เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

Triangle of Sadness คว้ารางวัลปาล์มทองคำจาก “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” แล้วทำไม "ซงคังโฮ" คว้ารางวัลนักแสดงนำชายไปครอง ทั้งที่หนัง Broker ที่เขาเล่นจะไม่ถูกใจนักวิจารณ์เท่าไรนัก อ่านบทวิเคราะห์เจาะลึกจาก “กัลปพฤกษ์” กันได้เลย

ประกาศผลกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อค่ำคืนของวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เวลาประเทศฝรั่งเศส หลังจากระดมฉายหนังกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันเปิดเทศกาล 17 พฤษภาคม

ซึ่งผลรางวัลส่วนใหญ่ก็เป็นที่ถูกใจและเป็นไปตามคาดของบรรดาสื่อและผู้ชมทั้งหลาย จะมีม้ามืดพลิกโผมาอยู่บ้างก็ไม่กี่รายที่ไม่มีใครคาดหมายมาก่อนว่าจะได้รับรางวัล

เริ่มกันตั้งแต่รางวัล ‘กล้องทองคำ’ หรือ Camera d’Or สำหรับผู้กำกับที่เริ่มทำหนังยาวเป็นเรื่องแรกแล้วได้รับเชิญให้ร่วมฉายในเทศกาลไม่ว่าจะในสายใด ซึ่งสำหรับรางวัลในปีนี้ก็ตกเป็นของคู่ผู้กำกับหญิง Riley Keough และ Gina Gammell จากสหรัฐอเมริกา กับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกชื่อ War Pony ในสาย Un Certain Regard ของเทศกาลนั่นเอง

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75 ผู้กำกับ Gina Gammell   Credit : PATRICIA DE MELO MOREIRA / AFP 

 

 

War Pony เป็นหนังอินดี้อเมริกันที่เล่าเรื่องราวชีวิตของสองหนุ่มต่างวัย คือ Bill วัย 23 ปี และ Matho วัย 12 ปี จากเขตอนุรักษ์ชนเผ่าอินเดียนลาโกต้า Pine Ridge ในรัฐ South Dakota ซึ่งต้องดิ้นรนทำมาหากินด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะการเป็นเด็กปั๊ม การเพาะพันธุ์สุนัขพุดเดิ้ลขาย ไปจนถึงการลักเล็กขโมยน้อยในร้านสะดวกซื้อ

 

สื่อให้เห็นถึงการรุกคืบของโลกทุนนิยมและวัตถุนิยมที่มีผลต่อวัยรุ่นและเยาวชน แม้แต่ในดินแดนอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบเก่าของชาวอินเดียนท้องถิ่น

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

 

หนังอาจจะไม่ได้เน้นการพัฒนาเรื่องราวอะไรมากไปกว่าการส่องให้เห็นถึงพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของตัวละครหลักทั้งสองและผองเพื่อน ซึ่งทั้งผู้กำกับ Riley Keough และ Gina Gammell ก็นำเสนอออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติจนน่าเชื่อ

โดยเฉพาะการกำกับนักแสดงมือสมัครเล่นทั้งหลาย ให้สามารถถ่ายทอดชีวิตตามตัวบทได้อย่างสมจริง ทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีพื้นฐานด้านการแสดงใด ๆ มาก่อนเลย

 

มาที่รางวัลสำหรับหนังสาย Un Certain Regard ซึ่งเดิมทีเป็นส่วนสำหรับหนังอิสระเล็ก ๆ จากนานาประเทศที่มีความน่าสนใจในตนเองฉายโชว์โดยไม่มีการประกวด แต่พักหลัง ๆ ก็เริ่มมีการมอบรางวัลอย่างจริงจังมากขึ้น ๆ

 

สำหรับหนังที่ได้รับรางวัล Un Certain Regard Award ประจำปีนี้คือ หนังฝรั่งเศสเรื่อง The Worst Ones ของสองผู้กำกับหญิง Lise Akoka และ Romane Gueret ซึ่งนับเป็นหนังเล่าเบื้องหลังการถ่ายทำหนังอีกทอดหนึ่ง เพื่อจิกกัดการเป็นนัก ‘ฉวยประโยชน์’ จากเหล่าผู้กำกับไร้หัวใจในการทำหนังแนว ‘สมจริง’ ร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบ

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75 สองผู้กำกับหญิงคนเก่ง  Credit : Eric Dumont

 

เรื่องของเรื่องคือ มีผู้กำกับหนุ่มใหญ่ต้องการสร้างหนังเล่าชีวิตอันฟอนเฟะเส็งเคร็งของเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาจึงให้ทีมคัดเลือกนักแสดงไปรับสมัครนักแสดงจากโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาสทางสังคมจริง ๆ แล้วเลือกมาเฉพาะเด็กที่มีพฤติกรรม ‘ใจแตก’ ตรงตามบทบาทเท่านั้น จนผู้ใหญ่ทุกคนต่างสงสัยกันว่าทำไมจึงเลือกเฉพาะกลุ่มเด็ก ‘ร้าย ๆ’ หลังแถวเหล่านี้ โดยไม่มีเด็กที่ตั้งใจดีได้รับคัดเลือกเลยสักคน!

 

จากนั้นก็เป็นการฉวยโอกาสจากเรื่องราวชีวิตอันบัดซบของเหล่านักแสดงเองที่เริ่มซึมผ่านตัวละครกับการแสดงหน้ากล้องมากขึ้น ๆ ตั้งคำถามทางจริยธรรมข้อใหญ่ต่อการทำหนังแนว ‘สมจริงยิ่งยวด’ เหล่านี้ว่าควรแล้วหรือที่จะนำเอาความเจ็บปวดน่าอับอายในโลกความเป็นจริง มาเล่าผ่านหนังโดยอาศัยนักแสดงรุ่นเยาว์กลุ่มนี้!

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

ไม่น่าประหลาดที่หนังเรื่องนี้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจของคณะกรรมการ ซึ่งล้วนเป็นคนในแวดวงการทำหนังที่จะเข้าใจเรื่องราวอะไรเหล่านี้ได้ดี จนหนังสามารถเอาชนะคู่แข่งเรื่องอื่น ๆ อีก 19 เรื่องในสายคว้ารางวัลใหญ่ไปได้ในที่สุด

 

 

ส่วนของสายประกวดหลัก จะเริ่มที่รางวัลด้านการแสดง โดยเริ่มจากฝ่ายหญิง และนักแสดงหญิงที่ได้รับรางวัลการแสดงยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ก็คือ Zar Amir Ebrahimi จากเรื่อง Holy Spider ของผู้กำกับ Abi Abbasi จากอิหร่าน

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

Credit : PATRICIA DE MELO MOREIRA / AFP

 

โดย Zar Amir Ebrahimi รับบทบาทเป็น Rahimi นักข่าวสาวที่เข้ามาทำคดีสืบหาฆาตกรฆ่าต่อเนื่องโสเภณีหญิงตามท้องถนนในเมืองมาชฮัดอันศักดิ์สิทธิ์ในอิหร่าน โดยฝ่ายฆาตกรชายมีความเชื่อว่า เขาทำลงไปเพื่อให้เมืองแห่งศาสนาอิสลามนี้ ผุดผ่องสะอาด ปราศจากมลทิน และเหล่าผู้หญิงหากินประพฤติชั่วเหล่านี้จำต้องหายไปจากโลก

 

โดย Rahimi จะต้องปลอมตัวเป็นผู้หญิงหากินด้วยตนเอง เพื่อเข้าถึงตัวนักฆ่า จนเธอเองก็เกือบจะมอดม้วยมรณากลายเป็นเหยื่อรายที่ 17 ของเขาเสียแล้ว

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75 เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

 

หนังเล่าตามสูตรสำเร็จของหนังตามล่าฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง แต่ด้วยบริบทของการเป็นโลกมุสลิมในอิหร่านที่ทำให้การสังหารอะไรลักษณะนี้ สามารถมีเหตุผลในเชิงคุณธรรม ก็ทำให้เรื่องราวสนุกเข้มข้นด้วยความแปลกใหม่ได้ กับการพลิกทัศนคติในมุมที่เราอาจจะไม่เคยได้ฉุกคิดมาก่อน

 

Zar Amir Ebrahimi จึงเรียกได้ว่ารับบทเด่นแสนสำคัญเปี่ยมไปด้วยความท้าทาย จนคว้ารางวัลนี้ไปได้แม้จะไม่ได้เป็นการแสดงที่ให้ความแปลกใหม่อะไรมากนัก

 

ในขณะที่รางวัลสำหรับนักแสดงชายยอดเยี่ยม ปีนี้ก็ตกเป็นของนักแสดงเกาหลีใต้รายสำคัญของวงการ นั่นก็คือ Song Kang-ho ที่มีผลงานร่วมฉายในเทศกาลนี้มาแล้วมากมายหลายเรื่อง แต่เพิ่งจะประสบความสำเร็จด้านรางวัลจากบทบาทสมาชิกแก๊งลักพาตัวเด็กทารกที่พ่อแม่ทิ้งมาขายให้กับคู่สามีภรรยาอุปถัมภ์ที่ไม่สามารถรับอุปการะบุตรเองได้ ในหนังเกาหลีใต้เรื่อง Broker ของผู้กำกับญี่ปุ่น Hirokazu Kore-eda

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75 Credit : LOIC VENANCE / AFP

 

จริง ๆ แล้วหนังเรื่องนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ค่อยจะดีในเทศกาล เนื่องจากสื่อหลาย ๆ ค่ายมองว่าผู้กำกับญี่ปุ่น Hirokazu Kore-eda ไม่ได้เข้าใจโลกอาชญากรรมอันดำมืดของเกาหลีใต้อย่างดีพอ จนทำให้หนังออกมาออกจะแหววหวานและโลกสวย ทั้ง ๆ ที่ตัวเรื่องก็พยายามจะวิพากษ์ถึงมิจฉาอาชีวะของเหล่าตัวละครหลักกลุ่มนี้อยู่

 

แต่นักแสดง Song Kang-ho ก็ยังสามารถสร้างสีสันให้ตัวละครรายนี้มีมิติของความน่าเชื่อได้ จนกลายเป็นตัวละครที่เด๋อด๋าน่ารัก มีบุคลิกที่เหมาะจะเป็นเสาหลักแห่งความเป็นพ่อแต่ก็ยังคงความเห็นแก่ตัวอยู่ได้ในแนวทางที่ตัวบทต้องการ จนถือเป็นบทที่ช่วยชีวิตหนังให้พอจะมีความน่าดูอยู่ได้บ้าง ในขณะที่การกำกับส่วนอื่น ๆ จะค่อนไปในทางล้มเหลว

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75 เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

 

แต่รางวัลบทยอดเยี่ยมก็ดูจะสอดคล้องตรงกันกับการคาดการของหลาย ๆ สื่อ ซึ่งปีนี้เรื่องที่ได้รางวัลได้แก่ Boy from Heaven จากอียิปต์ของผู้กำกับและมือเขียนบท Tarik Saleh ที่ปัจจุบันถือสัญชาติเป็นชาวสวีเดนแล้ว

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

 

Boy from Heaven เล่าเรื่องราวอันน่าตกใจของความฉ้อฉลและกลโกงในการเลือกตั้งอิหม่ามรายใหม่ ที่ผู้นำด้านศาสนาอิสลามกลับใช้อุบายไม่เว้นแม้แต่การฆาตกรรมเพื่อให้ได้ตำแหน่งอันยิ่งใหญ่นั้นมา โดยมีนักศึกษาหนุ่มที่เพิ่งจะได้ทุนเข้าเรียนต่อ ณ มหาวิทยาลัยศาสนาชื่อดังในไคโร เป็นผู้ล่วงรู้ความลับอันดำมืดนี้ และต้องหาวิธีเอาตัวรอดไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอำนาจมืดในร่มเงาศาสนา

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

 

จุดที่น่าสนใจมากที่สุดในหนังเรื่องนี้คือการหยิบเอาประเด็นความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามอันละเอียดอ่อน มาเล่นล้อกับการสวมหน้ากากแก่งแย่งชิงอำนาจที่ลามเลยไปถึงการฆาตกรรมผู้กุมความลับนี้อย่างโหดเหี้ยม จนกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ทำให้คนนอกที่ไม่เคยรู้อะไรในเชิงลึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมด้านการศึกษาศาสนาอิสลาม เกิดความรู้สึกสะดุ้งสะเทือนไปกับเรื่องราวอันเหลือเชื่อ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ดังที่ผู้กำกับได้ถ่ายทอดเอาไว้ในบทหนังซ่อนเล่ห์กลอันคมกริบเรื่องนี้

 

จากรางวัลบทยอดเยี่ยมก็มาสู่รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งผลการตัดสินก็แทบไม่ทำให้ใครต้องกังขา เมื่อหนังที่ได้ชื่อว่ากำกับออกมาได้โดดเด่นและแพรวพราวมากที่สุดในสายประกวดประจำปีนี้อย่างเรื่อง Decision to Leave ของผู้กำกับ Park Chan-wook จะคว้ารางวัลไปได้อย่างสบาย ๆ

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75 Credit : LOIC VENANCE / AFP

 

Decision to Leave เป็นหนังระทึกขวัญแนวหญิงร้าย femme fatale ที่ได้นักแสดงหญิงชาวจีน Tang Wei มารับบทบาทเป็น Seo-rae ภรรยาสาวชาวจีนของเศรษฐีหนุ่มเกาหลีใต้ที่เกิดอุบัติเหตุตกหน้าผาตายขณะเดินทางไปปีนเขาโดยลำพัง ซึ่งท่าทีนิ่งเฉยไม่ยินดียินร้ายหลังการตายของสามีของ Seo-rae ทำให้เธอต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยหมายเลขหนึ่ง

 

แต่ถึงแม้ว่า Hae-joon นักสืบหนุ่มเจ้าของคดีที่มีภรรยาแล้วจะพยายามหาหลักฐานมามัดตัว Seo-rae อย่างไร สุดท้ายก็ไม่สามารถหาเหตุผลมาจับกุมเธอได้ หนำซ้ำยังโดน Seo-rae โปรยเสน่ห์จนหัวใจเกิดหวั่นไหว กลายเป็นฝันร้ายหลอกหลอนนักสืบหนุ่มแม้จะผ่านพ้นช่วงสาวคดีไปนานแล้วก็ตาม

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

 

ผู้กำกับ Park Chan-wook นำเสนอเรื่องราวแนวพิศวาสฆาตกรรมเรื่องนี้ออกมาได้อย่างจัดจ้านและวิจิตรบรรจงในเวลาเดียวกัน มีการเหลื่อมรวมตัวละครในต่างช่วงเวลาในฉากเดียวกัน ฉากการซ้อนเหตุการณ์ และการใช้มุมกล้องแทนสายตา การตัดภาพไปมาอันแพรวพราว และการใช้ดนตรีประกอบในการเล่าเรื่องที่ไม่อาจทำความเข้าใจได้ของทั้ง Seo-rae และ Hae-joon ในทุก ๆ ฉากตอน จนถ้าไม่ได้รางวัลนี้ไปก็อาจจะกลายเป็นตราบาปของกรรมการได้เลยทีเดียว

 

มาที่รางวัลสำหรับหนังทั้งเรื่อง เริ่มตั้งแต่รางวัลขวัญใจคณะกรรมการ หรือ Jury Prize ซึ่งปีนี้ได้รางวัลพร้อมกันไปถึงสองเรื่อง

 

นั่นก็คือหนังติดตามชีวิตเจ้าลาน้อยจากคณะละครสัตว์ไปจนถึงโรงฆ่าสัตว์ ชื่อ Eo ของผู้กำกับ Jerzy Skolimowski ที่อาศัยเทคนิคเชิงภาพยนตร์ทั้งทางด้านภาพและเสียงมาแทนสายตาของสัตว์สี่ขาตัวนี้ เพื่อส่องภาพโลกร่วมสมัยในยุคปัจจุบันได้อย่างแปลกใหม่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ให้น้ำเสียงเชิงทดลองที่ไม่เหมือนกับหนังประกวดเรื่องอื่นใดในปีนี้

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

Image Credit : Aneta Gebska i Filip Gebski

 

ส่วนหนังรางวัล Jury Prize อีกเรื่องก็คือ The Eight Mountains ของสองผู้กำกับ Felix van Groeningen และ Charlotte Vandermeersch จากเบลเยียม โดยเนื้อเรื่องได้ดัดแปลงมาจากนวนิยายอิตาลี Le otto montagne (2016) ของ Paolo Cognetti ซึ่งเคยแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ แปดขุนเขา โดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี มาแล้ว

 

แต่เอาเข้าจริง ๆ The Eight Mountains น่าจะต้องถือว่าเป็นหนังอิตาลี เพราะหนังใช้ภาษาอิตาเลียนและเหตุการณ์ในหนังก็เกิดขึ้นในอิตาลีทั้งหมด

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

 

The Eight Mountains ฉบับหนังเล่าเรื่องราวมิตรภาพและความสัมพันธ์ชั่วชีวิตระหว่าง Pietro กับ Bruno เพื่อนวัยเดียวกันที่สนิทสนมร่วมปีนเขากับพ่อของ Pietro ราวกับเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอีกคนหนึ่งด้วย

 

หนังโดดเด่นที่การนำเสนอตัวละครในช่วงวัยต่าง ๆ อย่างละเมียดละไม และแม้ว่าตัวละคร Pietro จะเคยมีปัญหาขัดแย้งกับพ่อจนต้องเลิกติดต่อกันไป แต่ Bruno ก็ยังทำหน้าที่เป็นกาวประสานใจให้พ่อลูกคู่นี้ยังมีความผูกพันกันอย่างลึก ๆ

 

แต่ที่งดงามยิ่งกว่านั้นก็คือทัศนียภาพอันงดงามตระการตาของ ยอดเขา le otto montagne ทั้งแปดลูก ณ เทือกเขาแอลป์ในอิตาลีที่หนังนำเสนอไว้อย่างจุใจชวนให้อยากได้ไปเห็นกับตาเสียเหลือเกิน

 

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ หรือ รางวัล Grand Prix ที่เป็นรองเฉพาะแค่รางวัลใหญ่อย่างรางวัลปาล์มทองคำเท่านั้น ก็สามารถเคียงคู่กันไปได้สองเรื่องเช่นกัน

 

เรื่องแรกคือหนังเล่าความสัมพันธ์ของเด็กชายคู่ซี้ในช่วงย่างเข้าสู่วัยรุ่นในเบลเยียมเรื่อง Close ของผู้กำกับ Lukas Dhont ที่เริ่มเรื่องราวเหมือนจะเป็นหนังวายเล่าความสัมพันธ์ของคู่เด็กชายท่ามกลางสวนดอกไม้สีสันสวยงาม

 

แต่ความสนิทสนมของทั้งคู่ก็ทำให้เพื่อนร่วมชั้นต่างตั้งคำถามว่าพวกเขา ‘คบหา’ กันจริง ๆ แล้วใช่ไหม และเมื่อฝ่ายหนึ่งยืนยันว่า ‘ไม่’ เขาทั้งคู่เป็นแค่เพื่อนกัน การหยอกเย้าขำขันในการจับ ‘คู่จิ้น’ นี้ กลับทำให้ความสัมพันธ์ของหนุ่มน้อยทั้งสองแปรเปลี่ยนไป เกิดความไม่เข้าใจอันนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

 

หนังเล่าเรื่องราวร้าวรานใจในช่วงวัยของเด็กหนุ่มที่กำลังจะเติบโตสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ในห้วงภาวะที่ชวนให้สับสนหม่นข้องหมองใจมากที่สุดช่วงวัยหนึ่งนี้ได้อย่างลึกซึ้งผ่านการแสดงสุดวิเศษของนักแสดงเด็กทั้งสองที่ทำเอาคนดูผู้ใหญ่อดรู้สึกโศกเศร้าสะเทือนใจร่วมไปด้วยไม่ได้

 

น่าเสียดายที่หนังฉายเป็นเรื่องท้าย ๆ ในเทศกาลจึงไม่ได้เห็นเสียงตอบรับจากสื่อออกมาสักเท่าไหร่ในช่วงที่ส่วนตลาดของงานเริ่มวายไปแล้ว แต่ตอนฉายรอบสื่อคนดูทั้งโรงก็ตั้งใจชมกันอย่างเงียบกริบราวต้องมนต์สะกดแถมมีเสียงสะอื้นร่ำไห้อยู่เป็นพัก ๆ และสุดท้ายก็สามารถชนะใจคณะกรรมการไปได้เช่นกัน จนคว้ารางวัลใหญ่อย่าง Grand Prix ไปครองได้ในที่สุด

 

ผิดกับหนังรางวัลเดียวกันอีกเรื่องคือ Stars at Noon ของผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส Claire Denis ซึ่งโดนสื่อโจมตีหลังจากออกฉายไปในระดับถล่มยับ

 

ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความน่าผิดหวังในการดัดแปลงนิยายชื่อเดียวกัน (1986) ของ Denis Johnson เกี่ยวกับการผจญภัยของหญิงอเมริกันที่ปลอมตัวเป็นผู้สื่อข่าวมายังเมืองมานากัว ประเทศนิคารากัว ช่วงปี ค.ศ. 1984 ที่ประเทศถูกปกครองโดยพรรคสังคมนิยม Sandinista แล้วมาพบรักกับหนุ่มนักธุรกิจน้ำมันชาวอังกฤษที่นั่น จนสุดท้ายต้องระหกระเหินหลบหนีไปยังคอสตาริกาด้วยกัน

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

Claire Denis ได้เลือกปรับบริบทให้กลายเป็นนิคารากัวยุคปัจจุบันที่ผู้คนยังต้องฝันร้ายไปกับการสวมหน้ากากและการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนข้ามแดน! โดยข้อวิจารณ์ส่วนใหญ่มองว่า Stars at Noon เป็นหนังผจญภัยในต่างแดนที่มีน้ำเสียงอ่อนเชยถึงเชยมาก แม้จะพยายามปรับบริบทให้ร่วมสมัย แต่สไตล์การทำหนังยังดูเก่าโบราณเหลือเกิน

 

แต่สุดท้ายคณะกรรมการก็หักปากกานักวิจารณ์และยกย่องให้ Stars at Noon คว้ารางวัล Grand Prix ประจำปีนี้พร้อม ๆ กับเรื่อง Close ไป ท่ามกลางความประหลาดใจของหลาย ๆ คน

 

ก่อนจะถึงรางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปีนี้ ยังมีการมอบรางวัลพิเศษในวาระครบรอบปีที่ 75 ของเทศกาล ให้แก่ภาพยนตร์เรื่องใหม่ในสายประกวดของคู่พี่น้อง Jean-Pierre และ Luc Dardenne นั่นคือเรื่อง Tori and Lokita ถือเป็นการให้เกียรติแก่ผู้กำกับที่มีผลงานเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์มาอย่างต่อเนื่อง และเคยคว้ารางวัลปาล์มทองคำไปได้แล้วถึงสองครั้งด้วยกันกับเรื่อง Rosetta (1999) และ L’enfant (2005)

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

Credit : PATRICIA DE MELO MOREIRA / AFP

 

Tori and Lokita ก็เป็นหนังเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ด้อยโอกาสในฐานะเยาวชนที่อพยพลี้ภัยจากแอฟริกามายังเบลเยี่ยม และแม้ว่าทั้งคู่จะไม่ได้มีความผูกพันเป็นคนในตระกูลเดียวกัน แต่การได้ร่วมผจญภัยฝ่าฟันอันตรายต่าง ๆ มาด้วยกัน Tori และ Lokita ก็เกิดความสนิทสนมแนบแน่นไม่ต่างจากพี่สาวและน้องชายร่วมสายเลือดกันเลยทีเดียว

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

หนังยังคงเล่าเรื่องราวแบบดิบหนักและสมจริงตามสไตล์การทำหนังแบบ ultra-realist ของพี่น้องนักทำหนังระดับตำนานคู่นี้อย่างรักษาชื่อ จนชวนให้รู้สึกว่าเขาอาจไม่จำเป็นต้องได้รับเกียรติด้วยรางวัลปาล์มทองคำอีกต่อไป แม้ว่าตัวหนังจะยังน่าประทับใจเพียงไหน การได้รับรางวัลพิเศษครบรอบ 75 ปีของเทศกาลแทนรางวัลปาล์มทองคำ จึงนับเป็นอะไรที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

 

ปิดท้ายด้วยรางวัลใหญ่ประจำเทศกาลประจำปีนี้คือรางวัลปาล์มทองคำ ซึ่งได้แก่หนังเรื่อง Triangle of Sadness ของผู้กำกับสวีเดน Ruben Östlund ที่เพิ่งจะคว้ารางวัลนี้ไปได้จากเรื่อง The Square เมื่อปี ค.ศ. 2017

 

ทำให้ Ruben Östlund สร้างสถิติ เป็นคนทำหนังรายที่ 8 ที่สามารถคว้ารางวัลปาล์มทองคำไปได้ถึงสองครั้ง ต่อจาก Bille August, Emir Kusturica, Shohei Imamura, Jean-Pierre Dardenne, Luc Dardenne, Michael Haneke และ Ken Loach (ไม่นับ Alf Sjoberg และ Francis Ford Coppola ที่แม้จะได้รางวัลใหญ่ แต่ยังคงใช้ชื่อว่า Grand Prix ไม่ใช่ปาล์มทองคำ)

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

Credit : LOIC VENANCE / AFP

 

Triangle of Sadness เป็นหนังที่ได้รับเสียงตอบรับที่คึกคักที่สุดในการฉายรอบสื่อของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ด้วยการเป็นหนังตลกจิกกัดเสียดสีโลกทุนนิยมเสรีที่ทุกอย่างล้วนฝากคุณค่าไว้กับ ‘เปลือก’ ซึ่งพอลอกออกมาแล้วกลับพบแต่ความอัปลักษณ์เน่าเหม็น ไม่เห็นจะสวยงามโสภาดังที่ฉากหน้าได้อวดโฉมไว้เลย

 

โดยผู้ชมรอบสื่อต่างส่งเสียงหัวเราะและปรบมือไปกับมุกตลกอันแสบร้ายแดกดันไปทุกวงการของหนัง มีทั้งมุกตลกแบบปัญญาชน และมุกตลกสกปรกเล่นอาจมผสมผสานกันได้อย่างมีรสนิยม ตลอดความยาว 150 นาทีของหนังกันเลยทีเดียว

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

หนังเล่าเรื่องราวแบ่งออกเป็นสามตอนด้วยกัน ตอนแรกเป็นการฉายภาพชีวิตคู่ของ Carl กับ Yaya นายแบบ-นางแบบชื่อดังระดับแถวหน้าขึ้นชื่อเรื่องความหล่อ-สวย ที่แม้โดยภาพภายนอกทั้งคู่จะแลดูเป็น perfect model couple กันเพียงไร แต่ก็กลับมีปัญหาที่ไม่เคยเข้าใจกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายว่าใครควรจะเป็นฝ่ายออกค่าอาหารในการออกเดทแต่ละครั้งดี โดยเฉพาะเมื่อบัตรเครดิตของอีกฝ่ายเกิดมีปัญหา?

 

นับเป็นการตอกหน้าการรักษามารยาททางสังคมที่มักจะสวนทางกับอุดมการณ์และความต้องการด้านลึกของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยอยู่เสมอ

 

เจาะลึกผลรางวัล “เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์” ประจำปี 2022 ครั้งที่ 75

จากนั้นหนังก็นำเข้าสู่ตอนที่สองบนเรือสำราญลำหรูที่นายแบบนางแบบทั้งคู่ได้รับเชิญให้ใช้บริการได้ฟรีแลกกับการถ่ายรูปรีวิวลง Instagram เพื่อแนะนำตัวละครชนชั้นสูงจากประเทศต่าง ๆ หลากหลายผู้มีฐานะเหลือกินเหลือใช้ พร้อมกับกัปตันขี้เมาหัวการเมืองเอียงซ้าย และเหล่าพนักงานต้อนรับ ทำความสะอาดต่าง ๆ ที่ยังอุตส่าห์แบ่งเป็นระดับชั้นกันบนเรืออีก

 

ในตอนนี้เองที่ผู้ชมจะได้สัมผัสกับฉากเมาเรือท่ามกลางพายุอันชวนเวียนหัว มีทั้งการสำรอกสำราก ฉากระเบิดส้วมนองอุจจาระปัสสาวะ จนเหล่าผู้ลากมากดีต้องมาเกลือกกลั้วกับสวะชั้นต่ำจนกลายเป็นภาพที่มันสะใจ

 

ปิดท้ายด้วยช่วงติดเกาะเมื่อเรือต้องอับปางจากพายุใหญ่ ซึ่งผู้รอดชีวิตก็ยังมีคู่นายแบบนางแบบ เศรษฐีหนุ่มสองราย หัวหน้าพนักงานบริการ แขกสตรีที่พูดได้เฉพาะภาษาเยอรมันไม่กี่คำ คนงาน และแม่บ้านทำความสะอาด ซึ่งคนที่สามารถจุดไฟหาปลาสรรหาทรัพยากรสำหรับดำรงชีวิตได้

 

มีอยู่เพียงรายเดียวคือแม่บ้านทำความสะอาด เธอจึงกลับกลายเป็นผู้ถือครองอำนาจเบ็ดเสร็จสามารถบังคับบัญชาทุกคนให้อยู่ในอาณัติได้หากจะยังไม่อยากหมดลมหายใจไปเสียก่อน!

 

ความโดดเด่นของ Triangle of Sadness คือทั้งเนื้อหาเรื่องราว และมุกตลกจิกกัดทั้งหลาย ล้วนเป็นเรื่องสากลที่คนทั้งโลกสามารถเข้าใจ ทั้งยังร่วมสมัยสะท้อนภาพชีวิตผู้คนในโลกบริโภคนิยมนี้ได้อย่างดียิ่ง หนังจึงได้เสียงตอบรับที่ดีตั้งแต่ได้ออกฉายทั้งรอบกาล่าและรอบสื่อ

 

ถึงกับต้องมีการเตือนกันล่วงหน้าว่าถ้าจะดูหนังเรื่องนี้ควรหายาแก้เมาเรือมาทานกันไว้ก่อน เพราะจะมีช่วงตอนที่ผู้ชมจะได้ร่วมโคลงเคลงไปกับลำเรือโยกไปโยนมาจนน่าเวียนหัวโดยเมื่อได้ชมบนจอใหญ่ หรือจะพกถุงอาเจียนเอาไว้ด้วยก็น่าจะดี

 

เพราะหนังเรื่องนี้เลือกที่จะใช้ความจริงตบหน้าทุกคนอย่างไม่ไว้หน้าเกรงใจใคร ใครธาตุอ่อนกว่าก็จะพ่ายแพ้ไปกับการจาบจ้วงที่แท้แล้วกลับไม่มีเกินเลยไปจากพฤติกรรมจริงของคนในยุคปัจจุบัน!