เดินเพื่อไม่ให้เสียโอกาส | วรากรณ์ สามโกเศศ

เดินเพื่อไม่ให้เสียโอกาส | วรากรณ์ สามโกเศศ

ถ้าผมบอกว่ามียาวิเศษกินวันละหนึ่งเม็ด แล้วโอกาสตายก่อนเวลาอันควรของคุณจะลดไป 20% คุณจะสนใจไหม ตาคุณคงจะลุกโพลนทันที ถ้าผมบอกว่ากินเม็ดที่สองเพิ่มแล้วโอกาสตายจะลดลงไปอีก 20% สมองคุณจะทำงานทันทีและคิดว่ามันคงจะแพงมาก

และถ้าผมบอกว่าถ้ากินมากเม็ดขึ้นโอกาสตายก็จะยิ่งลดน้อยลงไปอีก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณแทบจะกระโดดเข้าใส่ผมเพื่อถามว่ายาอยู่ที่ไหน หรือไม่ก็สรุปว่าผมเป็นนักต้มตุ๋นเป็นแน่ ยานี้มีจริงครับ อยู่ใกล้ตัวและฟรีเสียด้วย

Dr.Idrees Mughal ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและอาหารเขียนไว้ในหนังสือดังชื่อ “Saturated Facts“(2024) ถึงยาเม็ดนี้ว่าจากการศึกษาวิเคราะห์งานวิจัย 17 ชิ้น แล้วนำมาสรุปเป็นบทความในวารสารวิชาการ International Journal of Behavioral Nutrition and Physical Act (2020)

พบว่า ยานี้หนึ่งเม็ดเท่ากับการเดิน 1,000 ก้าวต่อวัน เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตประมาณ 6-36% ในช่วงเวลา 10 ปี ต่อมา

การเดิน 1,000 ก้าวต่อวันมิได้ประกันว่าจะไม่ตาย หากเป็นเรื่องของการลดความเสี่ยงลง ไม่มีใครรับรองกับใครได้ว่าจะไม่ตาย (แม้แต่หมอดู หรือตัวเอง) สิ่งที่บอกได้ก็คือลดความเสี่ยง

ตัวอย่างเช่น ไรเดอร์ส่งอาหารที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์ฉวัดเฉวียน และฝ่าไฟแดงเป็นประจำมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในแต่ละวันเท่ากับ 30% หรือ 0.3 (ถ้าเท่ากับ 1.0 ก็คือตายแน่)

หากขับช้าลงอย่างระมัดระวังและเปลี่ยนมาปฏิบัติตามกฎจราจรแล้ว ความเสี่ยงในการตายก็จะลดลงเหลือ 15% หรือ 0.15 ซึ่งหมายความว่าความเสี่ยงลดลงไปเท่าตัว หรือ 100%

ผมเคยเขียนบทความชื่อ “ฆาตกรชื่อเก้าอี้” ได้ระบุว่าวารสาร Scientific American รายงานว่างานศึกษา 800,000 คน ในเวลา 16 ปี สรุปว่าคนที่นั่งเจ่าจุกดูทีวีมากกว่าวันละ 4 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับคนที่นั่งดูวันละ 2 ชั่วโมง มีโอกาสเสียชีวิตหรือพูดอีกอย่างว่ามีความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 46%

และในการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่าการนั่งมากกว่าครึ่งวันในแต่ละวัน ทำให้ความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว

เหตุที่การนั่งธรรมดาทำให้มีโอกาสตายสูงขึ้น ก็เพราะการนั่งเป็นระยะเวลานานๆ ไม่สอดคล้องกับการที่ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมา ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เคลื่อนไหวเดินไปมา มีความกระฉับกระเฉง

การนั่งนานๆ อย่างไม่เคลื่อนไหวทำให้ระบบการทำงานเผาผลาญพลังงานทำงานช้าลง เกิดการสะสมของไขมันจนเกิดความอ้วนตามมาและอาจนำไปสู่โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขข้ออักเสบ และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับการมีน้ำหนักเกินปกติ

ญี่ปุ่นมีโครงการรณรงค์ “10,000 ก้าวเพื่อสุขภาพ” และลามไปสู่หลายประเทศ 10,000 ก้าวก็ประมาณเท่ากับการเดิน 6 กิโลเมตรต่อวัน โดยนับการเดินทั่วไปในกิจวัตรประจำวันเข้าไปด้วย WHO แนะนำว่าควรมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งรวมทั้งการเดินทั่วไปในบ้าน

เดินเพื่อไม่ให้เสียโอกาส | วรากรณ์ สามโกเศศ

กิจกรรมทางกาย (ปัจจุบันมักไม่เรียกว่าการออกกำลังกายเพราะดูเป็นเรื่องเป็นราวต้องใส่รองเท้า เสื้อและกางเกงกีฬา จนทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นทางการจนกระทำน้อยลง) การเดินในที่ทำงานการเดินเล่น ฯลฯ รวมแล้วไม่ควรต่ำกว่า 130 นาทีต่ออาทิตย์

สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ทำงานเพื่อสุขภาวะ (รวมทุกเรื่องตั้งแต่การดูแลสุขภาพทางกาย ทางจิต การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ฯลฯ ) ของสังคมไทยมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วอย่างได้ผล

อะไรที่ภาครัฐ หรือเอกชนทำขาด หรือมีช่องว่าง สสส.ก็จะเข้าไปทำงานเสริมเสมือนน้ำมันหล่อลื่น จนมีส่วนร่วมทำให้บ้านเราประสบความสำเร็จด้านสาธารณสุขในระดับหนึ่งของโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ

ขอกลับมาเรื่องการเดินต่อ ในปัจจุบันมีความคิดริเริ่มในการเชื่อมต่อการทำงานนั่งโต๊ะกับการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น

(1) มีโต๊ะทำงานชนิดยืน

(2) ยืนประชุมแทนการนั่งในบางประเภทของการประชุม ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่มีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว

(3) มีโต๊ะทำงานสูงแบบยืนที่คร่อมสายพานเดินที่มีความเร็วต่ำซึ่งทำให้คนทำงานต้องยืนและเดินช้าๆไปด้วย

(4) ไม่มีเก้าอี้ให้คนเข้าพบนั่งจนใช้เวลาสั้นในการหารือ ฯลฯ 

เดินเพื่อไม่ให้เสียโอกาส | วรากรณ์ สามโกเศศ

 การจัดรูปแบบการทำงานเช่นนี้พบว่า ทำให้สมองตื่นตัว มีความเครียดน้อยลง น้ำหนักลดลง ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดลดลงปัจจุบันหลายบริษัทใหญ่ในโลกใช้นวัตกรรมในการทำงานเช่นว่านี้

ประเด็นที่พึงพิจารณาในเรื่องการเดินเพื่อสุขภาพ คือการเสียโอกาสความจริงของชีวิต ที่บ่อยครั้งมักลืมกันก็คือแต่ละวันที่ผ่านไปในชีวิตของเรานั้น จะไม่มีวันหวนกลับคืนมาและเวลาก็เดินหน้าไม่หยุดยั้ง

ดังนั้น เราจึงมีชีวิตเดียว มีอายุ 20 หรือ 30 หรือ 40 หรือ 50 ปี เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีโอกาสเป็นวัยรุ่น วัยกลางคนสองครั้ง วันเวลาใดที่ผ่านไปแล้วไม่สามารถไขลานกลับคืนไปเวลาเดิม

การเดินเพื่อช่วยทำให้สุขภาวะดีนั้น เกี่ยวพันกับเรื่องการเสียโอกาสอย่างใกล้ชิด ถ้ามีชีวิตที่เนือยนิ่ง หรือเจ่าจุกอย่างไม่สนใจเรื่องสุขภาวะของตนเองในวัยต้นของชีวิต จนมีส่วนอย่างสำคัญทำให้สุขภาวะเลวร้ายกว่าที่ควรจะเป็นในวัยปลายชีวิตแล้วก็น่าเสียดาย 

โอกาสที่สูญเสียไปนั้นอย่างยิ่งเพราะไม่สามารถหมุนเวลากลับไปเดินเพื่อสุขภาพได้ คำอุทาน “ถ้ารู้งี้” เป็นการยอมรับความผิดพลาดครั้งสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตและไม่สามารถทำอะไรกับโอกาสที่สูญไปนั้นได้เลย

สุขภาวะที่ดีในตอนปลายชีวิตหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดี โดยรวมการมีช่วงเวลาของความสุขในชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่นและสังคม มีช่วงเวลาของการทำมาหากินที่ยาวขึ้น เสียเงินทองในการรักษาพยาบาลน้อยลง ฯลฯ ทั้งหมดนี้มาจากการเตรียมตัวเพื่อสุขภาวะที่ดีด้วยการเดินในปัจจุบัน

เอาอุปกรณ์เดินชนิดสายพานที่ซื้อไว้นานและใช้ตากผ้าออกมาใช้งานได้แล้วครับ โดยเริ่มจาก “ยาเม็ด” แรกก่อนในอาทิตย์แรก และค่อยๆ เพิ่มยาทีละเม็ดในอาทิตย์ต่อๆ ไปอย่างเป็นขั้นตอนครับ

ลงทุนในปัจจุบันเพื่ออนาคตเพราะไม่มีอะไรที่แพงกว่าโอกาสที่สูญเสียไป