สร้างความยั่งยืน 6 ระบบสุขภาพ เมื่อค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าGDP

การสร้างความยั่งยืน 6 ระบบสุขภาพ จะทำให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการ “งบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพ”ที่พุ่งขึ้นสูงเนื่องจากสังคมสูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
KEY
POINTS
- สร้างความยั่งยืน 6 ระบบสุขภาพ เมื่อค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าGDP รัฐบาลไม่ได้มองแค่การลดค่าใช้จ่าย แต่มองถึงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ
- การสร้างความยั่งยืน ระบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศได้
- สร้างความยั่งยืนระบบสุขภาพผ่าน 8 มาตรการหลักเร่งด่วนที่โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบงบประมาณ และส่งเสริมการใช้ยาสามัญ จะเป็นทางหนึ่งที่ลดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศลงได้
ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกและสังคมสูงวัย ประเทศไทยกำลังเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในการบริหารจัดการ “งบประมาณสุขภาพ” ที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทยที่มี “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการวางรากฐาน “ความยั่งยืน” ให้กับระบบสุขภาพของประเทศ
ข้อมูลเชิงลึกบ่งชี้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทย มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% ต่อปี ขณะที่ GDP เติบโตเฉลี่ยไม่ถึง 3 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการทบทวนและปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการงบประมาณสุขภาพอย่างเร่งด่วน
โดยจะมีการพิจารณาระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลไปพร้อมกันทั้ง 6 ระบบ คือ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจริงๆต้องรวมรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ เพื่อปรับปรุงระบบค่ารักษาพยาบาลให้มีความมั่นคงยั่งยืนสอดคล้องกับกับมาตรฐานสากล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสูงกว่าGDP
"นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะเลขานุการร่วมคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุขและสํานักงานประกันสังคม ให้สัมภาษณ์“กรุงเทพธุรกิจ” ว่าคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกันโดยไม่ได้มองแค่การลดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมองถึงการสร้างความมั่นคนทางด้านสุขภาพ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าการเติบโตของค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า GDP เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ภาพรวมงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในปี 2567 รัฐบาลใช้งบประมาณไป 3.4 แสนล้านบาทคิดเป็นประมาณ 10% ของงบประมาณทั้งหมด กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)ปี2568 งบ 236,386.5211ล้านบาท ดูแล 47.157 ล้านคนเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3,856.08 บาท เพิ่มขึ้น 383.84 บาท จากปี2567 ขณะที่ประกันสังคมกว่า 12 ล้านคน 4,900 บาทต่อคนต่อปี สิทธิข้าราชการ เหมาจ่ายรายหัว 18,000 บาทต่อคนต่อปี สิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12,000 บาทต่อคนต่อปี
"จริงๆแล้วยังมีระบบของรัฐวิสาหกิจ 52 รัฐวิสาหกิจ มีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 15,359 ล้านบาทและองค์การมหาชน ที่ต้องพิจารณาค่าสวัสดิการรักษาพยาบาลด้วย เพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งงบประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ถูกนำมาใช้ในการซื้อยา โดยสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 เป็นการซื้อยาตามชื่อทางการค้า หากมีการปรับใช้ชื่อสามัญทั้งระบบ ลดการซื้อยาตามชื่อทางการค้าได้ประมาณ 20% ก็จะช่วยประหยัดงบได้ถึง 2-5 พันล้านบาท "เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ปัจจัย“ลบ”ต่อความยั่งยืนระบบสุขภาพ
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร(Aging Population) ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว (Complete Aged Society) โดยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลุ่มนี้มักป่วยด้วยโรคเรื้อรังและต้องการการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์(Medical Advancements)การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในระบบสุขภาพ ทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลดีขึ้นแต่ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูง
3.โรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ(Chronic and Non-communicable Diseases: NCDs)โรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคหัวใจ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งต้องการการรักษาระยะยาว เพิ่มต้นทุนการดูแลสุขภาพอย่างมาก
4.การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านยาและเวชภัณฑ์(Pharmaceutical and Supply Costs)โดยเฉพาะยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5. การขยายสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ(Expansion of Health Coverage) รัฐบาลมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ครอบคลุมมากขึ้น แม้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต อาจเกิดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น(Overutilization)
6. ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานด้านการแพทย์(Healthcare Supply-Demand Imbalance) จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์และทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ
7. การเลือกใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนสิทธิการรักษาพยาบาลบางอย่างให้สิทธิกับประชาชนสามารถใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งมีแนวโน้มเลือกใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนที่มีเทคโนโลยีสูง ทำให้รัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในบางกรณี
8. ความไม่เพียงพอของมาตรการป้องกันโรคและการให้ความรู้ด้านสุขภาพยังไม่เพียงพอทำให้ประชากรเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่สามารถป้องกันได้
9. บริการสาธารณสุขที่มีคุณค่าต่ำในระบบสุขภาพ(Low value care in Healthcare system) เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น พบว่าบางหัตถการ/การให้บริการสาธารณสุขที่มีอยู่ในระบบไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือเกิดประโยชน์เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ไม่มีความคุ้มค่าต่อค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป
“ฮับไบโอเทค”สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นนอกเหนือจากการควบคุมค่าใช้จ่ายทางด้านยาแล้ว ยังต้องมองไปถึงการวางรากฐาน “ความยั่งยืน” ให้กับระบบสุขภาพของประเทศ และโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค โดยมีเป้าหมายในการดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยาในประเทศไทย และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการไทยอีกด้วย
ขณะเดียวกันรัฐบาลควรมีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์และยา เพื่อสร้างนวัตกรรมและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค สร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
“จริงๆแล้วรัฐบาลไม่ได้มองแค่การลดค่าใช้จ่าย แต่มองถึงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค เมื่อมีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและไบโอเทค เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศได้”
ชง 8 มาตรการเข้าครม.
โดยเร็วนี้ๆ คณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทย จะเสนอแนวทางการสร้าง
ความยั่งยืนของระบบสุขภาพให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และมีมติให้ดำเนินการ ใน 8 มาตรการหลัก ได้แก่
- ปรับปรุงระบบงบประมาณ: วางแผนงบประมาณให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และควบคุมการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยที่ไม่ต้องของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมภายหลัง
- ส่งเสริมการใช้ยาสามัญ: ลดการใช้ยาแบรนด์เนม และส่งเสริมการใช้ยาสามัญที่มีคุณภาพ
- เจรจาต่อรองราคายา: เจรจาต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์กับบริษัทยา เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม
- ส่งเสริมการผลิตยาในประเทศ: ลดการนำเข้ายา และส่งเสริมการผลิตยาในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางยา ด้วยการดึงบริษัทยาในต่างประเทศมาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทยแล้วให้ transfer technology ให้ด้วย
- ปรับปรุงระบบสวัสดิการ: ปรับรูปแบบสวัสดิการให้ตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่นข้าราชการยุคใหม่อาจจะไม่อยากได้เงินค่ารักษาพยาบาล อยากได้เงินเดือนสูงขึ้น หรืออยากได้สวัสดิการด้านสุขภาพ เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพ และลดค่าใช้จ่ายรักษาด้านการรักษาพยาบาลลงได้ในอนาคต
- ใช้มาตรการภาษี: ใช้มาตรการภาษีเพื่อควบคุมพฤติกรรมการบริโภคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่นเก็บภาษีสินค้าสุขภาพช่วยทำให้คนบริโภคลดลง
- ส่งเสริมการป้องกันโรค: ลงทุนในการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อลดการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล “P&P (Prevention and Promotion) เช่นอาจจะทำเหมือนในสิงคโปร์ เแจกนาฬิกาให้นับก้าว เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา
- สร้างกลไกความร่วมมือ: สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ส่งเสริมให้ดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืนจะนำไปสู่การลดรายจ่ายทางด้านสุขภาพลงได้