ดื่มแค่ไหนถึง 'เป็นพิษ'? รู้ทัน 'แอลกอฮอล์เป็นพิษ'ความสนุกระวังดับ

คนไทยเป็นคนรักความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเทศกาล งานประเพณีอะไร คนไทยก็จัดให้เป็นงานรื่นเริงทั้งสิ้น และการจะทำให้สนุกสนาน
KEY
POINTS
- แอลกอฮอล์เป็นพิษ (Alcohol Poisoning) คือภาวะที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปในระยะเวลาอันสั้น จนร่างกายไม่สามารถกำจัดแอลกอฮอล์ได้ทัน
- เมื่อดื่มแล้วมี อาการสับสน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หมดสติ หายใจช้าลง หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ อุณหภูมิร่างกายลดลง ล้วนเข้าข่ายแอลกอฮอล์เป็นพิษ
- หลักปฎิบัติการดื่ม ควรดื่มอย่างมีสติ จำกัดปริมาณการดื่มในแต่ละวัน ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง หลีกเลี่ยงการดื่มเพื่อแข่งขันหรือกดดันจากสังคม และรู้ลิมิตของตัวเอง
คนไทยเป็นคนรักความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเทศกาล งานประเพณีอะไร คนไทยก็จัดให้เป็นงานรื่นเริงทั้งสิ้น และการจะทำให้สนุกสนาน นอกจากความบันเทิงจากวงดนตรี กิจกรรมต่างๆ แล้ว “การดื่ม” เป็นอีกสิ่งที่พลาดไม่ได้ คนไทยพร้อมดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเพิ่มความสนุกสนาน
แต่รู้หรือไม่ว่า การดื่มในปริมาณที่มากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะ "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง!
“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์” เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง เกิดไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ และเกิดภาวะตับแข็งตามมา เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
โดยพิษแบบเฉียบพลัน จะทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'เคล็ดลับ' ดื่มแล้วรอด เพราะห้ามไม่ได้จึงสอน 'ดื่มมาตรฐาน'
แอลกอฮอล์เข้าสู่ยุคเสื่อม? เมื่อเบียร์-เหล้า-ไวน์แบบไร้แอลกอฮอล์โตแรง
แอลกอฮอล์เป็นพิษ คืออะไร?
การดื่มแอลกอฮอล์ช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงในระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มและทำให้เสียชีวิตได้
แอลกอฮอล์เป็นพิษ (Alcohol Poisoning) คือภาวะที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปในระยะเวลาอันสั้น จนร่างกายไม่สามารถกำจัดแอลกอฮอล์ได้ทัน ส่งผลให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงจนเป็นอันตรายต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาท ระบบการหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหมดสติหรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงแอลกอฮอล์เป็นพิษ
การดื่มของมึนเมาจนมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้สูงมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เหล่านี้
- ปริมาณแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น
- ความเร็วในการดื่ม: การดื่มอย่างรวดเร็วทำให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น
- น้ำหนักตัว: ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยจะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขึ้นเร็วกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
- เพศ: ผู้หญิงโดยทั่วไปจะมีปริมาณน้ำในร่างกายน้อยกว่าผู้ชาย ทำให้แอลกอฮอล์กระจายตัวได้น้อยกว่า จึงมีผลกระทบต่อร่างกายมากกว่า
- การดื่มร่วมกับยาอื่นๆ: การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
กลไกการเกิดแอลกอฮอล์เป็นพิษ
เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ร่างกายจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและถูกนำไปยังตับเพื่อทำการย่อยสลาย แต่หากดื่มในปริมาณมาก ตับจะไม่สามารถทำงานได้ทัน ทำให้แอลกอฮอล์สะสมอยู่ในเลือดและส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น
- ระบบประสาท: สับสน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หมดสติ
- ระบบหายใจ: หายใจช้าลง หายใจลำบาก
- ระบบหัวใจ: หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ
- อุณหภูมิร่างกาย: อุณหภูมิร่างกายลดลง
แอลกอฮอล์เป็นพิษมีอาการอย่างไร ?
การสังเกตอาการเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ หากพบเห็นคนใกล้ตัวมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
- สับสน
- พูดไม่ชัด ไม่รู้เรื่อง
- หมดสติ หรือไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง
- รูม่านตาขยาย การเคลื่อนไหวของดวงตาเร็วกว่าปกติ
- หายใจช้า หรือไม่สม่ำเสมอ (น้อยกว่า 8 ครั้งต่อนาที)
- อาเจียนมากผิดปกติ และอาจสำลัก
- ผิวซีดหรือเย็น อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง (ภาวะ Hypothermia)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเต้นช้าลงจนเป็นอันตราย
- ชัก หรือมีอาการเกร็งกล้ามเนื้อ
- เกิดภาวะกึ่งโคม่า ไม่สามารถตอบสนองได้
- หัวใจวายเฉียบพลัน
ภาวะแทรกซ้อนเมื่อแอลกอฮอล์เป็นพิษ
- การเสียชีวิต: ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษที่รุนแรงอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- ความเสียหายต่ออวัยวะภายใน: แอลกอฮอล์อาจทำลายเซลล์สมอง ตับ และอวัยวะอื่นๆ
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท: อาจเกิดความเสียหายถาวรต่อระบบประสาท เช่น ความจำเสื่อม
วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
เมื่อพบผู้ที่มีอาการแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ก่อนที่แพทย์จะมาถึง โดยทำตามคำแนะนำดังนี้
- ให้ดื่มน้ำเปล่า (ถ้าผู้ป่วยยังรู้สติ) เพื่อช่วยให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ออกทางปัสสาวะ
- โทรแจ้งหน่วยกู้ชีพ 1669
- จัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่ปลอดภัย หากผู้ป่วยยังมีสติ ให้จัดให้นอนตะแคงข้างเพื่อป้องกันการสำลักอาเจียน
- รักษาความอบอุ่นของร่างกาย ใช้ผ้าห่มคลุมร่างกายเพื่อป้องกันภาวะ Hypothermia
- ห้ามปล่อยให้นอนหลับโดยไม่มีคนดูแล เพราะผู้ป่วยอาจหมดสติหรือหยุดหายใจโดยไม่รู้ตัว
- หลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน การกระตุ้นให้อาเจียนอาจทำให้สำลักและเกิดอันตรายมากขึ้น
- ทำการกู้ชีพ CPR หากหยุดหายใจ
ดื่มอย่างรู้ทัน! เพื่อป้องกันแอลกอฮอล์เป็นพิษ
แม้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นเรื่องปกติในงานสังสรรค์ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษได้ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางป้องกัน ดังนี้
- ดื่มอย่างมีสติ จำกัดปริมาณการดื่มในแต่ละวัน และหลีกเลี่ยงการดื่มติดต่อกันหลายแก้วในเวลาสั้น ๆ
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง การรับประทานอาหารก่อนดื่มช่วยชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด
- หลีกเลี่ยงการดื่มเพื่อแข่งขันหรือกดดันจากสังคม การดื่มอย่างรีบเร่งหรือดื่มเพื่อโชว์ว่าดื่มเก่ง สามารถดื่มได้ปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเป็นพิษ
- รู้ลิมิตของตัวเอง แต่ละคนมีความสามารถในการเผาผลาญแอลกอฮอล์แตกต่างกัน รู้จักขีดจำกัดของตัวเองและหยุดดื่มเมื่อถึงจุดที่เหมาะสม
แอลกอฮอล์เป็นพิษไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือการสังสรรค์ หากคุณหรือคนรอบข้างมีอาการเสี่ยง ควรรีบดำเนินการช่วยเหลือและติดต่อแพทย์ทันที การดื่มอย่างมีสติและรับผิดชอบต่อสุขภาพของตัวเองและผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้การเฉลิมฉลองเต็มไปด้วยความสุขและปลอดภัยสำหรับทุกคน
อ้างอิง: โรงพยาบาลวิมุต ,โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี