"กัลยา โสภณพนิช" Coding แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก วิธีคิด "เด็กไทย" ใน "โลกผันผวน"

"กัลยา โสภณพนิช" Coding แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก  วิธีคิด "เด็กไทย" ใน "โลกผันผวน"

สอบถามเรื่องสถานะของการเรียน Coding กับคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ ผู้ผลักดันการเรียน "โค้ดดิ้ง" (Coding) บรรจุในหลักสูตร เพื่อเป็นภูมิต้านทานให้กับเด็กไทยในโลกที่ผันผวน

พูดถึง “โค้ดดิ้ง” (Coding) หลายคนมักนึกถึงเรื่องใหญ่โต เช่น การเขียนโปรแกรม ออกแบบซอฟต์แวร์ หรือหมายถึงคนที่มีอาชีพทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ในความจริง Coding สามารถเชื่อมโยงกับทุกศาสตร์ และเป็นหลักการที่จะพาเราไปสู่เป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ฯลฯ

นับตั้งแต่ พ.ศ.2562 ที่เข้ารับตำแหน่ง คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา คือบุคคลสำคัญที่ผลักดัน Coding ให้อยู่ในหลักสูตรของนักเรียนไทยตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษา

“กระทรวงได้บรรจุแนวทาง Coding ให้เป็นนโยบายเร่งด่วน ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน อบรมครูอย่างต่อเนื่องในทุกๆหมวดวิชา นั่นเพราะ Coding สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับทุกสาระวิชา เป็นทักษะที่เด็กไทยต้องรู้ในโลกสมัยใหม่” รมช.ศึกษา กล่าวถึงแนวทางของการขยายหลักคิดแบบ Coding ตลอดกว่า 3 ปี ที่ดำรงตำแหน่งมา

\"กัลยา โสภณพนิช\" Coding แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก  วิธีคิด \"เด็กไทย\" ใน \"โลกผันผวน\" คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.กระทรวงศึกษา

ดิสรัปชั่นเกิดขึ้นกับทุกวงการ พร้อมๆกับที่ โควิด-19 ทำให้วิถีใหม่เกิดขึ้นในทุกระดับ สถานะเด็กไทย กับการเรียน Coding ไปถึงไหนแล้ว “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ซักถาม คุณหญิงกัลยา ในฐานะผู้บริหารที่ผลักกัน Coding เพื่อเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรับมือกับโลกผันผวน หรือ VUCA World

  • ถึงวันนี้ แนวทางการผลักดัน Coding ไปถึงไหนแล้ว?

ตั้งแต่ ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เราอบรมครูทั้งแบบ On-site และ Online รวมแล้วกว่า 4 แสนคน ซึ่งไม่ใช่แค่ครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ครูสังคม ศิลปะและวิชาอื่นๆ ก็มาร่วมด้วย นั่นหมายความว่าการเรียน Coding สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับทุกสาระวิชา เอา coding ไปสอดแทรกได้หมด ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเน้นกระบวนการคิดแก้ปัญหา ของแต่ละคน แต่ละช่วงวัย

สิ่งที่เราเน้นในการเรียน coding คือกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล (Logical Thinker) และมีทักษะ6 อย่าง ซึ่งจำเป็นในโลกสมัยใหม่ ประกอบด้วย 1.ทักษะการอ่าน  2.ทักษะการเขียน 3. ทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผล มีตรรกะ  4.ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดเชิงคำนวณ  5.ทักษะการแก้ไขปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน และ 6.กล้าตัดสินใจ ลงมือทำ ทำผิดแล้วทำใหม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานทักษะในชีวิตประจำวัน คือทักษะที่อยากเห็นเด็กทุกคนและคนไทยทุกคนต้องมีในยุคศตวรรษที่ 21 นี้นั่นเพราะไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไรก็ตาม ทำงานด้านไหนก็ตาม Coding จะเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง เพิ่มมูลค่าให้กับครอบครัวและเศรษฐกิจระดับครอบครัว

\"กัลยา โสภณพนิช\" Coding แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก  วิธีคิด \"เด็กไทย\" ใน \"โลกผันผวน\"

  • Coding เพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง และครอบครัวอย่างไร?

นอกจากทักษะ 6 อย่างแล้ว  ทักษะ Coding ทำให้ชีวิตดีขึ้น ยกตัวอย่างเด็ก ป.1 ที่พ่อแม่ต้องปลุกไปเรียนทุกวัน ระหว่างที่เด็กกำลังงัวเงีย แม่ก็มักจะบอกว่าให้รีบอาบน้ำ กินข้าว อย่าโอ้เอ้ ซึ่งตรงนี้เคยเป็นหน้าที่ของแม่มาตลอด แต่เมื่อเด็กเข้าใจ Coding แล้ว เขาจะวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ต้องตื่น เหตุผลที่ต้องอย่าโอ้เอ้ นั่นเพราะถ้าเขาช้าเขาจะไม่ทันเข้าเรียน ไม่ทันได้รับประทานอาหารเช้า ซึ่งเมื่อไม่ได้กินข้าวเช้าก็เสี่ยงจะหิว เสี่ยงจะเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง

ดังนั้นเมื่อเขาวิเคราะห์แล้วว่าการเตรียมตัวก่อนไปโรงเรียนให้ดี ทั้งการรีบอาบน้ำ การได้กินอาหารไปก่อน จะทำให้เขาพร้อมที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาต้องรีบตื่น เมื่อเขาคิดเองได้ จัดการตัวเองได้ ภาระของแม่ก็ลดน้อยลง และทำให้แม่วางใจเพื่อไปโฟกัสกับการทำงาน อาจจะไปขายของที่ตลาด หรือไปทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ครอบครัว เพราะสามารถไปทำมาหากินได้โดยไม่ต้องพะวงกับลูกมากนัก เพราะลูกเองก็คิดได้ว่าจะช่วยลดภาระแม่อย่างไร

เป็นการคิดอย่างมีตรรกะ มีเหตุมีผล?

ใช่ เพราะเมื่อก่อนไม่รู้เรื่อง คิดไม่ได้ แต่พอคิดได้แล้ว ย้อนกลับมาพิจารณาดูแล้ว รู้ตัวแล้วว่าควรทำอย่างไร จะลดภาระแม่ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่าเป็น Unplugged Coding ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องเสียบปลั๊ก ไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว ไม่ต้องใช้ฮาร์ดแวร์ใดๆ แต่คือการมี Logical Thinking ซึ่งหมายถึงการคิดอย่างมีเหตุมีผล แต่ที่ยกมานี้คือตัวอย่าง การอธิบายใช้ Coding ระดับประถม แต่ในระดับที่สูงขึ้นไปก็จะมีโจทย์ที่ใช้ Coding ในแบบของตัวเอง

ยกตัวอย่าง คนจบปริญญาตรีที่ตกงาน ถ้ามี Unplugged Coding เขาก็จะคิดย้อนไปว่าทำไมเขาถึงตกงาน เพราะการตกงานของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ทักษะการคิดที่แข็งแรงจะทำให้เขาเข้าใจบริบทของตัวเอง เช่น ทักษะที่มีไม่เพียงพอกับตลาดแรงงานไหม?  ถ้าไม่ตกงานต้องทำอย่างไร? ถ้าต้องไปหาวิชาเพิ่ม จะเรียนอะไร? เปิดสอนที่ไหน? ใช้เงินเท่าไร? หรือมีสถาบันไหนที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายบ้าง นี่คือ Coding ของคนตกงานที่ย้อนกลับไปหาเหตุผลเพื่อจะเอาตัวเราพ้นจากปัญหา คิดวิเคราะห์ไปเรื่อยๆ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ พอทำได้มากขึ้น แก้ปัญหาได้ ก็จะเริ่มแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนได้

เราเรียกแนวทางนี้ว่า Unplugged for All เพราะทุกคนมี Coding อยู่แล้ว  Coding for all จึงอยู่ในหลายมิติ และในคำว่า Code  เมื่อถอดตัวอักษรออกมา ยังหมายถึง C คือ Creative thinking คิดอย่างสร้างสรรค์, O คือ Organized Thinking คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ, D คือ Digital literacy ทักษะดิจิทัล, I คือ Innovation หรือนวัตกรรม 

N คือ Newness ความทันสมัย ส่วน G คือ Growth Mindset ที่เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาได้ ไม่ยอมแพ้ และเรียนรู้ไม่จบสิ้น ทั้งหมดคือ Unplugged Coding ที่กระทรวงศึกษาและรัฐบาลอยากให้เป็นทักษะที่ไม่ใช่เฉพาะเด็ก แต่ทุกคนควรเข้าใจ

\"กัลยา โสภณพนิช\" Coding แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก  วิธีคิด \"เด็กไทย\" ใน \"โลกผันผวน\" \"กัลยา โสภณพนิช\" Coding แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก  วิธีคิด \"เด็กไทย\" ใน \"โลกผันผวน\"

ยังมีอีกคนที่คิดว่า Coding ต้องใช้อุปกรณ์?

อันนั้นคือ plugged Coding คือต้องเสียบปลั๊ก และเป็นทักษะที่สูงขึ้นไป แต่จะเสียบปลั๊กเมื่อไร ก็ต่อเมื่อคุณรู้หลักการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล เชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้แล้ว จากนั้นเมื่อต้องเปลี่ยนความคิดของคุณเพื่อสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์ การใช้ Code ในความหมายการใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น  Python, JavaScript และ C จะตามมา

ห้องเรียน Coding จะสอนอะไร?

การเรียน Coding ทำได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การเล่น สร้างจินตนาการ มี Creative เช่น เอาของอะไรก็ได้มาเรียงกันเพื่อจินตนาการว่าเป็นจรวด เมื่อมีโจทย์แล้ว เขาก็จะคิดก่อน วางแผน จินตนาการ  จากการเล่น

นอกจากเล่น ยังมี การตั้งคำถาม หรือเพิ่มประสิทธิภาพในตัวเราว่าจะทำอย่างไร ทุกคนมี Coding ในตัวเอง แต่มี่ผ่านมายังไม่ตระหนัก ไม่ใช้ ไม่ฝึกฝน เช่น พอตกงานก็คิดอะไรไม่ออก ย้อนหาสาเหตุที่มาไมได้ว่าเป็นเพราะอะไรและจะแก้ปัญหาอย่างไร

ยกตัวอย่าง สมมติมีคนเป็นขอทาน เขาไม่มีเงินกระทั่งกินอยู่ แล้วถ้าเขาตั้งคำถามว่าจะขอทานได้อย่างไร? เขาก็จะคิดได้ว่าการจะเป็นขอทานให้ประประสิทธิภาพที่สุด ก็ต้องเริ่มจากการแต่งตัว ทำให้น่าสงสารที่สุด ไปอยู่ในที่ที่คนจะเห็นมากที่สุด นี่คือ Coding ของคนขอทาน และเป็นตัวอย่างว่าแต่ละคนมีปัญหาที่ต้องใช้ Coding ของตัวเอง

  • การสอนในระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมาไม่มีวิธีแบบนี้มาก่อน?

ไม่ได้มีใครเน้น ไม่มีใครให้ความสำคัญ และต่อเนื่อง เราต้องมีโจทย์  มีกุศลโลบายที่ต้องคิด วิเคราะห์ เช่น การเล่นต่อเลโก้ มีชิ้นส่วนหลายรูปทรงทั้งสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมมา ลองตั้งโจทย์ให้เด็กประกอบเป็นจรวด ซึ่งเด็กก็จะคิดด้วยเหตุผลด้วยผล จะเอาชิ้นนี้ มาต่ออันนี้ อันนี้คือการเล่นให้เกิดกระบวนการคิดให้มีเหตุมีผล ตั้งคำถาม

สมมติคุณไม่มีเงินซื้อของเล่นตัวต่อเลโก้ คุณทำอย่างไร สิ่งที่พอแทนได้ก็เช่น เลโก้เครื่องครัว ทุกบ้านน่าจะมีจาน ชาม ตะหลิว ขวดซีอิ้ว ขวดน้ำปลา ฯลฯ แม่ลองบอกว่า สร้างบ้านแม่ให้หลังหนึ่ง เอากระทะมาเป็นหลังคา มันเป็นการจินตนาการ ที่มาพร้อมๆกับ Logical Thinking และก็ต้องมี Algorithm ซึ่งหมายถึงการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าผิดก็ต้องกลับมาแก้ไขใหม่ โดยพิจารณาได้ว่ามันผิดตั้งแต่ขั้นตอนไหน เช่น จะสร้างบ้านด้วยตัวต่อ จะเอาชิ้นใหญ่ มาตั้งบนชิ้นเล็กไม่ได้ เพราะมันหล่น ต้องใช้อะไรเป็นฐาน ลองดู ลองผิดลองถูก เราจะทำหลังคา ทำบ้าน2ชั้น อะไรจะเป็นบันได จะเอาอะไรมาเรียงให้มันกลายเป็นบ้านให้ดีที่สุด

กระทรวงเน้นที่ Unplugged Coding ก่อน เพื่อไปสู่ขั้นตอนที่สูงขึ้น?

นักเรียนแต่ระดับเรียน Coding ที่เหมาะกับตัวเอง และถ้าสเต็ปต่อไป เมื่อคุณคิดเป็นเหตุเป็นผลแล้ว โจทย์ที่ซับซ้อน มนุษย์คิดเองไมได้ทั้งหมดก็ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วย

ซึ่งในขั้นตอนนี้ เราไม่ห่วง เพราะคนจะทำ plugged Coding ได้ เป็นโปรแกรมเมอร์ ทำซอฟต์แวร์ เป็น Professional เขาต้องแข็งแรงในหลักคิดอย่างมีตรรกะคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก่อน

การสอนแบบ Unplugged Coding มีอุปสรรคบ้างหรือไม่ เพราะต้องใช้ครูเพื่อ Coaching ให้เด็กคิดอีกทอดหนึ่ง?

เป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงต้องทำ และพยายามประยุกต์ให้เข้ากับบริบทในแต่ละแห่งเราอบรมครูไปราว 4 แสนคนแต่นักเรียน 20 คน ก็สนใจ Coding 20 เรื่อง แต่ละคนก็มีปัญหาแตกต่างกัน

เราพยายามส่งเสริมให้ Coding ในเรื่องใกล้ตัว เช่น เช่น Coding สำหรับการทำไข่เค็ม ซึ่งเชื่อมกับเศรษฐกิจชุมชน Coding ของการทำกะปิคลองโคน ที่มีชื่อเสียง เราถอดองค์ประกอบ วิเคราะห์ให้ได้ว่ามันมาจากอะไร ต้องมีส่วนผสมอะไร หาขั้นตอนกว่าจะให้เป็นกะปิที่มีชื่อเสียง ทุกขั้นตอนเป็นเหตุเป็นผล หรือจะเลี้ยงสัตว์ก็ต้องมี Coding สำหรับการทำฟาร์ม  Coding ของแม่บ้าน

ทำไมถึงให้ความสำคัญกับ Coding ขนาดนั้น บางคนเรียกว่าเป็น "เจ้าแม่ Coding ไทย"?

(หัวเราะ) เราเป็นนักวิทยาศาสตร์มาตลอดชีวิต และเราโชคดีที่มีโอกาสได้เรียน ได้พบคนที่มีความสามารถ มีชื่อเสียงมาตลอด และเราเห็นว่า ภาษาที่เรียนอยู่ ทั้งไทย อังกฤษ คงไม่พอ ต้องมีภาษาเทคโนโลยี ภาษาเครื่อง และก่อนที่จะนำไปสู่การใช้ภาษาเครื่อง เราต้องคิดอย่างเป็นระบบก่อน จึงเป้นแนวทางของ Coding for All ซึ่งเริ่มจาก unplugged Coding ไม่ต้องเสียบปลั๊ก ไม่ต้องมีเครื่อง

มันยากเหมือนกันนะที่จะใครเข้าใจ กว่า 3 ปีที่ผ่านมา คนเพิ่งจะเริ่มรู้จัก และเราต้องถ่ายทอดความคิดให้คน การใช้ Logical แบบ มันอยู่ในอากาศและเป็นนามธรรม แต่มันจำเป็น ถ้าไม่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กไทย เพื่อไว้รับการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ผันผวน แบบที่เรียกว่า VUCA World

เด็กไทยก็จะไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะเผชิญกับสิ่งนี้ได้ และการที่โลกที่มาจากการ Disruption มาจากเรื่องวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น เราจึงมีภูมิคุ้มกันที่เปรียบเป็นอาวุธและต้องลับให้คมอยู่เสมอ พอไปเผชิญที่ไม่รู้เรื่องคาดเดาไมได้ เราจะคิดเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงตลอด

หากมีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่ควบคุมกระทรวงศึกษา แนวคิดนี้จะถูกสานต่อหรือไม่?

ขณะนี้ Coding เข้าสู่ระบบพอสมควร โดยมี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมด้วย ช่วยกันทำหลักสูตร ฝึกครู และเมื่อเข้าระบบแล้ว ถึงเราไม่อยู่ ก็ยังเดินต่อได้

เราเป็นนักการเมือง วันหนึ่งก็ต้องเดินออกไป แต่เขายังประสานต่อได้ และเรื่องนี้ ก็เข้ารูปเข้ารอยแล้ว ทั้งการอบรมครู โจทย์คือครูจะเอาไปประยุกต์กับท้องถิ่นได้อย่างไร เพื่อให้เด็กในแต่ละพื้นที่เข้าใจ และนอกจากนี้ Coding อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ในแต่ละชั้นด้วย

ค่อนข้างพอใจไหม?

ถือว่าพอใจ และทางกระทรวงศึกษาก็มีการย้ำอยู่เสมอ รัฐบาลเห็นความสำคัญซึ่งตั้ง Coding แห่งชาติ และทุกกระทรวงรวมอยู่ด้วย Coding จะไปอยู่กับทุกคน ทุกกระทรวง และถ้าหลักสูตรนี้เข้าไปสู่ ก.พ. ก็จะระบุกติกาว่าถ้ามีการสอบเลื่อนตำแหน่งต้องผ่านหลักสูตรนี้  ในรูปธรรมที่จะทำหลักสูตร  ให้ผู้บริหารของทุกกระทรวงต้องสอบ  Coding ก่อน

\"กัลยา โสภณพนิช\" Coding แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก  วิธีคิด \"เด็กไทย\" ใน \"โลกผันผวน\"

จนถึงวันนี้ ในฐานะรมช.ศึกษา มีอะไรที่อยากทำอีกบ้าง?

เราคิดโครงการวิทยาศาสตร์พลัง 10 คือเมื่อทุกคนเรียน Coding แล้ว ยังไม่พอ ต้องมีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วย ซึ่งวิทยาศาสตร์พลังสิบจะเปิดเวที ให้เด็กได้เรียน วิทยาศาสตร์ฯ ที่เชื่อมโยงกับแต่ละรุ่นและช่วงวัย แต่ละโรงเรียนก็ทำไป และกระจายความรู้เหล่านี้ให้กับอีก 10โรงเรียน เพื่อให้จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมืน Coding และวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน จะเป็นพื้นฐานทั้งหมด จะเป็น หมอ เป็นนักดนตรี ทุกคนก็ต้องรู้จักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน นี่คือโปรเจควิทย์พลังสิบ

ความจำเป็นของการเรียนทุกวันนี้ คือการเรียนแบบ STEM คือ Scient -Technology, Innovation- Engineer- Math และเราก็จะใส่ตัว A คั่นระหว่าง E กับ M เป็น STEAM และตัว A หมายถึง Art of Life ซึ่งหมายถึงศิลปวัฒนธรรม รากเหง้า ประเพณี และเสน่ห์ที่ดีงานงามของไทยไว้