ต่อยอด Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย เปลี่ยนสังคมเท่าเทียมเพื่อทุกคน

ต่อยอด Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย เปลี่ยนสังคมเท่าเทียมเพื่อทุกคน

"Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย" เตรียมต่อยอดแพลตฟอร์ม ดึง AI ช่วยพัฒนาระบบสู่การใช้งานจริง หนุนคนพิการ ผู้สูงวัย เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างเท่าเทียม

หลังจากจัดการประกวดภาพถ่าย สถานที่สาธารณะที่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุในประเทศไทย ทั้งทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ป้ายสัญลักษณ์ ซึ่งที่ผ่านการมีการขึ้นทะเบียนถึง 4,932 รายการ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดทำแพลตฟอร์ม Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย ภายใต้แนวคิด "เจอ แจ้ง แจ่ม แจ๋ว" โดยต่อยอด ทดสอบผ่านระบบ AI อัปเดตคัดกรอง สถานที่เหล่านี้ให้เหมือนมีชีวิตพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ต่อยอด Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย เปลี่ยนสังคมเท่าเทียมเพื่อทุกคน

ณัฐพล เทศขยัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรเฉพาะกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ "มิติใหม่ในการร่วมสร้างและเข้าถึงข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ" ว่า ที่ผ่านมา สสส. ให้การสนับสนุนการออกแบบเพื่อทุกคน โดยมีเครือข่ายทางวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคม พร้อมสนับสนุนต่อยอดการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งในส่วนของเครือข่ายวิชาการ มีมหาวิทยาลัยรวม 12 แห่ง ที่มีคณะสถาปัตยกรรม หรือการออกแบบ พร้อมให้ข้อมูล ให้คำปรึกษา ในการออกแบบ ปรับสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสมตามแนวคิด UD หรือ Universal Design Center และยังสามารถนำข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย ไปขยายเสริมการทำงานในมหาวิทยาลัย เพื่อเก็บเป็นข้อมูลการใช้จริง 

ส่วนในภาคประชาสังคมทาง สสส. ยืนยันพร้อมให้การสนับสนุนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทุนในการจัดทำโครงการ ให้ข้อมูลกับสังคม ทั้งนี้ เชื่อว่าหากสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สถานที่ต่างๆ ได้ จะสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์และเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และคนทุกกลุ่มได้

"ในอนาคตทางสสส. ได้เตรียมประสานกับเนคเทค พัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มนี้ให้เกิดการใช้งานในระยะยาว และเตรียมส่งต่อข้อมูลให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับเป็นเจ้าภาพเพื่อเก็บหลักฐานในการดูแลฐานข้อมูลตรงนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ขณะที่ในอนาคตสามารถนำไปใช้ต่อยอดงานสังคมผู้สูงอายุ ที่จะมีขึ้นอย่างอย่างสมบูรณ์ในอีก 10 ปี ข้างหน้าได้เช่นกัน เพราะการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมสูงวัยและคนทุกกลุ่ม" ณัฐพล กล่าว

สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ มีการจัดลำดับกลุ่มสถานที่แบ่งเป็น 7 ดาว รวม 11 ประเภท ทั้งสถานที่ราชการ, ปั้มน้ำ, ร้านอาหาร, สถานที่สาธารณะ, สถานที่ขนส่ง, สถานศึกษา, ศาสนสถาน, โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้าฯ

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโส และหัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ทางเนคเทค มีแผนต่อยอดทางวิชาการและเทคนิคหลายอย่าง โดยอยากทำให้ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเกือบ 5000 รายการ และมีความหวังว่าจะขยายให้ได้มากกว่านี้ เพราะข้อมูลที่ได้รับนี้เกิดขึ้นแล้ว แน่นอนย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา อาจผุพัง ชำรุดได้ จากการที่เคยใช้ได้ดี หรือจากที่ไม่เคยมีและไม่เคยใช้ ดังนั้น ฐานข้อมูลในแพลตฟอร์มต้องทันเหตุการณ์ เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ความร่วมมือจากประชาชนในการอัปเดตข้อมูล มีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะทำให้ทันสถานการณ์และเข้าถึงได้ง่าย

"เมื่อได้ข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะมาดูข้อมูลเชิงคุณภาพว่า การใช้งานใช้ได้ดีหรือไม่ มีการวัดประเมินเรื่องจุดอ่อน ช่องโหว่ว่า ตรงไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้ เพื่อนำมาสู่การปรับปรุง โดยจะใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยผู้เชี่ยวชาญทาง UD ของมหาวิทยาลัย เพื่อประเมินก่อนในเบื้องต้นจากภาพถ่าย ไม่ต้องลงไปในสถานที่จริงทันที เช่น ที่จอดรถกว้างพอไหม มีราวจับในห้องน้ำไหม ถ้าประเมินไม่ผ่านให้คะแนนว่า จะต้องปรับปรุง แต่ถ้าผ่านการประเมินผู้เชี่ยวชาญทาง UD ก็จะลงไปประเมินในสถานที่จริงอีกรอบ เพราะการประเมินเบื้องต้น ด้วย AI จะช่วยทำให้ได้ของที่มีมาตรฐานและงานมีชีวิต เติบโต และเปลี่ยนแปลงได้ สามารถทำให้รู้ปริมาณและรู้คุณภาพด้วย ซึ่งในอนาคต เมื่อมีข้อมูลสถานที่ ที่มีคุณภาพด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว อยากให้ภาคธุรกิจที่มีหน้าเว็บไซต์ หรือมีร้านอาหาร นำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ต่อยอด เพื่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การแจ้งว่า ในบริการร้านของตน มีทางลาดหรือห้องน้ำสะอาดที่เอื้อสำหรับผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์บอกต่อ จูงใจให้ไปใช้บริการ และข้อมูลเหล่านี้เวียนกลับคนใช้งานจริงอีกด้วย" ดร.วสันต์ กล่าว

ศิริลักษณ์ มีมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนเพิ่มภาพถ่ายของสถานที่ต่างๆ ใน Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย นอกจากเกิดประโยชน์แล้ว ยังเกิดการเรียนรู้  เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อผู้พิการ และผู้สูงอายุ

ดังนั้น คนแชร์ภาพถ่าย สถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ก็จะกลายเป็นทูตสิ่งแวดล้อมและอำนวยความสะดวกไปในตัว เพราะเชื่อว่า ในอนาคต ทุกคนก็ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุ จากการสำรวจของกรมกิจการผู้สูงอายุ พบว่า ในปี 2565 จะมีประชากรผู้สูงอายุ 20% ขึ้นไป และครึ่งหนึ่งของผู้พิการก็เป็นผู้สูงอายุ แต่การจะทำให้แพลตฟอร์มนี้ยั่งยืน เกิดการปฏิบัติได้จริง ยังต้องอาศัย 1. การมีส่วนร่วม ซึ่งแอปพลิเคชันไลน์ เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุเข้าถึงมากที่สุด ใช้งานง่าย ปลอดภัยสะดวก ทำให้เกิดการขยายผลส่งต่อเรื่องราว 2. การร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจาก สสส. และเนเทค

ต่อยอด Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย เปลี่ยนสังคมเท่าเทียมเพื่อทุกคน