5 ฉากทัศน์อนาคตสุขภาพจิตไทย 'เลวร้าย' หรือกลายเป็น 'เมืองแห่งความสุข'

5 ฉากทัศน์อนาคตสุขภาพจิตไทย 'เลวร้าย' หรือกลายเป็น 'เมืองแห่งความสุข'

เผย 5 ฉากทัศน์ การคาดการณ์ภาพในอนาคตสุขภาพจิตไทย ตั้งแต่ภาพที่เลวร้ายที่สุด ไปจนถึง การที่ประเทศไทยเป็น "จุดหมายแห่งความสุข" ประเทศไทย จะไปทางไหน ใน 10 ปีข้างหน้า

KEY

POINTS

  • “สุขภาพจิต” ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวบุคคลเท่านั้น ยังเกี่ยวเนื่องกับคนรอบข้าง สังคม สิ่งแวดล้อม องค์กร และการสนับสนุนของนโยบายภาครัฐ ที่จะเอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี
  • “เมกะเทรนด์" ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญด้านสุขภาพจิต อาทิ ความหลากหลายทางสังคม , สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไป การมาของ AI แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก การให้คุณค่ากับการมีสุขภาวะที่ดี เป็นต้น 
  • โฆษก กรมสุขภาพจิต เผย 5 ฉากทัศน์ อนาคตสุขภาพจิตไทย ตั้งแต่เลวร้ายที่สุด ไปจนถึง การที่ประเทศไทยเป็น "จุดหมายแห่งความสุข" เราจะไปทางไหน ใน 10 ปีข้างหน้า

เผย 5 ฉากทัศน์ การคาดการณ์ภาพในอนาคตสุขภาพจิตไทย ตั้งแต่ภาพที่เลวร้ายที่สุด ไปจนถึง การที่ประเทศไทยเป็น "จุดหมายแห่งความสุข" ประเทศไทย จะไปทางไหน ใน 10 ปีข้างหน้า

เรื่องของ “สุขภาพจิต” ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวบุคคลเท่านั้น ยังเกี่ยวเนื่องกับคนรอบข้าง สังคม สิ่งแวดล้อม องค์กร และการสนับสนุนของนโยบายภาครัฐ ที่จะเอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี เรื่องของ “สุขภาพใจ” เป็นเรื่องของทุกคน การพัฒนานวัตกรรม และการร่วมมือกันของทุกฝ่าย จึงเป็นส่วนสำคัญ เพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคมในอนาคต

 

“นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์” โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในช่วง “Why We Hack” ภายในงานกิจกรรม โครงการ HACKใจ “เพราะสุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” โดยระบุว่า ช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต พยายามปรับการทำงานหลายอย่าง โดยส่วนหนึ่งเชื่อว่าการที่เราเข้าใจบริบทในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่จะสำคัญกว่านั้นหากสามารถเข้าใจได้ว่า อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร มีสัญญาณมากมายที่บอกว่าประเทศไทยกำลังไปสู่หลายทิศทาง

 

ที่ผ่านมา มีการศึกษา “อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 – Futures of Mental Health in Thailand 2033” ร่วมกันของ 4 องค์กร คือ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข , สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) , สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ FutureTales Lab by MQDC โดยใช้นักวิจัยกว่า 60 คน ทำงานร่วมกันกว่า 6-7 เดือน สะท้อนภาพอนาคตสุขภาพจิตของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

5 ฉากทัศน์อนาคตสุขภาพจิตไทย \'เลวร้าย\' หรือกลายเป็น \'เมืองแห่งความสุข\'

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

“มองว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่แค่ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย วิตกกังวล แต่ยังมีปัจจัยสังคมจำนวนมากที่เป็นตัวกำหนด ต้องมองครอบคลุมตั้งแต่ ภายในบุคคล ระหว่างบุคคล องค์กร ชุมชน และกฎหมายและนโยบายภาครัฐที่เอื้อให้เรามีปัจจัยทางสังคม ส่งเสริมให้มีสุขภาพจิตที่ดี”

 

ขณะเดียวกัน “เมกะเทรนด์" ที่เป็นแรงขับเคลื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ ความหลากหลายทางสังคม , สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไป หลายคนอาจรู้สึกไม่สบายใจหากเจ็บป่วย , การอยู่ร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักรกล AI , การขยายตัวของเมืองและการกระจายอำนาจ ความเครียดสูงขึ้น , การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล , แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก และการให้คุณค่ากับการมีสุขภาวะที่ดี

 

“แต่ก่อนเราพูดแค่ว่า ไม่เจ็บป่วยก็ดีแล้ว แต่ปัจจุบันเราพูดถึงการมีความสุขของการใช้ชีวิตด้วย คนให้ค่านิยมของความสุขต่างไป ดังนั้น คนจึงให้ค่าเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้นกว่าในอดีต”

 

5 ฉากทัศน์ อนาคตสุขภาพจิต

สำหรับ 5 การคาดการณ์ภาพในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ภาพที่เลวร้ายที่สุด ไปจนถึง การที่ประเทศไทยเป็น จุดหมายแห่งความสุข มีดังนี้ 

 

1. การระเบิดของความหวาดกลัว 

เป็นภาพที่เลวร้ายที่สุด สังคมเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความเจ็บปวดจากปัญหาทางสังคมที่ถูกละเลยมานาน กลายเป็นความหวาดกลัวและก่อตัวเป็นปรากฎการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ อัตราการแก้ปัญหาต่างๆ ลดลงเพราะรัฐไม่สามารถนำเงินไปพัฒนานโยบายได้ เนื่องจากต้องนำเงินมาใช้แก้ปัญหา บังคับให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องยกระดับการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่าแท้จริง

 

2. วิกฤติที่แฝงด้วยโอกาส 

สังคมที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ความไม่แน่นอน แต่ยังมีโอกาสที่แอบแฝงอยู่ ความผันผวนและปัญหาด้านเศรษฐกิจ วิกฤติสิ่งแวดล้อม และภัยคุกคามทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นรุนแรงในสังคมและคงอยู่อย่างต่อเนื่อง กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัย และความยั่งยืน ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสำคัญและเร่งด่วนก่อนเป็นลำดับแรก ส่งผลให้การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน สถานพยาบาล การสนับสนุนและส่งเสริมบุคลากร การจัดสรรงบประมาณ และการขับเคลื่อนด้านสุขภาพจิตระดับประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

3. มวลชนผู้โดดเดี่ยว 

ความกังวลไม่มี ความกลัวไม่มี แต่เป็นความเหงา คนมีความพร้อมทุกด้าน มีเทคโนโลยีรองรับ มีการลงทุน พัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ประชาชนจมกับเทคโนโลยีมากเกินไป จนไม่ให้คุณค่ากับคนที่อยู่ตรงหน้า สังคมแบบนี้ คือ สังคมแห่งความเหงาและจะนำไปสู่ปัญหาจิตเวชมากมาย ผู้คนโดดเดี่ยว เหงา เศร้า เครียด เกิดความห่างเหินและนำไปสู่การแยกตัวสูงขึ้น

 

5 ฉากทัศน์อนาคตสุขภาพจิตไทย \'เลวร้าย\' หรือกลายเป็น \'เมืองแห่งความสุข\'

 

4. สุขภาพใจที่กระจายถึงกัน 

แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน หยิบเรื่องสุขภาพจิตขึ้นมาและช่วยกันขับเคลื่อนในชุมชน ชุมชนแต่ละชุมชนเริ่มมองว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนมีความสุข จะขับเคลื่อนด้านสุขภาพจิตอย่างไร ในแต่ละชุมชนมีความต้องการเหมือน และแตกต่างกัน การเชื่อมโยงชุมชนที่มีความต้องการเหมือนกันจะช่วยลดการใช้ทรัพยากร 

 

5. จุดหมายแห่งความสุข 

เป็นภาพที่เราอยากเห็นคนไทยทุกคนมีความสุข มีการบูรณาการด้านสุขภาพ ผู้คนตระหนักถึงสุขภาพและมีเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วยจิตเวช สังคมเปิดรับความหลากหลาย ระบบดูแลสุขภาพจิตมีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมทั้งเพศ วัย อาชีพ เชื้อชาติ ฐานะ และสัญชาติ มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ สุดท้าย สามารถแบ่งปันความสุขให้กับคนที่มาเยือน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

 

“การเห็นภาพอนาคตทั้งหมด จะบอกเราได้ว่าต้องเร่งสร้างนวัตกรรม เพราะปัญหาสุขภาพจิตกำลังขึ้นสูง การเร่งพัฒนาบุคลากรอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่การดึงทุกภาคส่วนเข้ามาเร่งรัดในการสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ เป็นหนึ่งในที่มาของงาน HACKใจ ในวันนี้ โดยการชวนภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำงานร่วมกัน เป็นเครือข่ายใหม่ และเกิดนวัตกรรมสุขภาพจิตใหม่ๆ ตอบโจทย์ไปสู่ภาพอนาคต คือ จุดหมายแห่งความสุข ที่ทุกคนมองเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรื่องสุขภาพจิต และสุขภาพใจเป็นเรื่องของเราทุกคน” นพ.วรตม์ กล่าวทิ้งท้าย

 

5 ฉากทัศน์อนาคตสุขภาพจิตไทย \'เลวร้าย\' หรือกลายเป็น \'เมืองแห่งความสุข\'