คลี่ปมเด็กซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เรียนกันอย่างไร...ถึงเดินไปสู่จุดนั้น

คลี่ปมเด็กซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย  เรียนกันอย่างไร...ถึงเดินไปสู่จุดนั้น

อย่ามองแค่กรณีเดียว เด็กฆ่าตัวตาย แล้วโทษครู โทษโรงเรียน นั่นไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาระยะยาว ลองมองทั้งระบบกับ "ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์" นักการศึกษาเจ้าของแนวคิด Active learning

เรียนฟรี แต่ไม่ฟรี ,ไม่มีความเท่าเทียมของเด็กเมืองกับเด็กชนบท ,วิธีวัดผลการเรียนสร้างความเครียดให้ผู้เรียน ,ครูแนะแนวไม่เพียงพอ,ค่าอาหารกลางวันต่อหัวถูกสุดๆ  ฯลฯ

นี่คือ ระบบการศึกษาไทยที่ถูกตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียนเยอะ แต่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต เพราะยังคงทำแบบเดิม

และที่แย่กว่านั้น ก็คือ สร้างความกดดัน ไม่อาจเป็นตัวของตัวเอง ถ้าไม่แข็งแกร่งพอ ก็ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เครียด และหนักสุดฆ่าตัวตายตั้งแต่วัยเรียน (โรงเรียนในจังหวัดพัทลุง)

ไม่ว่าปัญหาจะมาจากครู โรงเรียน หรือครอบครัว ไม่อาจปฎิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นลองมองกลับไปที่รากของปัญหา และวิธีการแก้ไขที่สามารถทำได้

ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระที่ทำงานด้านการศึกษาหลายสิบปี มีคำตอบเรื่องเหล่านี้ในแบบของเขา 

“เมื่อใดก็ตาม เกิดกรณีเด็กถูกล่วงละเมิด เด็กจมน้ำตาย ก็จะมีคนออกมาขับเคลื่อนด้วยแรงด่า ผมมองว่า สังคมแบบนี้ไม่ได้ใช้ความรู้ในการขับเคลื่อนประเทศ ” 

คลี่ปมเด็กซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย  เรียนกันอย่างไร...ถึงเดินไปสู่จุดนั้น ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ 

ในฐานะผู้ก่อตั้งเว็บไซต์การศึกษา http://www.eduzones.com ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในประเทศ และผู้พัฒนา Active learning model ช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะในการคิดสร้างสรรค์ รวมถึงผลักดันเรื่อง อาชีพแห่งอนาคต, ห้องเรียนแห่งอนาคต ฯลฯ และอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับระบบการศึกษา       

ดร.วิริยะ มองว่า เด็กจำนวนหนึ่งเรียนไม่จบ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เรียนฟรี เด็กจำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษา เพราะต้องไปทำมาหากิน เด็กในชนบท ต้องเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลน

"ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และการแก้ไขต้องไม่คิดแบบเก่า ต้องไม่ทำแบบเดิม" 

เขาเชื่อมาโดยตลอดว่า การแก้ปัญหาต้องมีความยั่งยืน หลายสิบปีจึงทำงานร่วมกับครูหลายโรงเรียน และร่วมขบคิดแก้ปัญหาการศึกษากับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี

เมื่อไม่นาน “จุดประกาย” กรุงเทพธุรกิจ ชวนคุยเรื่อง ระบบการศึกษาที่ดูเหมือนสิ้นหวัง แต่มีความหวัง...

คลี่ปมเด็กซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย  เรียนกันอย่างไร...ถึงเดินไปสู่จุดนั้น

เด็กฆ่าตัวตายในโรงเรียน จ.พัทลุง ไม่ว่าจะถูกกดดัน เรื่องค่าเทอม การเรียน หรือปัญหาครอบครัว อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ผมไม่โทษใคร แต่ไม่ใช่เรื่องปกติ ขอมองภาพรวมระบบการศึกษา ขอยกตัวอย่างกรณีเด็กคนหนึ่งในจ.ปัตตานี ทุกๆ เช้าไม่ได้กินข้าว มาดื่มน้ำในโรงเรียน รออาหารมื้อกลางวัน ซึ่งเป็นมื้อที่ดีที่สุดของเขา อาหารมื้อกลางวัน รัฐให้งบแค่ 21 บาทต่อคน

เรื่องนี้ครูที่เป็นลูกศิษย์ผมเล่าให้ฟัง เธอแก้ปัญหาโดยให้นักเรียนที่โตหน่อยทำร้านน้ำชา เรียกว่า ชาเพื่อน้อง ขอทุน สสส.ได้ด้วย ถ้าเด็กไม่มีเงิน กินฟรี ถ้ามีเงินก็จ่าย 

พอโรงเรียนนี้ทำแล้ว โรงเรียนอื่นๆ เห็นว่าดี ก็ทำตาม บางแห่งสอนเด็กๆ ตัดผม แล้วทำโครงการตัดผมเพื่อน้อง แบบนี้เรียกว่า Active Learning เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วเรียนรู้ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

เด็กไม่มีเงินจ่ายค่าบำรุงการศึกษา ทั้งๆ ที่ประเทศนี้บอกว่าเรียนฟรี ? 

การทำให้เด็กเรียนฟรีแบบมีคุณภาพถึงมัธยมปีที่ 6 เป็นเรื่องยาก ทุกวันนี้เด็กเรียนฟรีแบบไร้คุณภาพ พ่อแม่จึงยอมจ่ายเงินให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชน ทั้งๆ ที่เราต้องการคุณภาพธรรมดาๆ

วิธีวัดคุณภาพการศึกษาบ้านเราผิดหมด มีแต่รายงานปลอมๆ ถ้าจะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพได้ เอาแค่เด็กที่ต้องเรียนภาคบังคับตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมที่ 3 ถ้าเด็กเยอะงบก็เยอะ เด็กน้อยงบก็น้อย วิธีการจัดการงบแบบนี้คือปัญหา

ตามรัฐธรรมนูญเด็กไทยจะได้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปีที่ 3  แต่ในความเป็นจริงผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ? 

จริงๆ แล้วต้องเรียนฟรี ทั้งๆ ที่กำหนดไว้

ในรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมา ถ้าเด็กต้องเรียนเรื่องอื่นๆ บางทีก็มีค่าชุดนั่นนี่เพิ่ม ต้องจ่ายเงิน เป็นลักษณะกึ่งบังคับ อย่างเด็กที่ไม่มีค่าเทอม ครูบางคนที่ทนไม่ได้ ก็จ่ายค่าเทอมให้เด็ก เพราะรัฐบาลไม่ได้จ่ายงบประมาณที่ควรจะทำ

Active learning โมเดลแบบนี้ มีส่วนในการแก้ปัญหาอย่างไร

การแก้ปัญหาความยากจน ต้องดูว่าเด็กในพื้นที่จะทำมาหากินอะไรได้บ้าง ต้องช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ไม่ใช่มีหนังสือเล่มหนึ่งสอนเด็ก วัดผลสอบ แล้วบอกว่าเด็กโง่หรือฉลาด เป็นการสอนโบราณที่สุดในโลก

ระบบการศึกษาต้องสอนสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเด็กและความปลอดภัยของเด็ก จะทำให้ครอบครัวของเขายากจนน้อยลงต้องทำยังไง สอนให้เด็กรู้ว่าอะไรกินได้ กินไม่ได้ งูกัดต้องทำยังไง ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้บางเรื่องครูไม่รู้ รู้แต่หนังสือ รัฐต้องทำเครื่องมือการเรียนรู้ออนไลน์ หรือทำให้เด็กเข้าถึงได้ โลกยุคนี้ คุณไม่รู้อะไร เสิร์ชหา ก็รู้แล้ว อาทิ ตอกตะปูไม่งอทำไง ขายของออนไลน์ต้องทำไง 

แล้วเด็กๆ ไม่มีปัญญาทำมาหากินหรือ เราไม่เคยเปิดโอกาสเด็กทำมาหากิน มีแค่โครงการนั่นนี่ แล้วเก็บข้อมูล แต่ไม่ทำอะไรจริงจังมีแต่เป้าหมายระยะยาว 

คลี่ปมเด็กซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย  เรียนกันอย่างไร...ถึงเดินไปสู่จุดนั้น

เมื่อเด็กถูกกดดันในเรื่องการเรียน ครูแนะแนวช่วยอะไรได้บ้าง

ไม่ว่าโรงเรียนทั่วไป หรือโรงเรียนสตรีในพัทลุง โรงเรียนประจำจังหวัด เด็กจะถูกเปรียบเทียบสูง อีกอย่างเราไม่เคารพสิทธิของเด็ก นำคะแนนสอบมาโชว์ว่าเด็กได้คะแนนเท่านั้นเท่านี้ เพื่อให้คนอื่นรับรู้ ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวเลย

การที่เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น คือความกดดัน การกดดันมีทั้งผลบวกและลบ สิ่งที่เราต้องเคารพคือ สิทธิของเด็ก 

ถ้าเป็น Active learning ก็ให้เด็กค้นหาความรู้ของตัวเอง เอาปัญหาเด็กเป็นตัวตั้ง ยกตัวอย่าง เวลาทะเลาะกับเพื่อน เด็กต้องทำยังไง พ่อแม่ทะเลาะกันทำยังไง เด็กก็อยากเรียนรู้

ครูไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ให้คำตอบอย่างเดียว ครูก็ต้องเรียนรู้ไปกับเด็ก อีกอย่างเทคโนโลยีเข้าถึงเด็กได้ง่ายอยู่แล้ว ถ้าใช้แอพฯคนละครึ่งได้ทั่วประเทศ แล้วทำไมแอพฯ ด้านจิตวิทยา การเรียนรู้ ทำไม่ได้

ครูแนะแนวจำเป็นต่อเด็กมากน้อยเพียงใด

ครูแนะแนว ต้องจบจิตวิทยาด้วย ทุกวันนี้ครูแนะแนวไม่จบจิตวิทยาเยอะแยะ ครูอะไรก็มาแนะแนว ซึ่งไม่ถูกต้อง จึงกลายเป็นครูแนะนำมากกว่าแนะแนว แนะนำว่าต้องไปเรียนที่นั่นที่นี่ วัดความสำเร็จจากเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆได้ การแนะแนวต้องรู้ว่า เด็กมีบุคลิกภาพอย่างไร เหมาะกับอาชีพแบบไหน 

ผมมองว่า ปัญหาเด็กฆ่าตัวตาย ต้องแก้ที่รากของปัญหา อีกเรื่องคือความปลอดภัยในโรงเรียน อาทิ ไฟฟ้าช็อต  เดินตกท่อ ครูและนักเรียนโดนละเมิดทางเพศ เรื่องเหล่านี้ป้องกันได้ โดยการให้ความรู้และเครื่องมือ

ถ้าพูดถึง Active learning การเรียนรู้เรื่องความปลอดภัย ยกตัวอย่าง เด็กประถมในโรงเรียนที่ออสเตรเลีย ต้องเรียนรู้ว่า ถ้าไฟไหม้ป่าข้างๆ โรงเรียน เด็กต้องทำอย่างไร มีการสาธิตให้ลงมือทำ 

ในอเมริกา ถ้ามีผู้ก่อการร้าย ยิ่งปืนเข้ามาในโรงเรียน มีการจำลองสถานการณ์ ให้เด็กๆ รู้ว่าต้องทำยังไง ในฮ่องกง มีตึกสูงเยอะ พื้นที่แน่น มีการจำลองสถานการณ์ให้เด็กดูว่า แค่ตะปูตัวเดียวตกลงมาทำให้คนตายได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ทำกันในโรงเรียน 

แต่เด็กไทยต้องเรียนรู้เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับชีวิต ทำการศึกษาเพื่อจะขายหนังสือ หนังสือบางเล่มโยนทิ้งไปได้เลย บางเรื่องไม่มีประโยชน์

ถ้าจะเรียนรู้เรื่องการถูกคุกคามทางเพศ เด็กต้องรู้ว่าพื้นที่ส่วนไหนในร่างกายแตะและจับไม่ได้ ในญี่ปุ่นมีหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับการถูกคุกคามทางเพศให้เด็กๆ อ่าน ตั้งแต่เรื่องการถูกคุกคามด้วยคำพูด

และบางแห่งมีแอพฯ แจ้งความ เมื่อถูกคุกคามทางเพศ  กระทรวงศึกษาธิการมีศูนย์คุ้มครองนักเรียน นักศึกษา ถูกล่วงละเมิดทางเพศ สายด่วนการศึกษาเบอร์ 1579  อยู่แล้ว มีอาสาสมัครช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ แต่ที่ผมอยากให้เน้นมากกว่านั้นคือ การป้องกัน 

มีเรื่องการละเมิดทางเพศเต็มไปหมดในสังคม ประมาณว่า ไหว้พระแต่บ้ากาม เพราะไม่เอาความจริงมาพูด และดูถูกคนขายบริการทางเพศ ความไม่เท่าเทียมทางเพศบ้านเราสูงมาก ทำไมเวลาโกรธกัน ต้องด่าว่า หน้าตัวเมีย แม่คุณไม่ใช่ผู้หญิงหรือ

ครูแนะแนวในประเทศไทยต้องมีระบบที่ดีกว่านี้ ?

บางทีครูแนะแนวไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนก็ได้  ถ้าผมเป็นคนพิการ ผมอยากฟังใครแนะแนว ผมก็อยากศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้พิการทางสายตา จบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรื่องนี้ก็สามารถนำเสนอในออนไลน์ได้

ผมทำแอพฯให้เยาวชนเข้ามาค้นหาตนเอง 20 กว่าปี มีคนใช้กว่า 11 ล้านครั้ง ตอนนี้แอพฯตัวใหม่ ผมทำเรื่องการค้นหาอาชีพในอนาคต ผมทำให้ฟรีเพราะรู้ว่า ครูแนะแนวไม่พอ แล้วมีคนบอกว่า ต้องมีนักจิตวิทยาในโรงเรียนด้วย แค่ครูธรรมดาๆ ยังขาดแคลนเลย

ความกดดันแบบไหนที่ทำให้เด็กๆ เครียด

ถ้าวัดจากคะแนนโอเน็ตทำให้เด็กไม่มีความสุข ไม่มีความหวัง กลายเป็นถูกตัดสิน ถ้าจะทำให้เด็กมีความสุขความหวัง ต้องเปลี่ยนการสอนเป็น Active learning เปลี่ยนการวัดผลเป็นการพัฒนาเด็กในทางที่เขาถนัด

ซอฟต์พาวเวอร์แบบไทยๆ จะเรียนรู้ต่อยอดในโรงเรียนอย่างไร

เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ผมคุยมาสิบกว่าปี จะเกิดขึ้นในโรงเรียนได้ไง ขนาดทรงผมเด็กยังบังคับเลย แล้วจะมีซอฟต์พาวเวอร์ได้ไง ถ้ายังให้เด็กๆ แต่งตัวเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกันแล้วรู้ไหมซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและศิลปะเดิมที่ชาติต่างๆ มีอยู่ เกาหลีกล้าเปลี่ยน แต่ไทยไม่กล้าเปลี่ยนอะไรเลย 

ไม่ว่าจะอยู่กระทรวงอะไร ก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิเต็มไปหมด วัฒนธรรมไทย ศิลปะไทย ลบหลู่ไม่ได้ แค่ทำให้แตกต่างก็โกรธ

อยากให้ครูสอนแบบ Active Learning แต่อบรมแบบ Lecture นั่งฟังคนบรรยาย พอกลับไปโรงเรียน...ก็เหมือนเดิม