จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์

หอมกลิ่นวันวานอีกครั้งกับ "คาเฟ่” ในอาคารบำรุงนุกูลกิจ โรงพิมพ์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เสิร์ฟ “กาแฟ” คู่กับเค้กและปายจากตำราขนมฝรั่ง ของ หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล ก่อนที่โปรเจค Pop up Café Craftsman Roastery at Bamrungmueng จะโบกมืออำลาในเดือนกันยายน 2565

คาเฟ่ชั่วคราวที่กระแสว้าวไม่มีแผ่ว

นับตั้งแต่เปิดร้านในวันแรกพร้อมกับ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 (Bangkok Design Week 2022) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่ามีผู้คนมาเยี่ยมเยือนกันมากมาย นับว่ากระแสแรงไม่มีแผ่วเลยจริงๆ

“ตึกนี้มีแฟนคลับของเขาอยู่แล้ว พอเราเข้ามาเปิดเป็น Pop up Café  เหมือนเป็นการเปิดประตูให้เข้ามาเป็นครั้งแรก” 

คุณแวว เนตรนภา นราธัศจรรย์ เจ้าของร้าน Craftsman Roastery at Bamrungmueng บอกกับเราว่าเธอเองก็ตื่นเต้นไม่แพ้เหล่าแฟนคลับและคนรักตึกเก่าที่มีโอกาสได้เข้ามาเปิดร้านในอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้

“ถามว่าเรามาเจอที่นี่ได้อย่างไร ตอนนั้นมีอาจารย์ศิลปากรท่านหนึ่งบอกว่ามีแผนเข้ามาสำรวจตึกเก่าซึ่งเป็นของบริษัท รัจนาการ พร็อพเพอร์ตี้ เป็นโรงพิมพ์เก่าสมัยรัชกาลที่ 5 อายุ 127 ปีแล้ว  ขอวิ่งตามมาด้วย เพราะปกติไม่ได้เปิดให้คนภายนอกเข้า พอเข้ามาเห็นแล้วแอบเปรยว่าถ้าเราได้มาเปิด Pop Up ที่นี่จะต้องสนุกแน่ๆ

หลังจากนั้นอาจารย์ได้เป็นสื่อกลางให้เราได้พบกับเจ้าของพื้นที่  หลังจากที่ท่านไปดื่มกาแฟที่ Craftsman Roastery  บ้านอาจารย์ฝรั่ง ก่อนที่จะหมดสัญญาเช่าไปเมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว พอได้เห็นแนวทางในการทำงานของเราที่ให้ความสำคัญกับอาคารเก่า เราจึงได้รับการอนุมัติให้เข้ามาทำ Pop up Café  ในอาคารที่มีคุณค่าและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานหลังนี้” 

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์ คุณแวว เนตรนภา นราธัศจรรย์ เจ้าของร้าน Craftsman Roastery  at Bamrungmueng

เนื่องจากเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า คุณแววและสามี รังสรรค์ นราธัศจรรย์ ซึ่งเป็นสถาปนิกและมีบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน จึงดำเนินงานออกแบบตกแต่งพื้นที่อย่างระมัดระวัง โดยมีสถาปนิกที่ทำงานด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมให้คำปรึกษาอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน

“ตัวตึกแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะว่ามีสภาพสมบูรณ์ เราจัดการทำความสะอาด ส่วนที่เราลงทุนเยอะที่สุดก็จะเป็นงานระบบน้ำ ระบบไฟ  งานตกแต่งจะมีเฉพาะผนังกระจกที่กั้นส่วนภายในที่ติดแอร์ เราอยากสร้างความเชื่อมต่อระหว่างสเปซภายในกับภายนอก

ส่วนบริเวณที่ไม้กับเหล็กมาเจอกัน เราใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า C clamp เป็นการทำเหล็กขึ้นมาเป็นรูปตัว c หนีบไปกับตัวคานแล้วขันชะเนาะเอาไว้ ระหว่างไม้กับเหล็กมีบัฟเฟอร์เป็นยางรองไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อไม่ให้กระทบกับชิ้นส่วนของอาคารเลย ส่วนอื่นๆ เช่น งานประปา ไฟฟ้าเราเดินลอยหมด ในวันที่เรามูฟ ออกไปอาคารต้องคงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด”

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์ ปายไก่ หรือ พายไก่ เสิร์ฟคู่กับแรดิชและหัวไชเท้าดอง 

เค้กและ "ปาย" ตำรับร่วมสมัยกับโรงพิมพ์

ปาย ค่ะไม่ได้เขียนผิด

พาย (pie) ในเมนูของ Craftsman Roastery at Bamrungmueng จะใช้คำว่า “ปาย” ตาม ตำราทำขนมเลี้ยงน้ำชาและขนมปังปรุงต่างๆ  ของ หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล ผู้ชำนาญเรื่องการทำอาหารฝรั่งและขนมไทย ครูสอนทำอาหารว่างและอาหารฝรั่งที่โรงเรียนราชินี ผู้ทรงนำประสบการณ์ในการทำขนม รวมไปถึงการดัดแปลงเครื่องปรุงจากตำราฝรั่งมามาเขียนเป็นตำราสอนนักเรียนและจัดพิมพ์ให้ผู้สนใจ นับได้ว่าเป็นตำราอาหารฝรั่งเล่มแรกๆ ของไทยเลยก็ว่าได้

หลังจากค้นคว้าจนพบว่าตำราขนมเล่มนี้อยู่ในห้วงเวลาเดียวกับโรงพิมพ์ ขนมในตำราจึงดึงดูดให้คุณแววได้พบกับ เชฟเช้า - ต่อจันทน์ แคทริน บุณยสิงห์ ผู้รับอาสาถอดความหมายของสูตรโบราณถ่ายทอดออกมาเป็นเมนูขนมที่ได้แรงบันดาลใจจากตำราขนมฝรั่ง ของ "หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล"

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์ เดวิลเค้ก (Chocolate Fudge Cake)

ซึ่งในเมนูของร้านเขียนชื่อตามตำราเดิม ได้แก่ ปายมันฮ่อ (พายวอลนัต) ปายไก่ (พายไก่ เสิร์ฟพร้อมแรดิชและหัวไชเท้าดอง) ปายฟักทอง (พายฟักทอง) เค้กกล้วยหน้าคว่ำ (Turnover Banana Cake) เดวิลเค้ก (Chocolate Fudge Cake) และ เค้กมะนาวใส่ชีส (Lemon Cheese Cake)

“ด้วยเหตุนี้ เนื้อเค้กร้านเราจะค่อนข้างแน่น อาจเป็นเพราะว่าเมื่อก่อนเขาจะไม่ใช้ผงฟูกัน เนื้อเค้กก็จะแน่นๆหน่อย เชฟเช้าจะทำตามสูตรแต่ปรับนิดหน่อยให้มีรสชาติเข้ากับปัจจุบัน

กลางเดือนสิงหาคม จะมีขนมชุดใหม่เข้ามาแจมจากสูตรของหม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอเช่นกัน เมนูจะเป็นตระกูลปายหรือพาย เพราะตำรามีสูตรพายเยอะและเชฟเช้าทำพายได้อร่อยค่ะ”  

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์ ภายนอกโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

จุดเชื่อมโยงคนหลายวัยใส่ใจประวัติศาสตร์

เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราจะพบว่าผู้คนที่มาเยือนคาเฟ่และเยี่ยมชมอาคารโรงพิมพ์โบราณมาแล้วก็กลับมาอีกหลายครั้ง 

“เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าอาคารประวัติศาสตร์ หรือสถานที่ประวัติศาสตร์จะมีเฉพาะคนมีอายุ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคนที่มา appreciate ประวัติศาสตร์มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ  โดยเฉพาะวัยรุ่นเยอะมาก

อาจเป็นเพราะว่าคาเฟ่ของเราทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่าง Generation  ถ้าเราอยากให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาสัมผัสกับประวัติศาสตร์ เราต้องหาจุดเชื่อมโยงที่เป็นสุนทรียะในแบบของวัยรุ่นที่เขามองหาให้มาเจอกันตรงกลางอย่างกลมกลืน  ซึ่งเป็นความท้าทาย ถ้าเราทำไปในรูปแบบของมิวเซียมเขาอาจจะแค่มาเดินดู 10 นาทีแล้วกลับไป ก็ไม่รู้ว่าเราจะอยากจะย้อนกลับมาดูอีกไหม

แต่เมื่อเราหยิบออกมาทำเป็นฟังก์ชันใหม่ให้ดูเบาสบายขึ้นเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น นำสุนทรียะเข้ามาให้สัมผัสไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ขนม เครื่องดื่ม และดนตรีในวันเสาร์อาทิตย์  ทำให้รู้สึกว่าอยากจะกลับมาซ้ำๆอีก”

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์ Craftsman Roastery  เริ่มต้นจากร้านกาแฟ 3 โต๊ะ ภายในร้านเฟอร์นิเจอร์ที่โชคชะตาดึงดูดให้คนรักกาแฟและบาริสต้ามาพบกันจนผลักดันให้แยกออกมาเป็นร้านกาแฟอย่างจริงจัง  มุมกาแฟในร้านเฟอร์นิเจอร์ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงคั่วเมล็ดกาแฟ ได้แก่ Craftman blend  เมล็ดกาแฟคั่วกลาง กับ Atisan Blend เมล็ดกาแฟคั่วกลางไปถึงเข้ม
 

คุณแววตั้งข้อสังเกตจากประสบการณ์ที่เปิดร้านกาแฟในอาคารเก่ามาแล้ว เริ่มต้นจากการรีโนเวทบ้านร้างในซอยเย็นอากาศให้กลายเป็น Craftsman Roastery  ร้านกาแฟในบ้านเก่าหลังแรกเมื่อราว 8 ปีก่อน ครั้นหมดสัญญาเช่า Craftsman Roastery  ก็ย้ายมาเปิดที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง เชิงสะพานซังฮี้ จนหมดสัญญาเช่า(บ้านเช่าที่อ.ศิลป์ พีระศรี เคยพำนักในช่วงแรกที่เข้ามารับราชการในเมืองไทย)  ก่อนมาเปิดเป็นคาเฟ่ชั่วคราวที่ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

สำหรับเส้นทางต่อไปของ Craftsman Roastery จะไปอยู่ที่ย่านเก่า หรือ จุดที่ใครก็คาดไม่ถึง เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ในวันนี้หากคุณอยากย้อนไปสัมผัสกลิ่นหอมๆของกาแฟและปายสูตรวันวาน ยังมีเวลาจนถึงเดือนกันยายน 2565 ที่ Craftsman Roastery at Bamrungmueng จะเปิดประตูให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ที่ชวนให้จินตนาการของเราได้ทำงานอย่างอิสระ จนอยากจะกลับมาอีกครั้ง

 *  *  *  *

ภาพ : อนุตรา อึ้งสุประเสริฐ

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์

Craftsman Roastery at Bamrungmueng

  • ที่ตั้ง -ข้ามแยกสี่กั๊กเสาชิงช้าหันหน้าไปทิศเสาชิงช้า เลี้ยวซ้ายซอยแรกเป็นตรอกเล็กๆ (ผ่านวิวัฒน์สังฆภัณฑ์แล้วเลี้ยวซ้าย) ด้านในมีลานจอดรถของเอกชน ชั่วโมงละ 30 บาท
  • เปิดบริการ  เวลา 7.30-18.00 น.ทุกวัน
  • โทร.08 5820 4010

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

  • โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ก่อตั้งเมื่อปี 2438 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) ตั้งอยู่ถนนบำรุงเมือง ช่วงระหว่างสี่กั๊กเสาชิงช้ากับวัดสุทัศน์เทพวราราม 
  • จัดเป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่มีเครื่องพิมพ์เครื่องจักรที่ทันสมัยมากในยุคนั้น  กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในชื่อ "อาคารบำรุงนุกูลกิจ" ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542
  • ปัจจุบันพื้นที่อาคารอยู่ในความดูแลของ บริษัท รัจนาการ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งมีแผนเข้าอนุรักษ์อาคารพร้อมพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ต่อไป  

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์ เค้กและพาย ถอดสูตรมาจากตำราทำขนมเลี้ยงน้ำชาและขนมปังปรุงต่างๆ  ของ หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล
จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์

(ขวา)ข้าวเหนียวมะม่วงครีมโซดา เครื่องดื่มใหม่ล่าสุด มีรสชาติและกลิ่นหอมคล้ายไอศกรีมข้าวเหนียวมะม่วง ด้านบนราดครีมนม ให้รสชาติคล้ายกะทิอ่อน โรยด้วยถั่วทอง

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์ เคาน์เตอร์ Craftsman Roastery at Bamrungmueng

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์
กาแฟจาก Craftsman Roastery

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์

บรรยากาศ Craftsman Roastery at Bamrungmueng

จิบ ”กาแฟ” คู่ปายสูตรหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ก่อนอำลาคาเฟ่ในโรงพิมพ์ ร้านกาแฟบรรยากาศประวัติศาสตร์