ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้อยู่เบื้องหลังก้าวสำคัญของการควบคุมยาสูบประเทศไทย

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้อยู่เบื้องหลังก้าวสำคัญของการควบคุมยาสูบประเทศไทย

หากเอ่ยถึงคีย์แมนสำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย ในการเดินหน้ารณรงค์ลด ละ เลิก "สูบบุหรี่" เชื่อว่าย่อมมีชื่อของ "ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ" ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เป็นบุคคลที่อยู่ในความคิดใครหลายคนอย่างแน่นอน

"ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ" คือผู้หนึ่งที่ออกมาต่อสู้กับธุรกิจยาสูบ และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่ลดละมากว่า 36 ปี ทำงานอย่างหนักในทุกด้านของการควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดและสนับสนุนมาตรการควบคุมยาสูบที่เข้มงวด เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ในปี พ.ศ. 2530-2533 

วางรากฐาน "นโยบายภาษียาสูบเพื่อสุขภาพ"

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต เคยดำรงตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำคัญๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติในบริบทของกรอบอนุสัญญาการควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization Framework Convention on Tobacco Control) รวมถึงยังดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติด้านการควบคุมยาสูบของกระทรวงมหาดไทย 

ความปรารถนาตลอดช่วงชีวิตการทำงานคือ ลดภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดในประชากรไทย ซึ่งเมื่อครั้งที่ท่านเริ่มทำงาน ประเทศไทยมีประชากรเพศชายที่สูบบุหรี่มากถึง 60% และ 1 ใน 20 ประชากรไทยเพศชายที่เป็นนักสูบ ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด ย้อนไปถึงขบวนการเคลื่อนไหวด้านการควบคุมยาสูบของประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษ 1980 ในเวลานั้น นายแพทย์ที่มีชื่อเสียงและผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านให้ร่วมเป็นพลังในการผลักดัน โดยมี ศ.นพ.ประกิต เป็นอีกหนึ่งบุคคลในวงการสาธารณสุขคนสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อน

ธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลก ต่างแนะนำว่า ภาษียาสูบเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดการบริโภคยาสูบ ศ.นพ.ประกิต ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง องค์การอนามัยโลก และนักเศรษฐศาสตร์เพื่อพัฒนาหลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์ของมาตรการภาษียาสูบ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต มีบทบาทโน้มน้าวให้คณะรัฐมนตรีของไทยห้ามการโฆษณาบุหรี่และห้ามไม่ให้บริษัทยาสูบให้การสนับสนุนการแข่งขันกีฬา ในด้านกฎหมาย ทั้งมีส่วนสำคัญในการผลักดันไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ออกกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ยังได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หรือ ASH Thailand ขึ้นในปี พ.ศ. 2529 เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านการควบคุมยาสูบ โดยเป็นแกนนำในการปลุกจิตสำนึกสาธารณะเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ยาสูบ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายสาธารณะต่างๆ และ ASH Thailand ได้ทำงานอย่างหนักในทุกด้านของการควบคุมยาสูบ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุน การเปลี่ยนแปลงนโยบาย และการเสริมพลังของเครือข่าย 

อีกทั้งเพื่อลดการสูบบุหรี่ในหมู่เยาวชน ในปี พ.ศ. 2536 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เพิ่มภาษีสรรพสามิตบุหรี่และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกสองปี ส่งผลให้ภาษีสรรพสามิตบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55 ในปี พ.ศ. 2536 เป็นร้อยละ 87 ในปี พ.ศ. 2555 ปัจจุบัน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต ยังคงสนับสนุนระบบภาษียาสูบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งรวมถึงภาษียาสูบแบบม้วนเอง ซึ่งยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้อยู่เบื้องหลังก้าวสำคัญของการควบคุมยาสูบประเทศไทย

สุขภาพเหนือการค้า

หนึ่งในกลยุทธ์การต่อสู้สำคัญคือ การทำให้ "สุขภาพเหนือการค้า" ได้รับการยอมรับในที่ประชุม ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) ท่านมีบทบาททั้งด้านการเจรจาข้อพิพาท การขึ้นศาลระดับโลก การต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างการปกป้องสุขภาพประชาชนและการค้า 

ศ.นพ.ประกิต ผ่านทั้งร้อนทั้งหนาว อุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะเกมการต่อสู้และกลยุทธ์การค้าของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ประลองกำลังภายใน "วิ่งเต้น" ชักจูงผู้มีอำนาจให้เห็นความสำคัญของสุขภาพมากกว่าการค้า แต่ท่านคงยืนกรานต่อต้านยาสูบ และต่อสู้กับบริษัทยาสูบข้ามชาติระหว่างข้อพิพาททางการค้าที่ 301 ในปี พ.ศ. 2532 เมื่อผู้แทนการค้าของสหรัฐ (United States Trade Representative : USTR) พยายามบังคับให้ไทยอนุญาตการนำเข้าบุหรี่ที่ผลิตในต่างประเทศ ท่านไม่กลัวที่จะเผชิญแรงกดดันและความท้าทายมากมาย

ความพยายามในการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์เป็นอย่างมาก จนในที่สุด The General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) ก็ได้ตัดสินใจที่ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถคงกฎหมายว่าด้วยการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมทั้งสามารถกำหนดกฎหมายด้านภาษีนำเข้า การเปิดเผยส่วนประกอบบุหรี่ คำเตือนด้านสุขภาพ และมาตรการสำคัญอื่นๆ ที่ไม่เลือกปฏิบัติได้ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในปี พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้ผู้ผลิตยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องชำระภาษีสรรพสามิตเพิ่มอีกร้อยละ 2 โดยเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้สำหรับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ศ.นพ.ประกิต และคณะจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นบุคคลสำคัญที่รวบรวมหลักฐานและกลยุทธ์ในการทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังและนักการเมืองเพื่อให้กฎหมายนี้ผ่านการพิจารณา โดยท่านใช้เวลาถึง 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนกระทั่งกฎหมายผ่านในปี พ.ศ. 2544

สร้าง ส่งเสริมเครือข่ายควบคุมยาสูบทั่วประเทศ

ด้วยตระหนักว่า การควบคุมยาสูบ ต้องใช้แนวทางภาคสังคมทั้งหมด ศ.นพ.ประกิต จึงได้ระดมและมีส่วนร่วมกับเครือข่ายและพันธมิตรมากมาย ทั้งด้านที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งในระดับสากล ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งหลายเครือข่ายที่ก่อตั้งหรือนำโดย ศ.นพ.ประกิต ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพื่อการควบคุมยาสูบ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ GenZ Gen Strong Network หรือเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อชุมชนปลอดยาสูบ ฯลฯ

เครือข่ายเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ของตน ทั้งยังทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อเสริมสร้างขบวนการเคลื่อนไหวด้านการควบคุมยาสูบในประเทศไทย ศ.นพ.ประกิต ทำงานได้กับทุกองค์กร เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายควบคุมยาสูบอย่างกว้างขวางนอกเหนือไปกว่าวงการสาธารณสุข แต่ครอบคลุมทั้งภาคการศึกษา การกีฬา

ขับเคลื่อนระดับสากล

ในฐานะผู้นำมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และที่ปรึกษาอาวุโสกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงต่อประเด็นนี้ ทั้งยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต ยังเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้ประชาคมอาเซียนประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการควบคุมยาสูบในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเป็นรูปธรรมจนถึงปัจจุบัน 

ศ.นพ.ประกิต ได้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อควบคุมการใช้ยาสูบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance : SEATCA) ขึ้นในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคที่มุ่งสนับสนุนประเทศในอาเซียน เพื่อส่งเสริมนโยบายควบคุมยาสูบ ด้วยการเล็งเห็นว่า อุตสาหกรรมยาสูบได้ท้าทายรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อที่จะลดหรือชะลอมาตรการควบคุมยาสูบที่เข้มงวด ท่านได้ตระหนักว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการอยู่รวมกันเป็นหนึ่งและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการเอาชนะความท้าทาย ท่านได้ทุ่มเทเวลาช่วยเหลือประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ โดยการให้ข้อมูลในการประชุมทางเทคนิคหลายครั้ง หรือการพบปะกับผู้กำหนดนโยบายจากประเทศเหล่านั้น ตลอดจนการแบ่งปันและการเรียนรู้จากความท้าทายหรือความก้าวหน้า ที่สำคัญที่สุด คือ ท่านได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในเวทีการปรึกษาหารือต่างๆ เพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการต่อต้านยุทธวิธีของอุตสาหกรรมยาสูบ

นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ (International Network of Health Promotion Foundations : INHPF) และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ประเทศต่างๆ ที่สนใจในการจัดทำนโยบายการเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับการส่งเสริมสุขภาพอย่างขยันขันแข็ง ท่านยังประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือประเทศตองกา เวียดนาม มองโกเลียในการออกกฎหมายกองทุนส่งเสริมสุขภาพหรือกองทุนควบคุมยาสูบ

บทพิสูจน์ของความไม่ย่อท้อ

กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา ศ.นพ.ประกิต ไม่เพียงแต่อุทิศความรู้ทางวิชาชีพ แต่ยังอุทิศตนในการปกป้องการสาธารณสุขจากการใช้ยาสูบอย่างเต็มที่ บทพิสูจน์ความมุ่งมั่น บากบั่น ในการทำงานด้านการรณรงค์ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ได้เป็นที่ประจักษ์ ส่งผลให้ในการประชุมองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้รับรางวัลระดับโลกคือ Dr LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health 2022 (รางวัลดีเด่นด้านการสาธารณสุข ในความระลึกถึง นายแพทย์ ลี จง-วุค) ซี่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับ บุคคล กลุ่มบุคคล สถาบัน กลุ่มสถาบัน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นให้กับวงการสาธารณสุข

โดยในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณารายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลทั้งหมด 6 ท่าน คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลเชิดชูเกียรติ นพ. ลี จอง-วุค จากเสียงส่วนใหญ่เสนอเห็นควรมอบรางวัลร่วมให้กับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาทกกิจ จากประเทศไทย และสถาบันรักษาโรคภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำอย่างรุนแรง จากประเทศโปแลนด์ 

ผลจากการอุทิศตนเพื่อการควบคุมยาสูบของ นพ.ประกิต ไม่เพียงนำไปสู่พัฒนาการระบบดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดและโรคเกี่ยวกับปอดเท่านั้น แต่การทำงานของท่านยังนำไปสู่มาตรการควบคุมยาสูบในรูปแบบต่างๆ ทั้งเรื่องภาษียาสูบ มาตรการห้ามโฆษณาบุหรี่แอบแฝง ไม่ให้มีการสนับสนุนกับกิจกรรมกีฬา ท่านคือหนึ่งในผู้บุกเบิกและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ทำงานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  

เกมที่ยังไม่จบ

แม้ปัจจุบันจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาจำนวนมากในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น และช่วยปกป้องประชาชน แต่ ศ.นพ.ประกิต ได้ขอให้ทุกคนช่วยกันเดินหน้างานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ต่อไป เพราะเกมนี้ยังไม่จบง่ายๆ ท่านยังคงยืนกรานต่อต้านยาสูบไม่ลดละ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังถือว่าเราทำได้ดี สามารถลดจำนวนผู้สูบลงได้ 7 ล้านคน จาก 30 ปีก่อนที่อัตราสูบบุหรี่อยู่ที่ 32% ปัจจุบันเหลือ 17.4% ทั้งที่ประชากรเราเพิ่มขึ้น แม้เป็นเรื่องยากที่จะขับเคลื่อนงานรณรงค์งดสูบบุหรี่ แต่ขอให้กำลังใจในการทำงาน ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดปัญหาแก่ลูกหลาน ซึ่งเป้าหมายทั่วโลกคือลดให้เหลือ 5% ที่เรียกว่า End Game และไทยต้องเดินไปจุดนั้น ซึ่งตนก็จะพยายามขับเคลื่อนไปให้ถึง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้อยู่เบื้องหลังก้าวสำคัญของการควบคุมยาสูบประเทศไทย