คนไทย แต่ละ "Gen" ชอบ "เสี่ยง" กับอะไรมากที่สุด ?

คนไทย แต่ละ "Gen" ชอบ "เสี่ยง" กับอะไรมากที่สุด ?

"นักการตลาด" ต้องอัปเดต! เปิดผลสำรวจพฤติกรรมคนไทยแต่ละ "Generation" ชอบเสี่ยงกับอะไรมากที่สุด ระหว่าง "หวย" "คริปโทฯ" "ชิงโชค" "กล่องสุ่ม" และ "Chef table"

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) รายงานข้อมูลการตลาดรูปแบบเอาใจคนชอบเสี่ยงที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน จากข้อมูลงานวิจัย “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” สะท้อนพฤติกรรมคนไทยและนำมาสู่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดที่ให้ความสําคัญต่อการทำการตลาดแบบเสี่ยงโชคเพื่อปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น 

จากการสำรวจพบว่า ส่ิงที่คนไทยชอบเสี่ยงที่สุดมี 3 อันดับ ได้แก่ 1. เสี่ยงที่จะลุ้น เช่น ลุ้นหวย ลุ้นรางวัลใหญ่จากการชิงโชค 2. เสี่ยงที่จะลงทุน เช่น หุ้น ทองคำ กองทุน คริปโทฯ และ 3. เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์ เช่น กล่องสุ่ม ร้านอาหารแนว Chef’s Table

โดยพฤติกรรมชอบเสี่ยงของแต่ละเจนเนอเรชั่น มีความแตกต่างกันออกไปตามความไลฟ์สไตล์และแนวคิดตามช่วงวัย

  •  เสี่ยงโชคกับลอตเตอรี่ 

จากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยซื้อลอตเตอรี่สูงถึง 85.3% แสดงให้เห็นว่า การซื้อลอตเตอรี่เข้าถึงในทุกๆ เพศ ทุกวัย และทุกระดับรายได้ โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซื้อลอตเตอรี่งวดละ 1 ใบ อยู่ที่ 51.9% และซื้องวดละ 2-4 ใบ อยู่ที่ 37.1% 

เมื่อมาแบ่งตามช่วงอายุแล้วจะเห็นว่า กลุ่มผู้ใหญ่วัย Gen X และ Baby Boomer จะซื้อลอตเตอรี่งวดละ 2-4 ใบ มากกว่ากลุ่มคนวัยทำงานและวัยรุ่น อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่จะซื้อเพียงงวดละ 1 ใบเท่านั้น อาจจะเป็นเพราะว่าวัยอย่าง Gen Y และ Gen Z ให้ความสนใจในเรื่องของการลงทุนมากกว่า เพราะว่าการซื้อหวยเป็นการลุ้น ใช้ความน่าจะเป็น ต่างจากการลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าการพึ่งเรื่องโชค เรื่องดวง

คนไทย แต่ละ \"Gen\" ชอบ \"เสี่ยง\" กับอะไรมากที่สุด ?

  •  เสี่ยงที่จะลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัล 

จากผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คิดเป็น 32.9% นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 83.9% ใช้ “เงินออม” ในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะใช้เงินลงทุนต่อ transaction อยู่ที่ 5,000-20,000 บาทต่อครั้ง

นอกจากนี้ยังพบว่า ขนาดของพอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัลที่กลุ่มตัวอย่างถือครองอยู่ในปัจจุบัน จะอยู่ที่ 50,000 บาท คิดเป็น 53.9% ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับการลงทุนทั้งหมด

โดยเหรียญที่คนนิยมลงทุนกันมากที่สุด อันดับ 1 คือ Bitcoin 53% อันดับ 2 Ethereum 25.3% อันดับ 3คือ Dogecoin 4.5% และอื่นๆ ตามลำดับ และระหว่างการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี (Crypto currency) กับ NFT พบว่า  91.5% ให้ความสนใจการลงทุนในรูปแบบคริปโทฯ มากกว่า การลงทุนในรูปแบบของ NFT 

คนไทย แต่ละ \"Gen\" ชอบ \"เสี่ยง\" กับอะไรมากที่สุด ?

ทั้งนี้ คนกลุ่ม Gen Z เป็นเจนที่สนใจในการลงทุนคริปโทฯ มากที่สุดโดยให้เหตุผลว่าอยากจะรวยเร็วๆ ขณะเดียวกัน โดยกลุ่มตัวอย่าง 88.8% ทราบดีอยู่แล้วว่าการลงทุนประเภทนี้มีความผันผวนสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ แต่ก็ยังตัดสินใจลงทุน เพราะมีความเชื่อว่า ความเสี่ยงสูงมักจะนำมาซึ่งการตอบแทนที่สูงเช่นกัน 

  •  เซอร์ไพรส์ กล่องสุ่ม และ Chef’s Table 

จากการวิจัยพบว่า Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ มีแนวโน้มซื้อกล่องสุ่มมากกว่าเจนอื่นๆ สูงถึง 49% เนื่องจากเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง และเติบโตมากับสมาร์ทโฟน สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้มีพฤติกรรมต้องตามกระแสสังคม กลัวการตกเทรนด์

โดยจะซื้อสินค้ากล่องสุ่มที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท ขณะที่ในส่วนของ Gen Y ที่มีกำลังซื้อมากกว่า Gen Z ตัดสินใจซื้อกล่องสุ่มที่ระดับราคาไม่เกิน 2,500 บาท เพราะฉะนั้นในการทำกล่องสุ่มจะต้องพิจารณาด้วยว่า กลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ถึงจะทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อ

สินค้ากล่องสุ่มที่นิยมซื้อกันมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ขนมทานเล่น 26.8% เครื่องสำอาง 25.3% และเสื้อผ้า 23% ตามลำดับ ซึ่งระดับราคากล่องสุ่มที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยอมจ่าย จะแตกต่างกันไปตามแต่ละเจเนอเรชั่น 

คนไทย แต่ละ \"Gen\" ชอบ \"เสี่ยง\" กับอะไรมากที่สุด ?

สำหรับแรงจูงใจในการซื้อกล่องสุ่มส่วนใหญ่เพราะอยากรู้สึกตื่นเต้น ชอบลุ้น ชอบความเซอร์ไพรส์ และมีการคาดหวังว่าสินค้าที่ได้รับจะมีความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป นอกจากนี้การรีวิวกล่องสุ่มจาก Blogger อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีการทำคอนเทนต์แกะกล่องสุ่มแต่ละร้าน ก็มีผลสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกล่องสุ่มตามเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมี ความนิยมการทานอาหารรูปแบบ Chef’s Table จากผลสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างเคยไปใช้บริการ Chef’s Table อยู่ที่ 28.4% เป็นตัวเลขที่ไม่ค่อยสูงมากเท่ากับความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เนื่องจาก Chef’s Table เป็นรสนิยมการทานอาหารเฉพาะกลุ่ม

โดยสาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่เลือกไปใช้บริการนี้ ได้แก่ เพื่อต้องการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำในมื้อพิเศษ 27.1% ต้องการลุ้นว่าเชฟจะรังสรรค์เมนูอะไรมาให้รับประทาน 25.3% 

ส่วนใหญ่ระดับราคาที่กลุ่มตัวอย่างยอมจ่ายจะอยู่ที่ 2,000-4,000 บาท คิดเป็น 58.9% ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลที่คนส่วนใหญ่ยอมจ่ายเพื่ออาหารมื้อพิเศษ

นอกจากนี้กลุ่ม Gen Y ยังเป็นเจนที่ยอมจ่ายมื้ออาหาร Chef’s Table ที่ระดับราคาสูงถึง 6,000 บาท ถ้าร้านนั้นมีรสชาติที่ดี ชื่อเสียงของร้าน รวมไปถึงการถ่ายทอดเรื่องราวของเชฟเป็นที่น่าประทับใจ ส่วนเมนูอาหารสุดฮิตที่คนนิยมรับประทาน คือ อาหารญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 55.8% ซึ่งที่จักกันดีคือ โอมากาเสะ รองลงมาคืออาหารตะวันตก อยู่ที่ 24.2%

  •  ชิงโชค หวังรางวัลใหญ่ 

จากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย ส่วนใหญ่คาดหวังรางวัลใหญ่จากการส่งชิงโชคสูงถึง 75.3% แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ที่เล่นกิจกรรมชิงโชค ไม่ว่าจะเป็นการส่ง SMS ส่งรหัสใต้ฝาน้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งการเขียนชื่อ-ที่อยู่ หยอดลงตู้รับตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ มีความคาดหวังอยากได้รางวัลใหญ่ทั้งนั้น

ของรางวัลส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคอยากได้รับ ส่วนมากจะเป็นของที่มีมูลค่า เช่น เงินสด ทองคำ หรือของรางวัลเฉพาะบางกลุ่ม เช่น สมาร์ทโฟน ตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พัก ตั๋วคอนเสิร์ต เป็นต้น โดยการทำการตลาดชิงโชค โปรโมชั่นชิงโชค ยังเป็นเครื่องมือโปรโมทแบรนด์ที่มีประสิทธิภาพและกระตุ้นยอดขายมาตลอดปัจจุบัน

ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักการบอกต่อ การทำโฆษณา การสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าด้วยการแจกของรางวัล อีกทั้งยังทำให้ได้ลูกค้าใหม่ที่อาจจะมีการสลับแบรนด์ได้หันมาทดลองใช้สินค้าของเราได้ง่ายด้วยแคมเปญชิงโชค ยกตัวอย่าง ศึกแบรนด์ โออิชิ กิจกรรมไปแต่ตัวทัวร์ยกแก๊ง กับ อิชิตัน กิจกรรมเปิดฝา รหัสรวยเปรี้ยง เป็นต้น

คนไทย แต่ละ \"Gen\" ชอบ \"เสี่ยง\" กับอะไรมากที่สุด ?

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน และสัมภาษณ์เชิงลึก 40 คน โดยกลุ่มตัวอย่าง แบ่งสัดส่วน เพศหญิง 71.5% (จำนวน 716 คน) เพศชาย 23.6% (จำนวน 236 คน) LGBT+ 5% (จำนวน 50 คน) และแบ่งตามเจนเนอเรชัน ดังนี้ Gen Y 54.6% (จำนวน 547 คน) Gen Z 24.8% (จำนวน 248 คน) Gen X 12% (จำนวน 120 คน) และ Baby Boomer 8.7% (จำนวน 87 คน)