจากตัวเอกในวรรณกรรมของอินเดียนั่นก็คือ ราม มาจากพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ผู้เป็นเทพแห่งสงคราม และ ภีม มาจากภีมะตัวเอกของเรื่องศึกมหาภารตะฉายาบุรุษจอมพลังที่สามารถจบสงครามลงได้ แน่นอนว่าหลายคนอาจจะรู้จักเรื่องรามเกียรติ์กันมานาน แต่ความจริงแล้วศึกมหาภารตะนั้นถือว่าเป็นวรรณกรรมที่มีชื่อมากที่สุดของอินเดีย เนื่องจากเป็นสงครามที่ใหญ่กว่ารามเกียรติ์หลายเท่า รวมไปถึงชื่อของ "สีดา" ซึ่งมาจากนางเอกในรามเกียรติ์เช่นกัน

ขึ้นชื่อว่า "ภาพยนตร์อินเดีย" จะขาดสิ่งนี้ไปไม่ได้นั่นก็คือการร้องและเต้น ซึ่งตัวเอกทั้ง 2 ก็ได้โชว์สเต็ปการเต้นแบบอินเดียต่อหน้าชาวอังกฤษในงานเลี้ยง ซึ่งทำให้หลายคนรู้สึกทึ่งในการเต้นที่แปลกใหม่ มีความพริ้วไหวและท่วงท่าที่แข็งแรง และไม่ใช่แค่เต้นเท่านั้นแต่การร้องเพลงยังปรากฎให้เห็นในหลายฉากตลอดทั้งเรื่อง รวมไปถึงสเปเชียลเอฟเฟคสุดตระการตาสมราคาบอลลีวู้ด

สำหรับใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากทำความรู้จักประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดีย รวมถึงอยากพิสูจน์ฉากแอ็กชันที่สุดแสนจะดุเดือดผสมไปด้วย แสง สี เสียง และ สเปเชียลเอฟเฟคที่อลังการเหนือความคาดหมายสามารถไปชมฟรีได้ที่เทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ในวันที่ 14 ก.ค. นี้ ที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย แล้วคุณจะรู้ว่าภาพยนตร์อินเดียไม่ได้มีแค่การร้องและเต้นเท่านั้น

อ้างอิงข้อมูล Hilight Worldtour และ IMDb