สสส.-จุฬาฯ นำร่องลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต

สสส.-จุฬาฯ นำร่องลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต

สสส.-จุฬาฯ นำร่องลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมทักษะเท่าทันสื่อ ก้าวทันโลก เพื่อพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ผ่านแพลตฟอร์ม CU Neuron

ความเปลี่ยนแปลงของโลกกำลังทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไป และยังส่งผลให้โลกการเรียนรู้ยุคใหม่นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิมๆ หากทุกคนต้องมีทักษะใหม่ที่เหมาะกับโลกยุคศตวรรษที่ 21 แนวคิดในเรื่องของ "Life long Learning" จึงกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องจำเป็นของคนยุคนี้ต้องปรับตัวให้เท่าทัน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดลงนามบันทึกข้อความตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รศ. ดร. นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) ศ. ดร. ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม และ ผศ. ดร. สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกัน "พัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร" ผนวกความรอบรู้ด้านสุขภาพในการเรียนการสอนระบบมหาวิทยาลัย ผ่านแพลตฟอร์ม CU Neuron ณ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ชั้น 34 อาคาร SM Tower

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ร่วมทำงานขับสร้างการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร นิสิตนักศึกษา และบุคลากรประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดการขยายพื้นที่การเรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมวางแผนเปิดหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่างๆ เช่น หลักสูตร เมืองน่าอยู่ หลักสูตร การสื่อสารเพื่อสังคม หลักสูตร การสื่อสารเพื่อสร้างองค์กรแห่งความสุข" รศ. ดร. นพ. นันทวัช กล่าว

สสส.-จุฬาฯ นำร่องลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึง การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพ แก่ นิสิต/นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป ด้วยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนทางด้านวิชาการ อาทิ การสร้างและพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป หลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น สนับสนุนหรือร่วมดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน และเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงาน

สสส.-จุฬาฯ นำร่องลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต

ผศ. ดร. สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป กล่าวว่า สำหรับกรอบความร่วมมือระหว่าง Thaihealth Academy และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ในการพัฒนาหลักสูตร E–learning เรียกว่า "Life long Learning" ที่มี micro credit และ learning outcome ซึ่งเป็นโครงการในอนาคตจะนำเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม ที่เรียกว่า CU Neuron เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทั้งวิชาออนไลน์ของศูนย์การศึกษาทั่วไป คอร์สออนไลน์จาก Chula MOOC และคอร์สระยะสั้นของ CUVIP คอร์สพิเศษจาก PacRim และ SkillLane ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความสะดวก พร้อมรับประกาศนียบัตร CU Neuron ยังรองรับการเก็บหน่วยกิต ผ่านธนาคารหน่วยกิต (credit bank) สำหรับหลายวิชาที่สามารถเทียบโอนใช้ได้เมื่อเลือกเรียนหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ที่ CU Neuron

สสส.-จุฬาฯ นำร่องลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต

ผศ. ดร.สุวิธิดา กล่าวเสริมว่า โครงการยังได้จัดทำหลักสูตร CU Learning โดยเริ่มนำร่องจากกิจกรรมหลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น (CUVIP) ใช้ชื่อว่า "CUVIP series" ซึ่งมาใน Theme "เท่าทันสื่อ ก้าวทันโลก" โดยมุ่งเน้นการมีเสรีภาพทางความคิด อ่าน ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อ สร้างความสามารถในการคิด เลือก ตัดสินใจ อย่างใช้วิจารณญาณในฐานะพลเมืองที่อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเคารพความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดทักษะทางด้าน "Media Literacy, the essential skill for well-being" แบ่งเป็น 12 กิจกรรม ในระยะเวลา 2 เดือน คือเดือนมิถุนายน 2565 จัดกิจกรรม ได้แก่ 1) เปิดสายตาอ่านสื่ออย่างรู้เท่าทัน MIDL 101 2) สูงวัยรู้ทันสื่อ 3) การใช้สื่อดิจิทัล กับการจัดการอารมณ์ 4) เรียนรู้รับมือคุกคามทางเพศออนไลน์ 5) พื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking 101) และเดือนกรกฎาคม 2565 ได้แก่

  1. ทำอย่างไรเมื่อซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปก
  2. พลเมืองดิจิทัลกับการรับมือข้อมูลข่าวสาร
  3. การนำเสนออัตลักษณ์ผ่านสื่อดิจิทัล
  4. การเคารพสิทธิบนโลกออนไลน์
  5. พลิกมุมคิด สะกิดมุมมอง วิพากษ์สื่อด้วยสายตาพลเมือง (MIDL for Citizenship)
  6. เอาตัวรอดเมื่อถูกกลั่นแกล้ง ระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bullying)
  7. วิพากษ์สื่ออย่างรู้เท่าทัน สร้างสรรค์สังคมของทุกคน MIDL for Inclusive Society

สนใจสามารถติดตามโครงการได้ทางเว็บไซต์ ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

สสส.-จุฬาฯ นำร่องลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต สสส.-จุฬาฯ นำร่องลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต