‘โรคอ้วน’ ภัยคุกคามสุขภาพ คนไทย ป่วยติดอันดับ 2 ของอาเซียน

‘โรคอ้วน’ ภัยคุกคามสุขภาพ คนไทย ป่วยติดอันดับ 2 ของอาเซียน

โรคอ้วน เป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควรจาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ถือเป็น ภัยคุกคามทางสุขภาพระดับโลกและประเทศไทย อีกทั้ง คนไทย เป็นโรคอ้วน ติดอันดับ 2 ของอาเซียน รองจาก มาเลเซีย

Key Point :

  • WHO รายงานว่า ปี 2559 ความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในผู้ใหญ่เท่ากับ 39% หรือมากกว่า 1.9 พันล้านคน
  • ขณะที่คนไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมากกว่า 1 ใน 3 และคนไทยยังมีภาวะโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย
  • วิธีป้องกันโรคอ้วนที่ได้ผลคุ้มค่ามากที่สุด คือ การเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงมีสุขอนามัยที่ดี  คือ ทานอาหารหลากหลาย พลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘โรคอ้วน’ เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพระดับโลกและประเทศไทยก็เช่นกัน โดยแนวโน้มได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่า ในปีพ.ศ. 2559 ความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในผู้ใหญ่เท่ากับ 39% หรือมากกว่า 1.9 พันล้านคน

 

สอดคล้องกับประเทศไทย พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมากกว่า 1 ใน 3 และคนไทยยังมีภาวะโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย จากประเทศอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน

 

ที่สำคัญ โรคอ้วน ยังเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCDs) อาทิ

  • เบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคตับ
  • โรคหัวใจ
  • โรคข้อเข่าเสื่อม
  • โรคมะเร็ง
  • โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี
  • ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ ฯลฯ
  • นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

 

‘โรคอ้วน’ ภัยคุกคามสุขภาพ คนไทย ป่วยติดอันดับ 2 ของอาเซียน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ทำไม 'คนผอมถึงอยากอ้วน' ผอมเกินไป ใช่ว่าจะสุขภาพดี

'เครียด อ้วน เสื่อม ปวด'สัญญาณเตือนเกิดโรคร้าย

ยิ่ง 'อดนอน' ก็ยิ่งอ้วน! วิจัยชี้ นอนน้อยกว่า 7 ชม. จะอ้วนง่ายขึ้น 26%

 

 

ล่าสุด ‘ศูนย์รักษ์พุง’ หรือ คลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน หรือ 100KG Obesity Run 2024 ณ ลานจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ โดยมีบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สนับสนุนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยออกกำลังกาย ป้องกันโรคอ้วน และสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายให้แก่ประชาชนทั่วไป

 

ออกกำลังกาย ลดเสี่ยงโรคอ้วน

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์โรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายเป็นประจำเป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้ถึง 30-50% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายอีกด้วย

 

"ดังนั้น วิธีป้องกันโรคอ้วนที่ได้ผลคุ้มค่ามากที่สุด คือ การเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงมีสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ การรับประทานอาหารที่หลากหลาย ให้คุณค่าทางอาหารสูง แต่ให้พลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งการวิ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่งในการรักษาภาวะน้ำหนักเกิน ช่วยลดปริมาณไขมันที่สะสมในช่องท้องและใต้ผิวหนัง อีกทั้งยังช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่มากับโรคอ้วนได้อีกด้วย"

 

‘โรคอ้วน’ ภัยคุกคามสุขภาพ คนไทย ป่วยติดอันดับ 2 ของอาเซียน

 

 

จากข้อมูล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีพ.ศ. 2560 รายงานว่าการวิ่งเหยาะๆ หรือ เดินเร็ว เป็นการเผาผลาญไขมันได้ดีที่สุด แต่ที่สำคัญจะต้องวิ่งหรือเดินเร็วให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก

 

เนื่องจากการวิ่งเหยาะๆ หรือการเดินเร็วเป็นการใช้ความหนักในการออกกำลังกายไม่มาก (low intensity) ทำให้ได้ระยะทางไกลกว่าการวิ่งเร็ว และยังเผาผลาญไขมันได้มากกว่าแป้ง เพราะไขมันจะถูกเผาพลาญก็ต่อเมื่อวิ่งต่อเนื่องนานถึง 30 นาที ขณะที่การวิ่งเร็วๆ แต่ไม่ถึง 30 นาที แล้วต้องหยุด จึงลดไขมันไม่ได้

 

‘โรคอ้วน’ ภัยคุกคามสุขภาพ คนไทย ป่วยติดอันดับ 2 ของอาเซียน

 

โรคอ้วน รักษาอย่างไร

ศ.นพ.สุเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือ มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25 กก./ตร.ม. และ ผู้ป่วยโรคอ้วน มีค่า BMI มากกว่า 30 กก./ตร.ม. สามารถรักษาได้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์

 

อีกทั้ง การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่หลายหลายมากขึ้นในปัจจุบัน หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันเรามีนวัตกรรมยามากขึ้นสำหรับการรักษาโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยและได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เช่น ยาในกลุ่ม GLP-1 analogues ในรูปแบบปากกาฉีดที่สามารถใช้ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนได้

 

ขณะที่ ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 32.5 กก./ตร.ม. และมีโรคร่วมที่เป็นภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI มากกว่า 37.5 กก./ตร.ม. แพทย์อาจต้องพิจารณาการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ได้แก่

1. การผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร

2. การผ่าตัดบายพาส

โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงภาวะโรคอ้วนและโรคต่างๆ ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ