"โปรตีน" กินผิด ชีวิตเปลี่ยน .. กินโปรตีนมากไปเสี่ยงตับไตพัง

"โปรตีน" กินผิด ชีวิตเปลี่ยน .. กินโปรตีนมากไปเสี่ยงตับไตพัง

“โรคไต” เป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงที่ไม่ควรมองข้ามเพราะประชากรไทยกว่า 17.5 ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไต แม้แต่เด็กก็สามารถเสี่ยงเกิดโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

KEY

POINTS

  • “โรคไต” โรคร้ายแรงที่ไม่ควรมองข้าม ประชากรไทยกว่า 17.5 ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไต แต่เด็กก็สามารถเสี่ยงเกิดโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน 
  • รับประทานโปรตีนมากเกินจำเป็น หนึ่งในพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงไตพัง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคไต โรคตับ และโรคกลุ่มเรื้อรังNCDs อย่าง เบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง หรือสภาวะทางพันธุกรรมบางอย่าง
  • ปริมาณโปรตีนที่แนะนำบริโภคสำหรับผู้ใหญ่ไทยทั้งชายและหญิง คือ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และพลังงานจากโปรตีนเทียบกับพลังงานที่ควรได้รับทั้งวัน ควรอยู่ระหว่างร้อยละ 10-15

“โรคไต” เป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงที่ไม่ควรมองข้ามเพราะประชากรไทยกว่า 17.5 ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไต แม้แต่เด็กก็สามารถเสี่ยงเกิดโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 17% หรือหากมีคนนั่งอยู่ในห้อง 100 คน จะพบป่วยโรคไตเรื้อรัง  17คน และแนวโน้มคนไข้ระดับ 5 ระดับฟอกไต มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 2 แสนคน

โดยสาเหตุที่เป็นโรคไต มาจากโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งคนไทยต้องฟอกไต  40% มาจากความดันโลหิตสูง  40% โรคเบาหวาน และ 20% จากสาเหตุอื่นๆ การตรวจพบให้เร็ว และมีการรักษา ป้องกันระยะต้นไม่ให้เข้าสู่โรคไตระยะ 5 ซึ่งสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายที่เป็นโรคไต ไม่ได้แตกต่างกัน

โดยพฤติกรรมเบื้องต้นที่ทำให้เกิดโรคไตได้มีดังนี้ 

  • กลั้นปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือมากเกินไป
  • รับประทานอาหารรสจัด เปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด มัน
  • รับประทานโปรตีนมากเกินจำเป็น
  • รับประทานอาหารสำเร็จรูปเป็นประจำ
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
  • ซื้อยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

ปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกาย รูปร่างมากขึ้น ยิ่งในกลุ่มคนออกกำลังกายมักจะทานโปรตีนเสริม เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ทว่าการรับประทานโปรตีนมากเกินจำเป็น เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ส่งผลให้เสี่ยงเกิดไตพังได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

กินโปรตีน แล้วไม่ออกกำลังกาย ‘น้ำหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงโรค’จริงหรือ?

งานวิจัยล่าสุด คนไทยต้องการลดกินเนื้อสัตว์ โดย 'โปรตีนจากพืช' คือทางเลือก

ทานโปรตีนมากไป เสี่ยงไตวายเรื้อรังจริงหรือ!

"โปรตีน" เป็นสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบหลักของทุกเซลล์ในร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญหลากหลายในรูปแบบ เช่น เป็นแหล่งพลังงานและสารอาหารหลักที่สำคัญ เสริมสร้างการเจริญเติบโต ซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และเอนไซม์ที่สามารถทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย  เป็นส่วนประกอบของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เป็นพาหนะนำพาสารอาหารจากผนังลำไส้และก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด และนำส่งไปทั่วร่างกาย

โปรตีนธรรมชาติมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง การผลิตสารสื่อประสาทเซโรโทนิน ที่จะป้องกันการทำงานระบบสมองและประสานทำงานผิดเพี้ยน ที่จะลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท อารมณ์แปรปรวน และอาการก้าวร้าวได้

\"โปรตีน\" กินผิด ชีวิตเปลี่ยน .. กินโปรตีนมากไปเสี่ยงตับไตพัง

รศ.พญ.ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม ฝ่ายอายุรกรรมโรคไต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ปลา ถั่วประเภทต่าง ๆ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ในผู้ที่ไตมีการทำงานเสื่อมไปบางส่วน อาจเร่งการดำเนินของโรคไตให้เร็วขึ้นได้ เพราะอาหารเหล่านี้ ประกอบไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีนสูง ทำให้เลือดในร่างกายมีความเป็นกรดมากขึ้น ไตจึงต้องทำงานหนักเพื่อขับยูเรียซึ่งเป็นของเสียที่ได้จากการสลายโปรตีนและเพิ่มการขับกรดออกจากร่างกาย

  • ผู้ป่วยไตเสื่อมในระยะก่อนฟอกไต ควรรับประทานโปรตีนในแต่ละวัน ให้น้อยกว่าคนปกติเล็กน้อย คือ ประมาณ 0.6 – 0.8 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน
  • ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกไตแล้ว ควรรับประทานโปรตีนในแต่ละวัน เพิ่มมากกว่าคนปกติ คือ ประมาณ 1.0-1.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก./วัน เนื่องจากร่างกายสูญเสียโปรตีนไปบางส่วนจากกระบวนการฟอกไต

ทำไม?ผู้ป่วยไตต้องคุมอาหาร คุมโปรตีน

ในคนปกติปริมาณโปรตีนที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ไทยทั้งชายและหญิง คือ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และพลังงานจากโปรตีนเทียบกับพลังงานที่ควรได้รับทั้งวัน ควรอยู่ระหว่างร้อยละ 10-15

โปรตีน แบ่งได้ 2 ประเภทจากแหล่งที่มา สำหรับอาหารที่คุณบริโภคอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

1.โปรตีนจากแหล่งธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ วัว หมู ปลา อาหารทะเล ไข่ ถั่วเหลือง ต้นอ่อนทานตะวัน ถั่วแระญี่ปุ่น ถั่วลันเตา เป็นต้น

2.โปรตีนแปรรูปหรือโปรตีนสังเคราะห์ เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปหรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการทอดหรือผ่านกระบวนการความร้อนสูง เช่น เนื้อหรือโปรตีนสังเคราะห์ เนื้อแฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก ไก่ทอด ฮอทดอก แฮม เบคอน เนื้อกระป๋อง โปรตีนผง อาหารเสริมโปรตีน เป็นต้น

โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อมนุษย์มาเป็นเวลานาน และช่วยมนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการด้านสมองและสติปัญญา รวมถึงภูมิต้านทานโรค มาถึงยุคปัจจุบัน

สิ่งสำคัญคือการรู้ว่าตนเองได้รับโปรตีนธรรมชาติ (Whole Foods of Protein) ได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมต่อร่างกายของคุณในแต่ละวันไหม (เพราะทุกคนมีระดับโปรตีนที่ร่างกายต้องการแตกต่างกัน) เพื่อให้คุณแน่ใจและติดตามการได้รับโปรตีนที่เพียงพอ

สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เมื่อไตทำงานลดลง ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เกิดการเสื่อมสภาพลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นหัวใจสำคัญในการชะลอไตวายเรื้อรัง  ช่วยควบคุมอาการและดูแลไม่ให้ไตทำงานหนักจนเกินไป

การได้รับอาหารที่เหมาะสมดีต่อผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น

  • ชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด
  • ยืดระยะเวลาที่ต้องฟอกเลือดออกไป
  • ลดการคั่งของของเสียในเลือดที่นำไปสู่การเสียชีวิต
  • ป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
  • ป้องกันการขาดสารอาหาร
  • รักษาภาวะโภชนาการของผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีสุขภาพโดยรวมดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี

\"โปรตีน\" กินผิด ชีวิตเปลี่ยน .. กินโปรตีนมากไปเสี่ยงตับไตพัง

กินให้ถูกเมื่อไตเสื่อม กินโปรตีนให้เหมาะกับร่างกาย

โรคไตเรื้อรังในเเต่ละระยะมีความต้องการสารอาหารแตกต่างกันจึงควรได้รับการดูเเลอย่างใกล้ชิดเพื่อชะลอการเสื่อมของไต โดยระมัดระวังการกินอาหารใน 6 กลุ่มต่อไปนี้

1) เนื้อสัตว์

  • แหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่ร่างกายนำไปใช้ได้ดีกว่าและเกิดของเสียคั่งในเลือดน้อยกว่าโปรตีนจากพืช
  • หากรับประทานโปรตีนมากเกินไปจะส่งผลเสีย ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นเเละเกิดการคั่งของของเสีย
  • หากรับประทานโปรตีนน้อยเกินไปอาจทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันเเย่ลง เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตได้
  • ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรได้รับคำเเนะนำจากทีมโภชนาการเพื่อเลือกรับประทานเนื้อสัตว์อย่างเหมาะสม

2) ข้าวเเละแป้ง

  • แหล่งพลังงานสำคัญในผู้ป่วยโรคไตเสื่อม ถ้าร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอจะช่วยป้องกันการสลายของมวลกล้ามเนื้อได้ดี
  • อาหารกลุ่มแป้งมีโปรตีนในปริมาณที่เเตกต่างกัน อาจทำให้ผู้ป่วยโรคไตเสื่อมระยะ 3 – 5 จำกัดการรับประทานโปรตีนได้ยาก ผู้ป่วยควรได้รับความรู้ในการเลือกกลุ่มเเป้งที่ถูกต้องและการเลือกใช้แป้งปลอดโปรตีนอย่างเหมาะสม เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ และสาคู เพื่อให้การรักษาโรคไตเสื่อมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

3) ไขมัน

  • เลือกไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (ไขมันอิ่มตัวสูงพบในมันและหนังสัตว์ น้ำมันจากสัตว์ เป็นต้น)
  • รับประทานไขมันที่ดีต่อหัวใจ ได่เเก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น

4) ผักและผลไม้

  • เเหล่งเเร่ธาตุที่มีความสำคัญมาก เเต่เมื่อไตสูญเสียความสามารถในการรักษาสมดุลเกลือเเร่บางตัว การเลือกรับประทานผักผลไม้ที่มีเเร่ธาตุต่ำจึงมีความสำคัญต่อการรักษาอย่างมาก
  • ชนิดของผักและผลไม้ที่ควรเลือกรับประทานขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียม เเมกนีเซียม เเคลเซียม เเละโซเดียมในเลือดขณะนั้น
  • การรับประทานผักและผลไม้ที่เหมาะสมช่วยลดการใช้ยาขับเเร่ธาตุเเละยืดระยะเวลาที่ต้องฟอกเลือดออกไป

5) เกลือ

  • แหล่งของโซเดียม
  • การรับประทานเกลือมากเกินไป ทำให้ได้รับโซเดียมเกินความจำเป็น ความดันโลหิตสูงขึ้น เกิดภาวะบวมน้ำ จึงควรจำกัดการรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา โดยทั่วไปอาหารตามธรรมชาติที่ไม่ปรุงรสจะมีโซเดียมอยู่แล้วจึงไม่ควรรับประทานเกลือหรือซอสปรุงรสต่าง ๆ ที่มีโซเดียมเกินวันละ 1,000 – 1,200 มิลลิกรัม (ตัวอย่างเครื่องปรุงที่มีปริมาณโซเดียม 400 มิลลิกรัม เช่น เกลือ 1/4 ช้อนชา, น้ำปลา 1 ช้อนชา, ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา,  ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ, ซอสมะเขือเทศหรือซอสพริก 2 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น)

6) น้ำ

  • ผู้ที่ไตขับปัสสาวะได้ลดลงมีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มเพื่อป้องกันภาวะบวมน้ำเเละน้ำท่วมปอด
  • ปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวันจะนับรวมถึงอาหารทุกชนิดที่เป็นของเหลวเเละเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า ซุป น้ำผลไม้ น้ำผัก เป็นต้น

ไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องดูแล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ที่ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 2 ในเดือนมีนาคมของทุกปี อยากให้ทุกคนตระหนักถึงโรคไตและป้องกันโรคไตด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด ดื่มน้ำวันละ 8 – 10 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ตรวจคัดกรองไตอย่างน้อยปีละครั้ง สำหรับผู้ป่วยโรคไตควรพบแพทย์ตามนัดหมายและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

โปรตีนในสารอาหารหลักที่สำคัญต่อชีวิตคุณ อย่างไร

  • โปรตีนเป็นสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบหลักของทุกเซลล์ในร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญหลากหลายในรูปแบบ โดยมีหน้าที่หลักๆ เช่น
  • เป็นแหล่งพลังงานและสารอาหารหลักที่สำคัญ
  • เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างสรีระทางร่างกาย ได้แก่ กล้ามเนื้อ กระดูก เนื้อเยื่อ เอ็น ผิวหนัง เส้นผม และเล็บ และส่วนประกอบที่สำคัญภายในร่างกาย ได้แก่ เอนไซม์ ฮอร์โมน ฮีโมโกลบิน เซลล์ภูมิคุ้มกัน สารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด เป็นสารตั้งต้นวิตามิน
  • ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต ซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ หรือส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
  • ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และเอนไซม์ในตับหลายตัวที่เป็นโปรตีนสามารถทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหาร เครื่อง หรือมลภาวะทางอากาศได้
  • เป็นตัวประสานหรือพาหนะนำพาสารอาหารจากผนังลำไส้เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด และนำส่งไปทั่วร่างกาย
  • ควบคุมการทำงานของเซลล์ในร่างกาย เช่น เอนไซม์ที่ช่วยกระตุ้นและควบคุมปฏิกิริยาเคมีในระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานตามปกติ และควบคุมสมดุลน้ำภายนอกและภายในเซลล์

ก่อนทางโปรตีน เช็กความเชื่อถูกหรือไม่?

1. กินโปรตีนมากไปไม่ดีต่อไต

  • การได้รับโปรตีนจากธรรมชาติ (Whole Food) เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ วัว ปลา อาหารทะเล ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม และโปรตีนจากพืช เช่น ผักโขม อัลมอนด์ ถั่วพู ถั่วเหลือง เป็นต้น ในกรณีที่เป็นบุคคลที่สุขภาพปกติ
  • แม้คุณจะได้รับโปรตีนแบบไม่จำกัดหรือในสัดส่วนที่มาก เช่น การกินแบบ Carnivore Diet หรือ Ketogenic Diet หรือการกินบุฟเฟต์เน้นเนื้อที่อาจมากถึง 100 กรัมขึ้นไปในมื้อนั้นๆ ร่างกายคุณก็จะสามารถดูดซึมโปรตีนได้แค่ 30-40 กรัมต่อมื้อ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่พอดีสำหรับโปรตีนต่อมื้อ
  • ส่วนเกินนั้นก็จะขับออกมาทางไตในรูปแบบสารยูเรียหรือปัสสาวะได้อย่างปกติและเช่นกันก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อไตในการทำงานหนักโดยไร้กังวลสำหรับผู้ที่มีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หากเป็นอาหารที่มาจากธรรมชาติร่างกายคุณจะกำหนดสัดส่วนได้อย่างชาญฉลาดในเรื่องการจัดการกับสารอาหารที่จำเป็นต่อเฉพาะในร่างกายของคุณ อย่าลืมว่าร่างกายของมนุษย์คือหนึ่งในเครื่องจักรที่มหัศจรรย์ของธรรมชาติ
  • เว้นเสียแต่กรณีคุณเป็นเป็นโรคเบาหวาน (Diabetes) ภาวะการดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) หรือภาวะไตเสื่อมขั้นรุนแรง ที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ ที่จะเป็นประตูเปิดไปสู่การเกิดโรคไตวาย โรคตับ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจ และโรคอื่นๆ ได้มากกว่าหนึ่งโรค 

2. กินโปรตีนมากไปไม่ดีต่อตับ

  • แหล่งโปรตีนแปรรูปหรืออาหารคุณภาพต่ำปริมาณแคลอรี่สูง
  • เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปหรือโปรตีนที่ถูกนำมาผ่านกระบวนการความร้อนสูงประเภททอด ผัด ตัวอย่างเช่น เนื้อหรือโปรตีนสังเคราะห์ เนื้อแฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก เนื้อทอด ไก่ทอด ฮอทดอก ลูกชิ้น แฮม เบคอน เนื้อกระป๋อง โปรตีนผง อาหารเสริมโปรตีน เป็นต้น โปรตีนสังเคราะห์ในรูปแบบผงหรืออาหารเสริมโปรตีน อาจทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เป็นธรรมชาติและไม่ดีพอต่อสุขภาพโดยรวม) ทำให้เกิดแคลอรี่สูงแต่ขาดสารอาหารก็จำเป็นหรือเป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายต้องการจริงๆ
  • โรคตับที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว หากคุณเป็นโรคตับอยู่แล้ว เช่น โรคตับแข็ง มะเร็งตับ นั่นจะทำให้การบริโภคโปรตีนมากเกินไปอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ในกรณีเช่นนี้ กระบวนการเผาผลาญโปรตีนโดยเฉพาะจากแหล่งอาหารแปรรูปและการล้างพิษในตับอาจบกพร่องได้ และการบริโภคโปรตีนมากเกินไปอาจทำให้ตับเกิดความเครียดที่จะยิ่งกระตุ้นการอักเสบมากขึ้น

เมื่อคุณได้กินโปรตีนจากธรรมชาตินั้น มันจะย่อยไปสู่สถานะสสารหรือโมเลกุลทางเคมีเป็นสายโซ่ของกรดอะมิโน 22 ชนิด ร่างกายจำเป็นต้องสลายโปรตีนให้เป็นกรดอะมิโนก่อนนำไปใช้ เนื่องจากร่างกายไม่มีระบบกักเก็บกรดอะมิโนร่างกายจึงต้องใช้งานอย่างต่อเนื่องและอาจถูกนำมาใช้อีกครั้งเพื่อสังเคราะห์โปรตีนอื่นหรือเปลี่ยนสภาพเป็นกรดอะมิโนชนิดต่างๆ เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน

3. การกินโปรตีนจากพืชเพื่อสุขภาพที่ดีกว่าหรือไม่

  • โปรตีนจากแหล่งพืช จากแหล่งธรรมชาติที่เราเคยได้ยินว่ามีโปรตีนสูง เช่น ผักโขม ผักตระกูลกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาด เห็ด และธัญพืช เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง (Legumes) ถั่วเปลือกแข็ง (Nuts) เป็นต้น
  • โดยหากโปรตีนจากพืชที่มาจากแหล่งธรรมชาติเหล่านี้แปรสภาพจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีหรือความร้อนสูง เช่น แปรรูปเป็นเนื้อมังสวิรัต เนื้อเทียม แปรรูปเป็นไส้กรอก หรือนำมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ปรุงรส อบกรอบ เป็นต้น ถือว่าเป็นอาหารแปรรูปขั้นสูง เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น
  •  หากเทียบกันในด้านสารอาหารโปรตีนสังเคราะห์จากพืชมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำกว่าในเนื้อสัตว์มีโปรตีนที่ย่อยไปเป็นกรดอะมิโนจำเป็นหลายชนิดที่ไม่สามารถได้รับจากการกินพืชผัก รวมทั้งในพืชมีปริมาณวิตามินบี 12 ในปริมาณต่ำมากหรืออาจไม่มีเลยที่จะจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายและระบบประสาท รวมถึงการขาดกรดอะมิโนจำเป็นบางชนิด (EAA) เช่น ไลซีน คุณจึงจำเป็นต้องใช้อาหารเสริมเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้การได้รับโปรตีนสังเคราะห์จากพืชมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการย่อยได้ช้ากว่าโปรตีนจากสัตว์
  • การบริโภคโปรตีนสังเคราะห์จากพืชในปัจจุบันคุณจำเป็นต้องพึ่งอาหารเสริมอื่นๆ เพื่อที่จะให้มีคุณภาพสารอาหารที่ใกล้เคียงกับโปรตีนจากสัตว์ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพของโปรตีนจากพืชต่อไปในอนาคต รวมถึงการศึกษาวิจัยผลข้างเคียงจากแหล่งพืชที่ดัดแปลงพันธุกรรมสำหรับการแปรรูปเป็นโปรตีนสังเคราะห์
  • โปรตีนจากสัตว์   ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีคุณภาพทางโภชนาการสูงกว่าโปรตีนแปรรูปหรือสังเคราะห์ โดยสรีรวิทยาขอมนุษย์สามารถดูดซับและใช้โปรตีนจากสัตว์ได้กว่าโปรตีนจากพืชหรือโปรตีนสังเคราะห์ สิ่งนี้กล่าวถึงองค์ประกอบของกรดอะมิโน ความสามารถในการย่อยได้ และความสามารถในการขนส่งสารอาหารที่สำคัญอื่นๆ เช่น แคลเซียมและธาตุเหล็กโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และนม มีความสำคัญต่อการให้สารอาหารที่เพียงพอสำหรับร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะทารกสำหรับการพัฒนาทางสติปัญญาและทางกายภาพโดยรวม

4. โปรตีนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคเบาหวาน

  • การศึกษาที่ถูกตีพิมพ์จาก Advances in Nutrition ในปี 2019 กลับเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อนี้ โดยการศึกษาพบว่า อาหารที่มีโปรตีนสูงมีผลดีต่อการควบคุมและฟื้นฟูระดับน้ำตาลในเลือดในโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (T2D) โดยไม่มีผลเสียต่อการทำงานของไตและระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • ในธรรมชาติของระบบเมตาบอลิซึมหรือระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายมนุษย์ที่มีสุขภาพปกติดี ที่จะสามารถบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื้อติดมัน และไขมันสัตว์เป็นหลักได้ จะสามารถใช้พลังงานและได้รับสารอาหารที่หนาแน่นจากการเผาผลาญไขมันและโปรตีน โดยมีอินซูลินต่ำ เลปตินต่ำ และไกลโคเจนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะกำจัดไตรกลีเซอไรด์ได้ดีมาก
  • การหมุนเวียนของไตรกลีเซอไรด์อย่างรวดเร็วในรูปของ VLDL ส่งผลให้ระดับ HDL และ LDL เพิ่มขึ้น อย่างมีประสิทธิภาพเป็นผลพลอยได้จากการเผาผลาญไขมัน ค่า LDL ของคุณโดยไร้ความกังวล แต่อัตราส่วน HDL ต่อไตรกลีเซอไรด์ที่ต่ำจะบ่งบอกปัญหาสุขภาพคุณได้
  • ในทางกลับกันระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารที่สูง (Fasting blood sugar) ยังบ่งชี้ไปที่ระบบความเสื่อมภายในร่างกายหรือได้ก่อเป็นโรคเมตาบอลิกซินโดรมที่ไม่สามารถกำจัดกลูโคสส่วนเกินหรือภาวะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป (High levels of fasting blood sugar) ซึ่งนำไปสู่การเกิดการก่อเป็นสารอนุมูลอิสระหรือสารพิษจากปริมาณน้ำตาลที่ล้นเกินในร่างกายที่จะให้เกิดการอักเสบไประดับเซลล์สู่การก่อโรคเรื้อรัง NCDs สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ประสิทธิภาพของระบบเมตาบอลิซึมหรือระบบเผาผลาญในร่างกายของคุณโดยพื้นฐาน ในระยะยาวจะส่งผลไปสู่ความเสื่อมของร่างกาย เหตุนี้จึงมีแนวโน้มสูงที่เซลล์ภายในร่างกายจะกลายพันธุ์จากเซลล์อักเสบเรื้อรังไปสู่การเกิดเป็นเซลล์มะเร็งตามอวัยวะต่างนั่นเอง

5. โปรตีนแปรรูปเข้มข้ม คือ แหล่งโปรตีนที่ดีสำหรับคนยุคใหม่

โดยมีผลิตภัณฑ์ยอดนิยมแห่งยุคอย่าง เวย์โปรตีน โปรตีนบาร์ โปรตีนเชค โปรตีนเคซีน อาหารเสิรมโปรตีน เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นอาหารแปรรูปขั้นสูงเช่นกัน ที่จะเป็นโปรตีนสังเคราะห์แปรรูปอย่างเข้มข้น หากบริโภคในจำนวนมากหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินไปจะไปทำให้คุณเสี่ยงเป็น

  • มะเร็งตับหรือโรคตับแข็ง  ที่เกิดจากมีระดับน้ำตาลและแคลอรี่เพิ่มสูงที่เกิดจากการย่อยสลายโปรตีนแปรรูปที่เข้มข้นอย่างไม่เป็นธรรมชาตินี้ จะทำให้ร่างกายเก็บเป็นไขมันส่วนเกินไว้ที่ตับในระยะยาวก็จะเริ่มก่อภาวะตับแข็งได้
  • โรคไตวาย ที่เกิดจากได้รับโปรตีนแปรรูปหรืออาหารเสริมโปรตีนในปริมาณที่มากเป็นระยะเวลานาน การบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสังเคราะห์เข้มสูงเพื่อลดน้ำหนักหรือเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายจะทำให้ไตเกิดความเครียดและทำงานหนักอย่างแท้จริงที่ก่อให้การอักเสบอย่างเรื้อรังของไต การเกิดนิ่วในไต จนนำไปสู่การเกิดโรคไตวายได้
  • หากคุณเป็นนักกีฬาหรือนักเพาะกล้ามที่กำลังใช้โปรตีนแปรูปเหล่านี้ในปริมาณที่สูงและเป็นระยะเวลานาน คุณควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญของคุณ รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

6. โปรตีนจากสัตว์ทำให้เป็นมะเร็ง

  • การบริโภคโปรตีนธรรมชาติจากสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ วัว ปลา เป็นต้น ในปริมาณที่มากเกินไป ยังไม่การศึกษาวิจัยที่จะบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนและมีความคลุมเครือเกี่ยวกับการวัดผลเป็นอย่างมาก แต่ที่มีการศึกษาวิจัยจากหลายการศึกษา พบว่า แหล่งโปรตีนแปรรูปจะมีคุณภาพของสารอาหารที่ต่ำแต่ปริมาณแคลอรี่สูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูปหรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการทอดหรือผ่านกระบวนการความร้อนสูง
  • ตัวอย่างเช่น เนื้อหรือโปรตีนสังเคราะห์ เนื้อแฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก เนื้อทอด ไก่ทอด ฮอทดอก ลูกชิ้น แฮม เบคอน เนื้อกระป๋อง โปรตีนผง อาหารเสริมโปรตีน เป็นต้น อาจทำให้ได้รับสารอาหารที่ไม่เป็นธรรมชาติทั้งการผสมสารสังเคราะห์ สารกันเสีย สารชูรส ที่ไม่เป็นสารอาหารตามธรรมชาติตามที่ร่างกายต้องการจริงๆ จึงเกิดการต่อต้านทำให้เกิดการอักเสบในระดับเซลล์ในระยะ

7. ผู้สูงอายุควรได้รับโปรตีนในปริมาณที่น้อย

  • การศึกษาวิจัยสมัยก่อนหลายการศึกษา ได้บ่งชี้ มื้ออาหารที่มีโปรตีนสูงทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน กล่าวคือการบริโภคโปรตีนสูงและมีปริมาณผักและผลไม้ที่น้อย จะสามารถขับแคลเซียมที่เป็นแร่ธาตุสำคัญต่อการสร้างความแข็งแรงเซลล์กระดูก
  • การค้นพบนี้ทำให้ผู้คนมีความคิดและเข้าใจเหมารวมไปว่าโปรตีนสูงจะทำให้คนเราเป็นโรคกระดูกพรุนได้ แต่การวิจัยศึกษาเหล่านั้นก็ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามหากคุณได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอหรืออาจเข้าขั้นขาดโปรตีนเพราะนั้นคือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ ยิ่งในในผู้สูงอายุ เพราะการได้รับปริมาณโปรตีนที่เพียงพอและต้องไม่น้อยไป
  • ร่างกายจะสามารถรักษามวลกล้ามเนื้อและกระดูกได้ตลอดช่วงอายุ และสัดส่วนปริมาณโปรตีนต้องเน้นจากแหล่งธรรมชาติมากที่สุด หลีกเลี่ยงโปรตีนแปรรูปหรืออาหารเสริมโปรตีน และควรได้รับการดูแลสัดส่วนของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับในแต่ละวันสำหรับบุคคลจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของคุณ

\"โปรตีน\" กินผิด ชีวิตเปลี่ยน .. กินโปรตีนมากไปเสี่ยงตับไตพัง

กลุ่มเสี่ยงที่ควรลดการบริโภคโปรตีนในปริมาณที่สูง 

  • ผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลิน (ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อความชัดเจนของโรคหรือป้องกันรักษาได้ทันท่วงที)
  • ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษาโรคเป็นประจำหรือผู้ที่กินอาหารเสริมโปรตีน
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ เช่น โรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ
  • ผู้ที่เป็นโรคไตเสื่อม
  • ผู้ป่วยอาการเรื้อรัง เช่น ความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึม หรือระบบเผาผลาญพลังงานพัง เป็นโรคเรื้อรัง NCDs อย่างเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง หรือสภาวะทาง พันธุกรรมบางอย่างอาจรบกวนการเผาผลาญโปรตีน

วิธีดูแลป้องสุขภาพองค์รวมที่ทุกคนควรรู้

  • เลิกสูบบุหรี่หรือการรับควันบุหรี่ รวมถึงป้องกันตนเองจากการรับควันหรือมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป
  • กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานรวมถึงโรคเรื้อรัง NCDs อื่นๆ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัด
  • เน้นการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจากผัก ผลไม้ ได้รับโปรตีนเพียงพอทั้งโปรตีนจากพืชและจากสัตว์อย่างเพียงพอ โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีความหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารที่เพียงพอ
  • เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเน้นอาหารจากธรรมชาติ หรือผ่านกระบวนการแปรรูปให้น้อยที่สุด เพื่อสุขภาพหลอดเหลือดและหัวใจ เช่น อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนหรือแบบสแกนดิเนเวียร์ ที่จะมุ่งเน้นอาหารจากธรรมชาติให้มากที่สุด จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดี และหากเป็นอาหารไทย สามารถรับประทานผักสดกับน้ำพริกไทยที่มีส่วนประสมของหอมแดง กระเทียม และยิ่งดีหากสามารถจัดหาน้ำพริกดังกล่าวนี้ได้ทุกมื้อช่วยลดระดับน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ต่อต้านสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคระบบเผาผลาญพลังงานเสื่อม โรคมะเร็ง โรคหัวใจ สนับสนุนสุขภาพของระบบหลอดเลือดหัวใจและสมองได้เป็นอย่างดี
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายพร้อมกับฝึกลมหายใจอย่างสม่ำเสมอ เช่น การออกกำลังกายแบบแรงต้านเข้มข้น (HIIT) การออกกำลังกายแบบแอโรบิก การฝึกโยคะ เป็นต้น
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อดูแลสุขภาพได้อย่างเข้าใจและเลือกวิธีที่เหมาะกับตนเอง
  • หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำปี

อ้างอิง: pathlab ,ศูนย์โรคไต  โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย