ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

หยุด!! บูลลี่ไขมันบริเวณหน้าท้อง หรือรูปร่างของผู้หญิง เพราะนั่นอาจจะไม่ได้เกิดจากการกินอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงกว่าที่ร่างกายจำเป็น หรือกินในปริมาณมากเกินกว่าการใช้พลังงาน แล้วเกิดการสะสม แต่อาจเป็นเพราะเจ้า ‘ฮอร์โมนเพศหญิง’

Keypoint:

  • กลไกการทำงานของร่างกายเพศหญิง ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานของฮอร์โมน ที่เป็นส่วนช่วยในการเจริญเติบโต รูปร่าง ความอยากอาหาร การนอนหลับ การเป็นประจำเดือน การตกไข่ วัยทอง อารมณ์ ผิวพรรณ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพที่สำคัญ
  • ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ สรีระรูปร่างของผู้หญิง จะเป็นเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน  ซึ่งไขมันบริเวณหน้าท้อง โรคอ้วน หรือรูปร่างของผู้หญิงที่แตกต่างกันเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือโปรเจสเตอโรน ได้ด้วย ไม่ได้เกี่ยวกับการกินเพียงอย่างเดียว 
  • การตรวจฮอร์โมนเป็นประจำทุกปี มีความจำเป็นในการให้ฮอร์โมนต่างๆในร่างกายสมดุล และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก่อนที่ร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็วและจิตใจจะห่อเหี่ยวจนไร้ความสุข

 

ฮอร์โมนเพศหญิง จะมี 4  ฮอร์โมนที่สำคัญต่อเพศหญิง ได้แก่  

  1. ฮอร์โมนที่ส่งผลให้ไข่สมบูรณ์ Follicular stimulating hormone (FSH)   
  2. ฮอร์โมนที่ส่งผลให้ไข่ตก Luteinizing hormone (LH)  
  3. ฮอร์โมนที่ส่งผลอารมณ์เหวี่ยงวีน และรูปร่าง Estrogen Hormone
  4. ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อสรีระความเป็นหญิง Progesterone Hormone

โดย ฮอร์โมน FSH และ ฮอร์โมน LH หากมีการหลั่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงกลางรอบเดือน จะกระตุ้นการเจริญของไข่ทำให้ไข่เจริญเติบโตมากขึ้น เมื่อขนาดของไข่ใหญ่ขึ้นก็จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง Estrogen, Progesterone มากขึ้นเช่นกัน การทำงานของทั้งสองฮอร์โมนจะไปสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัวขึ้น เพื่อรอโอบอุ้มไข่ที่พร้อมจะปฏิสนธิกับอสุจิ หากไม่ได้มีการปฏิสนธิเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะค่อย ๆ ลอก และหลุดออกมาเป็นประจำเดือน

แล้วฮอร์โมนเพศหญิงเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับรูปร่าง หรือสรีระของผู้หญิงอย่างไร? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ฮอร์โมนเพศหญิงกับการสะสมไขมัน

มีหลายการศึกษาพูดถึงรูปร่างผู้หญิงอ้วน ซึ่งสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนและการเกิดโรค โดยพบว่า

 

‘ผู้หญิงรูปร่างทรงลูกแพร์’

ซึ่งมีไขมันสะสมบริเวณสะโพกและต้นขามาก สัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีสัดส่วนสูง หลายคนจะมีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ หรือมีอาการในกลุ่ม PMS ซึ่งแสดงอาการผิดปกติในช่วงก่อนมีประจำเดือน เช่น ตัวบวม หน้าบวม หงุดหงิดง่าย ปวดศีรษะ เป็นต้น

 

‘ผู้หญิงรูปร่างทรงแอปเปิ้ล’

หรือลักษณะอ้วนลงพุง สัมพันธ์กับกลุ่มอาการเมตาบอลิก เนื่องจากไขมันที่สะสมอยู่รอบอวัยวะในช่องท้อง หรือ visceral fat มีผลต่อการเผาผลาญที่ผิดปกติ และส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

โดยมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Heart Journal พบว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างทรง ‘แอปเปิ้ล’ มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าทรงลูกแพร์ถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ มีลักษณะหน้ามัน เป็นสิว ผมร่วง หรือกลุ่มอาการ PCOS ซึ่งมีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ ทำให้ไข่ไม่ตก ประจำเดือนมาไม่ปกติ และมีโอกาสที่จะมีบุตรยาก

นอกจากนี้ยังพบว่า โรคอ้วน มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งลำไส้ มะเร็งไต มะเร็งรังไข่ และที่สำคัญคือ มะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งสัมพันธ์กับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีวัยหมดระดู หรือวัยทอง

เอสโตรเจน ฮอร์โมนที่ส่งผลรูปร่าง อารมณ์ของผู้หญิง

ฮอร์โมนเอสโตรเจน ถูกสร้างขึ้นจากต่อมหมวกไตและรังไข่ จึงมีหน้าที่ในการผลิตไข่, การตกไข่, การสร้างตกขาว, การสร้างเยื่อบุมดลูกเพื่อรองรับการปฏิสนธิ ส่งผลทางร่างกายให้หลายส่วนในเพศหญิง

  • ควบคุมการมีประจำเดือนและการหมดประจำเดือน
  • รักษาสภาวะทางอารมณ์ให้คงที่
  • ควบคุมน้ำหนักและความสมส่วนของรูปร่าง
  • ช่วยเสริมสร้างกระดูก กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว
  • ช่วยให้ผิวของผู้หญิงมีความเนียนนุ่ม ละเอียดต่างจากเพศชาย
  • ช่วยลดระดับไขมัน LDL ที่ไม่ดี และเพิ่มระดับไขมันดี HDL
  • มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ

ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นหากคุณเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุ 48-51 ปี ซึ่งเป็น วัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกาย จากการที่ Estrogen Hormone เลิกผลิต โดยเริ่มสังเกตได้จากผิวหนังที่เริ่มเหี่ยวย่น, ริ้วรอยบนใบหน้า, อาการร้อนวูบวาบ, อารมณ์เหวี่ยงวีนไม่มีสาเหตุ และช่องคลอดแห้งเป็นต้น

‘ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen Hormone)’ มีเป็นฮอร์โมนหลักของผู้หญิงซึ่งสร้างจากรังไข่เป็นหลัก นอกนั้นก็มาจากต่อมหมวกไต และเนื้อเยื่อไขมัน เมื่อเข้าสู่วัยหมดระดู แม้รังไข่จะหยุดทำงาน ไม่สร้างเอสโตรเจนอีกต่อไป แต่ยังมีการผลิตจากเซลล์ที่เนื้อเยื่อไขมัน ในผู้หญิงอ้วนจึงมีแหล่งเอสโตรเจนจากเนื้อเยื่อไขมันมาก

นอกจากนั้น มีหลายการศึกษาพบปัญหามะเร็งที่มีความไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยหมดระดูที่อ้วน เช่น ผู้หญิงอ้วน (BMI>25) มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงน้ำหนักปกติ

“80% ของมะเร็งเต้านม พบว่าสัมพันธ์กับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และผู้หญิงอ้วนก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่มขึ้น 2-4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงน้ำหนักปกติ เพราะมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก็มีชนิดที่กระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเริ่มจากกระตุ้นให้เกิดเยื่อบุหนาตัวผิดปกติ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิดปกติ จนเป็นมะเร็งในที่สุด”

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

Progesterone Hormone ฮอร์โมนที่ส่งผลต่อสรีระความเป็นหญิง

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ถูกสร้างขึ้นสร้างจากต่อมหมวกไตและรังไข่ เหมือนกันกับ ฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยจะมีหน้าที่ที่คล้ายกันในการควบคุมการตกไข่และมีประจำเดือน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะส่งผลในด้านสรีระมากกว่าเช่น ผิวเนียนนุ่ม, มีหน้าอก, เอวคอด และในด้านของอารมณ์ที่ส่งผลให้เกิดความเรียบร้อย อ่อนหวาน อ่อนไหวง่าย ตามสไตล์ผู้หญิง

ในส่วนของร่างกายฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะช่วยให้กลไกการตกไข่เป็นปกติ ประจำเดือนมาไม่ขาด ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกง่ายขึ้นหากไม่เกิดการปฏิสนธิ หรือในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวจนเกินไป ช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และในผู้หญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนช่วยให้มดลูกคลายตัว และจะช่วยให้คลอดลูกง่ายขึ้นเพราะช่วยให้มดลูกบีบตัวในช่วงใกล้คลอด

Progesterone มีหน้าที่สำคัญกับผู้หญิงขนาดไหนกัน?

  • ทำให้กลไกไข่ตกเป็นปกติ ประจำเดือนไม่ขาด
  • ส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน เพิ่มการสะสมของไกลโคเจน
  • ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น
  • ทำให้มูกที่บริเวณปากมดลูก ข้นและเหนียวขึ้น ป้องกันไม่ให้อสุจิตัวอื่นสามารถว่ายมาผสมกับไข่ที่ผสมแล้วได้สะดวก
  • ในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน จะช่วยป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวจนเกินไป
  • สำคัญต่อผู้ที่วางแผนมีบุตร เพราะจะกระตุ้นให้เยื่อบุมดลูกมีเลือดไปเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทำให้เยื่อโพรงมดลูกหนาและคงตัวง่ายต่อการฝังตัวของอสุจิและไข่
  • ช่วยให้ทุกครั้งที่มีเกิดกลไกการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูก (ที่ไม่เกิดการปฏิสนธิ) หลุดลอกออกมาได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นประจำเดือน
  • ในผู้หญิงตั้งครรภ์ Progesterone ช่วยให้มดลูกคลายตัว และเมื่อใกล้คลอด Progesterone จะช่วยให้คลอดลูกง่ายขึ้นเพราะช่วยให้มดลูกบีบตัว
  • ช่วยปรับการทำงานของร่างกายเพื่อพร้อมในการมีทารกอยู่ในครรภ์ เช่น
  • เพิ่มปริมาณออกซิเจนโดยการหายใจเร็วขึ้น
  • ข้อต่อและเอ็นยืดขยายเพื่อรองรับการเติบโตของทารก
  • เป็นฮอร์โมนหลักของผู้หญิงซึ่งสร้างจากรังไข่เป็นหลัก นอกนั้นก็มาจากต่อมหมวกไต และเนื้อเยื่อไขมัน

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

ฮอร์โมนเพศหญิง ในทุกช่วงวัย

ฮอร์โมน (Hormones) คือสารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ดำเนินไปได้ตามปกติ นอกจากเพศหญิงและชายจะมีฮอร์โมนแตกต่างชนิดซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน ปริมาณและการทำหน้าที่ของฮอร์โมนในแต่ละช่วงอายุก็ยังแตกต่างกันไปอีกด้วย ฮอร์โมนเพศหญิง ที่สำคัญได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน FSH และ LH ดังนี้

  • ฮอร์โมน Follicular stimulating hormone (FSH)

ฮอร์โมน Follicular stimulating hormone (FSH) สร้างจากต่อมใต้สมอง เพื่อกระตุ้นให้ไข่มีการเจริญเติบโตและพร้อมต่อการผสมกับอสุจิ รวมถึงมีผลต่อการเติบโตทางเพศในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หากฮอร์โมน FSH ผิดปกติจะทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตของไข่และอาจมีผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ได้

  • ฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH)

ฮอร์โมน Luteinizing hormone (LH) สร้างจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่กระตุ้นให้ไข่ที่เจริญเต็มที่แล้วตกจากรังไข่เพื่อพร้อมรับการผสมกับอสุจิ หากระดับฮอร์โมน LH ต่ำเกินไปจะทำให้ไม่มีการตกไข่ ส่งผลต่อความสามารถในการสืบพันธุ์ แต่หากมีมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อการเกิดซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่ได้

  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่สำคัญ ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ผลิตจากรังไข่เป็นส่วนใหญ่ และมีส่วนน้อยที่ผลิตจากต่อมหมวกไตและเซลล์ไขมัน โดยจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเพศ ลักษณะของเพศหญิง การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการหมดประจำเดือน 

  • ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ถูกสร้างจากรังไข่ในช่วงหลังไข่ตก และบางส่วนจากรก โดยจะมีหน้าที่ควบคุมภาวะไข่ตก และการมีประจำเดือน กระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนที่ได้รับการผสมจากไข่และอสุจิแล้ว ดูแลการตั้งครรภ์ ควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย 

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

ฮอร์โมนเพศหญิง อื่น ๆ ที่ควรรู้

  • เอ็นโดรฟิน (Endorphin)

เอ็นโดรฟิน (Endorphin) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองเมื่อร่างกายมีความสุข ความพอใจ ความผ่อนคลาย หากร่างกายมีความเครียดฮอร์โมนชนิดนี้จะลดลง เราสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเอ็นโดรฟินได้โดยการทำกิจกรรมที่ทำให้มีความสุข ผ่อนคลาย เช่น กิจกรรมที่ชอบ ออกกำลังกาย หรือนั่งสมาธิให้เกิดความสงบ

  • เซโรโทนิน (Serotonin)

เซโรโทนิน (Serotonin) หลั่งจากสมองและบางส่วนจากทางเดินอาหาร ช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ พฤติกรรม เป็นฮอร์โมนสำคัญในการช่วยให้นอนหลับ 

หากระดับฮอร์โมนเซโรโทนินต่ำเกินไปอาจส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ มีอาการปวดศีรษะ หากเป็นระยะเวลานานอาจมีผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ 

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะกลุ่มโปรตีนสามารถเพิ่มและรักษาระดับฮอร์โมนเซโรโทนินได้

  • คอร์ติซอล (Cortisol)

คอร์ติซอล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต จะถูกหลั่งมากขึ้นเมื่อร่างกายมีภาวะเครียด มีเหตุการณ์คับขัน มีเรื่องวิตกกังวล หรือมีความเจ็บป่วยของร่างกาย เมื่อเกิดภาวะดังกล่าวฮอร์โมนคอร์ติซอลจะถูกหลั่งเพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมต่อการฟื้นฟู กระตุ้นการสร้างน้ำตาลเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ควบคุมระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย 

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเป็นเวลาจะช่วยให้ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลคงที่ เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอลจะมีระดับสูงในช่วงเช้าหลังตื่นนอนและจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงบ่าย

  • อะดรีนาลีน (Adrenaline)

อะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือ เอพิเนฟริน (Epinephrine) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต จะถูกหลั่งเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะฉุกเฉิน คับขัน เตรียมพร้อมให้ร่างกายใช้พลังงาน จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น 

โดยปกติร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้มากขึ้นเฉพาะเวลาที่มีภาวะฉุกเฉินหรือถูกกระตุ้น แต่หากมีความผิดปกติอาจทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วและความดันโลหิตสูงเรื้อรังได้

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

3 ฮอร์โมนที่สำคัญในแต่ละช่วงวัย 

  • วัยทำงาน อายุ 23 - 45

ฮอร์โมนดีเอชอีเอ (DHEAs) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นฮอร์โมนตั้งต้นที่ร่างกายนำมาผลิตฮอร์โมนสำคัญๆ เช่น ฮอร์โมนเพศ อย่าง เทสโทสเทอโรน หรือเอสโตรเจน โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะผลิตได้สูงสุดในช่วงอายุประมาณ 25 ปี และจะค่อยๆลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น วัยนี้เป็นวัยที่ควรจะมีความคล่องตัวสูง แต่หากใครมีปัญหาตื่นยากในตอนเช้า ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น สายๆ ก็เริ่มง่วง สมองไม่แล่น ต้องมีน้ำหวาน ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีนมาเป็นตัวกระตุ้น จึงจะรู้สึกว่าอยู่ได้ แต่พอตกกลางคืนกลับตาสว่าง หลับยาก จนสามารถอยู่ถึงเช้าได้แบบสบายๆ หากใครมีอาการแบบนี้ อาจเป็นเพราะมีภาวะต่อมหมวกไตล้า หรือ Adrenal Fatigue ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการวัดระดับฮอร์โมนดีเอชอีเอ (DHEAs) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกิดจากความเครียดในร่างกาย การตรวจจะช่วยชี้วัดความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อการรักษาให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพิ่มความสดใสในระหว่างวัน

  • วัยกลางคน อายุ 35 - 50

 ฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid) คือต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณส่วนกลางลำคอ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ใช้ในการเผาผลาญสร้างพลังงานเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อต่อมไทรอยด์มีการทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนออกมาใจนำนวนที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็จะเกิดผลกระทบต่อร่างกาย และทำให้ระบบเผาผลาญผิดปกติ ไทรอยด์ต่ำแฝง มีแนวโน้มที่จะเกิดกับวัยกลางคนมากกว่าวัยอื่นๆ

สาเหตุหลักมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอและความเครียด จนอาจกลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ในบางรายที่ต้องการลดน้ำหนัก แม้ว่าจะรับประทานอาหารน้อยลง ออกกำลังกายก็แล้ว แต่น้ำหนักก็ยังไม่ยอมลงเสียที บางครั้งเป็นคนเฉื่อยชา คิดช้า หัวตื้อ สมองไม่ปลอดโปร่ง อาการเหล่านี้ก็อาจเป็นเพราะมีภาวะไทรอยด์ต่ำแฝง หากมีอาการตามข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจการเผาผลาญของร่างกาย ว่าเป็นภาวะไทรอยด์ต่ำแฝงหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

  • วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน อายุ 40 - 60

 ฮอร์โมนเพศ (Testosterone และ Estrogen) เมื่อพูดถึงวัยทอง แน่นอนว่าจะต้องนึกถึงฮอร์โมนเพศ ซึ่งฮอร์โมนเพศหญิง หรือ Estrogen จะช่วยการทำงานของกระดูกและหัวใจ ส่วนฮอร์โมนเพศชาย หรือ Testosterone นอกจากเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับอินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือด ความสมดุลของอารมณ์ การนอนหลับ แต่อาการเริ่มแรกที่สังเกตได้ถึงความเปลี่ยนไปของวัยทอง คือ อารมณ์แปรปรวน และ หงุดหงิดง่าย

 

ใครที่ควรได้รับฮอร์โมนทดแทน 

หลักในการเลือกให้ฮอร์โมนทดแทนในปัจจุบัน (MHT OPTIONS on 2020) Time/ Window of opportunity

ช่วงเวลาที่เหมาะสม มีความสำคัญในการให้ฮอร์โมนทดแทน เพราะเอสโตรเจนช่วยป้องกันหลอดเลือดเสื่อมสภาพ (anti-atherosclerosis) และป้องกันการเกิดตะกรัน (plaque) ที่ผนังหลอดเลือด โดยเพิ่ม HDL ลด LDL และมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด (vasodilatation) โดยกระตุ้นการหลั่ง NO2 & prostacyclin และลดการหลั่ง endothelin-1 ที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว(vasoconstriction) เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น จนถึงวัยที่หมดประจำเดือนมานาน เท่ากับการขาดเอสโตรเจนปกป้องหลอดเลือดมานาน หลอดเลือดอาจเสื่อมสภาพ มี atherosclerotic plaque เกิดขึ้นแล้ว การให้เอสโตรเจนจะเสี่ยงต่อการเกิด unstabilized plaque คือ ตะกรันขยับ แตก หลุดไปอุดตามเส้นเลือดต่างๆ ได้

ดังนั้น เพื่อประโยชน์สูงสุด ความเสี่ยงต่ำที่สุด จึงควรให้ทดแทนในรายที่อยู่ในช่วงเพิ่งหมดประจำเดือนใหม่ๆ (< 10 ปี ) , อายุไม่เกิน 60 ปี และต้องไม่มีปัญหาโรคหลอดเลือดเสื่อมสภาพที่มีตะกรันเกาะหลอดเลือดแล้ว (atherosclerotic plaque) โดยแพทย์ควรพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดร่วมด้วยเป็นรายๆไป

  • MHT Agents

เอสโตรเจนที่เราควรเลือกคือ เอสตราไดออล (E2) ซึ่งเป็นชนิดที่มีมากที่สุดในร่างกายของผู้หญิงในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน และการออกฤทธิ์มีความเป็นธรรมชาติต่อร่างกายมากที่สุด เพราะเราต้องการให้หญิงวัยทองกลับไปแข็งแรงเหมือนวัยก่อนหมดประจำเดือน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนดังเช่นการใช้ฮอร์โมนยุคเก่า อย่าง premarin ที่มีส่วนประกอบต่างๆ ปะปนกว่า 20 ชนิด และมีเอสตราไดออล (E2) เพียง 0.9 % แต่ส่วนประกอบหลักกลับเป็นเอสโตรน (E1) ถึง 49.3% ซึ่งไม่ใช่เอสโตรเจนชนิดที่ร่างกายต้องการ และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งด้วย ดังนั้นปัจจุบัน ชนิดของเอสโตรเจนที่ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนจึงควรเป็นเอสตราไดออล (E2)

  • Routes

นวัตกรรมการบริหารยา โดยการทาผ่านผิวหนัง ฮอร์โมนจะถูกดูดซึมผ่านเข้าระบบเลือดแล้วไปออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมายโดยตรงเลย มีข้อดีคือ หลีกเลี่ยงการผ่านตับ ทำให้ลดการสร้างโปรตีนที่จะมาจับฮอร์โมน ลดการสร้างสารก่อการแข็งตัวของเลือด (clotting factors) จึงลดการเกิดการจับตัวเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดตามตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณขา, ขาหนีบ และแขน (DVT) โดยรวมจึงลดทั้งอุบัติการณ์ของลิ่มเลือดจากหลอดเลือดดำไปอุดตันที่ปอด (VTE) และ STROKE การทาเอสตราไดออล (E2) ผ่านผิวหนัง จึงนับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

  • Progesterone / Progestin

หญิงวัยทองต้องการเอสโตรเจน แต่ไม่ต้องการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นจึงต้องได้รับ Progesterone ด้วย เพราะ Progesterone คือ ฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างอันมีประโยชน์มากมาย รวมถึงช่วยป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ปัจจุบัน Utrogestan (micronized progesterone) เป็นชนิดฮอร์โมนธรรมชาติที่ใช้ทดแทนได้อย่างปลอดภัย

Progestin คือ ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เหมือน Progesterone มีหลาย class ที่พบว่าปลอดภัยที่สุด คือ Dydrogesterone ซึ่งมีความใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด จากการศึกษาใช้คู่กับ เอสตราไดออล 5 ปี ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

ประโยชน์ของฮอร์โมนทดแทน

Vasomotor symptoms : เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการรักษาอาการร้อนวูบวาบของสตรีวัยทอง แต่หากมีข้อบ่งห้าม อาจใช้ตัวเลือกอื่น เช่น สมุนไพร black cohosh หรือยากลุ่ม SSRI หรือ SNRI ทดแทน

Bone health : เพิ่มคุณภาพและความหนาแน่นมวลกระดูก จึงลดการเกิดกระดูกหักและจากการศึกษาขนาดใหญ่พบประโยชน์ของฮอร์โมนต่อกระดูกจะคงอยู่อีกถึง 2 ปี แม้จะหยุดใช้แล้ว

Diabetes : มีประโยชน์ต่อสภาวะสมดุลย์ของน้ำตาลในร่างกาย โดยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการใช้น้ำตาลของกล้ามเนื้อ เพิ่มการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน และเพิ่มความไวต่อการตอบสนองต่ออินซูลิน จึงลดการเกิดโรคเบาหวาน

Moods : ทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เป็น neurosteroids คือออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลาย โดยเอสโตรเจนป้องกันการบาดเจ็บและเสื่อมสลายของเซลล์ประสาท กระตุ้นการแบ่งตัว และการส่งกระแสประสาทของเซลล์ประสาทที่สำคัญ ที่ส่งผลต่ออารมณ์มากๆ คือการกระตุ้นการสร้างและหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆ ที่มีผลต่อภาวะอารมณ์ คือ Dopamine, Serotonin และ Norepinephin นอกเหนือจากนี้สำหรับโปรเจสเตอโรน โดยเฉพาะตัวอนุพันธ์ คือ Allopregnenolone จะกระตุ้นการหลั่ง GABA ช่วยต้านกังวล ทำให้สงบ อารมณ์ดี ดังนั้นการเสริมฮอร์โมนทดแทนจึงช่วยลดอารมณ์วิตกกังวลและซึมเศร้าได้

Sleep : คุณภาพการนอนดีขึ้น จากการลดอาการร้อนวูบวาบ จากการสร้างและหลั่งสารสื่อประสาทที่มีผลให้สมองสงบ จึงช่วยให้นอนหลับได้ดี การนอนที่มีคุณภาพยังส่งผลให้ฮอร์โมนสำคัญตัวอื่นๆ ของร่างกายสร้างและหลั่งได้ดีด้วย เช่น โกรทฮอร์โมน ไทรอยด์ฮอร์โมน และ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต เป็นต้น

Breast cancer : จากการศึกษาที่เป็น Meta-analysis ทั้งกรณีใช้เพียงเอสตราไดออล (E2)เดี่ยว และ เอสตราไดออล (E2) ร่วมกับโปรเจสเตอโรนที่เป็นธรรมชาติ ในระยะ 5 ปี ยังไม่มีข้อมูลว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

ข้อบ่งชี้ในการใช้ฮอร์โมนทดแทน

  • อาการร้อนวูบวาบ (Vasomotor symptoms)
  • อาการช่องคลอดแห้ง แสบ ปัสสาวะอักเสบบ่อย (Genitourinary symptoms of Menopause)
  • ป้องกันภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)
  • สตรีที่มีภาวะหมดประจำเดือนก่อน 40 ปี (Premature Ovarian Insufficiency)

หากผู้หญิง อย่าง ผู้หญิงวัยทองมีข้อบ่งชี้ที่ต้องได้รับฮอร์โมนทดแทน ต้องไม่มีปัจจัยที่เป็นข้อบ่งห้าม อายุควรอยู่ในช่วงวัยของหน้าต่างแห่งโอกาส (Window of opportunity) และต้องไม่มีปัญหาโรคหลอดเลือดเสื่อมสภาพที่มีตะกรันเกาะหลอดเลือดแล้ว การใช้โดยยึดตามหลักการเลือกใช้ฮอร์โมนทดแทนในปัจจุบัน เน้นความเป็นธรรมชาติที่สุด หญิงวัยทองที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ จากการขาดฮอร์โมนจะได้รับประโยชน์สูงสุดในทุกๆ ด้านเมื่อได้รับฮอร์โมนทดแทนที่ถูกต้อง

ไขมันหน้าท้อง-โรคอ้วนในผู้หญิง เกิดจากการกิน VS ฮอร์โมนเพศหญิง

อ้างอิง:โรงพยาบาลพญาไท ,โรงพยาบาลสมิติเวช  ,