จากวลีเด็ดนายกฯ สู่นิยามเรียก "ฝน" แบบไทยๆ ที่ต่างชาติต้องร้องว้าว!

จากวลีเด็ดนายกฯ สู่นิยามเรียก "ฝน" แบบไทยๆ ที่ต่างชาติต้องร้องว้าว!

เมื่อนายกฯ ปล่อยวลีเด็ด "นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากมานอนดูฝนประเทศไทย" ชวนรู้จัก "ฝน" ที่มีนิยามเรียกเฉพาะแบบไทยๆ พร้อมเจาะลึกการเกิดฝนแต่ละประเภทในไทยตามหลักพยากรณ์อากาศ

โซเชียลแรงไม่หยุด! กับประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวไทยที่ช่วงนี้เตรียมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ โดยหนึ่งในวลีเด็ดที่นายกฯ กล่าวไว้เมื่อครั้งลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต (6 มิ.ย.65) ที่หลายคนฟังแล้วทึ่ง ก็คือการพูดถึงซอฟท์เพาเวอร์ของไทยสู่ตลาดต่างชาติ ว่า

"บางครั้งผมถามต่างประเทศ หน้าฝน ฝนตก มา(เมืองไทย)ทำไม เขาบอกมานอนดูฝนในประเทศไทย เขาไม่เคยเห็นฝนบ้านเขา เราต้องขายสิ่งเหล่านี้ออกไปด้วย" 

ประเด็นนี้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างหลากหลายในโลกโซเชียล ขณะเดียวกัน หากมองลึกลงไปถึงประเภทของ"ฝน" ที่เกิดในประเทศไทย ก็พบว่ามีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจไม่น้อย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จักลักษณะของ"ฝน" พร้อมนิยามการเรียกชื่อแบบไทยๆ ที่หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู รวมถึงชาวต่างชาติที่หากมานอนดูฝนประเทศไทยคงร้อง ว้าว! กับนิยามของฝนเหล่านี้แน่ๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

 

  • "ฝน" เกิดจากอะไร? เมืองไทยฝนตกบ่อยแค่ไหน​?

ตามหลักการทางพยากรณ์อากาศ ระบุไว้ว่า ฝนเป็นหยาดน้ำฟ้าชนิดหนึ่ง ที่ตกจากเมฆลงสู่พื้นดินในลักษณะของเหลว ฝนเป็นหยาดน้ำที่พบมากที่สุดใน บรรดาหยาดน้ำฟ้าชนิดต่างๆ เกิดจากละอองน้ำขนาดเล็กๆ รวมตัวกันเป็นหยดน้ำขนาดใหญ่จนมีน้ำหนักมากกว่าแรงต้านของมวลอากาศ จึงตกลงมาเป็นฝน

"เม็ดฝน" มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโตกว่า 0.5 มิลลิเมตร (0.02 นิ้ว) ขึ้นไป บางทีเม็ดน้ำฝนอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ถึง 7 มิลลิเมตร (0.25 นิ้ว) บางทีมวลอากาศลดอุณหภูมิต่ำลงถึงจุดน้ำค้างอย่างช้าๆ จึงทำให้เม็ดฝนมีขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.02 นิ้ว หรือน้อยกว่า) เมื่อตกลงเบื้องล่างจึงดูคล้าย "ละออง" ฝนชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า "ฝนละออง" (Drizzle)

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมาก ระหว่างเส้นละติจูด ประมาณ 5-20 องศาเหนือ จัดได้ว่าอยู่ในแถบร้อนของโลก อากาศค่อนข้างร้อน ทำให้รับไอน้ำได้มากกว่าปกติจึงมีฝนตกบ่อยและกินเวลาหลายเดือนในแต่ละรอบปี 

 

 

  • นิยามเรียกลักษณะ "ฝน" แบบไทยๆ 

มีข้อมูลจาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา และศูนย์ศึกษาฯ ป่าชายเลนสิรินาถราชินี ได้ให้คำนิยาม "ฝน" ในลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเรียกเป็นคำนิยามเฉพาะตามวิถีชีวิตแบบไทยๆ ดังนี้

ฝนไล่ช้าง : ฝนตกในลักษณะเป็นฝนเม็ดใหญ่ ตกมาอย่างแรงและเร็วเพียงซู่เดียว แล้วหยุดไป

ฝนชะช่อมะม่วง : ฝนที่ตกในช่วงเดือน 3 ใกล้ฤดูกาลที่มะม่วงกำลังออกช่อดอก ฝนลักษณะนี้ทำให้มะม่วงติดผลได้มาก

ฝนตกเป็นเยี่ยวจักจั่น : ฝนตกปริมาณน้อยๆ มองเห็นเป็นละอองฝอย โดยเรียกละอองฝอยนั้นว่า “ละอองฝน”

ฝนตกจั้กๆ หรือ ฝนตกอย่างฟ้ารั่ว : ฝนที่ตกหนักมากและเป็นเวลานาน

ฝนสั่งฟ้า : ฝนที่ตกหนักมากตอนช่วงท้ายของฤดูฝน

ฝนหลงฤดู : ฝนที่ตกในฤดูอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฤดูฝน

ฝนราชการ : ฝนที่มักจะตกในช่วงเวลา 15.00 น. เป็นต้นไป และตกติดกันหลายวัน ซึ่งช่วงเวลาที่ฝนตกดังกล่าวใกล้เคียงกับเวลาที่ข้าราชการเลิกงาน

จากวลีเด็ดนายกฯ สู่นิยามเรียก \"ฝน\" แบบไทยๆ ที่ต่างชาติต้องร้องว้าว!

  • ลักษณะ "ฝน" ตามนิยามหลักวิชาพยากรณ์อากาศ

นอกจากนี้ ยังมีลักษณะของ "ฝน" ที่เกิดในประเทศไทย โดยแบ่งประเภทตามหลักวิชาพยากรณ์อากาศ ซึ่งชื่อเรียกฝนเหล่านี้เป็นคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการรายงานสภาพอากาศและการพยากรณ์ฝน ได้แก่ 

ฝนพาความร้อน (Convective Rain) : เกิดจากอากาศที่ร้อนขึ้นในช่วงกลางวัน แล้วลอยตัวสูงขึ้นบนชั้นบรรยากาศ จากนั้นเย็นตัวลงถึงจุดที่อากาศอิ่มตัวด้วยไอน้ำ ก็จะกลั่นตัวเป็นเมฆ แล้วตกลงมาเป็นฝนพายุฟ้าคะนอง ฝนชนิดนี้อาจตกเป็นแห่งๆ ได้ทุกวันในระยะตั้งแต่เดือน พ.ค. ถึงเดือน ต.ค. ในแต่ละปี

ฝนภูเขา (Orographic Rain) : เกิดจากอากาศชื้นพัดปะทะกับภูเขา ลมจะพัดขึ้นไปตามลาดเขาและเย็นลง ในขณะที่อากาศลอยสูงขึ้นจนทำให้อุณหภูมิลดลง เมื่อถึงจุดที่อากาศอิ่มตัวด้วยไอน้ำ ก็จะกลั่นตัวเป็นเมฆ และตกเป็นฝนทางด้านเขาต้นลม 

ฝนพายุหมุน (Cyclonic Rain) : พายุหมุนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเรา ได้แก่ ดีเปรสชั่น พายุเขตร้อน และไต้ฝุ่น พายุหมุนในประเทศไทยโดยมากเป็นดีเปรสชั่น ทำให้เกิดฝนตกหนัก ตกทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง และกินเวลาหลายวัน มักพบฝนพายุหมุนได้มากในเดือน มิ.ย. - ต.ค.

ฝนแนวปะทะอากาศ (Frontal Rain) : เกิดเมื่อมวลอากาศเย็นจากทางเหนือกับมวลอากาศร้อนจากทางใต้ เคลื่อนมาพบกับแนวอากาศที่เย็นกว่า และจะช้อนให้อากาศร้อนลอยสูงขึ้นเบื้องบน จากนั้นอากาศจะเย็นตัวลงตามลำดับ ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง แต่ตกไม่นาน พบไม่บ่อยในไทย

ฝนจากแนวลมพัดตัดกัน (Shear Lines) : เกิดจากแนวปะทะอากาศเย็นจากขั้วโลกที่มีกำลังแรงเคลื่อนลงต่ำ เป็นเหตุให้เกิดความไม่ต่อเนื่องของมวลอากาศตามแนวปะทะอากาศ ทำให้ลมเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วจนมาปะทะกับมวลอากาศร้อน จึงเกิดแนวลมพัดตัดกัน กลายเป็นร่องความกดอากาศต่ำ (ร่องมรสุม) และทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก

ฝนที่เกิดจากคลื่นอากาศ : คลื่นอากาศในกระแสลมตะวันออก (Easterly Wave) เกิดขึ้นจากมหาสมุทรแปซิฟิคและทะเลจีนใต้ พัดเข้าสู่อ่าวไทย บางคราวทำให้เกิดลักษณะอากาศแปรปรวน มีเมฆมากและมีฝนในร่องของคลื่นอากาศ มักเป็นฝนนอกฤดู ตกเบาๆ มีปริมาณไม่มากนัก เกิดในเดือน ม.ค. - ก.พ. ซึ่งคนไทยเรียกว่า "ฝนชะช่อมะม่วง" (Mango Shower) 

----------------------------------------

อ้างอิง : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ศูนย์ศึกษาฯ ป่าชายเลนสิรินาถราชินี, กองข่าวอากาศ คปอ.