"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน ให้เป็นคนมีบ้าน

"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน ให้เป็นคนมีบ้าน

ถอดโมเดลต้นแบบ "โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" จุดเริ่มต้นแห่งความหวัง เปลี่ยนชีวิต "คนไร้บ้าน" ให้เป็น "คนมีบ้าน" ลดความเสี่ยงทางสุขภาวะในพื้นที่สาธารณะ

"ไม่มีบ้าน ที่อาบน้ำ ซักผ้า เราต้องไปใช้ที่ปั๊ม เวลาไปหางานอะไรมันก็ยาก คนมักมองว่าเราแต่งตัวไม่ดี เขาก็รังเกียจ เราไม่ได้แต่งตัวสะอาดสะอ้าน เขามองว่าเราสกปรก ไม่ค่อยอยากรับ"

"เราไปสมัครงาน พอรู้เราเป็นคนไร้บ้านไม่ไว้วางใจเรา"

"เมื่อก่อนอาชีพเราไม่มี ทำให้เราต้องออกมานอนที่สาธารณะ วันไหนฝนตกต้องรอฝนหยุดก่อนถึงจะออกไปหาที่นอนได้" 

"กังวลว่าของเราจะหาย บางทีตื่นมาไม่รู้แล้ว บางทีเผลอนอนหลับไปบัตรประชาชนหาย ทำอะไรไม่ได้เลย"

"บางทีเจ้าหน้าที่ก็มาไล่ ถูกจัดระเบียบ"

"บ่อยครั้งเคยถูกหลอกไปทำงานไม่ได้เงิน"

"ตอนโควิด-19 มาก็กลัวนะโรคระบาด แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราไม่มีบ้าน"

เหล่านี้ คือเสียงสะท้อนความยากลำบากของคนจนเมือง แม้พวกเขาจะถูกมองว่าเป็น "คนไร้บ้าน" แต่ฝันของพวกเขาก็คือการมีบ้าน มีที่พักอาศัยไม่ต่างกันจากคนอื่น

"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน ให้เป็นคนมีบ้าน

ชีวิตแบบ "คนจนเมือง"

สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะปัญหาสุขภาพ สำหรับคนที่อยู่ในมุมเล็กๆ ของสังคม ที่มีชีวิต "หาเช้ากินค่ำ" ใช้ "แรงงานแลกเงิน" อาจได้รับความกระทบกระเทือนมากกว่านั้น

สองปีกว่าที่ผ่านมา อาจทำให้หลายชีวิต "จนลง" หรืออาจถึงขั้น "ไม่มีจะกิน" ซึ่งผลจากการเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม ทำให้คนจนอีกหลายชีวิตต้องก้าวสู่วิถี "ชีวิตไร้บ้าน" อย่างจำใจ จึงอย่าแปลกใจที่ผลสำรวจพบจำนวนคนไร้บ้านหน้าใหม่ในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น 

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ไขความกระจ่างในเรื่องนี้ ในงานถอดบทเรียนโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนารูปแบบและนําร่องการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินสําหรับกลุ่มคนไร้บ้าน ในกรุงเทพมหานคร เธอบอกว่า ช่วงโควิด-19 ทำให้คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากคนไร้บ้าน 1,307 คน เพิ่มเป็น 1,700 - 1,800 คน ขณะที่คนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4,000 คน

"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน ให้เป็นคนมีบ้าน

สำหรับชีวิตหนึ่งๆ ของคนเรา การมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัย คือเกราะป้องกันจากภยันตรายนานาแต่วิกฤติโควิด-19 เกือบทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะเข้าขั้นคนไร้บ้าน "ล้นเมือง" เมื่อศูนย์พักคนไร้บ้านของภาครัฐและภาคประชาสังคมในปัจจุบัน ไม่เพียงพอกับการรองรับ ส่งผลให้คนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ต้องเจอความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ 

จุดเริ่มความหวัง แค่เพียงให้ตั้งหลักได้

จากการทำงานกับแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพบว่า การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน เสี่ยงทำให้มีปัญหาทางสุขภาพกายและใจ

"หากปล่อยให้เกิดการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน จะทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพกายและจิตใจที่สูงขึ้น สสส. จึงเร่งดำเนินการสิ่งจำเป็น บรรเทาปัญหาคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลายด้าน" ภรณีเอ่ย

"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน ให้เป็นคนมีบ้าน

เมื่อ "ที่อยู่อาศัย" เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ลดความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะ การเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะได้

ทาง สสส. และภาคีจึงร่วมการพัฒนานวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน หรือโครงการ "ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" โมเดลต้นแบบช่วยเหลือเรื่องที่พักและอาชีพของคนไร้บ้าน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มสำคัญที่จะทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดี

"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน ให้เป็นคนมีบ้าน

"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" คืออะไร

โครงการ "ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" เป็นการจัดการที่อยู่อาศัยผ่านการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในรูปแบบ "แชร์" ค่าเช่าที่อยู่อาศัย โดยร่วมกับกองทุนที่เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ในการให้คนไร้บ้านต้องสมทบค่าเช่าร่วมกับโครงการฯ ในสัดส่วน 60:60 ของค่าเช่าห้อง โดยทางโครงการจะแบ่งส่วนที่เพิ่มร้อยละ 20 ของการสมทบจากคนไร้บ้าน นำไปเป็นเข้าไว้ในกองทุนช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มคนไร้บ้านในด้านอื่นๆ หรือรายอื่นๆ ต่อไป

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เล่าที่มาโครงการว่า ในช่วงโควิด-19 ปีที่แล้ว คนไร้บ้านต้องเผชิญปัญหาเข้าไม่ถึงทั้งด้านการรักษา วัคซีน อาหาร เรียกว่าทุกเรื่องล้วนมีปัญหา จึงชวนกันสำรวจ เขาเข้าไม่ถึงอะไรบ้างแล้วเขาต้องการอะไรบ้าง เพื่อที่จะนำข้อเสนอเหล่านี้ เสนอแก่หน่วยงานที่ต้องช่วยเหลือเขา หนึ่งในข้อเรียกร้องเขาอยากให้จุดประสานงานคนไร้บ้านในที่สาธารณะ เพราะเวลาเขาต้องการติดต่อหน่วยงานราชการ เดือดร้อนเขาไม่รู้จะเดินเข้าไปหาใคร คนไร้บ้านเขาไม่กล้าไปติดต่ออะไรหรอก ส่วนอีกข้อเสนอหนึ่ง เราพบคนที่อยู่ในที่สาธารณะไม่ใช่แค่คนไร้บ้านอย่างเดียวที่ผ่านมา แต่เป็นคนที่หลุดมาจากห้องเช่า เพราะตกงานหรือรายได้ไม่เพียงพอ

ปัจจุบัน คนไร้บ้าน บางส่วนก็เช่าบ้านเช่าห้องแบบรายวัน พอ 2-3 วันไม่มีเงินก็ออกมานอนที่สาธารณะ เราเลยรวมคนกลุ่มนี้ มาดูกันว่าทำอย่างไรให้เขาสามารถอยู่บ้านเช่าหรือที่พักได้ระยะยาว ตอนนั้นจึงคิดว่าควรช่วยสนับสนุนบ้านเช่า 6 เดือน เพื่อให้เขาตั้งตัวได้ หางานใหม่ได้ ตั้งหลักได้

"ช่วงแรกโครงการนี้ช่วยลดภาระของเขาไปได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากเขาไม่ต้องกังวลตรงนี้ ก็ช่วยลดปัญหาด้านอื่นไปได้เยอะ ทำให้เขาสามารถเช่าห้องหรือบ้านอยู่ได้ เงินที่เขาต้องนำไปจ่ายที่อยู่อาศัยก็สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ ได้ อย่างบางรายมีลูกอ่อน ยังไงเขาก็จำเป็นต้องหาที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะแพงยังไง ก็ต้องหาให้ได้ เขาก็ต้องไปขวนขวายทำงาน แล้วเงินทั้งหมดที่ได้ก็เอามาจ่ายค่าเช่าหมดเลย แต่พอลดภาระตรงนี้เขาก็มีเงินพอเป็นค่าใช้จ่ายดำรงชีพ มีเงินไปซื้อนมให้ลูก บางรายมารวมกลุ่มกัน มาเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน อย่างใกล้ๆ หัวลำโพงนี่เพราะเป็นที่รู้กันว่าถ้าต้องการแรงงานก็จะมาติดต่อกันที่นี่ ซึ่งนอกจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในเชิงนามธรรมคือ สัมพันธภาพที่เปลี่ยนไป เพราะเดิมคนไร้บ้านเองก็กลัวคนไร้บ้านกันเอง แต่เดี๋ยวนี้พอรู้จักกัน รวมกลุ่มกัน เวลามีงานก็มีเครือข่ายที่ส่งต่อกันได้" เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าว

"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน ให้เป็นคนมีบ้าน

ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง

"ป้าราตรี" เป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งเผชิญปัญหานี้ การไม่มีรายได้เพียงพอ ทำให้ต้องออกมานอนอยู่ข้างนอกประมาณ 6 เดือน แต่วันนี้ ป้าราตรีกับเพื่อนอีกหลายคน มีที่พักพิงของตัวเองแล้ว เมื่อเข้าร่วมโครงการ "ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมที่อยู่อาศัยยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

"มีความรู้สึกว่าเรามีบ้านให้กลับ อยากรีบกลับบ้านนอน จะได้ตื่นมาทำงานตอนเช้า" 

"ไม่ต้องกลัวฝนตกอีกต่อไปแล้ว"

"รู้สึกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น รู้สึกว่าตัวเองสะอาด ได้อาบน้ำ ได้แต่งตัวสะอาดสะอ้าน รู้สึกได้ว่าคนต้อนรับเราดีขึ้น"

"สิ่งที่ดีที่สุดคือพวกเราดูแลกันเอง ไม่ทิ้งกัน" 

นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของป้าราตรี และคนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง

ภรณี กล่าวเสริมว่า สุขภาวะที่ดีคือภาวะที่ทำให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้น สำหรับคนไร้บ้านสิ่งที่เขาจะมีความสุขเรื่องแรกคือที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งสำคัญเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต หลังจากนั้นที่เหลือเราจะขับเคลื่อนสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านให้มีสุขภาวะดีในด้านสุขภาพต่อไป

สำหรับโมเดลที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เป็นการระดมความคิดช่วยกันแก้ปัญหา สสส.เป็นเจ้าภาพในช่วงแรกที่ร่วมสนับสนุน ซึ่งนำร่อง 30 รายแรก ก่อนขยายผลเป็นเฟสสอง และสามต่อไป ซึ่งผลจากการดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงที่อยู่อาศัย 30 ราย และมีกองทุนสะสมเครือข่ายฯ กว่า 3 หมื่นบาท หลังจากนั้นในเดือน พฤษภาคม -กรกฎาคม ยังมีผู้สนใจเข้าร่วมอีก 20 ราย และเดือน มิถุนายน-สิงหาคมจะเพิ่มขึ้นอีก 10 ราย

สะท้อนว่าโครงการนี้ ช่วยให้เข้าถึงที่อยู่อาศัย ทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงงาน และรายได้ที่เพียงพอ มีเงินออม มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นพื้นฐานสำคัญของการตั้งหลักชีวิต ความสำเร็จที่เกิดขึ้นชี้ขัดว่า คนไร้บ้านมีศักยภาพหากได้โอกาสและการสนับสนุน 

"คนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ข้อแม้หนึ่งของเราคือ เงื่อนไขของเขาคือ เขาต้องเข้าร่วมโครงการอบรมส่งเสริมอาชีพกับเราด้วย ดังนั้น เราจึงเลือกคนที่สมัครใจเข้ามาเอง เพราะบางคนอาจไม่อยากทำงานหรืออยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรอีกแล้ว ฝึกอาชีพ ต้องสัญญากับเราต้องจ่ายเงินคืนอีกครึ่ง ดังนั้นหากเขาไม่มีงานก็ไม่มีรายได้ ทางห้องเช่าต่างๆ เขาเองก็เดือดร้อนเหมือนกัน เศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนต้องปรับตัวกันหมด" ภรณี กล่าว

"ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" นวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตคนไร้บ้าน ให้เป็นคนมีบ้าน

นอกจากนั้น ยังเผยต่อว่า สสส. จะสนับสนุนจนกระทั่งเห็นต้นแบบ แนวทาง เมื่อรู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร และควรเข้าไปเสริมอะไรจึงจะตรงกับความต้องการ และจะทำให้คนไร้บ้านสามารถยืนได้เองในระยะยาว

ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ได้มีการถอดบทเรียนสำคัญหลายอย่างที่ต้องนำไปปรับปรุงในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน เช่น ผลสำรวจสะท้อนว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรจัดที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้านในเมือง ไม่ใช่ให้เขาไปอยู่ชานเมือง ซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ แม้จะมองว่ามีที่นอน แต่ขัดกับการดำรงชีวิต การให้เขาอยู่ในเมืองเป็นการแก้ปัญหาและตอบโจทย์เรื่องอาชีพของเขาได้

กทม. ร่วมหนุนนโยบา

ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 สสส. ยังร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ และภาคีเครือข่าย ได้ลงพื้นที่จุดประสานงานช่วยเหลือคนไร้บ้านหัวลำโพง ผสานความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ หนุนเสริมและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากภาวะไร้บ้าน และการตั้งหลักชีวิตของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือผลักดันนโยบายคนไร้บ้าน และการป้องกันกลุ่มเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน หรือ "คนไร้บ้านหน้าใหม่" พร้อมตั้งเป้าฟื้นโครงการ "บ้านอิ่มใจ"

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ไม่อยากให้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "คนไร้บ้าน" จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ร่วมกับ สสส. พม. เครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาสังคม โดย กทม. สนับสนุนโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ของ สสส. และภาคีเครือข่าย  

"การลงพื้นที่ดูโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดี ที่จะเป็นโมเดลฟื้นฟูโครงการอิ่มใจ เพื่อคนไร้บ้านกลับมาอีกครั้ง โดยจะนำเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อ โดยจะเน้นให้ที่อยู่อาศัยกับที่ทำงานของคนไร้บ้านใกล้กัน เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคในการตั้งหลักชีวิต" รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว