4 ผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." กับหนังสือเล่มโปรด

4 ผู้สมัคร "ผู้ว่าฯ กทม." กับหนังสือเล่มโปรด

อยากรู้ไหมว่า... 4 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อ่านหนังสือประเภทไหน ล่าสุดในเทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงวิสัยทัศน์และเล่าถึงหนังสือเล่มโปรด

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าอยากรู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร ให้ดูที่หนังสือที่เขาอ่าน 

ในงานเทศกาล หนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 หรือ SUMMER BOOK FEST 2022 ได้มีงานจัดเสวนา "(ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม. อ่านอะไร : วิสัยทัศน์เรื่องการอ่านและนโยบายเกี่ยวกับวงการหนังสือ" ณ สามย่าน มิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2565

 

 

 

เป็นงานที่ได้รับความสนใจอย่างมาก มีแฟนๆ ของเหล่าผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.หลายกลุ่ม มาชมและรับฟัง นำทีมโดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ , วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, สกลธี ภัททิยกุล และ น.ต.ศิธา ทิวารี 

  • สกลธี แนะนำเรื่อง Have a Nice Life ของ นิ้วกลม

    สกลธี ภัททิยกุล บอกว่า  ชอบอ่านหนังสือเบา ๆ ก่อนนอน

4 ผู้สมัคร \"ผู้ว่าฯ กทม.\" กับหนังสือเล่มโปรด สกลธี ภัททิยกุล Cr.Kanok Shokjaratkul

"ผมขอแนะนำหนังสือ Have a Nice Life ของ นิ้วกลม 12 นิสัยเปลี่ยนชีวิต เป็นหนังสือที่จะทำให้คุณรักตัวเองมากขึ้น

ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือเบา ๆ เพราะแต่ละวันของผมหนักอยู่แล้ว ก่อนนอนผมจะหยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่าน

หนังสือของนิ้วกลมเป็นหนังสือสบาย ๆ ใช้ภาษาสละสลวย สอนใจ ผมชอบเล่มนี้อยากให้ไปอยู่ในห้องสมุดกรุงเทพมหานคร คนเขียนนำเรื่องที่อยู่รอบตัวมาเล่า 

เช่น การตื่นเช้าทำให้มีเวลามากขึ้น หรือการเป็นผู้ฟังที่ดี การคิดถึงคนอื่น หรือตื่นมาให้จูบกบ คือให้ทำสิ่งที่ยากที่สุดก่อน หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกดี มองคนรอบข้างดีขึ้น"

4 ผู้สมัคร \"ผู้ว่าฯ กทม.\" กับหนังสือเล่มโปรด น.ต.ศิธา ทิวารี Cr.Kanok Shokjaratkul

  •  ศิธา แนะเรื่อง No Rules Rules ของ NETFLIX

น.ต. ศิธา ทิวารี แนะนำหนังสือที่เป็นวิสัยทัศนของคนรุ่นใหม่

"เล่มที่จะแนะนำคือ No Rules Rules กฎที่ไม่มีกฎ ของ NETFLIX เป็นวัฒนธรรมองค์กรของเน็ตฟลิกซ์ อ่านเล่มนี้แล้วไม่ได้คิดเฉพาะในส่วนที่เขาบอกเรา แต่มาดูว่า วัฒนธรรมองค์กรของเรา, ประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร, บริษัทที่เราทำงานอยู่ เป็นอย่างไรบ้าง

อันดับแรกของเน็ตฟลิกซ์คือ วิสัยทัศน์ ตอนนั้นคนที่ครองเรื่องหนังในตลาดอยู่เป็น บล็อกบัสเตอร์ มีเป็นหมื่นสาขา มีส่วนแบ่งการตลาดหลายแสนล้าน

เน็ตฟลิกซ์เคยไปเสนอขายให้บล็อกบัสเตอร์ในราคา 1,500 ล้าน แต่บล็อกบัสเตอร์บอกว่าแพงมาก แล้วก็ไม่ซื้อไป

แต่ตอนนี้ส่วนแบ่งการตลาดของเน็ตฟลิกซ์ 6-7 แสนล้านหรือเป็นล้าน ๆ ไปแล้ว ก็เป็นไปได้ ในที่สุด บล็อกบัสเตอร์ก็ล้มละลาย เน็ตฟลิกซ์ก็ขึ้นมาครองตลาดแทน

นี่คือการบอกว่า คนที่เข้าใจวิทยาการสมัยใหม่ แล้วปรับตัวทันจะสามารถยืนอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้ ในปัจจุบันการปรับตัวของประเทศเราเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานครปีที่ 1-230 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน 10 ปีหลังเราอยู่ภายใต้การก๊อปปี้แล้วก็พัฒนามาตลอด

ไม่ว่าการเรียนภาษา หรือการเรียนรู้ของเราช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนที่มีวิสัยทัศน์ที่รู้ว่าเทรนด์โลกจะไปทางไหน จะไปจับธุรกิจได้ถูกทาง 2 ใน 8 คนที่รวยที่สุดในโลก หันไปจับทาง ดิจิตอลอีโคโนมี 

4 ผู้สมัคร \"ผู้ว่าฯ กทม.\" กับหนังสือเล่มโปรด ในประเทศไทย วัฒนธรรมองค์กร คือ สิ่งที่ขัดขวางความเจริญ ถ้าเราไม่ไปเบียดบังสิทธิของคนอื่น ถ้าทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีกฎ แต่กฎมีไว้ให้เราอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไม่เบียดเบียนกัน

แต่ในบ้านเราเขียนกฎมาแล้ว เอากฎหมายมาเป็นเจ้านายคนอีกทีหนึ่ง ระบบราชการไทยยึดมั่นกับกฎระเบียบต่าง ๆ กฎหมายที่ควรยกเลิกไปมี 1500 ฉบับ ที่ทำให้ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ บางกฎหมายยังเอื้อนายทุนรายใหญ่ กีดกันรายเล็กไม่ให้ไปแข่งขันได้

หนังสือเล่มนี้บอกเรื่องราวหลักการ 3 ส่วนคือ 

1) ระดมคนเก่งๆ มาทำงานในองค์กร ระบบราชการบริหารแบบบนลงล่างตลอดเวลา เราไม่เคยเอาปราชญ์ชาวบ้าน หรือฟังเสียงประชาชน หรือกำหนดงบประมาณและนโยบายจากประชาชน ไม่เคยฟังว่า ชุมชนต้องการอะไร แล้วภาครัฐก็ไปสั่งการ อันดับแรกเราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรก่อน

2) ความโปร่งใสในองค์กร ถ้าทุกคนดูผลประโยชน์จากประเทศชาติเป็นตัวตั้ง แล้วปล่อยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์แบบเสรีได้ กทม.ควรเป็นอย่างนั้น 

3) กฎเกณฑ์ที่ไปบีบประชาชนต้องเอาออก เราต้องปลดล็อกกฎต่าง ๆ แล้วสนับสนุนให้ประชาชนได้ทำมาหากิน"

4 ผู้สมัคร \"ผู้ว่าฯ กทม.\" กับหนังสือเล่มโปรด วิโรจน์ ลักขณาอดิศร Cr. Kanok Shokjaratkul

  • วิโรจน์ แนะเรื่อง  Graphic Novel

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร แนะนำหนังสือ Graphic Novel ที่ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริง

"หนังสือเล่มนี้ผมชอบมากครับ Il re di Bangkok เขียนโดย Claudio Sopranzetti และอีกหลายท่าน เป็นกราฟฟิกโนเวล นิยายภาพ ชื่อว่า ตาสว่าง เล่มนี้ที่ผมชอบไม่ใช่แค่ชื่อตาสว่างเท่านั้น

แต่เป็นประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ปี 2525 - 2555 ผมอ่านแล้วมานั่งนึกว่าตอนนี้เราอยู่ในปี 2565 ผ่านมา 40 ปี โครงสร้างของเมืองกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปเลย ปัญหาชุมชน ความเหลื่อมล้ำ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

เล่มนี้สะท้อนปัญหาหลายอย่าง เช่น ยาเสพติด ทุกคนมองว่าเป็นภัยร้าย เป็นปัญหาที่สังคมถูกกดทับ ภายใต้ค่าแรงราคาถูก สวัสดิการไม่ดี ไม่มีรัฐสวัสดิการคอยโอบอุ้มประชาชน ถ้าคนอยากได้รายได้เพิ่ม ต้องเอาเวลาเข้าแลก แล้วมนุษย์เรามีพลังจำกัด ก็ต้องพึ่งยาบ้า คือเขามองปัญหาที่ลึกซึ้งมาก ๆ

ที่สำคัญมาก ๆ ในเมื่อโครงสร้างสังคมไม่เคยถูกแก้ ในเล่มนี้เขียนตอนเศรษฐกิจดี คุณพ่อของตัวเอกป่วย เงินที่เก็บมาได้ต้องเอาไปรักษาคุณพ่อ ชีวิตก็กลับมาลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนเดิมในเมืองใหญ่แห่งนี้

ไฮไลท์ของเล่มนี้ ทำให้เราเข้าใจการต่อสู้ของคนเสื้อแดง มีเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 อยู่ในนี้ด้วย เราจะเข้าใจวิธีคิด ความมุ่งหมายของคนที่ไม่เอาสองมาตรฐาน มีความต้องการจะเห็นเมืองที่คนมีความเท่าเทียมกัน มันไม่ได้เกิดขึ้นตอนนี้ แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว

ถ้านโยบายที่ขับเคลื่อนไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เขาจะได้รับโอกาสในการตั้งตัวได้ในเมืองนี้ จะมีโอกาสเลื่อนสถานะทางอาชีพและสังคม ถ้าเขาไม่ต่อสู้เขาก็จะจมปลักอยู่กับปัญหาเดิม ๆ ตั้งแต่ปี 2525

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า ตาสว่าง แม้สุดท้ายตัวเอกของเรื่องจะตาบอดก็ตาม แต่คำว่าสว่างของเขา เขารู้ว่าแผ่นดินนี้ เมืองนี้ ถ้าไม่แก้ปัญหาที่โครงสร้าง ปัญหาของเมืองจะวนลูปซ้ำมาซ้ำไป เดิม ๆ แบบไม่จบไม่สิ้น ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้ ตาสว่างครับ"

  4 ผู้สมัคร \"ผู้ว่าฯ กทม.\" กับหนังสือเล่มโปรด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ชัชชาติ แนะเรื่อง THINKING, FAST AND SLOW

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แนะนำหนังสือ แนวคิดชีวิต การตัดสินใจของมนุษย์ ผ่านมุมมองนักคิดและนักจิตวิทยา

"เป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่ผมชอบ เพราะอธิบายปัญหาหลายอย่างในประเทศไทยและในโลกได้ ชื่อว่า THINKING, FAST AND SLOW คิด, เร็วและช้า โดย Daniel Kahneman นักจิตวิทยา ที่ได้รางวัลโนเบลไพรซ์สาขาเศรษฐศาสตร์

เล่มนี้ดี จะช่วยเราหลาย ๆ อย่าง เพราะว่าสมองเราเวลาคิด มันมีสองระบบ ระบบหนึ่งคิดเร็ว ระบบสองคิดช้า ระบบหนึ่งคิดด้วยอารมณ์ เป็นสัญชาตญาณ ส่วนระบบสองใช้เหตุผล คิดช้า แต่ว่าจะเหนื่อย เพราะต้องคิดทีละเรื่อง

4 ผู้สมัคร \"ผู้ว่าฯ กทม.\" กับหนังสือเล่มโปรด ร่างกายคนเรา มันฉลาดจะพยายามใช้ระบบหนึ่งคือคิดเร็ว ในการแก้ปัญหา ดังนั้นความขัดแย้งหลาย ๆ อย่างในเมืองไทย หลาย ๆ ฝ่ายพยายามให้คนใช้ระบบหนึ่งในการคิด คือใช้อารมณ์ ใช้ความรู้สึก ติดตรา ว่าคนพวกนี้เป็นพวกไหน ถ้าเป็นพวกนี้ปุ๊บ ก็ผิดเลย ไม่ต้องไปคิดถึงเหตุผล ใช้วิธีเอาตัวตนไปครอบเลย

จะเห็นว่าการเมืองไทยเป็นแบบนี้ หนุนให้คนใช้ระบบหนึ่ง เพราะจะควบคุมคนได้ไม่ยาก แต่ระบบสอง มันเหนื่อย เพราะใช้เหตุผลแต่ละเรื่อง แต่ทำให้เราเห็นความจริงในหลาย ๆ เรื่อง แต่ระบบหนึ่งจำเป็น มันเป็นการเอาตัวรอดเหมือนกัน เช่น ขับรถไปเจออะไรก็เหยียบเบรคเลย

แต่ระบบสอง บางเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคิดเหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องสำคัญอาจต้องเบรคนิดหนึ่ง แล้วใช้ระบบสอง ใช้เหตุผลในการไตร่ตรอง เรื่องนี้มันแตะกับทุกเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ การตัดสินใจในชีวิต เรื่องครอบครัว คิดให้ดี การตัดสินใจการเมือง หรือว่า เรื่องสำคัญในชีวิต

ถ้าเป็นไปได้ใช้ระบบสอง ใช้เหตุผลคิด อย่าใช้อารมณ์ ความรู้สึก เพราะบางครั้งมันเป็นเรื่องวัย หรือเป็นเรื่องที่เราไม่ได้คิดให้ถี่ถ้วน ต้องระวังเพราะการเมืองชอบใส่สีคน พวกนี้เสื้อแดง พวกนี้เสื้อเหลือง เป็นการติดตราให้คนเอาระบบหนึ่งมาคิด ก็ฝากไว้ว่า ถามตัวเองว่า เรากำลังใช้ระบบอะไรคิดอยู่ ถ้าเรื่องสำคัญให้ใช้ระบบสองคิดด้วย"