อาหารเป็นพิษ 3เดือนป่วยเกือบ 3 หมื่นราย เช็กอาการแบบไหนรุนแรงต้องพบหมอด่วน

อาหารเป็นพิษ 3เดือนป่วยเกือบ 3 หมื่นราย เช็กอาการแบบไหนรุนแรงต้องพบหมอด่วน

หน้าร้อนต้องระวัง! กรมควบคุมโรค เผยต้นปี 67 พบผู้ป่วย โรคอาหารเป็นพิษ พุ่งเกือบ 3 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน แนะยึดหลัก 'สุก ร้อน สะอาด' ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

กรมควบคุมโรค (คร.) เผย ต้นปี 67 พบผู้ป่วยโรค อาหารเป็นพิษ เกือบ 3 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน แนะยึดหลัก 'สุก ร้อน สะอาด' ป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ หมั่นล้างมือเป็นประจำ หากมีอาการอาเจียนรุนแรง ถ่ายอุจจาระเหลว หรืออุจจาระมีเลือดปน มีไข้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

 

วันนี้ (4 เมษายน 2567) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มีการเฝ้าระวังสถานการณ์ โรคอาหารเป็นพิษ อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 มีนาคม 2567 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 27,320 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 5-14 ปี พบการระบาดทั้งหมด 14 เหตุการณ์ โดยสถานที่ที่พบ ได้แก่ โรงเรียน 11 เหตุการณ์, ค่ายทหาร 1 เหตุการณ์, โรงงาน 1 เหตุการณ์ และที่พัก 1 เหตุการณ์

 

ซึ่ง โรคอาหารเป็นพิษเกิดจาก การรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค อาจเป็นได้ทั้ง แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และสารพิษ จึงพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงสภาพอากาศร้อนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้อาหารเกิดบูดเสียได้ง่าย และมักพบการระบาดในสถานที่ที่มีการจัดเตรียมอาหารและน้ำสำหรับคนหมู่มาก หากการเตรียม-ปรุงประกอบอาหารไม่ถูกหลักอนามัย ไม่มีการบริหารจัดการเพื่อรักษาคุณภาพอาหารอย่างเหมาะสม ผู้สัมผัสอาหารไม่ปฏิบัติตามสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อก่อโรค และพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากได้

 

 

ยึดหลัก 'สุก ร้อน สะอาด' ลดเสี่ยงป่วยโรคอาหารเป็นพิษ

 

แพทย์หญิงจุไร กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนยึดหลัก 'สุก ร้อน สะอาด' รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือ สุกๆดิบๆ หลีกเลี่ยงเมนูอาหารที่บูดเสียง่าย อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง หากมีรูป รส กลิ่น สี ผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทาน ควรเลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด มีคุณภาพ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบอาหารหรือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ควรเลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาด มีเครื่องหมาย อย.

 

สำหรับ ผู้จำหน่ายอาหาร ขอให้ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารและสุขลักษณะส่วนบุคคล รักษาความสะอาดของภาชนะอุปกรณ์ สถานที่ปรุงประกอบอาหารให้ปราศจากแมลงและสัตว์พาหะนำโรค ล้างวัตถุดิบให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาประกอบอาหาร ไม่แช่สิ่งของอื่นปนในถังบรรจุน้ำแข็งบริโภค ให้ใช้อุปกรณ์ที่สะอาดคีบ/ตักอาหาร ไม่ใช้มือหยิบจับโดยตรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ

 

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือมีไข้ หลังจากรับประทานอาหารและน้ำ ถ้าอาการไม่รุนแรง แนะนำให้ดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น โดยดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) จิบทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายมาก อาเจียนมาก ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน กระหายน้ำ อ่อนเพลีย มีไข้ หัวใจเต้นผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อกได้

 

หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422

 

อาหารเป็นพิษ 3เดือนป่วยเกือบ 3 หมื่นราย เช็กอาการแบบไหนรุนแรงต้องพบหมอด่วน

แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค