ครบ 3 ปี 'กัญชาเสรี' สังคมไทยได้อะไร? คุ้มไหมที่ปลดล็อก!

กัญชาเสรีไทยครบ 3 ปี เผยคนไทย 1 ใน 4 ใช้กัญชาทางการแพทย์ - นันทนาการ ยอดใบอนุญาตเฉียด 18,000 ราย พบปัญหาสุญญากาศ ควบคุมต่ำ ต่างชาติแบน! ภาคประชาชนเร่งดัน พ.ร.บ. ควบคุม
KEY
POINTS
- คนไทย 1 ใน 4 มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ และเพื่อสันทนาการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-19 ปี มีการสูบกัญชาเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า จาก 0.9% ในปี 2562 เป็น 9.7% ในปี 2565
- ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น โดย ปี 2566 มีค่าประมาณมูลค่ารวมกว่า 15,828.51 ล้านบาท
- ชวนทุกภาคส่วนติดตาม และเสนอแนะแนวทางแก่รัฐสภา แก่รัฐบาล เพื่อให้เกิดออกกฎหมายอย่างรัดกุม ไม่เล่นเกมการเมือง จนเกิดสุญญากาศ
ประเทศไทยได้อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2562 และ "9 มิถุนายน 2565 " ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการให้จำหน่าย และปลดล็อกกัญชา ไม่ใช่ยาเสพติด ไม่ผิดกฎหมายได้ทั่วประเทศ
วันนี้ (9 มิถุนายน 2568) ที่ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพมหานคร - ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.) มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด (Substance Abuse Academic Foundation, SAAF) ร่วมกันจัดเสวนา “ครบรอบ 3 ปี กัญชาเสรี ... สังคมไทยได้อะไร”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แพทย์แผนไทยฯ ชวน ปชช. แสดงความเห็น ร่างกฎหมายคุม ‘กัญชา’ หลังปัญหาอื้อ
ปรับใหม่! อนุญาตขาย 'ช่อดอกกัญชา' ต้องมีใบสั่งจ่ายยา 30 กรัม/30 วัน
คนไทย 1 ใน 4 ใช้กัญชาเสรี โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการ ศศก. กล่าวว่า จริงๆ ประเทศไทยมีการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์นานแล้ว แต่ที่มีการปลดล็อกกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด และนำมาใช้ได้ทั้งการแพทย์ และเพื่อสันทนาการเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ร่วมกับนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการปลดล็อกกัญชาทำให้เกิดผลกระทบหลายประการ
1.ร้านค้ากัญชาไร้การควบคุม : มีจำนวนร้านค้ากัญชาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ถนนข้าวสาร ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบการขออนุญาต และไม่มีการตรวจสอบอายุผู้ซื้อ
2.การใช้กัญชาเพิ่มขึ้น ซึ่งคนไทย 1 ใน 4 มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ และเพื่อสันทนาการมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น: วัยรุ่นไทยอายุ 18-19 ปี มีการสูบกัญชาเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า จาก 0.9% ในปี 2562 เป็น 9.7% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาแบบนันทนาการทุกรูปแบบในประชากรไทยอายุ 18-65 ปี ในปี 2566 และ ปี 2567 มีแนวโน้มลดลงบ้างหลังจากการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของการใช้กัญชาในปี 2565
3.ปัญหาทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกัญชาเพิ่มขึ้น : พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการใช้กัญชาที่มาใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพในการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2565 และ 2566 โดยเฉพาะความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากกัญชา เช่น โรคจิต (Psychotic disorder) และภาวะพิษจากกัญชา (Acute intoxication)
4.ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และทางอ้อมเพิ่มขึ้น : ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลอันเป็นค่าใช้จ่ายทางตรง และค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2566 มีค่าประมาณมูลค่ารวมกว่า 15,828.51 ล้านบาท
ออกกฎหมายควบคุมการจำหน่าย-ใช้กัญญา
รศ.พญ.รัศมน กล่าวต่อว่า กัญชามีทั้งคุณ และโทษ ซึ่งในทางการแพทย์กัญชามีประโยชน์ อาทิ การดูแลแบบประคับประคอง ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด และโรคลมชักบางประเภท แต่ยังไม่มีเภสัชบำบัดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาความผิดปกติจากการใช้กัญชา(Cannabis Use Disorder) โดยการป้องกันให้เด็ก และเยาวชนเข้าถึงกัญชาได้ยาก และเข้ารับการบำบัดด้วยวิธีทางจิตสังคมจึงให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่า
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณามาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการใช้กัญชา รวมถึงการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการจำหน่าย และการใช้กัญชาให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงต่อไป
วัยรุ่นใช้กัญชาเสรี จุดเริ่มต้นใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ
นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา/แกนนำเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า ชุมชน โดยปกติพยายามดำเนินการลดปัจจัยเสี่ยงในทุกเรื่องๆ เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงดำเนินการมาอย่างยาวนาน เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ไทยปลดล็อกกัญชาออกจากสารเสพติด ทำให้ยาเสพติดเข้ามาในชุมชนมากขึ้น ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องเสรี ทำให้เด็ก และเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย เพราะบางบ้านปลูกอยู่ริมรั้ว หรือมีคาเฟ่กัญชาในชุมชน อีกทั้ง ไม่มีกฎหมาย หรือพ.ร.บ.อะไรควบคุมการใช้กัญชา
“ชุมชนพยายามทุกวิถีทางในการดูแลลูกหลาน เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้คาเฟ่กัญชามีอยู่เกือบทุกที่ อยากเรียกร้องคนในชุมชนให้ร่วมกันสร้างกฎระเบียบ ข้อบังคับให้ลูก หลาน และชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมกันยับยั้งการปลูกกัญชาริมถนน หรือการเปิดคาเฟ่กัญชาอย่างเสรี ต้องช่วยเหลือตัวเอง ช่วยลูกหลานก่อน เพราะการใช้กัญชาของเด็กวัยรุ่นนั้น จะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่นๆ อย่าง ตามสูตรตอนนี้เมื่อวัยรุ่นใช้กัญชาจะไปเสพผงขาว(เฮโรอีน) หรือใช้ทั้งกัญชา และเฮโรอีนร่วมกัน อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันร่างกฎหมายของเครือข่ายประชาชน เพื่อช่วยดูแลป้องกันไม่ให้เยาวชนไปยุ่งกับยาเสพติด"นายรังสรรค์ กล่าว
ต่างชาติแบน "กัญชาเสรีในไทย"
นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยมีการปลดล็อกกัญชาเสรีในประเทศไทยมากว่า 3 ปี ทำให้หลายประเทศตั้งคำถาม และประกาศเตือนพลเมืองของตัวเอง ที่จะเดินทางมายังประเทศไทยให้ระมัดระวัง และห้ามนำผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชงกลับเข้าประเทศต้นทางเด็ดขาด เนื่องจากยังถือว่าเป็นยาเสพติด
แม้กระทั่งสถานกงสุลไทยในหลายประเทศก็ประกาศแจ้งเตือนคนไทยว่าห้ามนำกัญชาติดตัวเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า กัญชาเสรีในไทย ไม่ได้รับการตอบรับจากบางประเทศ มีกรณีที่น่าสนใจ คือ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย พร้อมคณะได้หารือกับ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ส.)และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องการสกัดกั้นการลักลอบนำกัญชาจากประเทศไทยไปยังสหราชอาณาจักร
"กัญชาเหมือนเหรียญ 2 ด้านมีทั้งด้านบวก และลบ เพราะสารเสพติดมีประโยชน์ในบางส่วน อย่าง กัญชาใช้ทางการแพทย์ได้ แต่ขณะเดียวกัน หากไม่มีการควบคุมเหมือนตอนนี้ ก็จะสร้างโทษที่รุนแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน หลังจากการปลดล็อกกัญชาใน 3 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่า ประชาชนคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเรากลายเป็นเหยื่อจากนโยบายที่ล้มเหลว เห็นช่องทางการหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ(บางคน) เห็นกลุ่มคนที่แสวงหาผลประโยชน์จากกัญชาจากที่อยากรู้อยากลอง จากคนป่วย และกลุ่มเปราะบาง และเห็นการใช้กัญชาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง"
นายวัชรพงศ์ กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากธุรกิจกัญชาที่ไร้การควบคุมในไทย ทำมีการแสวงหาผลประโยชน์จากเครือข่ายค้ายาเสพติดระหว่างประเทศที่นำกัญชาจากไทยไปขายให้พลเมืองประเทศอื่น และที่น่าตั้งคำถามที่สุด คือ กัญชาไทยอาจกำลังส่งผลร้ายต่อความฝัน สุขภาพ ของเด็กเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองของโลกในอนาคต
เพราะฉะนั้นจากนโยบายเสรีกัญชาบทเรียน 3 ปีที่ผ่านมากับบทเรียน เราต้องช่วยกันตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วใครได้ประโยชน์ และใครได้รับผลกระทบจากกัญชา และกฎหมายหรือ พ.ร.บ.กัญชาที่สมดุล เหมาะสม และเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่นำไปสู่การลดผลกระทบจากการใช้กัญชาในทางที่ผิดควรเป็นอย่างไร
ย้ำกฎหมายรัฐควรใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายยาเสพติดอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้มีการนำกัญชาไปใช้เพื่อนันทนาการ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชน ขัดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ และประมวลกฎหมายยาเสพติด
แม้ตอนหลังออกประกาศกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ก็ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ปัญหาได้ ซ้ำยังกลายเป็นช่องทางรับรองให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในวงกว้าง ภาคีเครือข่ายสุขภาพจึงรวบรวม 20,283 รายชื่อประชาชน เพื่อร่วมกันเสนอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... เข้าสู่สภา ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบรายชื่อ มีเจตนารมณ์เพื่อการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันและควบคุมการใช้กัญชาไม่เหมาะสม ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพ มีคณะกรรมการกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์
"รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น เพราะการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ นำไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่น และควรมอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ป.ป.ส. หรือสถาบันการศึกษา จัดทำการประเมินข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสังคม ฯลฯ ขณะเดียวกัน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ควรเปิดเผยข้อมูลผู้รับใบอนุญาตเปิดร้านขายกัญชา เช่น จำนวนใบอนุญาต ข้อมูลการดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืนในกรณีต่าง ๆ"
ออกกฎหมายอย่างรัดกุม ไม่เล่นเกมการเมือง
ด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า กัญชามีทั้งประโยชน์ และโทษ ปัจจุบันพบว่ามีจุดจำหน่ายที่ได้รับใบอนุญาตมากถึง 17,867 ราย ยังไม่นับรวมกับที่ไม่มีใบอนุญาตซึ่งมีอีกจำนวนมาก ดังนั้นสังคมจึงต้องการนโยบายและระบบการจัดการที่ครบวงจร ชัดเจน รัดกุม เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ มีการใช้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย คุ้มครองผู้บริโภค และคุ้มครองสิทธิของผู้อื่น ด้วยการกำหนดกฎหมาย และกติกาที่รอบคอบในการอนุญาต และการห้ามในบางกรณี และบังคับใช้อย่างจริงจัง จัดให้มีกลไกการเฝ้าระวังปัญหาต่างๆ
นอกจากนั้น รัฐพึงประมวลข้อมูลวิชาการทุกๆ ด้าน ที่ทันสมัย ผ่านการวิเคราะห์ ไม่โน้มเอียง พร้อมจัดระบบข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนเข้าถึง เพื่อการตัดสินใจได้ ไม่ให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อที่หลอกลวง รัฐต้องสนับสนุนระบบเพื่อการวิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการเกษตร อย่างจริงจัง
ที่ผ่านมา กพย. ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แก่รัฐสภาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ กำกับดูแล กัญชา และกัญชง ให้เกิดประโยชน์ และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น และขณะนี้ก็มีร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกว่า 6 ฉบับที่ยื่นต่อรัฐสภา จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันติดตาม และเสนอแนะแนวทางแก่รัฐสภา แก่รัฐบาล เพื่อให้เกิดออกกฎหมายอย่างรัดกุม ไม่เล่นเกมการเมือง จนเกิดสุญญากาศอีก ยืนยันว่าภาคีทั้งหมดจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และนำเสนอข้อมูลต่อภาคี และสาธารณะต่อไป
"จุดเริ่มต้นการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดในประเทศไทย นั้นเป็นการใช้ทางการแพทย์ และเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของประชาชน แต่เมื่อมีการปลดล็อก ทำให้เกิดการปักหมุด และความวุ่นวายในการบริหารจัดการ จนนำไปสู่ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีการร่างกฎหมายออกมาแต่ก็ไม่ผ่าน ซึ่งในขณะนี้ทางเครือข่ายภาคประชาชน ประชาสังคมได้มีการร่างกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา อยากให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน เพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการควบคุมที่ชัดเจน มีการคุ้มครองผู้บริโภค การป้องกันเด็ก และเยาวชน"
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การผลักดันให้กัญชาใช้ทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ขาดการควบคุมทั้งการจัดจำหน่าย และการใช้ ทำให้มีการใช้กัญชาอย่างเสรี และเกิดปัญหามากมาย ฉะนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบาย ทิศทางชัดเจน มีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะ และมีหน่วยงานเชิงนโยบายที่ต้องมองภาพรวมของประเทศ ต้องมีการติดตาม ประสานงานทั้งหมด
รวมทั้งต้องมีมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่อนุญาต และห้ามใช้ มีการอนุญาต การปลูก การผลิต การจำหน่าย การสั่งจ่าย การนำเข้า ส่งออก มีกลไกการเฝ้าระวัง ในทุกด้าน และรวมถึงการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งควรมีการวิจัย และพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเกษตร อย่างจริงจัง เพื่อใช้ประโยชน์ มีแหล่งข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เกษตรกร และประชาชน ที่สำคัญ ควรสร้างความรอบรู้ให้กับคนไทยให้รู้เท่าทัน การเฝ้าระวัง การประเมินนโยบายยาเสพติดทั้งระบบ หรือมีนโยบายยาเสพติดที่สอดคล้องทั้งใน และต่างประเทศ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์