รอไม่ได้! 'ปัญหาสุขภาพเพศ' มีอาการ อย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาแพทย์

รอไม่ได้! 'ปัญหาสุขภาพเพศ' มีอาการ อย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาแพทย์

อดีตการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของกลุ่มคนข้ามเพศ  หรือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด หรือ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ

KEY

POINTS

  • การใช้บริการดูแลสุขภาพทางเพศจะขึ้นอยู่กับสภาพสังคมนั้นๆ ซึ่งในกลุ่มคนเมือง เด็กๆ คนรุ่นใหม่จะมีความสนใจเรื่องเพศมาก และมีเพศสัมพันธ์กันไว
  • ปัญหาเรื่องเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถรอได้ต้องได้รับการดูแลรักษา อยากให้ทุกคนมองเรื่องของสุขภาพทางเพศ เสมือนสุขภาพทางกาย ใจ เมื่อมีอาการต้องไปพบแพทย์
  • กระแสการสมรสเท่าเทียม หรือการเปิดกว้างของสังคมในเรื่องของเพศ รูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายแตกต่างไปจากเดิม ไม่ส่งผลต่อปัญหาทางเพศ ซึ่งไม่ได้ทำให้จำนวนคนไข้มากขึ้น หรือน้อยลง

อดีตการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของกลุ่มคนข้ามเพศ  หรือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด หรือ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ มักพบข้อจำกัดการเข้ารับบริการทางการแพทย์ โดยไม่ได้รับการแนะนำการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

ยิ่งขณะนี้สังคมไทยให้การยอมรับเรื่องเพศมากขึ้น การติดต่อหรือเข้ารับการปรึกษาปัญหาเรื่องเพศเป็นเรื่องเปิดเผยมากขึ้นกว่าอดีต อีกทั้งผู้มีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หรือปัญหาฮอร์โมนเพศ และการเปลี่ยนแปลงในสตรีเมื่อถึงวัยหมดระดู กลายเรื่องพื้นฐานที่ใกล้ตัวและหลายคนประสบมาโดยตลอด จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ก่อตั้ง “คลินิกสุขภาพเพศ (Gender Health Clinic)” แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  ซึ่งปีนี้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 6 

“คลินิกสุขภาพเพศ จุฬาฯ” มุ่งเน้นการบริการแบบองค์รวมแก่ผู้ที่มีปัญหาทางเพศทุกรูปแบบทุกเพศ ทุกวัย และสตรีวัยหมดระดูที่ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากฮอร์โมนเพศที่ลดลง และงานทางวิชาการ สร้างสรรค์และถ่ายทอดความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ทางเพศและสตรีวัยหมดระดู เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาบัณฑิต การฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ในทุกสาขาและการวิจัยค้นคว้าเพื่อสรรสร้างนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ ของศาสตร์ทางด้านนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ฉลองวาเลนไทน์!! ป้องกัน 'สุขภาพเพศ' ผิดปกติ ไม่สบายใจ ปรึกษาด่วน อย่าอายหมอ

คลินิกสุขภาพเพศ ดูแลทุกมิติ เพื่อเพศที่หลากหลาย

บริการดูแล One-Stop Service

นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าคลินิกสุขภาพเพศ จุฬาฯ เป็นการให้บริการดูแลผู้ที่มีปัญหาความการผิดปกติการตอบสนองทางเพศ ดูแลเพศสัมพันธ์และไม่ถึงจุดสุดยอด หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วเจ็บ รวมถึงการให้มีบริการกลุ่มเพศหลากหลาย คนข้ามเพศ และมีการขยายการบริการให้ครอบคลุมดูแลทุกเพศ ทุกวัยมากขึ้น เป็นรูปแบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One-Stop Service

“การใช้บริการดูแลสุขภาพทางเพศจะขึ้นอยู่กับสภาพสังคมนั้นๆ ซึ่งในกลุ่มคนเมือง เด็กๆ คนรุ่นใหม่จะมีความสนใจเรื่องเพศมาก และมีเพศสัมพันธ์กันไว ดังนั้น คนไข้ที่มีปรึกษากลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ เด็กๆ จะเป็นการมีเพศสัมพันธ์แล้วเจ็บ หรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาทิ โรคหนองใน โรคซิฟิลิส  ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่จะมีปรึกษาเรื่องความผิดปกติ เช่น อวัยวะไม่แข็งตัว  หรือฮอร์โมนทางเพศผิดปกติ และการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งปัจจุบันผู้คนเข้ามารับบริการทางการแพทย์ ปรึกษาเรื่องของสุขภาพเพศมากกว่าอดีต”นพ.ธนภพ กล่าว

รอไม่ได้! \'ปัญหาสุขภาพเพศ\' มีอาการ อย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาแพทย์

ครอบคลุม เข้าใจ ห่วงใย ไม่แบ่งแยก

ทั้งนี้ คลินิกสุขภาพเพศจุฬาฯ แบบครบวงจร โดยยึดหลักการทำงาน “ครอบคลุม เข้าใจ ห่วงใย ไม่แบ่งแยก” โดยร่วมมือกับองค์กรระดับชาติและระดับนานาชาติ เช่น World Professional Association for Transgender Health (WPATH), Asian Professional Association for Transgender Health (AsiaPATH), Thailand Professional Association for Transgender Health (ThaiPATH) และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ หรือ Center of Excellence in Transgender Health (CETH) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

การบริการทางการแพทย์ของคลินิกสุขภาพเพศ จุฬาฯ จะครอบคลุมทั้งเรื่องของการให้คำปรึกษาการใช้ยาฮอร์โมนที่ถูกวิธี การบริการผ่าตัดแปลงเพศสำหรับชายและหญิงข้ามเพศ โดยทำงานร่วมกับคลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ รวมทั้ง บริการให้คำปรึกษาแก้ปัญหาสุขภาพทางเพศด้วย เช่น ปัญหาจากวัยหมดระดู ปัญหาช่องคลอดแห้ง โรคทางต่อมไร้ท่อเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ และผลพวงจากเพศสัมพันธ์ไม่ราบรื่น เช่น ขาดอารมณ์ทางเพศ อาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในแต่ละวันจะรับคนไข้ประมาณ 60 ราย 

“คนไข้ที่เข้ารับบริการคลินิกสุขภาพเพศ จะต้องมีการนัดหมายตามคิว เพราะต่อให้แพทย์มีจำนวนมากขึ้น และปัญหาทางเพศ การดูแลสุขภาพเพศ มีการเชื่อมโยงของแพทย์หลายสาขา ขณะนี้ก็มีคนไข้มาใช้บริการมากขึ้น ที่สำคัญ เมื่อมีปัญหาเรื่องเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถรอได้ ต้องได้รับการดูแลรักษา ดังนั้น หากมีปัญหาเรื่องสุขภาพเพศ คนไข้ต้องนัดหมายแพทย์เพื่อเข้าทำการรักษา เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ” นพ.ธนภพ กล่าว

ความพร้อมคลินิกสุขภาพเพศจุฬาฯ

“คลินิกสุขภาพเพศ จุฬาฯ”  จะประกอบด้วยทีมแพทย์และสหวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสหสาขา ได้แก่

หน่วยศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง ฝ่ายศัลยศาสตร์ ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านดูแลด้านผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศด้วยนวัตกรรมที่ล้ำสมัย อาทิ การตัดหน้าอกในชายข้ามเพศผ่านกล้อง การสร้างช่องคลอดใหม่ในหญิงข้ามเพศด้วยการใช้เยื่อบุช่องท้องแบบติดขั้วเส้นเลือด ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในโลก เป็นต้น

ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ บริการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ในชายข้ามเพศทั้งแบบเปิดหน้าท้องและผ่านกล้อง รวมทั้งบริการทางนรีเวชวิทยาสำหรับชายและหญิงข้ามเพศ

ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ ให้คำปรึกษาและประเมินความพร้อมก่อนการใช้ฮอร์โมนหรือการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวลหรือซึมเศร้าที่พบมากกว่ากลุ่มคนทั่วไป นับเป็นแห่งแรกๆของประเทศไทย ที่มีจิตแพทย์มาให้บริการร่วมด้วย

หน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ฝ่ายอายุรศาสตร์ ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ 

ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ ให้คำปรึกษาและสั่งจ่ายฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศในเด็กและวัยรุ่น รวมทั้งให้บริการเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการเข้าสู่วัยแรกรุ่นในเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ

รอไม่ได้! \'ปัญหาสุขภาพเพศ\' มีอาการ อย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาแพทย์

“สมรสเท่าเทียม”ไม่ส่งผลต่อปัญหาทางเพศ

กระแสการสมรสเท่าเทียม หรือการเปิดกว้างของสังคมในเรื่องของเพศ รูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายแตกต่างไปจากเดิม สิ่งเหล่านี้ “นพ.ธนภพ” อธิบายว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องของปัญหาทางเพศ ซึ่งไม่ได้ทำให้จำนวนคนไข้มากขึ้น หรือน้อยลง เพราะผู้ที่มีปัญหาในปัจจุบันไม่อายเหมือนอดีต พวกเขากล้าที่จะเดินมาปรึกษา ขอพบแพทย์ เข้ารับการรักษาถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาสุขภาพทางเพศควรเป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ และมองว่าเหมือนปัญหาสุขภาพกาย หรือจิตใจ 

“การสมรสเท่าเทียม จะทำให้เกิดสิทธิทางกฎหมายตามมา อาทิ การแต่งงาน การมีลูก ซึ่งขณะนี้กฎหมายลูกยังมีการดำเนินการไม่แล้วเสร็จ  ดังนั้น ปัญหาหลังจากนี้ของกลุ่มคนข้ามเพศ กลุ่มหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ จะเป็นเรื่องการมีลูก เพราะจะต้องได้รับคำปรึกษาจากเพศ ที่ผ่านมาหลายคนมีการฝากไข่เก็บไว้ แต่การจะผสมนั้นต้องมีการขออนุญาต และต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย” นพ.ธนภพ กล่าว 

คลินิกสุขภาพเพศ จุฬาฯ จะมีการพัฒนาบุคลากรให้มากขึ้น เพราะขณะนี้บุคลากรมีจำนวนไม่พอตรวจคนไข้ และการจะทำให้คลินิกดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจรทั้งด้านการให้บริการ ดูแลรักษา รวมทั้งการวิจัย การผลิตบุคลากร พัฒนาสู่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการเพศจะต้องมีความพร้อมและความก้าวหน้าทั้งด้านบุคลากร และเทคโนโลยีมากขึ้น 

ไทยเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดทางเพศ

นพ.ธนภพ กล่าวด้วยว่าถึงศาสตร์นี้จะมีมาอย่างยาวนาน แต่ในประเทศไทยถือว่าเป็นศาสตร์ค่อนข้างใหม่ ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรทางการแพทย์ต้องพัฒนาตนเอง อัปเดตองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา และไม่ใช่เพียงการศึกษาวิจัย หรือการดูแลเรื่องปัญหาสุขภาพเพศเท่านั้น ยังรวมถึงการบริการต่างๆ ซึ่งไทยถือเป็นศูนย์กลางของการผ่าตัดทางเพศอยู่แล้ว ต่างชาติให้ความสนใจมาผ่าตัดที่ไทยเพราะราคาถูก คุณภาพการรักษาดี มีประสิทธิภาพ แต่ข้อจำกัดที่ทำให้คนไทยไม่ผ่าตัดแปลงเพศนั้นเพราะราคาแพง 

อย่างไรก็ตาม ไทยมีการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม และให้การยอมรับคนข้ามเพศ และกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น แต่ความรู้ในการดูแลกลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังมีข้อจำกัด ดังนั้น การเลือกใช้บริการคลินิกสุขภาพเพศ ควรเป็นคลินิกเฉพาะทางเพื่อดูแลบุคคลข้ามเพศอย่างครบวงจร โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สหสาขาคอยให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางต่าง ๆ  ควบคู่การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 7 อาคาร ภปร เปิดทำการทุกวันจันทร์เวลา 13.00 - 16.00 น.

รอไม่ได้! \'ปัญหาสุขภาพเพศ\' มีอาการ อย่าปล่อยไว้ รีบปรึกษาแพทย์