กัญชา พืชเศรษฐกิจใหม่ กับบริบทเก่าๆ ในสังคม

กัญชา พืชเศรษฐกิจใหม่   กับบริบทเก่าๆ ในสังคม

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีผลบังคับใช้วันที่ 9 มิ.ย.2565 ซึ่งมีผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ประชาชนสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่จดแจ้งเท่านั้น

นับเป็นแรงกระเพื่อมในสังคมไทยที่เคยอยู่มากับทัศนคติว่า “กัญชาและกัญชง” คือยาเสพติด เป็นพิษร้ายต่อสุขภาพและร่างกายของผู้เสพและผู้คนในสังคม เพราะฤทธิ์ของพืชชนิดนี้ได้เคยสำแดงฤทธิ์เดชด้วยข่าวคราวผู้เสพ หรือสูบ ออกอาการเคลิบเคลิ้มจนเลยเถิด จนเกิดการทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการปลดล็อก กัญชาฯ ครั้งนี้ แม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้แล้ว ก็ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคมถึงความเหมาะสมอยู่ 

ด้านเนื้อหาข้อกฎหมาย พบว่าขั้นตอนการปลดล็อกออกจากสารเสพติด และขั้นตอนการกำหนดกรอบการดูแลการใช้ประโยชน์ยังมีความหละหลวมและสาระสำคัญของประกาศยังมีช่องโหว่อีกมาก ที่นำไปสู่ความกังวลว่า การใช้กัญชาจากนี้จะเป็นไปในวิถีสันทนาการมากกว่าการรักษาทางการแพทย์ และการสร้างพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นวัตถุประสงค์ตั้งต้นของการแก้ไขกฎหมายนี้

หากจะพิจารณาคุณสมบัติกัญชาว่าจะสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด เริ่มต้นจากความสนใจจากสังคม ก็พบว่ามีความตื่นตัวต่อพืชชนิดนี้ นำไปสู่ความพยายามปลูกและใช้งานกันอย่างแพร่หลายในระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม

หลังผู้ประกอบการทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม อาหาร ยารักษาโรค และอาจรวมไปถึงธุรกิจสันทนาการอื่นๆ นำกัญชามาเป็นจุดขายเพื่อสร้างความแตกต่าง หวังโกยรายได้จุนเจือธุรกิจหลังผ่านวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติต่างๆ ในปัจจุบัน ทั้งน้ำมันแพง เศรษฐกิจฝืด และปัญหาสงครามในต่างประเทศ

การพิจารณาคุณสมบัติต่อมาคือ การสร้างรายได้จริง เรื่องนี้ต้องคุยกันยาวๆ เพราะรายได้ที่ว่านี้หากนับรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนปรับพื้นที่เกษตรเพื่อปลูกกัญชา ซึ่งในทางปฏิบัติจริงในระดับอุตสาหกรรม ต้องใช้เทคนิคและความละเอียดอ่อนที่สูงมาก นั่นหมายถึงการลงทุนที่จะสูงตามไปด้วย

 

ขณะที่ผลตอบแทนจาการลงทุนยังเป็นข้อสงสัยว่า เอาเข้าจริงแล้ว “กัญชา” จะแทรกตัวเข้าสู่ความนิยมอย่างกว้างขวางในสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด ทั้งในแง่การบริโภค การเสพ (ไม่ติด) และการแพทย์ ที่ต้องยอมรับว่ามีข้อมูลอยู่น้อยมากเกี่ยวกับผลการรักษาในโรคยอดนิยมต่างๆ ทั้งเบาหวาน ความดัน หัวใจ หรือแม้แต่มะเร็ง ดังนั้น การลงทุนในพืชเศรษฐกิจนี้ยังอยู่ในระดับโอกาสดี แต่ก็มีความเสี่ยงสูงอยู่

“ลองดูก็ไม่เสียหาย” แม้จะยังมีคำถามเกี่ยวกับ “กัญชา” อยู่อีกมาก แต่การที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ซึ่งการลงทะเบียนนี้ก็เพื่อทำให้ทราบจำนวนและแหล่งที่ปลูกกัญชาและกัญชงทั่วประเทศ นับเป็นช่องทางการประเมินถึงความคุ้มค่าระหว่างความเสี่ยงกับประโยชน์ที่ได้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกล้ามากพอที่จะถอยหลัง หรือปรับส่วนที่ยังเสี่ยงเพื่อให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้คำถามต่าง ในบริบทเก่าๆ ของสังคมไทย