จากกรณีอดีต "พระกาโตะ" รู้จัก "ปาราชิก 4" ที่ทำให้ภิกษุขาดจากความเป็นพระ

จากกรณีอดีต "พระกาโตะ" รู้จัก "ปาราชิก 4" ที่ทำให้ภิกษุขาดจากความเป็นพระ

ชวนรู้จัก "ปาราชิก 4" หรือบทลงโทษทางพระธรรมวินัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของอดีต "พระกาโตะ" ในกรณีล่วงเกินสีกาในขณะที่ยังครองผ้าเหลือง นอกจากข้อห้ามในการเสพเมถุนธรรม (เสพกาม) แล้ว ยังมีอะไรอีกบ้าง?

วงการสงฆ์อื้อฉาวไม่หยุด! ล่าสุดกับกรณี "ทิดกาโตะ" หรือ อดีตพระกาโตะ พระนักเทศน์ชื่อดังที่มีข่าวฉาวกับสีกา และได้ลาสิกขาไปเมื่อไม่กี่วันก่อน โดยได้กระทำผิดพระวินัยที่เรียกว่า "อาบัติปาราชิก" หรือ "ปาราชิก 4" ในเรื่องการ "เสพเมถุนธรรม" (เสพกามขณะเป็นพระสงฆ์)

จากกรณีดังกล่าว กรุงเทพธุรกิจอนไลน์ ชวนคนไทยรู้จัก "ปาราชิก 4" ว่าเป็นการกระทำความผิดของสงฆ์ที่ร้ายแรงแค่ไหน? และนอกจากข้อห้ามการเสพเมถุนธรรมแล้ว ยังมีข้อห้ามอื่นๆ อะไรอีกบ้าง?

1. "อาบัติปาราชิก" คือการกระทำผิดร้ายแรงที่สุดของภิกษุสงฆ์

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า "อาบัติ"  เสียก่อน ในทางพระธรรมวินัยของพระสงฆ์นั้น อาบัติ แปลว่า การต้อง, การล่วงละเมิด หมายถึงโทษที่เกิดจาการล่วงละเมิดข้อห้ามแห่งภิกษุ ใช้เรียกความผิดทางวินัยของพระภิกษุว่า "ต้องอาบัติ" ซึ่งการต้องอาบัตินั้นแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

  • ครุกาบัติ หมายถึง อาบัติหนัก ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 2 อย่างคือ "อาบัติปาราชิก" (ร้ายแรงที่สุด) มีบทลงโทษให้พ้นออกจากการเป็นพระ แม้ยังไม่ลาสิกขา และถึงแม้จะอุปสมบทอีก ก็ไม่เป็นภิกษุโดยชอบด้วยพระวินัยตลอดไป และรวมถึง "อาบัติสังฆาทิเสส" (ร้ายแรง) มีบทลงโทษคือ จะต้องกักบริเวณตนเองอยู่ในที่จำกัดและนับราตรี เพื่อออกจากอาบัตินั้นโดยต้องประพฤติต่อคณะภิกษุ 4 รูปขึ้นไป เมื่อทำครบแล้วก็จะต้องสวดถอนจากอาบัติโดยใช้ภิกษุประชุมกันไม่น้อยกว่า 20 รูป
  • ลหุกาบัติ หมายถึง อาบัติเบา ไม่มีโทษร้ายแรง สามารถปลงอาบัติ หรือบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุด้วยกันได้

 

2. "ปาราชิก 4" หรือโทษร้ายแรงอาบัติปาราชิก มีอะไรบ้าง?

ปาราชิก แปลว่า ผู้พ่ายแพ้ หมายถึง หากภิกษุต้องปาราชิกสิกขาบทเข้าให้แล้ว จะขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ถือเป็นผู้พ่ายแพ้ในพระพุทธศาสนา และถือเป็นอาบัติของภิกษุที่มีโทษร้ายแรงที่สุดในพุทธบัญญัติ โดยปาราชิกมี 4 ประการ ได้แก่ 

  • เสพเมถุนธรรม (ห้ามมีเพศสัมพันธ์ด้วยการสอดใส่) กับมนุษย์ไม่ว่าหญิงหรือชาย หรืออมนุษย์ หรือสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น 
  • ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ นำมาเป็นของตน (ห้ามขโมย) จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี แม้ในราคาเพียง 5 มาสก หรือ 1 บาท
  • พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ห้ามฆ่าคน) แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย โดยพระที่พูดมีเจตนาหวังให้คนๆ นั้นตาย ไม่เว้นแม้แต่การทำแท้งเด็กในครรภ์
  • กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่จริง (ห้ามโอ้อวดตัวเองเกินจริง) โดยพูดหรือแสดงสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเป็นความเห็นที่น้อมเข้าในตัวเองว่า เรารู้อย่างนี้ เราเห็นอย่างนี้  *ยกเว้นเข้าใจตัวเองผิด

อาบัติปาราชิกทั้ง 4 นี้เป็น "อาบัติหนัก" ที่เรียกว่า อเตกิจฉา คือ เป็นโทษที่แก้ไขไม่ได้เลย ต้องขาดจากความเป็นพระเท่านั้น และบวชอีกไม่ได้ แต่ถึงแม้จะบวชอีก ก็จะถือว่าไม่เป็นภิกษุโดยชอบด้วยพระวินัยตลอดไป

 

3. ความผิด "อาบัติสังฆาทิเสส" แบบไหนเข้าข่าย?

อาบัติสังฆาทิเสส แม้ถือเป็นครุกาบัติ (โทษหนัก) แต่ก็ยังสามารถแก้ไขได้โดยสงฆ์ โดยต้องอาศัยสงฆ์ 4 รูปขึ้นไป ในการประพฤติเพื่อการออกจากอาบัตินั้นอย่างที่กล่าวไปข้างต้น โดยพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ได้แก่ 

  • ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ (ไม่ได้มีการสอดใส่) เว้นแต่ฝัน
  • เคล้าคลึง จับมือ จับผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะใดๆ ของสตรีเพศ
  • พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี หรือใช้ถอยคำพาดพิงเมถุน (พูดจาลามกส่อเสียด)
  • ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย
  • สร้างกุฏิด้วยการขอ
  • สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ หรือไปรุกรานที่คนอื่น
  • แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล หรือแกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
  • ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน หรือเป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน
  • เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง 3 ครั้ง
  • ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์

4. ความผิด "อาบัติเบา" แบบไหนเข้าข่าย?

อาบัติเบา หรือ ลหุกาบัติ ถือว่าไม่มีโทษร้ายแรง สามารถปลงอาบัติ หรือบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุด้วยกันได้ ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอาบัติจากการกระทำที่หยาบคาย, อาบัติที่ทำให้ความดีงามตกไป, อาบัติที่ต้องแสดงคืน, อาบัติจากการทำไม่ดีไม่เหมาะสม, อาบัติจากการพูดไม่ดีไม่เหมาะสม เช่น 

  • ฉันอาหารหลังเวลาเที่ยงเป็นต้นไป (หลังเที่ยงฉันได้เฉพาะน้ำปานะ)
  • เผลอฆ่ามด แมลง ยุง โดยไม่ตั้งใจ
  • ทะเลาเบาะแวง ทำร้ายร่างกาย
  • ดื่มสุรา ดูสื่อลามกอนาจาร เล่นการพนัน
  • ร้องของเงินทองหรือผลประโยชน์จากญาติโยม
  • ร้องขออาหารที่ตนยินดีหรือพอใจ
  • ใช้สิ่งประทินผิวหรือเครื่องหอม เช่น แป้งหอม น้ำหอม

--------------------------------------------

อ้างอิง : พุทธที่แท้จริง, silpa-mag, ธรรมรัตนะ, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, stou.ac.thdhammahome