“กัญชา”พาเพลิน อย่าเพลินจนเมา :"เดชา ศิริภัทร”เตือนใช้ให้ถูกที่ ถูกทาง

“กัญชา”พาเพลิน อย่าเพลินจนเมา :"เดชา ศิริภัทร”เตือนใช้ให้ถูกที่ ถูกทาง

ไม่ใช่ชั่วโมงเลคเชอร์"กัญชา" แค่เรื่องเล่าเบาะๆ ใบไม้สีเขียวๆ ยิ่งกิน ยิ่งอร่อย เมื่อใดที่ออกฤทธิ์ ลองนึกภาพ"ตะกายข้างฝา" ก็ด้วยเหตุนี้ กฎหมายเรื่องนี้จึงรอไม่ได้นาน...

"กัญชาเสรี"ในเมืองไทย กำลังเป็นเรื่องสับสนวุ่นวายในช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้กัญชาส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติด(ใบ กิ่ง ก้าน) จะถูกควบคุมปริมาณสาร THC ไม่ให้ใช้เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ในส่วนผสมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง แต่ในทางปฎิบัติยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน ปัญหาจึงตกอยู่ที่ผู้บริโภค 

เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....ยังรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกัญชา และมีช่องว่างหลายเรื่อง รวมถึงองค์ความรู้ในเรื่องการใช้กัญชาประกอบอาหารและเครื่องดื่ม ปริมาณที่ใช้มีผลต่อผู้บริโภคต่างวัย โดยเฉพาะคนมีโรคประจำตัว

ล่าสุดการปลดล็อกกัญชา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ทั้งเรื่องการปลูกกัญชา อาหารและเครื่องดื่ม แต่ความเข้าใจเรื่องการใช้กัญชาและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ยังน่าเป็นห่วง 

 

 

ล่าสุด "กรุงเทพธุรกิจ" มีโอกาสคุยกับ เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ และหมอพื้นบ้าน จ.สุพรรณบุรี ที่ต่อสู้เรื่องกัญชาเสรีมาหลายสิบปี เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค ปัจจุบันเดชายังเดินหน้าแจกน้ำมันกัญชาและสอนวิธีทำ รวมถึงสอนวิธีการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค

เมื่อกัญชาเปิดเสรีแล้ว เรื่องที่เขาเป็นห่วงมากที่สุด ..กลับไม่ใช่เรื่องการสูบกัญชา แต่เป็นเรื่องการทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาที่ใครๆ ก็อยากทำ แต่หลายคนไม่มีความรู้ รวมถึงปัญหาอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชาที่ไม่ได้มาตรฐาน

"เมื่อใดที่กัญชาออกฤทธิ์ คนกินจะเมาไม่รู้ตัว" เดชา กล่าว และอีกหลายเรื่องที่พูดคุย...

“กัญชา”พาเพลิน อย่าเพลินจนเมา :\"เดชา ศิริภัทร”เตือนใช้ให้ถูกที่ ถูกทาง

 

  • เมากัญชาแบบไม่รู้ เป็นอย่างไร

บางคนไม่รู้ว่ากินอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาไปแค่ไหน เพราะกัญชาไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที ไม่เหมือนการสูบกัญชาจะออกฤทธิ์เร็ว แต่การกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมกัญชา ยิ่งกินยิ่งอร่อย กว่าจะออกฤทธิ์ครึ่งชั่วโมง และถ้ากินร่วมกับการดื่มเหล้าจะอันตรายมาก

  • หลังจากกัญชาเสรี(ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน65) มองเรื่องนี้อย่างไร

รอมานานตั้งแต่ปี 2522 กว่า 40 ปี เมื่อก่อนคนที่อยากใช้ประโยชน์จริงๆ ต้องแอบและถูกจับเยอะ ตอนนี้ในแอปฯ ปลูกกัญ เข้าไปลงทะเบียนกว่า 30 ล้าน

เห็นชัดว่าคนส่วนใหญ่ต้องการกัญชา และในชีวิตประจำวันคนไทยก็เคยใช้กัญชา จริงๆ แล้วสารTHC ในกัญชา ที่ไม่ใช่ส่วนยาเสพติด เป็นสารทำให้เมา สารความสุขที่มีอยู่ในสมองมนุษย์อยู่แล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ กัญชาไม่ใช่สารเสพติด เพียงแต่อเมริกามีแนวทางในการทำให้ยูเอ็นยอมรับว่าเป็นยาเสพติด เพราะเรื่องนี้ผลประโยชน์เยอะ

ตอนนี้มี 3 ประเทศที่เสรีเรื่องกัญชา อย่างอเมริกายังครึ่งๆ กลางๆ ถ้าเป็นมาเลเซียสูบกัญชาอาจมีโทษประหารชีวิต

  • ตอนนี้การใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรคเป็นอย่างไรบ้าง

ที่ผมทำน้ำมันกัญชาเป็นแบบเจือจาง ไม่ให้เมา แต่ให้นอนหลับดีๆ ใช้เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง รักษาได้หลายโรค ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องพิสูจน์ คนก็กลัวว่าจะมีอาการเมา ผศ.นพ.ดร.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ใช้กัญชารักษาอาการป่วยของแม่ที่เป็นตับแข็ง เพราะตอนนั้นเขาทุ่มหาข้อมูลทุกอย่างและเป็นคนหนึ่งที่มีข้อมูลกัญชามากที่สุด รวมถึงทำวิจัยเรื่องกัญชา แต่มีคนมากมายพูดเรื่องกัญชาแบบไม่มีข้อมูล

  • แม้ตำรับกัญชาหมอเดชาจะได้รับการรับรองแล้ว แต่การใช้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ?

ตำรับที่ผมคิดน้ำมันกัญชา (สูตรหมอเดชา) ได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกใช้ในการดูแลผู้ป่วย ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต

มีงานวิจัยเป็นที่ยอมรับ เพราะวิจัยจากการรักษาคนป่วยด้วยกัญชาเกือบสองแสนคน และรักษาได้ 8 โรคได้ผลเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ตำรับน้ำมันกัญชาที่ผมคิดเข้าระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคคือรักษาทั้งมะเร็ง พากินสันและไมเกรนได้

แต่ในทางปฎิบัติ แพทย์เป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ซึ่งตำรับที่ผมทำ วิธีการทำน้ำมันกัญชามีอยู่ในยูทูป น้ำมันกัญชาที่สกัดแล้วของผม สารในกัญชามีค่า THC ต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ใช้ได้เสรีไม่มีข้อจำกัด

ตำรับน้ำมันกัญชาของผมเป็นยาแผนไทย ใช้หยอดตา หยอดหู หยอดจมูกได้ ผมทำมานานกว่า 10 ปี ถ้าน้ำมันกัญชามีปริมาณสารในกัญชา THC เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ เกินจุดที่ทำให้หลับดี ก็ใช้ไม่ได้ผล น้ำมันกัญชาช่วยให้หลับมีคุณภาพ และการหลับมีคุณภาพสามารถซ่อมแซมร่างกายได้ เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์

  • สายพันธุ์กัญชามีต่อการทำน้ำมันกัญชาไหม

ไม่มี เพราะดูที่ผลการนอนหลับ บางสายพันธุ์เอามาทำน้ำมันกัญชา อาจทำให้หลับยาก ก็ค่อยๆ ปรับ บางสายพันธุ์ทำให้หลับง่าย ก็กินน้อยๆ ให้ดูอาการนอนหลับเป็นตัวตั้ง แต่ละคนที่ใช้ได้ผลไม่เหมือนกัน อย่างผมเคยใช้น้ำมันกัญชา 10 หยด บางสายพันธุ์ที่นำมาทำอาจใช้แค่ 5 หยด ปริมาณการใช้ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำมันกัญชา

  • เมื่อเปิดเสรีกัญชาแล้ว ห่วงเรื่องใดมากที่สุด

ผมห่วงคนที่นำไปใช้ทางธุรกิจมากไป แล้วจูงใจคนอื่นว่า ปลูกกัญชาแล้วรวย ชวนลงทุนเรื่องกัญชา แบบนี้น่ากลัว เพราะกระแสแรง จริงๆ แล้วกัญชา ถ้าใช้เป็นยา ไม่มีอะไรน่ากลัว ลูกศิษย์ผมเคยลองน้ำมันกัญชาแรงที่สุด กินไป 3 CC( 3 มิลลิลิตร) หลับไปไม่รู้ตัว 3 วัน ลองแบบสุดๆ แต่มีคนเฝ้าดู  

อีกอย่างตอนนี้รอกฎหมายควบคุมกัญชา เหมือนพืชใบกระท่อม ตอนนั้นกระท่อมไฟเขียวไปสองปีกว่าจะมีกฎหมาย

ตอนนี้ร่างพ.ร.บ.กัญชาและกัญชง ยังอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร และตอนนี้คนที่ได้สิทธิออกจากคุกคดีกัญชา แล้วมีการระงับให้อยู่ในคุกต่อ โดยบอกว่า รอกฎหมาย เรื่องแบบนี้ถูกต้องไหม

  • ห้ามเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีสูบกัญชา ? 

ตามกฎหมายต้องห้าม แต่แอบสูบกัน ควบคุมไม่ได้ แม้จะไม่มีปัญหา แต่คนส่วนใหญ่กลัว

  • มีเรื่องไหนต้องเตือนประชาชนเป็นกรณีพิเศษ

ห่วงเรื่องการหากินกับกัญชา ปั่นกระแส บางทีก็ใช้ไม่ถูกวิธี อาทิ โฆษณาว่า กินแล้วเมารักษาหายทุกโรค คนละเรื่องกัน ไม่ใช่แบบนั้น ต้องกินให้หลับสบาย เพราะการใช้เป็นยาใช้ในปริมาณที่เจือจาง ตำรับน้ำมันกัญชาของผมเจือจาง 3 % แต่ในตลาดกัญชาความเข้มข้นประมาณ 60 % ถ้าใช้แล้วนอนหลับมากไปหรือน้อยมาก ก็ไม่ได้

ยิ่งมีคนอยากขาย แล้วบอกว่ากัญชาเป็นยาวิเศษ กินเยอะๆ ยิ่งดี ยิ่งเมายิ่งหาย คนก็เสียเงินไปเมากัญชา กินแล้วไม่หายสักโรค

ยิ่งโรคหัวใจนี่ กัญชาใช้ไม่ได้ เพราะเวลากินให้เมา หัวใจจะเต้นแรง ความดันโลหิตสูงกว่าเดิม อันตรายมากกว่าเดิม 

คนเป็นโรคหัวใจ ไม่ควรกินหรือเสพกัญชาจนเมา ถ้าใช้กัญชาเพื่อการนอนหลับไม่เยอะ รักษาโรคได้

  • การสูบกับการกินกัญชา ผลต่างกันอย่างไร

สูบกัญชาจะออกฤทธิ์เร็ว หมดฤทธิ์เร็ว เมาก็เลิก แต่การกินกัญชา ไม่ได้เมาทันที กว่าจะออกฤทธิ์ครึ่งชั่วโมง ออกฤทธิ์แล้วสองสามวันทำอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการกินจะทำให้เกิดโทษเยอะ เพราะไปเชื่อกันว่า กินแล้วเมารักษาโรค มีผลเสียเยอะ

โดยเฉพาะการใส่ในอาหาร กินแล้วอร่อย ไม่เมาทันทีก็กินเยอะ และบางคนไม่รู้ว่าเมา เรื่องนี้ต้องระวัง ต้องควบคุมให้ดี ถ้าเมายาวๆ จะทำให้เสียเวลาหลายวัน เรื่องอาหารและเครื่องสำอางจึงต้องมีกฎหมายควบคุมเฉพาะ ต้องรอกฎหมาย เพราะตอนนี้สุญญกาศไม่มีอะไรควบคุม จึงมีคนหาประโยชน์จากเรื่องนี้

  • ปัญหาคือ ผู้บริโภคไม่รู้ว่ากินแค่ไหนเมา

เพราะเป็นเรื่องใหม่ มีคนบอกว่ายิ่งเมา ยิ่งดี ไม่อันตราย ก็จริงไม่อันตราย แต่การกินอาหารที่มีส่วนผสมกัญชาเยอะๆ ไม่มีประโยชน์ ตอนนี้ต้องระวังเรื่อการกินเพื่อสันทนาการ  อย่างอาหารจำพวกคุกกี้ช็อคโกแลตกัญชา ในเมืองนอกขายปกติ ยิ่งกินยิ่งอร่อย แต่เวลาออกฤทธิ์ บางทีเมาหลายวัน

  • ความเข้มข้นของสารในกัญชาที่ใส่ในอาหาร น่าเป็นห่วงอย่างไร 

ปัญหาตอนนี้ไม่มีกฎหมายควบคุม กลุ่มคนที่ทำอาหารจากกัญชาแบบมือสมัครเล่น มักบอกผู้บริโภคว่า สาร THCที่ใส่ในอาหารไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่ปริมาณเกิน เพราะตอนนี้ไม่สามารถควบคุมจริงจัง