ทำความรู้จัก 3 หนุ่ม วง “FAUVIS” กับแนวดนตรีแบบ “Night Drive”

ทำความรู้จัก 3 หนุ่ม วง “FAUVIS” กับแนวดนตรีแบบ “Night Drive”

เมื่อปัจจุบันเกิดแนวดนตรีใหม่ขึ้นมาหลากหลาย “Night Drive” เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเป็นแนวดนตรีวง “FAUVIS” (โฟวิส) เลือกใช้ในการนำเสนอบทเพลง

หลายคนอาจสงสัยว่าแนวเพลงแบบ “Night Drive” คืออะไร มีที่มาจากไหน หรือว่าเกี่ยวข้องอะไรกับการขับรถหรือไม่ ?

ครั้งนี้กรุงเทพธุรกิจออนไลน์มีโอกาสได้พูดคุยกับวง “FAUVIS” (โฟวิส) ผู้ใช้แนวเพลงนี้เป็นหลักในการทำเพลง โดยสมาชิกในวงประกอบด้วย ณปราชญ์ สัจจะไทย นักร้องนำ วิศรุต วงศ์กิจพัฒน์ มือกีตาร์ และ อัจยุติ สังข์เกษม มือกลอง

ทั้ง 3 คน ได้รู้จักและรวมกันตั้งเข้าเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มฟอร์มวงกันมาด้วยกันแต่ตอนนั้น โดยแต่ละคนจะมาเล่าให้ฟังว่า “Night Drive” ในนิยามของพวกเขาคืออะไร

  • นิยามของ Night Drive

หากพูดกันตามตรงแล้ว “Night Drive” อาจจะไม่ใช่แนวเพลงหรือแนวดนตรี แต่เรียกได้ว่า “มู้ด” (Mood) หรืออารมณ์เพลงมากกว่า และไม่ได้จำกัดความของวง “FAUVIS” ว่าจะต้องเป็นแนวเพลงแบบนี้เท่านั้น

เพราะหากดูในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะคล้ายกับ POP-ROCK ทั่วไป แต่ก็ผสมกับมู้ดและอารมณ์ที่วงต้องการจะสื่อสารออกมาด้วยเครื่องดนตรีว่าแนวหลักของวงก็คือ "Night Drive"

หากลงไปถึงรายละเอียดอย่าง กีตาร์ถ้าเป็นเพลงร็อกจะมีความเป็นกรันจ์หรือเสียงแตกๆ แต่ถ้าเป็น Night Drive จะให้ความรู้สึกฝันๆ ฟุ้งๆ เป็นเพลงฟังสบายฟังง่ายกว่าเพลงร็อกที่มีความรุนแรงกว่า แต่ของวงจะฟังสบายกว่านุ่มกว่าหรือให้ลองจินตนาการถึงภาพขับรถไปแล้วเปิดเพลงตอนกลางคืน

  • กว่าจะมาเป็น FAUVIS

เป็นการรวมตัวกันตั้งแต่เข้าเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเรียนและโตมาด้วยกันตั้งแต่ปี 1 – 4 พอถึงจุดหนึ่งก็ทำวงขึ้นมาจากนั้นก็ทดลองไปเรื่อย โดยที่ไม่ได้จำกัดความว่าต้องเป็นแนวนี้เท่านั้น

แต่เมื่อได้ทำไปแล้วจุดหนึ่งจนถึงปัจจุบันเราก็มีกรอบในการทำงานมากขึ้น เห็นภาพมากขึ้นว่าภาพไหนที่เราเห็นตรงกันก็เลยเป็นในแบบปัจจุบันที่ได้สื่อสารออกไป ซึ่งจะมีพี่ที่คอยดูแลวงส่งเป็นลิสต์เพลงจากต่างประเทศมาให้ลองฟัง เป็นเพลงรู้สึกว่าได้กลิ่น "Night Drive"

หลังจากนั้นก็ลองแกะและวิเคราะห์มันออกมาเพื่อนำมาทำในแบบของเรา เรียกได้ว่ามันเป็นเหมือนการทดลองที่ก่อนหน้านี้ได้ทดลองมาหลายแนว แต่พอมาที่ "Night Drive" เหมือนภาพของทุกคนในวงตรงกัน มันเซ็ตมู้ดได้ถูกต้อง มือกีตาร์ต้องใช้กีตาร์เสียงนี้ถึงจะเป็นแนวนี้ กลองควรจะเป็นเสียงนี้ ร้องโดยวิธีการเปล่งเสียงแบบลมๆ ไม่จำเป็นต้องใช้พลังเสียงที่รุนแรง ก็ออกมาเป็นคำว่า Night Drive

แต่อาจจะไม่ได้พูดถึงแนวเพลงแล้ว แต่ว่านี่คือมู้ดที่เซ็ตขึ้นมาซึ่งพอเสร็จแล้วก็จะออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ทางวงต้องการ “ตอนก่อนจะทำงาน มันก็มีหลายๆ แนวที่ชอบอยากทำงานแนวนั้นแนวนี้ แต่พอได้คุยกับรุ่นพี่ที่มาช่วยดูแลเรื่องวง เขาก็บอกว่าวงนี้เหมาะกับ Night Drive นะ หลังจากนั้นพี่เขาก็ส่งลิสต์เพลงมาประมาณ 20-30 เพลง ให้ลองฟังและพอฟังแล้วก็เออมันคลิก” วิศรุต กล่าว

ทำความรู้จัก 3 หนุ่ม วง “FAUVIS” กับแนวดนตรีแบบ “Night Drive” วิศรุต วงศ์กิจพัฒน์ มือกีตาร์วง FAUVIS

นอกจากนี้ความท้าทายของการทำเพลงก็คือการที่จะทำเพลงอย่างไรเพื่อนำเสนอให้ผู้ฟังเข้าใจว่านี่คือตัวตนของวงโดย อัจยุติ เล่าว่า “รู้สึกว่าตั้งแต่เราฟังเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ เพลงที่มัน Main Stream เราฟังอยู่ในวิทยุทั่วไปเราก็จะรู้สึกว่าเราคุ้นเคยกับมัน พอเรามีได้มีโอกาสได้ทำเพลงของตัวเองเราก็อยากนำเสนอในสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับเรา ที่เราทดลองมันมาแล้วเราอยากจะเสนอสิ่งนี้ให้กับคนฟังว่าสิ่งที่เราอยากนำเสนอว่า night drive มันคือแบบฉบับของเรา”

ทำความรู้จัก 3 หนุ่ม วง “FAUVIS” กับแนวดนตรีแบบ “Night Drive” อัจยุติ สังข์เกษม มือกลองวง FAUVIS

แต่แท้จริงแล้วทางวงก็ไม่ได้มองว่านอกกระแสหรือในกระแสมีความแตกต่างกัน เพราะมองว่ามีกรอบการทำงานที่ชัดเจน มีเสียงที่อยากให้ทุกคนได้ยิน มีภาพอยากให้คนเห็น พอมีสิ่งเหล่านี้ที่อยากให้ทุกคนได้เห็น

หลังจากได้กลับมานั่งวิเคราะห์แล้วเพลงก็ไม่ได้ต่างจากในกระแสหรือนอกกระแสเท่าไหร่ “คือเราทำในสิ่งที่เราอยากให้ทุกคนเห็นว่าเราทำแบบนี้” ณปราชญ์ กล่าวเสริม นอกจากนี้สิ่งที่กำลังทำอยู่อาจจะยังไม่ได้เป็นที่นิยม ในกระแสอาจจะแปลว่าเป็นที่นิยมในหมู่มาก ซึ่งยากที่จะวิเคราะห์ว่าเพลงของวงอยู่ในกระแสหรือนอกกระแส

ทำความรู้จัก 3 หนุ่ม วง “FAUVIS” กับแนวดนตรีแบบ “Night Drive” ณปราชญ์ สัจจะไทย นักร้องนำวง FAUVIS

สำหรับทิศทางของวงในความคิดเห็นของแต่ละคนนั้นค่อนข้างเป็นไปในทางเดียวกันซึ่งวิศรุตอธิบายว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไปวงก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปี ก่อน ก็มีความเปลี่ยนมาเยอะพอสมควร “คิดว่าคงไม่ได้ทำแค่แนวนี้แนวเดียวตลอดชีวิต อีก 5 ปี อาจจะชอบแนวอื่นก็ได้แต่ก็จะยังคงความเป็นตัวเองไว้ แต่ตอนนี้เราคลิกกับแนวเพลงแบบ Night Drive ซึ่งอาจจะไม่ได้เรียกว่าแนวเพลงด้วยซ้ำมันคือมู้ดสักมู้ดหนึ่งที่อยู่ในความเป็นร็อก”

สำหรับณปราชญ์กล่าวว่าในเรื่องของการพัฒนาก็อยากจะพัฒนาในทุกด้าน เพราะนักดนตรีก็จำเป็นต้องพัฒนา อยากไปเจอคนเยอะๆ อยากพัฒนาในส่วนที่คนเห็นภาพวงเยอะๆ ว่าภาพนี้ของวงเป็นอย่างไร อยากพัฒนาในการไปโชว์แล้วให้คนเห็นว่านี้คือวง “FAUVIS” เพราะทำให้รู้สึกว่าได้พัฒนาตัวเอง สำหรับความเห็นของอัจยุติมองว่า “พัฒนาวงไปตามเวลาที่รู้สึกว่าอยากทำในขณะนั้น อยากทำให้คุณภาพดีขึ้น อยากทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น นำเสนอในสิ่งที่เราต้องการจะทำ อนาคตต่อไปหากทำเพลงแนวไหนคนก็จะเข้าใจในสิ่งที่นำเสนอ”

  • หากเปรียบวงดนตรี เป็นบริษัท

เมื่อพูดถึงวงดนตรีก็ต้องพูดถึงอุตสาหกรรมบันเทิงสำหรับในมุมมองของ FAUVIS นั้นมองว่าการตั้งวงดนตรีก็เปรียบเสมือนการก่อตั้งบริษัท ซึ่งวงก็มองว่าตั้งแต่ทำวงดนตรีก็มองว่าคือธุรกิจอย่างหนึ่งที่ก็ต้องการการจัดการในหลายด้าน ไม่ใช่แค่เรื่อดนตรีอย่างเดียว

โดยตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งวงก็ต้องตั้งความหวังไว้ด้วยว่าจะเป็นอาชีพได้ทำให้ต้องคิดอย่างรัดกุม อย่างเช่นการลงทุนด้วยเงินของตัวเองในการทำมิวสิกวิดีโอ ในการซื้ออุปกรณ์ หรือการลงทุนในเรื่องของเวลา ก็ต้องคิดว่าจะทำให้บริษัทเติบโตไปให้ได้

หรือแม้แต่เวลาทำเพลงก็ไม่ได้คิดในมุมตัวเองอย่างเดียว เพราะเราควรรับฟังลูกค้าด้วยซึ่งก็คือคนที่ฟังเพลง เขาจะซื้อเพลงหรือไม่จะรับฟังไหม เพราะการทำเพลงก็ต้องมีคนฟังเหมือนว่าเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง หรืออย่างเช่นก่อนที่จะมาถึงวันนี้เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เวลาจะเขียนเพลงจะมีความเอาแต่ใจไม่ได้สนใจว่าคนอื่น เพราะแค่ต้องการทำเพลงเพื่อให้ตัวฟัง

แต่พอโตขึ้นก็คิดว่าการทำเพลงมันเป็นธุรกิจ ในการคิดเพลงก็จะคิดอยู่เสมอว่าจะต้องพัฒนาอะไร อย่างเช่นในการเขียนเนื้อร้องก็จะดูว่าวงที่มีเนื้อร้องดังๆ เขาใช้คำอะไรกันที่สามารถทำให้คนติดใจและร้องตามได้ ก็ต้องศึกษาวิธีการเขียนเนื้อการทำทำนอว่าควรจะออกมาเป็นแบบไหน

แท้จริงแล้วก็ไม่สามารถบอกออกมาเป็นรูปแบบได้แต่เวลาอยู่กับมันนานๆ ก็หรือรู้สึกว่ามันก็คงประมาณนี้ แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ประสบความสำเร็จแต่เชื่อว่ามาถูกทางแล้ว

สำหรับณปราชญ์มองว่าอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศไทยดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ถูกปิดกั้นยังถูกครอบคลุมอยู่ หากถามว่าเมื่อก่อนกับปัจจุบันถามว่าดีขึ้นหรือก็อาจบอกได้ว่า “ดีขึ้นกว่าตอนที่พวกเราเด็กๆ เช่นเมื่อก่อนเราจะได้ยินคำว่าวงใต้ดิน แต่ปัจจุบันก็เปิดกว้างมากขึ้นมีอิสระมากขึ้น เมื่อก่อนวงต้องมีค่ายถึงจะดัง แต่ปัจจุบันวงอิสระก็ดังเยอะ ส่วนตัวมองว่าดนตรีคือศิลปะถ้ามันถูกทำให้คนเห็นเยอะๆ ถ้าถูกจัดแจงให้อยู่ในที่ที่ถูกที่ควร ถูกสนับสนุนในที่ที่ควรจะเป็น มองว่าทุกอย่างจะดีขึ้นแน่นอน”

นอกจากนั้นแล้วก็อยู่ที่รัฐบาลด้วย อย่างเช่นสมัยที่เกาหลีก็มาดูค่ายใหญ่ค่ายหนึ่ง ของไทยเมื่อประมาณ 20 ปี ก่อน แต่ปัจจุบันเกาหลีนำไปแล้วและอุตสาหกรรมที่ทำเงินอันดับหนึ่งของเกาหลีคือเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งอัจยุติมีความเห็นว่า “เรายังอยู่ที่เดิมเหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้วเหมือนถูกแช่แข็งไว้ หรืออาจจะไม่ได้ขยับไปไหนเลยด้วยซ้ำ สมมติว่าทั้งวงการดนตรีได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลมาสนับสนุนอย่างจริงจัง มันอาจจะไปได้มากกว่านี้เยอะเพราะเราก็รู้ว่าประเทศไทยมีศิลปินมีคุณภาพเยอะมาก” ทำความรู้จัก 3 หนุ่ม วง “FAUVIS” กับแนวดนตรีแบบ “Night Drive” วง FAUVIS

อาจเรียกได้ว่าวงการศิลปะถูกขับเคลื่อนด้วยคนที่อยู่นอกกระแสมาก่อน แต่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนที่วัฒนธรรมอย่างแท้จริงหรืออาจจะมีแต่ก็ยังไม่ชัดเจน ซึ่งถ้าหากไปดูตัวอย่างของต่างประเทศผู้ที่สนับสนุนหลักจริงๆ ก็คือรัฐบาล เพราะถ้าเป็นองค์กรเอกชนอย่างเดียวไม่สามารถแบกรับได้ มีหลายวงที่ล้มหายตายจากไปเพราะการสนับสนุนของรัฐบาลไม่เพียงพอ รายได้หลักไม่ได้มาจากการขายบัตรแต่มาจากสปอนเซอร์

ทั้งหมดนี้ก็คือนิยามของแนวเพลงแบบ “Night Drive” ซึ่งมาจากมุมมองที่หลากหลายแตกต่างแต่ลงตัวของสมาชิกทั้ง 3 คน จากวง “FAUVIS” ที่รวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานเพลงมาแล้วหลายปี รวมถึงการมองภาพวงดนตรีให้เป็นธุรกิจที่มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงไทยอีกด้วย