ข้อกังขาการคัดเลือก "ศิลปินแห่งชาติ"(ภาพถ่าย) ประจำปี 64

ข้อกังขาการคัดเลือก "ศิลปินแห่งชาติ"(ภาพถ่าย) ประจำปี 64

ศิลปินแห่งชาติ คือผู้ที่ถูกคัดเลือกว่ามีความสามารถเหมาะสม เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ทว่าในช่วงปีหลังกลับพบว่าผู้ที่ได้รับตำแหน่งไม่เหมาะสมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ศิลปินแห่งชาติของประเทศไทย หมายถึง ศิลปินผู้มีความสามารถ มีผลงานสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นที่ยอมรับของวงการ และมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม

นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติจากอดีตถึงปัจจุบันและดำรงสืบไปในอนาคต

 

โครงการศิลปินแห่งชาติ เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2528 จนถึงปีพ.ศ. 2564 มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 343 ท่าน เสียชีวิตแล้ว 169 ท่าน และมีชีวิตอยู่ 174 ท่าน

  • ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564

วันที่ 27 เมษายน 2565 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ได้ประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติปี 2564 จำนวน 12 คนใน 3 สาขาได้แก่

สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่ 1.นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย) 2 ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ (ภาพพิมพ์) 3.ศ.เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น)และ 4.นายมีชัย แต้สุจริยา (ทอผ้า)

สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่ 1.นางนันทพร ศานติเกษม (นามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม) และ 2.นายวิชชา ลุนาชัย (นามปากกา ประชาคม ลุนาชัย)

สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน ได้แก่ 1. ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนรา) 2.นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช) 3. นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง (นาฎศิลป์ไทย-โขน ละคร) 4.ศ.ณรงฤทธิ์ ธรรมบุตร (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงคลาสสิก) 5. นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) และ 6.นายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)

ข้อกังขาการคัดเลือก \"ศิลปินแห่งชาติ\"(ภาพถ่าย) ประจำปี 64

หลังจากประกาศยกย่องศิลปินแห่งชาติ ปี 2564 ก็เกิดความเคลื่อนไหว ประท้วงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ที่มอบให้แก่ วรรณี ชัชวาลทิพากร สาขาภาพถ่าย (ภรรยาของ วรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี 2552)

ล่าสุด วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกแถลงการณ์ ว่า

จากกรณีที่ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ประจำปี 2564 จนเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์และเป็นกระแสสังคมถึงความเหมาะสมและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านผลการคัดเลือกดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ สมาคมฯ ในฐานะองค์กรที่เป็นตัวแทนของสมาชิก และบุคคลในวงการถ่ายภาพของประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาชีพ และความสง่างามของวงการถ่ายภาพ มีความกังวลและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ และมีมติเป็นเอกฉันท์ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งและวิธีการแต่งตั้งศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ประจำปี 2564

2. สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติทบทวนกระบวนการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดผู้เป็นกรรมการทุกระดับควรเป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการต่อสาธารณชน และการได้มาซึ่งผลการตัดสินต้องสามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้

สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งเป็นเสาหลักของชาติด้านวัฒนธรรม จะธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตำแหน่งศิลปินแห่งชาติสืบไป

ข้อกังขาการคัดเลือก \"ศิลปินแห่งชาติ\"(ภาพถ่าย) ประจำปี 64

  • การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ?

นิติกร กรัยวิเชียร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ ได้แสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊ค Nitikorn Kraivixien (4 พ.ค. 2565) ไว้ว่า

"ผมเองมีความสนใจในเรื่องราวชีวิตและผลงานของศิลปินแห่งชาติมาเป็นเวลายาวนาน จึงได้ติดตามและอาสากระทรวงวัฒนธรรมถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติที่ยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ 2542 เป็นต้นมานับเป็นเวลากว่า 20 ปี...

ต่อมามีการประกาศชื่อศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) คนหนึ่งซึ่งผมไม่เห็นด้วยว่าเขาควรจะได้เป็น...ไม่ได้มีคุณสมบัติโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งนี้ ผมจึงไม่ได้ไปถ่ายภาพท่านใดๆอีก...

จนกระทั่งมีการประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติใหม่ล่าสุดในปีนี้ 12 ท่าน...ศิลปินแห่งชาติปีนี้สาขาภาพถ่ายเป็นภรรยาของศิลปินแห่งชาติสาขาเดียวกับคนหนึ่งที่ได้ตำแหน่งมาก่อนนั้นหลายปี...ผมรู้สึกข้องใจยิ่งไปกว่าคนที่ผมเคยไม่เห็นด้วยที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้เสียอีก...

ในฐานะที่ผมเคยทำงานให้สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยมากว่าสิบปี...ไม่เคยได้รับการติดต่อขอข้อมูลหรือรับฟังข้อคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นศิลปินแห่งชาติเลย...

ผมมีความรัก ผูกพันและห่วงใยวงการของผมอย่างยิ่ง ไม่มีเจตนาจะโจมตีผู้ใดให้ได้รับความเสียหาย... ผมขอฝากความข้องใจไปยังกระทรวงวัฒนธรรม...คนในวงการศิลปะต้องการความบริสุทธิ์ยุติธรรมให้กระบวนการคัดสรรศิลปินแห่งชาติเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีมาตรฐาน...

ผมไม่อยากเห็นตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ”...เสื่อมค่าลงอย่างน่าเสียดาย...ขอเรียกร้องให้มีการปรับกระบวนการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติทุกสาขาครั้งใหญ่ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อตัดข้อกังขาทั้งปวงให้หมดสิ้นไป"

ข้อกังขาการคัดเลือก \"ศิลปินแห่งชาติ\"(ภาพถ่าย) ประจำปี 64

  • หลากหลายความคิดเห็น

ในโลกของโซเชียลมีเดีย ในเฟสบุ๊คของช่างภาพ Tul Hirunyalawaan ก็ได้แสดงความคิดเห็น (4 พ.ค.2565) ว่า

"ในฐานะคนทำงานถ่ายภาพ... ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือกระบวนการสรรหาและกระบวนการพิจารณากลั่นกรอง คณะกรรมการพิจารณาควรมีบุคคลที่อยู่ในเวดวงสาขานั้นหรือตัวแทนจากสาขานั้นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เรื่องเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น...ดังนั้นพึงอ่านและพิจารณาให้ดีว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องอคติที่มีต่อตัวบุคคลแม้แต่น้อย แต่เป็นเรื่องของระบบและที่มาของ “ศิลปินแห่งชาติ” ล้วนๆ"

ทางด้าน มานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพ นักเขียน ผู้กำกับ ได้ให้สัมภาษณ์รายการไทยบันเทิง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสไว้ว่า ทำงานวงการศิลปะมา 40 ปีย่อมต้องรู้ว่าใครเป็นใคร แค่ไหน แล้วเหมาะสมไหม ถ้าเอารางวัลที่มีเกียรติและสมเกียรติไปมอบให้กับคนที่ยังไม่ถึง คุณสมบัติยังไม่ได้ เกียรติมันก็ไม่มี

“เมื่อเปรียบเทียบกับศิลปินท่านอื่นในวงการเดียวกัน เขาต้องเป็นอันดับหนึ่งในวิชาชีพของเขา ที่ทุกคนในวงการยอมรับ แต่ขอประทานโทษครับ บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกมา ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์นี้เลย”

มานิตมองว่า ศิลปินแห่งชาติ ควรให้คนหมู่มากได้มีส่วนร่วมในการคัดสรร อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องเป็นคนในแวดวงเดียวกัน

“ยิ่งคนมีส่วนร่วมมากเท่าไร มันก็ยิ่งดี ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อยากให้เปิดกว้าง รางวัลมันไม่ใช่ของข้าราชการ รางวัลเป็นภาษีประชาชน เป็นของประชาชน

เงินเดือนและสวัสดิการที่มอบให้ศิลปินแห่งชาติมาจากประชาชน รางวัลนี้จึงควรเป็นของประชาชน และคนทั่วไปก็ควรมีสิทธิ์ที่จะส่งเสียง”

ขณะที่ นิติกร กรัยวิเชียร ก็กล่าวว่า คณะกรรมการที่ตัดสินคัดกรองในเรื่องนี้ แทบไม่มีบุคคลจากองค์กรวิชาชีพเลย

“ลองนึกภาพดูว่า กรรมการที่ไม่ได้อยู่ในวงการแต่มาตัดสินคนในวงการถ่ายภาพ เขาจะไปรู้ได้อย่างไรว่า คนไหนเหมาะสม สิ่งเดียวที่เขาดูคือโปรไฟล์ที่ถูกนำเสนอเป็นเอกสารขึ้นมา

สังคมโดยรวมอาจจะไม่รู้จักไม่ใช่ปัญหา แต่คนที่อยู่ในวิชาชีพต้องยอมรับ ประกาศชื่อออกมาแล้วต้องยกนิ้วให้ว่า ใช่ ไม่ใช่ประกาศออกมาแล้วทุกคนอ้าปากหวอ จริงเหรอ เป็นไปได้ยังไง อันนี้ไม่ใช่ศิลปินแห่งชาติครับ”

อีกทั้งที่ผ่านมา รายชื่อกรรมการ คณะอนุกรรมการที่คัดเลือกศิลปินแห่งชาติก็ยังไม่เคยมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ

ปัญหานี้จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อยู่ที่ระบบการคัดเลือกที่บ่อนทำลายลดระดับมาตรฐานการทำงานศิลปะในชาติให้ตกต่ำลงที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า