"เทย์เลอร์ สวิฟต์" กับการต่อสู้เพื่อลิขสิทธิ์ กรณีศึกษาที่โลกดนตรีต้องจำ

"เทย์เลอร์ สวิฟต์" กับการต่อสู้เพื่อลิขสิทธิ์ กรณีศึกษาที่โลกดนตรีต้องจำ

เปิดเหตุผลที่ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ต้องนำ 6 อัลบั้มแรกในการเป็นศิลปินของเธอมาบันทึกเสียงใหม่ พร้อมห้อยท้าย “Taylor’s Version”

ในปี 2562 “เทย์เลอร์ สวิฟต์” นักร้อง นักแต่งเพลงชื่อดังขวัญใจคนทั้งโลก ประกาศรีเรคอร์ดอัลบั้ม 6 ชุดแรกของเธอที่จัดจำหน่ายภายใต้สังกัด “Big Machine” ได้แก่ Taylor Swift (2549) Fearless (2551) Speak Now (2553) Red (2555) 1989 (2557) และ Reputation (2560) โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “CBS Sunday Morning” ว่า 

“สัญญาของฉันกับค่ายใหม่ (Republic Records) จะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ย. (2562) ซึ่งฉันจะเริ่มรีเรคอร์ดอัลบั้มเก่า ๆ อีกครั้ง ฉันจะต้องวุ่นวายและยุ่งมากแน่ ๆ แต่ขณะเดียวกัน ฉันก็ตื่นเต้นที่จะได้ทำมันอีกครั้ง” 

สวิฟต์ไม่ได้เพียงแค่อัดเพลงใหม่ 100 กว่าเพลง จาก 6 อัลบั้มเก่าเท่านั้น แต่ในแต่ละอัลบั้ม เธอตั้งใจที่จะใส่เพลงที่ยังไม่ได้ปล่อยมาก่อน หรือที่เรียกว่า “From The Vault” บรรจุลงอัลบั้มแต่ละชุดอีกด้วย

จนถึงปัจจุบัน สวิฟต์ได้ปล่อยอัลบั้มฉบับรีเรคอร์ด ซึ่งมี “Taylor’s Version” ต่อท้ายชื่ออัลบั้ม มาแล้ว 2 อัลบั้ม คือ “Fearless (Taylor’s Version)” และ “Red (Taylor’s Version)” พร้อมอีก 2 ซิงเกิลจากอัลบั้ม 1989 ได้แก่ “Wildest Dream (Taylor’s Version)” และ “This Love (Taylor’s Version)” ที่พึ่งปล่อยเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา

\"เทย์เลอร์ สวิฟต์\" กับการต่อสู้เพื่อลิขสิทธิ์ กรณีศึกษาที่โลกดนตรีต้องจำ

(ซ้ายบน) ปกอัลบั้ม Fearless Taylor's Version, (ขวาบน) ปกอัลบั้ม Red Taylor's Version, (ซ้ายล่าง) ปกซิงเกิล Wildest Dream Taylor's Version, (ขวาล่าง) ปกซิงเกิล This Love Taylor's Version, 

แล้วทำไมสวิฟต์ต้องลำบากลงแรงมาอัดเพลงของตัวเองใหม่? เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุทั้งหมดต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ในเดือน มิ.ย. 2548 ที่เธอได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง Big Machine

  • ปัญหาลิขสิทธิ์ที่ศิลปินต้องพึงระวัง

เทย์เลอร์ สวิฟต์ เซ็นสัญญากับค่าย Big Machine ของ “สก็อตต์ บอร์เชตตา” (​​Scott Borchetta) ในเดือน มิ.ย. 2548 ที่ข้อสัญญาระบุว่า เธอจะต้องมอบ “สิ่งบันทึก” (Master) นั่นคือเพลงที่เธอแต่งทั้งหมด รวมถึงรูปภาพอัลบั้มและมิวสิควิดีโอต่าง ๆ ในอัลบั้มให้เป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลง เพื่อแลกกับการได้เดบิวต์เข้าสู่วงการเพลงและค่ายเป็นผู้ผลักดันเธออย่างเต็มที่ แน่นอนว่าสวิฟต์ในขณะนั้นไม่มีทางเลือก จึงยอมเซ็นสัญญาเพื่อได้เป็นศิลปินตามความฝัน 

นั่นหมายความว่า ค่ายเพลงสามารถอนุญาตให้ใครนำเพลงของเธอไปใช้ก็ได้ หรือแม้แต่ขายลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเหล่านี้ไปได้ โดยที่เธอไม่มีสิทธิ์ในการร่วมตัดสินใจใด ๆ 

ในปี 2562 สวิฟต์ตัดสินใจย้ายค่ายไปอยู่กับ Republic Records ภายใต้การดูแลของ “ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป” (Universal Music Group: UMG) ซึ่งแน่นอนว่าลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกทั้ง 6 อัลบั้มของเธอไม่ได้ตามมาด้วย เพราะลิขสิทธิ์สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นของเธอตามที่เธอได้เซ็นสัญญาไว้กับ Big Machine 

แต่แล้วในปี 2562 “สกูเตอร์ บรอน” (Scooter Braun) ผู้จัดการของ “จัสติน บีเบอร์” และ “อารีอานา กรานเด” รวมถึงเป็นคนสนิทของ “คานเย่ เวสต์” ผู้ที่มีเรื่องมีราวกับสวิฟต์มาตลอด จนทำให้สวิฟต์ถูกหาว่าเป็น “นางงูพิษ” ไปพักหนึ่ง ได้เข้ามาซื้อค่าย Big Machine ด้วยมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแน่นอนว่าลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกทั้ง 6 อัลบั้มของสวิฟต์ ต้องตกไปอยู่ในมือของคนที่เธอไม่ชอบ ทุกครั้งที่มีคนฟังเพลง หรือซื้ออัลบั้มรายได้ก็จะเข้ายังกระเป๋าของบรอน และทิ้งส่วนแบ่งอันน้อยนิดให้กับสวิฟต์ในฐานะศิลปินเท่านั้น

เรื่องนี้ทำให้สวิฟต์ไม่พอใจเป็นอย่างมากที่บรอนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานของเธอ จนต้องออกแถลงการณ์ในบัญชี Tumblr อย่างเป็นทางการ ระบุว่า เธอไม่ทราบมาก่อนว่าใครจะมาซื้อลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกของเธอ

 

“เมื่อฉันต้องทิ้งอัลบั้มของฉันไว้ให้สก็อตต์ ฉันพยายามทำใจให้สงบเพราะรู้ว่าในวันหนึ่งเขาต้องขายมัน แต่ฉันไม่คิดว่าเขาจะขายมันให้กับสกูเตอร์ ทุกครั้งที่สก็อตต์ได้ยินชื่อของ ‘สกูเตอร์ บรอน’ หลุดลอดออกมาจากริมฝีปากฉัน มันเป็นตอนที่ฉันกำลังร้องไห้ หรือพยายามจะไม่ร้องไห้ พวกเขารู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร เขาพยายามควบคุมผู้หญิงที่ไม่อยากจะยุ่งกับเขาตลอดไป

 

โชคดีที่ตอนนี้ฉันเซ็นสัญญากับค่ายเพลงที่เชื่อว่าฉันควรเป็นเจ้าของทุกอย่างที่ฉันสร้างขึ้น โชคดีที่ฉันทิ้งเพียงอดีตไว้ในมือของสก็อตต์ ไม่ใช่อนาคตของฉัน และหวังว่าศิลปินรุ่นใหม่หรือเด็ก ๆ ที่มีความฝันที่จะเป็นศิลปินจะอ่านเรื่องนี้ และเอาเรื่องของฉันเป็นบทเรียนในการเจรจาต่อรองก่อนเซ็นสัญญา พวกคุณสมควรที่จะเป็นเจ้าของงานที่คุณสร้าง”

 

ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์กลายเป็นปัญหาอีกครั้ง หลังจากที่สวิฟต์ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า Big Machine ไม่อนุญาตให้เธอใช้เพลงเก่า ๆ ทั้ง 6 อัลบั้มในการแสดงสำหรับการประกาศรางวัล “American Music Awards” ที่เธอได้รับรางวัล “ศิลปินแห่งทศวรรษ” (Artist of the Decade) แต่สุดท้ายเรื่องก็จบด้วยดี เมื่อเธอสามารถทำเพลงฮิตของเธอจากอัลบั้มเก่ามาใช้ในการแสดงได้

 

 

  • การตอบโต้ของเทย์เลอร์ สวิฟต์

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้สวิฟต์ตัดสินใจรีเรคอร์ดอัลบั้มเก่าทั้ง 6 อัลบั้ม เพื่อที่เธอจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานเก่า ๆ เพียงผู้เดียว ในอัลบั้มที่เป็น Taylor’s Version แต่สำหรับเวอร์ชันเก่านั้นยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงเหมือนเดิม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออัลบั้มที่เป็นเวอร์ชันของสวิฟต์ออกมา สวิฟตี้ เหล่าแฟนคลับของสวิฟต์ รวมถึงผู้ฟังส่วนใหญ่ย่อมจะต้องหันมาฟังและซื้ออัลบั้มใหม่ นอกจากนี้ สถานีวิทยุหลายคลื่น รวมถึง “iHeartRadio” คลื่นวิทยุยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ประกาศว่าจะเปิดแต่เพลงที่เป็นเวอร์ชันของสวิฟต์เท่านั้น

 

หลังจากการประกาศการรีเรคอร์ดอัลบั้มไม่นาน ลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกของสวิฟต์ได้ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้ง บรอนได้ขายลิขสิทธิ์ให้กับ Shamrock Holding บริษัทโฮลดิ้งสัญชาติอเมริกัน ก่อนหน้านี้ บรอนบอกว่า พยายามจะขายลิขสิทธิ์คืนให้สวิฟต์ โดยสวิฟต์จะต้องเซ็นสัญญาปกปิดข้อมูล (Non-Disclosure Agreement: NDA) ซึ่งสวิฟต์ได้ปฏิเสธไป รวมถึงปฏิเสธข้อเสนอจาก Shamrock ที่ขอร่วมเป็นหุ้นส่วนในงานลิขสิทธิ์ เนื่องจากเห็นว่า บรอนและบริษัท “Ithaca Holdings LLC” ของเขายังคงได้ผลประโยชน์ในงานของเธอ

Shamrock ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการซื้อลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกของสวิฟต์ว่า “เราทำการลงทุนนี้เพราะเราเชื่อในคุณค่าและโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับงานของสวิฟต์ เราเคารพและสนับสนุนการตัดสินใจของเธออย่างเต็มที่ เราหวังว่าจะเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน เราก็ทราบดีว่า การรีเรคอร์ดอัลบั้มของเธออาจเป็นความเสี่ยงของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้คาดการณ์ไว้แล้ว”

ปี 2564 เทย์เลอร์ สวิฟต์ ได้ปล่อยอัลบั้มรีเรคอร์ด 2 อัลบั้ม คือ Fearless (Taylor’s Version) และ Red (Taylor’s Version) ซึ่งทั้ง 2 อัลบั้มถือว่าเป็นอัลบั้มมาสเตอร์พีซของเทย์เลอร์ และยังมีการเพิ่มเพลงใหม่ จนทำให้อัลบั้มมีเพลงทั้งสิ้นกว่า 30 แทร็ก ซึ่งประสบความสำเร็จทั้ง 2 อัลบั้ม 

ตามข้อมูลของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) พบว่า ทั้ง 2 อัลบั้มสามารถทำยอดขายติด 10 อันดับอัลบั้มที่ทำยอดขายสูงสุดทั่วโลกประจำปี 2564 โดย Red (Taylor’s Version) อยู่ที่อันดับ 7 ด้วยยอดขาย 1,140,000 แผ่น ส่วน Fearless (Taylor’s Version) ทำยอดขายไป 980,000 แผ่น ติดอันดับที่ 10 

ส่วนเพลงที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากอัลบั้มรีเรคอร์ดคงจะหนีไม่พ้น เพลง "All Too Well (10 Minute Version) (Taylor's Version) (From the Vault)" ที่สวิฟต์บรรจุลงในอัลบั้ม Red (Taylor’s Version) ซึ่งเดิมทีเพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่แฟนคลับชื่นชอบอยู่แล้ว แต่เวอร์ชันใหม่นี้มีความยาวถึง 10 นาที 13 วินาที สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนเพลงเป็นอย่างมาก และเพลงนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นเพลงที่ยาวที่สุดที่สามารถขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard Hot 100

 

ขณะที่เพลง "Wildest Dreams (Taylor's Version)" ได้กลายเป็นกระแสไวรัลในแอปพลิเคชัน TikTok และมียอดสตรีมบน Spotify มากกว่าเวอร์ชันเก่า หลังจากปล่อยเพลงเวอร์ชันของสวิฟต์ออกมาเพียงไม่กี่วัน

ไม่เพียงแค่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขายเท่านั้น แต่ทั้ง 2 อัลบั้มยังได้รับคำวิจารณ์ในระดับดีเยี่ยม แม้ว่าฟังเผิน ๆ อาจจะรู้สึกไม่แตกต่างจากเวอร์ชันเก่า เพราะไม่ได้มีการเรียบเรียงดนตรีใหม่ (ก็ของมันดีอยู่แล้ว) แต่เสียงร้องของสวิฟต์นั้นดีขึ้นมาก ในส่วนของดนตรีก็แน่นและไพเราะยิ่งขึ้น 

เบ็น ซิซาริโอ (Ben Sisario) จากหนังสือพิมพ์ “The New York Times” ให้ความเห็นว่า

“อัลบั้มรีเรคอร์ดของสวิฟต์ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ยอดขาย คำวิจารณ์ และอีกเป้าหมายคือการฝังอัลบั้มเวอร์ชันเก่า”

ยังเหลืออีก 4 อัลบั้มรีเรคอร์ดที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ยังไม่ได้ปล่อยออกมา ซึ่งแฟน ๆ ต่างรอคอยและคาดเดากันว่าคิวต่อไปจะเป็นอัลบั้มใด ต้องรอดูกันว่าอัลบั้มที่เหลือจะประสบความสำเร็จแบบ 2 อัลบั้มก่อนหน้าหรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ สิ่งหนึ่งที่เธอทำสำเร็จแล้วก็คือ การสร้างความตระหนักถึงเรื่องลิขสิทธิ์และสัญญาของศิลปิน เพื่อไม่ให้มีศิลปินคนใดต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับเธออีก

 

ที่มา First Post, GQ ThailandParade, The Momentum, ThairathTime