‘อาเจียนเป็นเลือด’ สัญญาณอันตราย อาจเสียชีวิตได้

‘อาเจียนเป็นเลือด’ สัญญาณอันตราย อาจเสียชีวิตได้

อาเจียนเป็นเลือด เป็นการอาเจียนที่มีเลือดหรือลิ่มเลือดปะปนออกมา แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ปัญหาจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารหรือในกระเพาะอาหารแตก ซึ่งคนไข้จะต้องมีปัญหาเรื่อง โรคตับ และ แผลในกระเพาะอาหาร จากการใช้ยาบางชนิด รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร

KEY

POINTS

  • อาเจียนเป็นเลือด เป็นการอาเจียนที่มีเลือดหรือลิ่มเลือดปะปนออกมา ส่วนมากเกิดจากความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนต้น และเป็นอาการอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
  • แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ปัญหาจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารหรือในกระเพาะอาหารแตก ซึ่งคนไข้จะต้องมีปัญหาเรื่องโรคตับ และ แผลในกระเพาะอาหาร จากการใช้ยาบางชนิด รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • ส่วนใหญ่คนไข้ที่มีอาการมักจะอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ทั้งจากโรคตับแข็ง และอาจจะหมายรวมถึงเลือดออกจากสาเหตุอื่นด้วย เช่น กลุ่มที่ได้ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดก็มักจะอายุเยอะ และมีโรคประจำตัว

อาเจียนเป็นเลือด เป็นการอาเจียนที่มีเลือดหรือลิ่มเลือดปะปนออกมา แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ปัญหาจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารหรือในกระเพาะอาหารแตก ซึ่งคนไข้จะต้องมีปัญหาเรื่อง โรคตับ และ แผลในกระเพาะอาหาร จากการใช้ยาบางชนิด รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร

อาเจียนเป็นเลือด เป็นการอาเจียนที่มีเลือดหรือลิ่มเลือดปะปนออกมา ส่วนมากเกิดจากความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนต้น และเป็นอาการอันตรายที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่อาเจียนเป็นเลือดจำเป็นต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อให้เลือดหยุดไหล และค้นหาสาเหตุต่อไป อาจเป็นผลมาจากโรคร้ายแรง นอกจากการอาเจียนเป็นเลือด คนไข้อาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ความรุนแรง และปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพของแต่ละบุคคล

 

พญ.ศุภมาส เชิญอักษร สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวใน รายการลัดคิวหมอรามาฯ ช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel โดยอธิบายว่า อาเจียนเป็นเลือดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ปัญหาจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารหรือในกระเพาะอาหารแตก ซึ่งคนไข้จะต้องมีปัญหาเรื่อง โรคตับ เป็นตับแข็งมาก่อน กลุ่มนี้จะมีเลือดออกรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายกว่า

 

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร สาเหตุมาจากการใช้ยาบางชนิด ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงกลุ่มสูงอายุที่มีเรื่องของหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ที่เขาต้องได้ยาต้านเกล็ดเลือด หรือ ยาละลายลิ่มเลือด มีความเสี่ยงเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ หรือ แผลที่หลอดอาหาร หรือ แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ก็เป็นสาเหตุได้ รวมถึงกลุ่มที่เป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร โรคประจำตัวบางชนิด ที่อาจจะมีเส้นเลือดผิดปกติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

สาเหตุอาเจียนเป็นเลือด

  • มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • หลอดอาหารเกิดการฉีกขาด
  • โรคกรดไหลย้อนแบบรุนแรง
  • การโป่งพองของหลอดเลือดในหลอดอาหาร
  • มีแผลในกระเพาะอาหารหรือโรคกระเพาะอาหารขั้นรุนแรง

 

“ดังนั้น เมื่อมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ต้องประเมินความรุนแรง ต้องกู้ชีพ หรือ ช่วยเหลือเร่งด่วนแค่ไหน เพื่อให้คนไข้ พร้อมส่องกล้อง วินิจฉัย รักษา”

 

เส้นเลือดขอดที่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร

สำหรับ เส้นเลือดขอดที่หลอดอาหาร ต้องส่องกล้องจึงจะเห็นว่ามีการโป่งพอง และยิ่งใหญ่ ผนังยิ่งจะบาง หากความดันในผนังหลอดเลือดที่สูงขึ้นจากการที่โรคตับแย่ลง ก็จะแตกเอง จะเหมือนการเปิดก๊อกน้ำ โดยเส้นเลือดขอดที่กระเพาะอาหารก็เช่นเดียวกัน จะเป็นเส้นเลือดที่ป่องขึ้นมา ความดันที่สูงขึ้น ทำให้แตก โอกาสหยุดเลือดยากกว่าคนที่เป็นแผล

 

ในประเทศไทย พบอาการเหล่านี้เยอะ แต่ก่อนอื่นจะพบอาการตับแข็ง เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะทำให้ตับแข็งแล้ว การดื่มเยอะๆ ทำให้อาเจียน การอาเจียนหลายครั้ง รุนแรงมากทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดอาหารส่วนปลาย และอาเจียนเป็นเลือดได้เช่นกัน บางคนหยุดเองได้ บางคนรุนแรง และบางคนหลอดอาหารทะลุได้เช่นกัน

 

อาการเป็นอย่างไร

  • วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • ปวดท้อง
  • อุจจาระเป็นสีดำ
  • อาเจียนเป็นเลือดหรือสีเหมือนน้ำกาแฟ
  • ปัสสาวะออกน้อยลง
  • มือเท้าเย็น ผิวซีด
  • หายใจผิดปกติ หายใจตื้นและเร็วขึ้น
  • ใจเต้นเร็ว

 

พฤติกรรมเสี่ยง

สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการอาเจียนเป็นเลือด มีหลายสาเหตุ หากเป็นกลุ่มโรคตับแข็ง นอกเหนือจากการดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะเป็นไวรัสตับอักเสบี , ซี หรือเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน ทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เกิดพังผืดในตับก็มีโอกาสทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหารและกระเพาะอาหารได้

 

ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น คนที่ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเข่า ทำงานหนักปวดเมื่อย ซื้อยาแก้ปวด โดยเฉพาะยาชุด ที่สีสันสดใส มีสเตียรอยด์ ทำให้กลไกในการปกป้องการเกิดแผลในกระเพาะอาหารสูญเสียไป และเกิดแผลอย่างรวดเร็ว บางครั้งทาน 3 วันทำให้อุจจาระดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด

 

“หรือบางครั้งไปโดนเส้นเลือด เพราะโดยปกติผนังกระเพาะเรามีความสามารถในการสร้าง เยื่อเมือกเพื่อปกป้องกรดไม่ให้ทำลาย และเกิดแผล แต่เมื่อทานยาเหล่านี้ทำให้กลไกการสร้างเยื่อเมือกหนาๆ เสียไป จะเกิดเป็นแผลในกระเพาะ เหมือนการขุดหลุมในกระเพาะและข้างใต้มีเส้นเลือด เมื่อไปโดนเส้นเลือดอันใหญ่ เหมือนเป็นการเปิดก๊อกและทำให้อาเจียนเป็นเลือดได้”

 

ยาบางชนิดที่ได้จากโรงพยาบาล เช่น กลุ่มแอสไพริน ป้องกันเส้นเลือดหัวใจ สมองตีบซ้ำ กลุ่มที่ใช้ยาก็จะมีความเสี่ยง หรือ กลุ่มที่ติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร อาการคล้ายโรคกระเพาะอาหาร เกิดแผล ทำให้เลือดออกได้ การทานข้าวไม่ตรงเวลา หรือทานเผ็ดแล้วปวดท้องบ่อยๆ อาจจะมีเชื้อเหล่านี้ซ่อนอยู่ทำให้เกิดแผลได้

 

สัญญาณเตือน

หากกลุ่มที่เป็นเส้นเลือดขอดส่วนใหญ่ไม่ปวดท้อง แต่มักจะเป็น “โรคตับแข็ง” พุงป่องที่การทำงานของตับแย่ มีน้ำในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง แต่บางครั้งการดูลักษณะภายนอกอาจจะดูไม่ออก บางรายมาด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือด ต้องส่องกล้องดูจึงจะรู้ว่าเป็นตับแข็ง

 

“โดยส่วนใหญ่อาการแย่มากๆ จึงจะเกิดปัญหาเส้นเลือดขอด แต่บางครั้งสามารถเจอในระยะต้นได้ เช่น คนที่ดื่มสุรา จะมีปัญหาเรื่องตับอ่อน เกิดเส้นเลือดขอดได้ไว แม้ตับยังทำงานได้ดี”

 

กลุ่มสูงวัยเสี่ยงสูง

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่คนไข้ที่มีอาการมักจะอายุระหว่าง 50-60 ปีขึ้นไป เพราะกว่าจะตับแข็งได้มักจะอายุเยอะ และผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า อาจจะหมายรวมถึงเลือดออกจากสาเหตุอื่นด้วย เช่น กลุ่มที่ได้ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดก็มักจะอายุเยอะ และมีโรคประจำตัว เมื่ออายุเยอะ แล้วอาเจียนเป็นเลือด มักจะอาการรุนแรงกว่าเพราะร่างกายทนได้น้อยกว่า เหมือนเราเสียน้ำ เสียเลือด ในเวลาอันสั้น ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต อาจจะหน้ามืด หัวใจหยุดเต้นได้หากเลือดออกรุนแรงมาก

 

การรักษา

  • การให้ยาลดการหลั่งกรด ยาลดความดันหลอดเลือดโป่งพอง
  • การส่องกล้อง จี้ด้วยไฟฟ้า รัดหลอดเลือดโป่ง ใช้คลิปหนีบเส้นเลือด
  • การผ่าตัด รักษาผู้ป่วยที่อาการรุนแรง
  • การให้เลือด ให้เลือดทดแทนเลือดที่เสียไป
  • ถ่ายภาพรังสีเส้นเลือด และซ่อนจุดที่มีเลือดออก

 

พญ.ศุภมาส อธิบายว่า ปกติหากมาด้วยการสงสัยว่าจะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน อาจไม่ถึงกับอาเจียนเป็นเลือด แต่ออกมาเป็นสีเหมือนน้ำกาแฟ หรือ อุจจาระเป็นสีดำ หรือหากรุนแรงมากก็อาจจะอุจจาระเป็นลิ่มเลือดได้ ดังนั้น แพทย์จะต้องประเมินความรุนแรง ระดับความเสียเลือดมากน้อยแค่ไหน ต้องให้สารน้ำ หรือให้เลือดทดแทน รวมถึงการให้ยาหยุดเลือดเบื้องต้น

 

หากสงสัยว่าเป็นแผล จะให้ยาลดการหลั่งกรด เพื่อให้เลือดหยุด ลดความรุนแรงก่อนส่องกล้อง ต้องเตรียมคนไข้ให้พร้อม

 

หากเป็นกลุ่มที่เป็นเส้นเลือดขอด ต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือใช้ผลเลือดที่ทำให้คาดเดาสาเหตุ และมียาลดความดันในเส้นเลือด ทำให้เลือดสามารถหยุด จากนั้นคนไข้พร้อมจึงส่องกล้อง และทำหัตถการในการหยุดเลือดได้หรือไม่

 

หลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจออะไร หากเป็นเส้นเลือดขอด ต้องรัดให้หยุดหรือฉีดตัวสารให้เส้นเลือดที่นิ่มให้แข็ง หรือหากเลือดเยอะมาก ต้องมีการชะลอการไหลของเลือด เช่น การใส่บอลลูนขยาย และรอให้เบาบางลง

 

หากเป็นกรณีการเป็นแผล จะใช้หัตถการส่องกล้อง เช่น การฉีดยาไปกดเส้นเลือด ใช้คลิปหนีบปิดปากทาง หรือเอาความร้อนจี้ โดยส่วนใหญ่หากสามารถหยุดเลือดได้สำเร็จ คนไข้จะอยู่ที่โรงพยาบาลราว 3 วัน

 

แต่มีบางกรณีที่หยุดเลือดไม่สำเร็จ อาจจะต้องเตรียมพร้อม ปรึกษาทีมแพทย์ผ่าตัด ทีมแพทย์เอกซเรย์ ที่เกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เมื่อมีเลือดออก มักจะมีเส้นเลือดหลักที่ทำให้เลือดออก แพทย์จะฉีดสีเพื่อหาจุดที่เลือดออก ก็ต้องอุดเส้นเลือด

 

การดูแลระยะยาว

หากเป็นแผล ขึ้นอยู่กับว่าแผลเกิดจากอะไร ส่วนใหญ่จะให้ยาลดการหลั่งกรดเพื่อให้แผลหายดี และไปรักษาที่สาเหตุ เช่น หากเป็นเชื้อแบคทีเรีย ต้องให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โอกาสเป็นซ้ำก็จะน้อยลง

 

กลุ่มที่ได้ยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องทานยา ต้องใช้ยาที่ป้องกันการเกิดแผลในครั้งต่อไป

 

กลุ่มที่เป็นเส้นเลือดขอด ต้องให้ยาลดความดันหลอดเลือด ซึ่งต้องใช้ตลอดชีวิต กลุ่มนี้ต้องส่องกล้องซ้ำเสมอ เพื่อดูว่าเส้นเลือดที่รัดมีการยุบ และไม่ป่องหรือยัง ทุก 2-3 สัปดาห์ จนกว่าเส้นเลือดขอดหายไป ร่วมกับการใช้ยาเพื่อลดแรงดันเส้นเลือด ลดโอกาสเลือดออกซ้ำ อาจจะไม่ได้ 100% แต่ก็สามารถลดได้เยอะพอสมควร

 

คำแนะนำ

  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • เลี่ยงการทานยาชุด
  • ตรวจความเสี่ยงโรคตับ
  • หากเป็นสาเหตุจากยา เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติและให้ยาที่ป้องกันทานคู่ไปด้วย