สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5

"บ้านบานเย็น" เรือนไม้ 3 หลังที่ยังเหลือให้ชมในยุคนี้ มีรายละเอียดที่งดงามทางสถาปัตยกรรม และเรื่องเล่าที่ชวนให้ละเลียดอ่าน...ทำไมถึงได้รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ปี 2565

เพราะต้องการรักษาความทรงจำที่มีคุณค่าของบรรพบุรุษให้ได้นานที่สุด โรจน์ และ รัชต์ คุณเอนก สองพี่น้องจึงร่วมใจบำรุงรักษากลุ่มเรือนไม้แบบวิคตอเรียน 3 หลัง ที่นิยมสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7 ให้คงความงดงามดังเดิมให้ได้มากที่สุด

ความตั้งใจนี้ทำให้ ‘บ้านบานเย็น’ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี 2565 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

สาโยทภิทูร แปลตรงว่า "บานเย็น"

บ้านบานเย็น ประกอบไปด้วยเรือนไม้ 3 หลัง ได้แก่ เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ (บานเย็น สาโยทภิทูร) ที่พำนักของพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนขุนวิเศษสากล เรือนหอของนางจิ่น วิเศษสากล น้องสาวของพระยาหิรัญยุทธกิจ ซึ่งสมรสกับร้อยเอกขุนวิเศษสากล (เจิม นาถะดิลก) และเรือนเพ็งศรีทอง เรือนหอของนางสาวประยงค์ สาโยทภิทูร บุตรีคนโตของท่านเจ้าของบ้านซึ่งสมรสกับนายเปล่ง เพ็งศรีทอง

โรจน์ คุณเอนก อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม กล่าวถึงที่มาของบ้านบานเย็นว่า ตั้งชื่อตามท่านเจ้าของบ้าน คือ พันเอกพระยาหิรัญยุทธกิจ ซึ่งมีนามว่า “บานเย็น” ส่วนนามสกุล “สาโยทภิทูร” เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 โดยมีหมายเหตุต่อท้ายว่า “แปลตรงว่า บานเย็น”

 

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (เตียงโบราณจัดวางสิ่งของแสดงประวัติของพระยาหิรัญยุทธกิจ/ภาพประกอบ : เสาวรส กฤษณะเศรณี)

 

อาจารย์โรจน์ เล่าให้ฟังว่าเติบโตและวิ่งเล่นอยู่ในเรือนเพ็งศรีทองมาตั้งแต่เด็กๆ แม้ว่าคุณแม่ (จันทนา ลูกสาวคนโตของนางประยงค์ เจ้าของเรือน)จะแต่งงานแล้วไปสร้างเรือนอีกหลังที่อยู่ใกล้กัน

“เดิมครอบครัวสาโยทภิทูรอาศัยอยู่บริเวณที่เป็นถนนราชดำเนินหน้ากองสลากฯในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างถนนราชดำเนินขึ้นเพื่อขยายเมือง ทางครอบครัวจึงย้ายมาอยู่ในย่านเทเวศร์โดยสร้างเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจขึ้นเป็นหลังแรกในราว พ.ศ. 2446

ต่อมาเมื่อน้องสาวท่านสมรสกับขุนวิเศษสากล จึงได้สร้างเรือนขึ้นเป็นลำดับที่สองโดยนำไม้ที่รื้อมาจากบ้านเก่าที่ราชดำเนินมาใช้ในการสร้าง

ส่วนเรือนหลังสุดท้ายเป็นเรือนหอที่สร้างให้กับลูกสาวคนโต เรือนไม้ทั้ง 3 หลังสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียนที่นิยมในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 7”

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ หน้าต่างเป็นบานกระทุ้งมีช่องระบายลม เรือนประดับไม้ฉลุลายหยดน้ำโดยรอบ รวมทั้งเหนือบานประตูทุกบาน )

เปิดประตูความทรงจำ"บ้านบานเย็น"

เนื่องจากมีธรรมเนียมของครอบครัวที่จะปิดบ้าน เมื่อท่านผู้อาศัยอยู่ในเรือนจากไป โดยเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจปิดหลังจากคุณหญิงฟื้นภรรยาท่านพระยาถึงแก่อนิจกรรมในปี 2524 เรือนขุนวิเศษสากลปิดเมื่อทายาทของท่านเจ้าของบ้านเรือนย้ายออกไปในปี 2550 ส่วนเรือนเพ็งศรีทองปิดในปี 2549 หลังจากจารุพรรณ เพ็งศรีทอง (น้าสาวของอาจารย์โรจน์) ถึงแก่อนิจกรรม

หลังจากเรือนไม้ 3 หลังปิดประตูสนิทไปพร้อมกับวันเวลาที่ผ่านเลยไปนานพอสมควร อาจารย์โรจน์จึงได้ปรึกษากับสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญทางการบูรณะบ้านโบราณ จนได้แนวทางในการซ่อมแซมบ้านบานเย็น

โดยเริ่มต้นที่เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนขุนวิเศษสากล และเรือนเพ็งศรีทองเป็นหลังสุดท้าย ด้วยความพยายามที่จะคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด

“เพื่อรักษาความทรงจำที่มีค่ายิ่งของบรรพบุรุษไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้” อาจารย์โรจน์ กล่าว

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (สมุดไทยที่เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ สมุดขาวบันทึกเรื่องยันต์ท้าวเวสสุวรรณ และสมุดดำบันทึกเรื่องปูมโหร)

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (“ซังฮี้” อักษรจีนบนเครื่องลายคราม คนสมัยก่อนเรียกว่าเครื่อง กิมตึ๋ง มีความหมายเป็นมงคลว่า “ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง”)

"เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ"

เดินย้อนวันวานกลับไปสู่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เรือนไม้ 2 ชั้น หน้าเรือนกว้าง 6.5 เมตร ตัวเรือนยาว 7.5 เมตร มีระเบียงหน้าบ้านและชานหลังบ้าน ประดับไม้ฉลุลายหยดน้ำโดยรอบ รวมทั้งเหนือบานประตูทุกบาน หลังคามุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์

เมื่อแรกสร้างเรือน ยังไม่มีไฟฟ้า เราจึงได้เห็นตะเกียงโบราณที่เคยจุดให้แสงสว่าง ใกล้กันมีเตาเชิงกรานที่ใช้วางหม้ออุ่นยา ถัดมาเป็นเตารีดถ่าน อาจารย์โรจน์เล่าอย่างอารมณ์ดีว่า มีนักศึกษาถามว่าใช้ถ่าน AAA กี่ก้อน ด้วยความที่ไม่เคยเห็นและเข้าใจว่าเป็นเตารีดที่ใช้พลังงานความร้อนจากถ่านไฟฉายนั่นเอง

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (เตาเชิงกรานสำหรับวางหม้ออุ่นยา และเตารีดโบราณ)

ภายในเรือน จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ของพระยาหิรัญยุทธกิจและครอบครัว ได้แก่ สมุดไทย (เอกสารโบราณที่ใช้ในการบันทึกตัวอักษรและภาพ) มีทั้งสมุดขาวที่เขียนเรื่องยันต์ท้าวเวสสุวรรณ และสมุดดำที่เขียนเรื่องปูมโหร ทำให้เราได้ทราบว่าท่านเจ้าของบ้านเป็นผู้มีความรอบรู้ในทางโหราศาสตร์

อีกมุมหนึ่งจัดแสดงเครื่องถ้วยชามกระเบื้องจากต่างประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป หนึ่งในนั้นมีโถเซรามิกเขียนอักษรจีนว่า “ซังฮี้” ชื่อเดียวกับสะพานที่เราคุ้นหูกันดี หากชื่อนี้มีที่มา อาจารย์โรจน์ อธิบายว่า

“ซังฮี้” เป็นชื่อของลวดลายของเครื่องลายครามจีน หรือคนสมัยก่อนเรียกว่าเครื่อง กิมตึ๋ง มีความหมายเป็นมงคลว่า “ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง”

เนื่องจากเครื่องกิมตึ๋งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้น ทรงพระราชทานนามพระตำหนัก ถนน สะพาน และคลอง ภายในพระราชวังดุสิตเป็นชื่อลวดลายของเครื่องกิมตึ๋ง

ถนนด้านหลังพระราชวังได้ชื่อว่า ซังฮี้ ต่อมาเมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านจึงเรียกชื่อสะพานซังฮี้ตามชื่อถนนจนถึงทุกวันนี้

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (นาฬิกาลอนดอน หน้าปัดเป็นเลขไทย พระยาหิรัญยุทธกิจ ได้รับพระราชทานจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5)

ภายในเรือนยังมีวัตถุโบราณที่บอกเล่าเรื่องราวของวันวานอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระแก้วมรกตจำลอง สร้างเมื่อคราวฉลองกึ่งพุทธกาล นาฬิกา “ลอนดอน” หน้าปัดเลขไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สั่งทำจากอังกฤษ พระราชทานให้ข้าราชการใกล้ชิด รวมไปถึงเครื่องแบบและภาพวาดธงชาติ ขณะท่านเจ้าของเรือนรับราชการในกรมแผนที่ทหาร เป็นอาทิ

"เรือนขุนวิเศษสากล"

เรือนที่สร้างขึ้นเป็นลำดับที่สอง เป็นเรือนหอของนางจิ่น วิเศษสากล น้องสาวของพระยาหิรัญยุทธกิจ สมรสกับร้อยเอกขุนวิเศษสากล (เจิม นาถะดิลก)

เรือนหลังนี้มีขนาดย่อมกว่า แต่มีการประดับประดาด้วยลวดลายไม้ฉลุมากกว่า สันนิษฐานว่าเป็นเรือนที่ท่านเจ้าคุณสร้างให้น้องสาว เป็นเรือนไม้สองชั้นที่สร้างขึ้นจากไม้จากเรือนเก่าบนถนนราชดำเนิน เนื่องจากเป็นเรือนที่สร้างขึ้นในช่วงต้นของการมีไฟฟ้า เราจึงได้เห็นอุปกรณ์และการเดินสายไฟแบบโบราณที่อาจารย์โรจน์พยายามซ่อมแซมให้ใกล้เคียงของเดิมที่สุด

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5

(“เรือนขุนวิเศษสากล” เรือนหอของนางจิ่น วิเศษสากล น้องสาวของพระยาหิรัญยุทธกิจ สมรสกับร้อยเอกขุนวิเศษสากล (เจิม นาถะดิลก)

ภายในจัดแสดงโต๊ะเครื่องแป้งของสาวสมัยโบราณที่นิยมนั่งอยู่กับพื้น ใกล้กันมีวิทยุรุ่นเก่าวางเคียงกัน ชวนให้คิดถึงวันวานที่คนในบ้านจะเพลิดเพลินจากเสียงเพลงจากวิทยุ ทอดสายตาออกไปนอกหน้าต่าง กลางห้องชั้นล่างจัดวางโต๊ะบูชาแบบญี่ปุ่น พระพุทธรูปจากเมืองนารา ตุ๊กตาและกิโมโนผืนสวย สมบัติของคุณแม่อาจารย์โรจน์ เมื่อครั้งไปศึกษาทางด้านเภสัชศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น

เรือนหลังนี้มีขนาดเล็กกว่าเรือนหลังแรก หากตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุจำนวนมากทำให้สัมผัสได้ถึงความเป็นผู้หญิง น่าเศร้าที่ท่านขุนถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบันก่อนย้ายเข้ามาอยู่ในเรือนหลังนี้เพียงไม่กี่วัน

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5
(ภายในเรือนขุนวิเศษสากล จัดแสดงโต๊ะเครื่องแป้งของสาวสมัยโบราณที่นิยมนั่งอยู่กับพื้น ใกล้กันมีวิทยุรุ่นเก่าวางเคียงกัน และโต๊ะบูชาแบบญี่ปุ่นสมบัติของคุณแม่อาจารย์โรจน์ คุณเอนก เมื่อครั้งไปศึกษาทางด้านเภสัชศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น)

เรือนเพ็งศรีทอง

เรือนที่สร้างหลังสุดท้ายและมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นเรือนหอของลูกสาวคนโตของพระยาหิรัญยุทธกิจ คือ นางสาวประยงค์ สาโยทภิทูร ซึ่งแต่งงานกับนายเปล่ง เพ็งศรีทอง ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว มีบุตรี 2 คน คือ จันทนา (มารดาของอาจารย์โรจน์และรัชต์ น้องชาย) และ จารุพรรณ

เรือนหลังนี้มีเอกสารการซื้อขายว่าเป็นเรือนไม้ที่ซื้อมาจากหลวงนริศเสน่ห์ พร้อมกับเรือนครัว ในราคา 1,600 บาทเมื่อปีพ.ศ. 2471 ดังนั้นอายุเรือนจึงน่าจะมากกว่า 94 ปี

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5

(“เรือนเพ็งศรีทอง” เรือนที่สร้างหลังสุดท้ายและมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นเรือนหอของลูกสาวคนโตของพระยาหิรัญยุทธกิจ คือ ประยงค์ สาโยทภิทูร ซึ่งแต่งงานกับ เปล่ง เพ็งศรีทอง ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว)

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5

(มุมพักผ่อนภายในห้องนอนใหญ่ของเรือนเพ็งศรีทอง)

เนื่องจากนายเปล่งเป็นผู้ที่มีงานอดิเรกหลายอย่าง ได้แก่ การถ่ายภาพยนตร์ การศึกษาโหราศาสตร์ รวมไปถึงการทำน้ำหอม ภายในบ้านจึงจัดแสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับงานภาพยนตร์ ตำราโหราศาสตร์ซึ่งท่านเป็นผู้ประพันธ์ ชุดจานชามเซรามิกจากจีนและยุโรป

รวมไปถึงขวดบรรจุน้ำหอมหลายขนาด เล่ากันว่าเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ น้ำหอมที่บรรจุอยู่ในขวดแก้วได้ไหลไปรวมกับสายน้ำทำส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งซอยเลยทีเดียว

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (กล้องถ่ายภาพยนตร์ และหนังสือโหราศาสตร์ซึ่งเขียนโดย นายเปล่ง เพ็งศรีทอง)

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (ระเบียงหลังเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ จัดวางขวดใส่น้ำหอมงานอดิเรกของนายเปล่ง เพ็งศรีทอง เมื่อคราวน้ำท่วมน้ำหอมไหลรวมไปกับสายน้ำ ส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งซอย)

เรื่องเล่าวันวาน"บ้านบานเย็น"

ยังมีเรื่องเล่าและเรื่องราวของวันวานของบ้านบานเย็นอีกมากมายที่พร้อมให้ผู้ที่รักและสนใจในบ้านเก่าเข้าไปค้นหา ศึกษา เรียนรู้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้อันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนวันวานให้ผู้คนในวันนี้ได้เรียนรู้อีกหลากหลาย

ปัจจุบัน “บ้านบานเย็น” เปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์บ้านเก่า พร้อมกับทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ยังมีชีวิต

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5

(บ้านบานเย็น ตั้งอยู่เลขที่ 54 ซอยเทเวศร์ 1 ถนนกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม กรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยเรือนไม้ 3 หลัง ได้แก่ เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนขุนวิเศษสากล และเรือนเพ็งศรีทอง สร้างขึ้นปลายรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จนถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 6)

สัมผัสวิถีวันวานที่"บ้านเก่าบานเย็น"เรือนไม้สมัยปลายรัชกาลที่ 5 (ภายในห้องนอนของลูกสาวคนสุดท้องของคุณประยงค์ เจ้าของเรือนเพ็งศรีทอง เป็นห้องเดียวที่ทาด้วยสีขาว ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบอาร์ต เดคโค ริมหน้าต่างวางจักรเย็บผ้าไว้เหมือนวันวาน)

............

ภาพประกอบ : เสาวรส กฤษณะเศรณี
ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าชมได้โดยแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ทางโทร.08 9050 0780 และ facebook :  Baan Baanyen