‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

ทำความรู้จัก “Newtro” เทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศเกาหลีใต้ โดยแทรกซึมอยู่ในทุกวงการ ด้วยการผสมผสานระหว่าง "ความใหม่" กับ "ความเก่า" ได้อย่างลงตัว

"Newtro" (นิวโทร/ 뉴트로) เป็นคำศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นจาก คำว่า “ใหม่” (New) รวมกับคำว่า “ย้อนยุค” (Retro) ดังนั้น Newtro จึงหมายถึงการนำของเก่ามาปรับปรุง หรือตีความใหม่ให้เข้าปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่การนำสิ่งเก่ามาใช้เฉย ๆ และพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่มีความทรงจำกับสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงคนรุ่นใหม่อีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากแนวเรโทร ที่เป็นการนำของเก่ามาใช้ใหม่ เพื่อให้คนได้หวนระลึกถึงอดีต

Newtro กลายเป็นกระแสในช่วงปี 2562 และได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน โดยถูกนำไปใช้ในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น การแต่งหน้า วงการเพลง ภาพยนตร์และซีรีส์ อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจน สถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง

นอกจากนี้ Newtro กลายเป็นเหมือนกับสะพานที่เชื่อมคนในแต่ละรุ่นเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มในยุคก่อนที่กลับมาผลิตใหม่ในปัจจุบัน หรือสินค้าที่กลับไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบเก่า ตลอดจนสื่อต่าง ๆ ล้วนถูกนำมาใช้ในการสร้างบทสนทนาของคนระหว่างรุ่นได้ ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย และสร้างสายสัมพันธ์ด้วยการใช้ความทรงจำและการมีประสบการณ์ร่วมของคนรุ่นเก่า ผสานเข้ากับความอยากรู้อยากเห็นและประสบการณ์ใหม่จากสิ่งเก่าในสายตาของคนรุ่นใหม่

  • ทำไม Newtro ถึงได้รับความนิยม

ศาตราจารย์ อี จุน-ยอง อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซังมยอง (Sangmyung University) ได้ให้สัมภาษณ์กับ Arirang TV ว่า ที่ Newtro เป็นที่นิยมอย่างมากในเกาหลีใต้ เพราะทุกผลิตภัณฑ์ในสินค้าทุกประเภทสามารถนำมาใช้กับ Newtro ได้หมด และยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้กระแส Newtro จะยังสามารถดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และอยู่ได้นานกว่ากระแสอื่น ๆ 

สาเหตุที่กระแส Newtro เติบโตได้อย่างรวดเร็วในเกาหลีใต้นั้นมีด้วยกันหลายประการ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

- ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและประชากรศาสตร์ เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อัตราการเกิดลดลง และผู้ที่มีกำลังซื้อหลักคือคนเจนเอ็กซ์และเจนวาย (ช่วงอายุ 30 - 50 ปี) ดังนั้นสินค้าต่าง  ๆ จึงพาออกแบบสินค้า หรือนำสินค้า รวมถึงเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในยุคทศวรรษที่ 1970 - 2000 กลับมาอีกครั้ง เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคุ้นเคยและมีประสบการณ์ร่วมมาก่อน

- สื่อใหม่และอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยูทูบ ทำให้ผู้คนสามารถหาชมรายการ ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ ตลอดจนมิวสิควิดีโอและเพลง ที่ได้รับความนิยมในอดีตได้อย่างง่ายดาย แตกต่างจากที่เมื่อก่อนต้องรอฉายซ้ำทางโทรทัศน์หรือเปิดทางวิทยุเท่านั้น ดังนั้นรายการดังและมิวสิควิดีโอเพลงฮิตในอดีตจึงเอามาอัพโหลดลงสื่อต่าง ๆ อีกครั้ง และมียอดวิวสูงอีกด้วย 

นอกจากนี้ ปัญหาทางสังคม ปัญหาสุขภาพ ดัชนีชี้วัดความสุขของประชาชนที่ลดลง และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้คนหวนระลึกถึงหาอดีต ความทรงจำที่หอมหวาน สมัยที่โลกยังไม่หมุนเร็วขนาดนี้ เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายและความเป็นจริงในปัจจุบัน ล้วนเป็นปัจจัยที่สิ่งผลให้กระแส Newtro สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว 

  • Newtro ในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี

หากจะกล่าวว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี เป็นผู้ปลุกกระแส Newtro ในเกาหลีก็คงจะไม่ผิดนัก เนื่องจาก ที่ผ่านมาซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องมีเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นยุคศตวรรษที่ 1900 ซึ่งได้ถูกเซ็ตขึ้นให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ทั้งภาษาที่ใช้ สิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะซีรีส์ตระกูล “Reply” (Reply 1997, Reply 1994, และ Reply 1988) ที่ได้รับความนิยมทุกเรื่องทั้งในเกาหลีใต้และต่างประเทศ 

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว โปสเตอร์ซีรีส์ตระกูล Reply

 

ซีรีส์แนวย้อนยุคเรื่อง “สุภาพบุรุษตะวันฉาย” (Mr. Sunshine) ที่เล่าเรื่องในช่วงต้นศตวรรษที่ 1900 ก็ทำให้ชาวเกาหลีหลงใหลในแฟชั่นในยุคนั้น จนกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นในเกาหลีอยู่ช่วงหนึ่ง และเป็นตัวเร่งให้กระแส Newtro ให้ได้รับความนิยมเร็วยิ่งขึ้น

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

เสื้อผ้าใน Mr. Sunshine ที่มีการผสมผสานเสื้อผ้าของเกาหลีและตะวันตกยุค 1900

 

เมื่อ ยูทูบ ได้รับความนิยมในเกาหลี สถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ จึงได้ถือโอกาสนำคลิปรายการและซีรีส์ยอดนิยมในอดีตตัดเป็นไฮไลท์ลงในยูทูบ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ชมได้รับชมรายการเพิ่มมากขึ้น ก่อนที่จะไปหาดูตัวเต็มในแอพพลิเคชั่นบริการสตรีมอื่น ๆ แบบถูกลิขสิทธิ์ รวมไปถึงมิวสิควิดีโอ และโชว์ในรายการเพลงในยุคเริ่มต้นของ K-POP ก็ถูกนำมาอัพโหลดด้วยเช่นกัน

 

รายการวาไรตี้ในปัจจุบันทำคอนเทนต์พิเศษที่คล้ายกับรูปแบบของรายการดังในอดีต เช่น “Going Seventeen” รายการวาไรตี้ยอดนิยมของศิลปินวง “เซเวนทีน” (Seventeen) ได้จัดทำตอนพิเศษ ที่มีการเล่นเกมง่าย ๆ ตามรูปแบบเกมโชว์สมัยก่อน มีผู้เข้าชมรวม 2 ตอน บนยูทูบสูงกว่า 6 ล้านครั้ง

 

ขณะที่ วงการ K-POP ก็ขานรับกับกระแส Newtro ด้วยเช่นกัน ในปี 2563 “บีทีเอส” (BTS) ได้ปล่อยเพลง “Dynamiteเพลงแนวดิสโก้ ยุค 70 มาพร้อมกับเสื้อผ้าสีสันสดใสในยุคเดียวกัน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในเกาหลีแต่กลายเป็นหนึ่งในเพลงฮิตที่คนทั่วทั้งโลกร้องตามได้ และเพลงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บีทีเอสก้าวขึ้นเป็นศิลปินระดับโลก

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว BTS กับเสื้อผ้ายุค 70 ในมิวสิควิดีโอ Dynamite

–เครดิตรูป: เฟซบุ๊ค BTS (방탄소년단)--

 

นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนั้นเอง เซเวนทีน ได้ปล่อยเพลง “HOME;RUNเพลงแดนซ์แนวสวิง แจ๊ซ ยุค 20-30 ให้บรรยากาศความเป็นโรงละคร พร้อมกับเสื้อผ้าสีสันสดใส มีทั้งชุดสูทและเสื้อผ้าไปรเวทที่ผสมผสานระหว่างแนวย้อนยุคกับปัจจุบันได้อย่างลงตัว ยิ่งตอกย้ำความหลากหลายทางแนวดนตรีของ K-POP ในยุคปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทรนด์ Newtro

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แนวเพลง ซินธ์ป๊อป (Synthpop) และ นิวเวฟ (New Wave) ที่มีเสียงคีย์บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์เป็นจุดเด่น และเป็นแนวเพลงเอกลักษณ์ของยุค 80 กลับมาได้รับความนิยมในวงการเพลงสากลทั่วโลก วงการ K-POP ก็ไม่พลาดเทรนด์นี้เช่นกัน และถูกผสานกับแนว Newtro เช่น เพลง “I Can’t Stop Me” ของ "ทไวซ์" (Twice), เพลง “Mago” ของ “จีเฟรนด์” (GFRIEND), เพลง "You Can’t Sit With Us" ของ “ซ็อนมี” (SUNMI)

 

นอกจากนี้ ศิลปินหลายวงยังการออกอัลบั้มในรูปแบบของเทปคาสเซ็ต และแผ่นเสียงไวนิล (LP) เป็นคอลเลคชันพิเศษให้แฟนคลับได้สะสมอีกด้วย

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว เทปคาสเซ็ต และแผ่นเสียงไวนิล เพลง Dynamite ของวง BTS

–เครดิตรูป: ทวิตเตอร์ The Orchard--

 

  • แฟชั่นแบบ Newtro 

ไม่เพียงแค่แนวเพลงในระยะหลังของวงการ K-POP จะล้อไปกับกระแส Newtro เท่านั้น เครื่องแต่งกายของศิลปินก็ได้รับอิทธิพลจาก Newtro เช่นกัน แม้ว่าแนวเพลงนั้นอาจจะไม่ได้ย้อนยุคก็ตาม อย่างเช่น คัมแบ็กล่าสุดของ “เอ็นไฮเพน” (Enhypen) ในมิวสิควิดีโอเพลง “Blessed-Cured” แม้จะเป็นเพลงแนวร็อค ฮิปฮอป มีกลิ่นอายยุค 70 แต่เสื้อผ้าหน้าผมของศิลปินกลับเป็นยุค 90 ที่เน้นเสื้อตัวใหญ่ ใส่เสื้อแขนสั้นทับเสื้อแขนยาว 

 

แม้แต่ในการรวมตัวของศิลปินในตำนานอย่าง "ยู แจซอก" (Yoo Jae Suk), "อี ฮโยริ" (Lee Hyori), และ "เรน" (Rain) ในโปรเจค “SSAK3” ก็เลือกใช้เสื้อผ้าสไตล์ยุค 90 ที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร ไม่ว่าเป็นเสื้อผ้าแนวสปอร์ตสีสันสดใส มีโซ่เส้นใส่เป็นเครื่องประดับ ด้านวงเกิร์ลกรุ๊ป “DIA” ออกมินิอัลบั้มชื่อว่า Newtro สำหรับเสื้อผ้าได้แรงบันดาลใจมาจากยุค 80 และ 90 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดผู้ฟังทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

SSAK3 กับเสื้อผ้ายุค 90

–เครดิตรูป: อินสตาแกรม hangout_with_yoo–

 

นอกจากจะนำเสื้อผ้าในแต่ละยุคมาดัดแปลงให้เข้ากับกระแส Newtro แล้ว ยังมีการดัดแปลงชุดประจำชาติของเกาหลีใต้ อย่างชุด “ฮันบก” ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งมีทั้งแบบที่เอามาดัดแปลงทั้งชุด หรือนำมาเพียงแค่ ชอโกริ เสื้อของชุดฮันบก ไม่ว่าจะเป็น “แบล็กพิงค์” (BLACKPINK) ในเพลง “How Do You Like That”, “แอซ”  (A.C.E)ในการคัมแบ็กเพลง “Favorite Boys”, “ซูเปอร์เอ็ม” (SuperM) จากเพลง “Tiger Inside” หรือ การแสดงของ “โอ้ มาย เกิร์ล” (Oh My Girl) ในรายการ Queendom

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

ไอดอลกับชุดฮันบกสมัยใหม่ (บน: SuperM, ซ้ายล่าง: BLACKPINK, ขวา: A.C.E)

 

 

อีกทั้ง ยังมีการดัดแปลงชุดฮันบกให้กลายเป็นชุดนักเรียนอีกด้วย โดย  “Hanbok Advancement Center” ได้ปล่อยภาพต้นแบบของชุดนักเรียนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดฮันบกที่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ซึ่งตั้งแต่เดือนต.ค. ที่ผ่านมา มีโรงเรียนกว่า 22 แห่งทั่วเกาหลีใต้ได้นำชุดนักเรียนฮันบกไปใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว ชุดนักเรียนที่ดัดแปลงมาจากชุดฮันบก ในโครงการ Hanbok School Uniform Design Project

–เครดิตรูป: เว็บไซต์ Hanbok Advancement Center–

 

  • Newtro นำบรรจุภัณฑ์แบบเก่ากลับมาอีกครั้ง

กระแส Newtro ได้ทำให้แบรนด์ขนมและเครื่องดื่ม นำสินค้าในยุคก่อน และนำบรรจุภัณฑ์แบบเก่าที่เป็นความทรงจำในวัยเด็กของใครหลายคนกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หมากฝรั่ง Lotte's Juicy & Fresh ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ยุค 70 ด้วยการใช้สีสันสดใสและมีข้อความให้กำลังใจบนห่อหมากฝรั่ง

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

หมากฝรั่ง Lotte's Juicy & Fresh ในบรรจุภัณฑ์สไตล์ Newtro

–เครดิตรูป: DairyCat Naver–

 

ส่วนป๊อปคอร์นและนาโชส จากแบรนด์ Gompyo ก็กลับไปใช้บรรจุภัณฑ์ยุค 90 ด้วยบรรจุภัณฑ์สีเขียวและขาว พร้อมโลโก้หมีขั้วโลกแบบเก่า ขณะที่ขนมอบกรอบ Samyang's Star Popeye, ขนม Lotte's Cheetos ขนมที่เคยขายในอดีต ได้กลับนำมาวางขายอีกครั้ง

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

(จากซ้ายไปขวา) ขนม Lotte's Cheetos, ขนมอบกรอบ Samyang's Star Popeye

–เครดิตรูป: DairyCat Naver–

 

โซจูหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Kumbokju’s Soju King, Muhak และ Jinro กลับไปใช้บรรจุภัณฑ์ในยุค 70 ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ รสชาติ และขวดใส แทนที่จะเป็นขวดสีเขียวแบบในปัจจุบัน ซึ่งได้รับการตอบรับจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี โดย Jinro สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 100 ล้านขวด ในเวลาเพียง 7 เดือน หลังจากที่กลับไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบเก่า

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

Jinro Soju ในขวดใส กลายเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

–เครดิตรูป: เว็บไซต์ Hite Jinro America–

 

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ตอบรับเทรนด์นี้เช่นกัน ซัมซุงได้ออกโทรศัพท์รุ่น “Z Flip” ที่เป็นสมาร์ทโฟนแบบพับได้ โดยได้แรงบันดาลใจจากโทรศัพท์แบบฝาพับที่ได้รับความนิยมอย่างมากในทศวรรษ 2000 นอกจากนี้ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องกรองน้ำ ได้รับการออกแบบใหม่ให้เข้ากับกระแส Newtro ด้วยเช่นกัน

 

  • Newtro กับวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์

ไม่ใช่แค่การนำสิ่งของหรือสไตล์ในยุค 70 ถึง ยุค 2000 เท่านั้น แต่ Newtro ยังทำให้วัฒนธรรมและรากฐานดั้งเดิมของเกาหลีกลับมา 

ในด้านสถาปัตยกรรม Newtro ได้พา “ฮันอก” (Hanok) บ้านสไตล์เกาหลีที่มีมาตั้งแต่สมัยสมัยราชวงศ์โชซอน ในศตวรรษที่ 14 กลับมาอีกครั้งด้วยการนำจุดเด่นของฮันอกที่เป็นการใช้ไม้เป็นหลัก คานไม้ หลังคากระเบื้อง และ ฮันจิ (Hanji) กระดาษสาเกาหลี ผสมผสานกับเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งสมัยใหม่แบบมินิมอล ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่สะดุดตา ในปัจจุบันจะเป็นการตกแต่งสไตล์นี้ได้จากคาเฟ่หลายแห่ง และได้รับความนิยมอย่างมากทั่วกรุงโซล เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบหลีกหนีจากชีวิตในเมืองที่เร่งรีบและใช้เวลายามบ่ายอันเงียบสงบจิบชาแบบดั้งเดิม

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

ร้าน Edge Café ในเมืองชุงนัม ที่มีการผสานสไตล์ฮันอกและมินิมอลเข้าด้วยกัน

–เครดิตรูป: อินสตาแกรม cafe_edge–

 

ขณะเดียวกัน “ดาบัง” (Dabang) ร้านน้ำชาแบบเก่าของเกาหลีใต้ เป็นสถานที่ผู้คนต่างไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หรือใช้เป็นจุดนัดพบ เคยได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุค 80 ก็ได้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ในรูปแบบของคาเฟ่เช่นกัน

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

ร้าน Hakrim Dabang ในกรุงโซล ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์หลายเรื่อง และได้รับความนิยมในทันที

–เครดิตรูป: ซีรีส์เรื่อง Because This Is My First Life–

Newtro ได้ขยายไปยังการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่นและชุมชน เมื่อ "องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี" (Korea Tourism Organization) จัดทำโครงการ “เดินเล่นในเกาหลี” (Walk in Korea) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่น ทำให้มีการปรับปรุงและพัฒนาถนน โบราณสถานในชุมชนต่าง ๆ ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวแนวย้อนยุค ให้กลายเป็นจุดเด่นที่เอาไว้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ย่านอิกซอน (Ikseon dong) ที่มีสถาปัตยกรรมแนวฮันอกที่โดดเด่น และ ย่านอึลจิโร (Euljiro-dong) ย่านโรงหล่อเหล็กและโรงพิมพ์เก่า ในกรุงโซล, เกฮังโร (Gaehang-Ro) ย่านเมืองเก่าในเมืองอินซอน และ หมู่บ้านโชรียัง (Choryang-dong) หมู่บ้านผู้ลี้ภัยในสงครามเกาหลีที่เมืองปูซาน 

‘Newtro’ เทรนด์ใหม่เกาหลี  เมื่อ ‘ความใหม่-ความเก่า’ อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว

บรรยากาศในหมู่บ้านฮันอก ย่านอินซอก

–เครดิตรูป: เว็บไซต์ Visit Korea–

 

อย่างไรก็ตาม ยังความกังวลเกี่ยวกับกระแส Newtro อยู่ ศาสตราจารย์ จาง คยูน-ซิก อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยจุงอัง กล่าวว่า การบริโภควัฒนธรรม Newtro โดยปราศจากความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่อันตราย และการหยิบยืมสิ่งเก่ามาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ในเชิงธุรกิจ จะทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ดั้งเดิมไปด้วยเช่นกัน


ที่มา: Aju Business Daily, BillBoard, Korea JoongAng Daily, KpopmapINKI StyleMedium, STYLEUPKThe Smart Local, Where in the World is Kim